เร็ว-ช้า-หนัก-เบา โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดีเดย์คลายล็อกกิจการ/กิจกรรม เฟส 2

เป็นการรุกคืบชิงพื้นที่ความเป็นปกติในชีวิต พื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมกลับคืนมาอีกบางส่วนจากเขตแดนของโควิด-19 หลังจากคลายล็อกเฟสแรกผ่านไปด้วยดี

ศึกครั้งนี้ แต่ละประเทศประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน มาตรการรับมือก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่จะ       “เร็ว-ช้า-หนัก-เบา” ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชุดความคิด-ความเชื่อของผู้นำ จะให้น้ำหนักด้านใดมากน้อยแค่ไหน ระหว่างสาธารณสุข-เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง

ผลการตัดสินใจเลือกชุดมาตรการรับมือในแต่ประเทศจะสะท้อนออกมาจากตัวเลขผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิต

Advertisement

ลองดูตัวอย่างที่ประเทศสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้น้ำหนักด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านสาธารณสุข โดยพยายามเร่งให้ธุรกิจกลับมาเปิดโดยเร็วที่สุด

“ทรัมป์” ไม่พอใจอย่างยิ่งที่ นพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐ (เอ็นไอเอช) และเป็นหนึ่งในทีมชุดเฉพาะกิจควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประจำทำเนียบขาว ออกมาเตือนว่า แผนการที่จะเปิดเศรษฐกิจเร็วเกินไป อาจนำไปสู่การระบาดใหญ่ของไวรัสมรณะอีกครั้ง ที่จะเลวร้ายกว่าเดิม

แต่ “ทรัมป์” ที่กำลังจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ อาจเห็นว่าชาวอเมริกันบางส่วนออกมาประท้วงไม่พอใจต่อมาตรการล็อกดาวน์ จึงหวังเอาใจเพื่อคะแนนเสียง

Advertisement

แต่ผลการตัดสินใจของ “ทรัมป์” รวมถึงผู้ว่าการรัฐต่างๆ เห็นได้จากยอด ณ วันที่ 17 พฤษภาคม สหรัฐมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมเกือบ 1.5 ล้านราย เสียชีวิตสะสมกว่า 8.8 หมื่นราย

จึงเห็นภาพน่าสลดหดหู่กลางมหานครนิวยอร์ก ที่มีศพผู้เสียชีวิตจำนวนมากในตู้คอนเทนเนอร์ ไม่มีคนจัดการพิธี ไม่มีที่ดินพอจะฝังศพ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่นี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า “ทรัมป์” ตัดสินใจถูกต้องหรือไม่

อีกประเทศหนึ่งที่มีผู้นำไม่ต่างจาก “ทรัมป์” คือ “ฌาอีร์ โบลโซนารู” ประธานาธิบดีบราซิล ผู้ที่ได้รับฉายาจากสื่อว่า “ทรัมป์แห่งบราซิล” ด้วยท่าทีและพฤติกรรมไม่ต่างจาก “ทรัมป์” แห่งอเมริกา

ประธานาธิบดีแห่งบราซิล ไม่เพียงไม่เห็นด้วยกับผู้ว่าการเมืองต่างๆ ที่ประกาศล็อกดาวน์ แต่ถึงกับไปร่วมชุมนุมกับผู้ประท้วงการล็อกดาวน์ โดยกล่าวชื่นชมผู้ประท้วงว่าเป็น ผู้รักชาติ ที่ป้องกันเสรีภาพส่วนบุคคลของตนเอง

ประธานาธิบดีแห่งบราซิลยังกล่าวกับผู้ชุมนุมว่า การล็อกดาวน์บังคับคนอยู่บ้านทำลายเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

มิหนำซ้ำ “ฌาอีร์ โบลโซนารู” ยังปลด “ลูอิซ เฮนริเกมันเดตตา” รมว.สาธารณสุขพ้นจากตำแหน่ง โทษฐานที่เรียกร้องให้คนเว้นระยะห่างและอยู่แต่ในบ้านเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งขัดกับนโยบายของเขา

แต่แค่ไม่ถึงเดือน เนลสัน เทช รมว.สาธารณสุขคนใหม่ของบราซิล ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งอีก ด้วยเพราะมีความเห็นสวนทางกันเกี่ยวกับระยะเวลาที่จะให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง

ไม่แปลกใจที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในบราซิลพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม ขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ของโลก มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2.3 แสนราย เสียชีวิตรวมเกือบ 1.5 หมื่นราย

เป็นตัวอย่างให้เห็นและเรียนรู้ว่า ไทยเราจะ “เร็ว-ช้า-หนัก-เบา” ให้เหมาะสมสอดคล้องกันอย่างไรในสถานการณ์วิกฤตนี้

ต่อจากนี้อีก 14-28 วัน ต้องลุ้นกันว่าไทยเราจะบุกต่อยังไปเฟส 3 และเฟส 4 ได้สำเร็จไหม หรืออาจถูกโควิด-19 โจมตีกลับ จนต้องถอยมาตั้งหลักกันใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image