สัญญาณใหม่ 7 ส.ค. จาก”5 ข้อ”ของ117 พลเมือง และ”โหวตโน”ของกุนซือบิ๊กป้อม

เริ่มมีสัญญาณเตือนว่า การลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม ที่เหลือเวลาอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะมีประเด็นให้”ตื่นตาตื่นใจ” อยู่ไม่น้อย
ภาพที่เข้าใจกันในระยะแรกๆ เกี่ยวกับการลงประชามติก็คือ ประชาชนคงจะออกไปใช้สิทธิกาบัตรกันคึกคักไม่น้อย เพื่อรับรอง หรือ”เห็นชอบ”ร่างรัฐธรรมนูญที่ประกาศว่า เป็นฉบับปฏิรูป หรือฉบับ“ปราบโกง”
แม้จะยังสงสัยว่า ตัวเลข 80 % ที่รัฐบาลและกกต.ตั้งเป้าเอาไว้ จะเป็นไปได้แค่ไหน
ที่เชื่อกันว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงจะโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็เพราะประชาชนต้องการให้การเมืองก้าวพ้นจุดนี้ ไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว การเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อาจทำให้เกิดบรรยากาศใหม่ๆ ที่เหมาะกับการทำมาหากินที่เริ่มฝืดเคืองมากขึ้นเรื่อยๆ
รัฐบาลและคสช.เอง เป็นห่วงการลงประชามติครั้งนี้อย่างมาก อาจจะมีความเชื่อว่า ฝ่ายตรงข้ามจะพยายามป่วน เพื่อ “ล้ม” ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ให้ได้
จึงควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างเข้มงวด ดังเห็นได้จากการไล่จับ ไล่เชิญตัวบรรดาผู้เห็นต่างที่ออกมาเคลื่อนไหว
แต่ความเข้มงวดก็เป็นปัญหาในตัวเอง และเปิดประเด็นปัญหาขึ้นมาอีก

ท่าทีจากต่างประเทศ มีผลเป็นตัวกำหนดสภาพต่างๆ ในประเทศมาตลอด
กลุ่มประเทศที่จับตามองการลงประชามติ และเรียกร้องให้ลดความเข้มงวด และสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างมาตลอดได้แค่ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มชาติในยุโรป รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ตั้งแต่ ยูเอ็น หรือสหประชาชาติ ลงไป
การเรียกร้องกระทำด้วยแถลงการณ์ การให้สัมภาษณ์ การแสดงท่าทีหลังการพบปะ การประชุม
ล่าสุด ทูตสหรัฐฯ แคนาดา และประชาคมยุโรป 22 ชาติ เขียนบทความภาษาไทย เรียกร้องให้จัดเวที เปิดถกแถลงอย่างเสรีก่อนลงประชามติ
เหตุที่ต้องเสนอในภาษาไทย มีเบื้องหลังเล็กๆว่า เพราะประเทศเหล่านี้ เข็ดเขี้ยว เกรงจะสื่อความคลาดเคลื่อน เนื่องจากกระทรวงต่างประเทศของไทย มักให้ข่าวว่า ต่างประเทศ”เข้าใจไทย” ทั้งที่ การพบปะแต่ละครั้ง มีการแสดง”ความกังวล” อย่างต่อเนื่อง
สุดท้าย รัฐบาลยอมไฟเขียวให้กกต.จัดเวทีดีเบต เผื่อ”ตอบรับ” และลดแรงกดดันจากการเรียกร้องของนานาชาติ
แต่ก็ไม่เต็มร้อย เพราะกกต.ตั้งเงื่อนไขต่างๆ มากมาย
และน่าจะทำให้เวทีดีเบต มีกรอบจำกัดต่างๆ มากมาย รวมถึงปัญหาจากมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติ ที่พร้อมเอาเรื่องกับทุกคนที่มีการกระทำเข้าข่ายความผิด

ล่าสุด เกิดมีข่าวการฉีกเผาทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ ทำให้ดูเหมือนว่า มีขบวนการป่วน ออกมาต่อต้านการลงประชามติ
แต่พอเปิดข้อเท็จจริงออกมา กลับกลายเป็นคนละเรื่อง
โดยเฉพาะกรณี ด.ญ. 8 ขวบ 2 คน ที่กำแพงเพชร ที่เล่นซน ทำบัญชีชื่อฉีกขาด แม้กฎหมายยกเว้นไม่ต้องรับผิด
แต่ตำรวจก็ต้องทำสำนวนคดีระบุการกระทำผิดของ 2 หนูน้อย กลายเป็นเรืองที่ส่งผลเชิง”ลบ”ต่อทางราชการ
ที่น่าจับตามากกว่านั้น ได้แก่ วาทกรรมแปลกๆ ที่เริ่มแพร่กระจาย
อาทิ คำกล่าวว่าประชาชนที่อาจไม่รับ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้”คสช.”อยู่ต่อและอยู่ยาวๆ
แทนที่จะตีความว่า หมายถึงการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญและบรรดา”เจ้าภาพ”ที่ทำให้เกิดร่างรัฐธรรมนูญ
ดังที่ปรากฎในประชามติเบร็กซิทของอังกฤษ
แม้จะดูเหมือนเรื่องโจ๊ก แต่วาทกรรมหักมุม พลิกลบเป็นบวกนี้ มีการให้ข่าวในเชิงสนับสนุนจากบุคคลในวงการรัฐบาลหลายคนด้วยกัน
เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นผลจากการทำโพลสำรวจอย่างเงียบๆ ของหลายหน่วยงาน
ขณะที่โพลที่นำเสนออย่างเปิดเผย มีผลออกมาคล้ายๆ กันว่า ประชาชนถึง 60 % ยังไม่ตัดสินใจซึ่งอาจเป็นลักษณะพิเศษของไทย ที่ผู้ตอบแบบสอบถาม มักจะ”สับขาหลอก” ไม่บอกความในใจที่แท้จริง เพราะไม่มั่นใจว่า ข้อมูลที่ให้ไป จะถูกนำไปใช้แบบไหน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ นายไพศาล พืชมงคล อดีตแกนนำกปปส.ที่ปัจจุบัน เป็น ผู้ช่วยรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของคสช. ซึ่งปกติจะเชียร์”ลุงตู่” และรัฐบาล
นายไพศาลออกมาประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าจะ“โหวตโน” โดยอธิบายว่า ข้อแรก รัฐบาลและคสช. ไม่ได้บังคับใครให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเอกสิทธิ์ของประชาชน ผมก็สามารถใช้เอกสิทธิ์นั้นได้
ข้อ 2 ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็เป็นไปตามโรดแมป ใครอย่ามาอ้างแพ้ชนะ และถ้าจะอ้างอย่างนั้น ก็ต้องอ้างว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เป็นชัยชนะของประชาชน ที่ต้องการให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อน ให้สมกับที่ได้ต่อสู้กู้ชาติมาเป็น 10 ปีแล้ว
และ “..ยังมีอีกมากกลุ่ม ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศไปอีก 5 ปีถึง 20 ปี …หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ต้องถือว่าเป็นชัยชนะของกลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน “

ที่สำคัญ ยังมีการปรากฎของกลุ่ม“เครือข่ายพลเมืองผู้ห่วงใย” ประกอบด้วยบุคคลหลายวงการ หลากสี หลากขั้ว 117 คน มารวมตัวกัน
117 คนนี้ ได้ลงนาม เรียกร้อง 5 ข้อให้รัฐบาลเปิดกว้าง และให้คสช.ตอบว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำยังไง
โดยเรียกร้องให้เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
และเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการถ่วงดุล และปฏิรูป
อาการพลิกตัวเหล่านี้ สร้างแรงกระเพื่อมต่อการลงประชามติไม่น้อย
ทำให้การวิเคราะห์ คาดหมาย เกี่ยวกับผลการลงประชามติ 7 สิงหาฯ ซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image