‘เมย์แบงก์’ ประเมิน ‘คลัง’ ขายหุ้น ‘บินไทย’ หลุดเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังไม่พ้นเงาภาพลักษณ์เดิมง่ายๆ

‘เมย์แบงก์’ ประเมิน ‘คลัง’ ขายหุ้น ‘บินไทย’ หลุดเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังไม่พ้นเงาภาพลักษณ์เดิมง่ายๆ

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงการคลัง ขายหุ้น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จำนวน 69,193,870 หุ้น หรือคิดเป็น 3.17% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด ให้กับกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง ทำให้ภายหลังการขายหุ้นครั้งนี้ กระทรวงการคลังเหลือถือหุ้นจำนวน 1,044,737,191 หุ้น หรือคิดเป็น 47.86% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด จากเดิมที่ถือครองหุ้นจำนวน 1,113,931,061 หุ้น หรือคิดเป็น 51.03% โดยหลักการแล้วกระทรวงการคลังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยแล้ว ทำให้หากพิจารณาตามหลักการการบินไทยก็พ้นสถานะของการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว สหภาพการบินไทยก็จะไม่มีบทบาทเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่การจะล้างภาพการบินไทยใหม่ ให้กลายเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เหมือนบริษัทหลักทรัพย์ (บจ.) ไทยธรรมดา คงทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากภาพลักษณ์หรือปัญหาในองค์กร ค่อนข้างมีความยากที่จะแก้ไข หรือฟื้นฟูให้กลับมามีโครงสร้างแบบแข็งแกร่งอีกครั้ง

“จริงๆ การบินไทยมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจมาก เพราะเปิดเส้นทางการบินไว้หลายเส้นทาง หลายประเทศ แต่ต้องทำการศึกษาว่าเส้นทางบินใดที่เปิดไว้ แต่บินแล้วไม่มีกำไร เพื่อดูว่าสาเหตุที่กำไรไม่มีเกิดขึ้นเพราะอะไร อาทิ การขายตั๋วทำไมต้องขายผ่านตัวแทน ทำไมจึงไม่ขายเอง และดูแลเรื่องการหักค่าหัวคิวเอง ซึ่งความจริงจะต้องพิจารณาทั้งรับบเพื่อพาการบินไทยเข้ารับการผ่าตัดแบบแท้จริง และรักษาองค์กรให้รอดต่อไป” นายวิจิตรกล่าว

นายวิจิตรกล่าวว่า หลังจากกระทรวงการคลังลดสัดส่วนหุ้นลงแล้ว ตามกฎหมายการบินไทยจะต้องพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจไปโดยปริยาย ซึ่งในช่วงต่อไป การบินไทยจะต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยภาพลักษณ์ของการบินไทย จะต้องได้รับการดูแลเหมือนบริษัทจดทะเบียนทั่วไป หลังจากกระทรวงการคลังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว ซึ่งหากต้องการให้การบินไทยฟื้นฟู และได้รับการปลดล็อกจริงๆ มองว่าควรให้เอกชนที่มีศักยภาพ หรือมีความสามารถมากพอเข้าซื้อหุ้นในปริมาณหนึ่ง เพื่อให้เกิดภาวะการปลดล็อกอย่างแท้จริง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยดึงศักยภาพขององค์กรออกมาได้มากขึ้น แต่ในภาวะแบบนี้คงยากที่จะมีเอกชนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image