สกู๊ปพิเศษ : มวยสากลไทยผนึก กกท. เดินหน้าสร้างกำปั้นยุคใหม่

สกู๊ปพิเศษ : มวยสากลไทยผนึก กกท. เดินหน้าสร้างกำปั้นยุคใหม่

ขณะที่ยังต้องรอคอยว่า สถานการณ์ต่อไปจะเอายังไงดีเกี่ยวกับ กรณีไวรัส “โควิด-19” และจะเอายังไงกับการเปิดค่ายเก็บตัวฝึกซ้อมของ ทีมชาติไทย (ชาย-หญิง) และ ทีมยุวชน-เยาวชนไทย (ชาย-หญิง) เมื่อใด

สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ก็เดินหน้ากับโครงการในอนาคตร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เริ่มจากปีนี้ 2563 และปีหน้า 2564 เป็นต้นไปแล้ว 3-4 รายการด้วยกัน

รายการที่ 1 โครงการ ศูนย์ฝึกมวยสากลระดับโลก ที่สนามกีฬาหัวหมาก กทม. ซึ่งผ่านการออกแบบเรียบร้อยแล้ว ด้วยวงเงินงบประมาณของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ปีนี้ 2563 จำนวน 220 ล้านบาท ขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการยื่นของบประมาณปีหน้า 2564 เป็นค่าก่อสร้าง 660 ล้านบาท โดยประมาณ

โครงการนี้เป็นการก่อสร้างศูนย์ฝึกซ้อมกีฬามวยสากลมาตรฐานระดับโลก มีเวทีซ้อม 5 เวที ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ระบบอำนวยความสะดวก ห้องพักอาศัย พร้อมระบบปรับอากาศแบบความกดดันสูง ฯลฯ เมื่อเสร็จแล้ว จะกลายเป็นศูนย์ฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬามวยสากล ที่สามารถรองรับความต้องการของนานาชาติได้เป็นอย่างดี

Advertisement

รายการที่ 2 โครงการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกกีฬามวยสากลระดับชาติ รวม 3 แห่ง ที่สนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่, สนามกีฬาจังหวัดสงขลา และสนามกีฬาจังหวัดนครราชสีมา ทุกแห่งดังกล่าวประกอบด้วย อาคารฝึกซ้อม, อุปกรณ์และเวทีฝึกซ้อม, ผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารแบบเต็มอัตราศึก โดยฝ่ายกีฬาภูมิภาค ของ กกท. ดำเนินการของบประมาณปี 2563-2564 เพื่อทำให้เสร็จเป็นการนำร่อง ก่อนจะขยายโครงการออกไปจังหวัดต่างๆ เพิ่มเติมต่อไป

รายการที่ 3 โครงการ “สปอร์ต ฮีโร่” ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นรายการปรับปรุงและเพิ่มเติมประสิทธิภาพให้กับนักมวย ชาย-หญิง ในโครงการนี้ โดยสมาคมกีฬามวยสากลฯ จะเสนอรายละเอียดแยกจำนวนนักกีฬาออกเป็น 3 ระดับอายุ คือ อายุ 13-14 ปี, อายุ 15-16 ปี และอายุ 17-18 ปี แล้วจัดโครงการฝึกซ้อมเก็บตัวแบบรวมศูนย์ จากนั้น จะจัดการแข่งขันรวมกับมวยสากลยุวชน-เยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย และแยกการแข่งขันออกมาเป็นการเฉพาะอีกต่างหาก

โดยสมาคมกีฬามวยสากลฯ กำลังเตรียมการร่วมกับ ฝ่ายกีฬาภูมิภาค กกท. โดยกำหนดเป้าหมายเฉพาะหน้า คือ การแข่งขันมวยสากลใน กีฬายูธ โอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 4 ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล วันที่ 22 ตุลาคมถึง 9 พฤศจิกายน ค.ศ.2022 เป็นหลัก

Advertisement

รายการที่ 4 โครงการใหม่ล่าสุด คือ โครงการส่งเสริมและพัฒนากีฬาให้เยาวชนประชาชนและบุคลากรทางการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งกำหนดจัดการแข่งขันกีฬาระดับอำเภอทุกจังหวัด 8 ใน 9 ชนิดกีฬา (กรีฑา, ว่ายน้ำ, เทควันโด, มวยสากล, เทเบิลเทนนิส, ฟุตบอลชาย, วอลเลย์บอลในร่มหญิง, เทนนิส, แบดมินตัน) โครงการนี้ ผ่านการรับรองและอนุมัติของ คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) เรียบร้อย และกำลังอยู่ในระหว่างการยื่นของบประมาณจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

กำหนดจัดการแข่งขันแบบนำร่องครั้งแรกได้ภายในปีนี้ 2563 จากนั้น จะจัดการแข่งขันได้เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปีหน้า 2564 เป็นต้นไป โดยการแข่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับคัดเลือกทีมจังหวัด, ระดับคัดเลือกภาค 5 ภาค และระดับชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย คาดว่าจะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ของนักกีฬา ผู้ฝึกสอนในระดับภูมิภาค ระดับชาติได้อย่างต่อเนื่อง จากการแข่งขัน กีฬาเยาวชนแห่งชาติ และ กีฬาแห่งชาติ เพราะลงลึกถึงระดับอำเภออันเป็นแก่นแกนที่แท้จริงแล้ว

นอกจากนี้ สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ยังอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในด้านต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการสนับสนุน โครงการทีมชาติไทย-ทีมเยาวชนไทย, โครงการการแข่งขันมวยสากลนานาชาติ “ไทยแลนด์ โอเพ่น” และ “ไทยแลนด์ ซีรีส์”, โครงการพัฒนาบุคลากรกีฬา (ผู้ตัดสิน, ผู้ฝึกสอน, ผู้จัดการแข่งขัน) ฯลฯ ในแต่ละปี

ที่กล่าวมาคือ กิจกรรมเกี่ยวเนื่องของกีฬามวยสากลที่ต้องอาศัย องค์กรกีฬาแห่งชาติ เข้ามาร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริม อย่างเต็มที่

นี่เป็นการร่วมมือและร่วมพลังกันระหว่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนของวงการกำปั้นไทย

นอกจากนี้ สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ผ่านระบบสื่ออีเล็คทรอนิกส์ (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) โดยมีสโมสรสมาชิก 92 แห่งเข้าร่วม และ นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคมกีฬามวยสากลฯ เป็นประธานที่ประชุม วันที่ 27 พฤษภาคม 2563

สรุปสาระสำคัญดังนี้

นักมวยไทยผ่านเข้ารอบสุดท้ายกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 32 “โตเกียว 2020” แล้ว 4 คนประกอบด้วย

ฐิติสรรณ์ ปั้นโหมด รุ่นฟลายเวต 52 กิโลกรัม,
ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี รุ่นเฟเธอร์เวต 57 กิโลกรัม
สุดาพร สีสอนดี รุ่นไลต์เวตหญิง 60 กิโลกรัม
ใบสน มณีก้อน รุ่นเวลเตอร์เวตหญิง 69 กิโลกรัม

โดยนักมวยไทยคนอื่นๆ รอการคัดเลือกระดับโลก ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ปีหน้า ที่ยังไม่กำหนดรายละเอียดต่างๆ ที่แน่นอน

นายพิชัย ชุณหวชิร ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารของสหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (ไอบ้า) ร่วมกับกรรมการจากแคนาดา, อังกฤษ และนายพิชัยลาออกจากรองประธานและกรรมการบริหารของสมาพันธ์มวยสากลแห่งเอเชีย (เอเอสบีซี) อีกด้วย โดยมี พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ได้รับการเลือกให้เป็นรองประธานและกรรมการบริหารของ เอเอสบีซี แทน

สถานะการเงินในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา สมาคมกีฬามวยสากลฯ มีรายได้รวม 110,411,900.36 บาท และมีรายจ่ายรวม 111,956,909.17 บาท เท่ากับว่ามีรายจ่ายมากกว่า (ขาดทุน) เป็นเงิน 1,545,008.81 บาท

โดยคาดการณ์ล่วงหน้าว่า สถานะการเงินในรอบปีนี้ 2563 จะมีปัญหามากขึ้น จากอิทธิพลของ ไวรัสโคโรน่า “โควิด-19” ที่ยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ

นอกจากการลงทุนจัดการแข่งขันมวยสากลนานาชาติ “ไทยแลนด์ โอเพ่น” ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประเภทประชาชน ชาย-หญิงแล้ว สมาคมกีฬามวยสากลฯ ยังลงทุนจัดการแข่งขันมวยสากลนานาชาติ “ไทยแลนด์ ซีรีส์” ประเภทประชาชน ชาย-หญิง ขึ้นในเมืองไทยอีก 4 ครั้ง

โดยการเชิญนักมวยสากลชั้นนำจากต่างชาติ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อาเซอร์ไบจาน, ออสเตรเลีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม เข้าร่วมการแข่งขันและเก็บตัวฝึกซ้อมกับทีมชาติไทย (ชาย-หญิง) อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image