ทรัมป์กับทหาร!  : สุรชาติ บำรุงสุข

ทรัมป์กับทหาร!  สุรชาติ บำรุงสุข

หนึ่งในประเด็นที่เป็นข่าวใหญ่ในวันอังคารนี้ จากกรณีของการประท้วงใหญ่ในสังคมอเมริกัน อันเป็นผลจากการเสียชีวิตของชายผิวดำชื่อจอร์จ ฟลอยด์ ก็คือ การที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ประกาศว่า หากผู้ว่าการมลรัฐต่างๆ ที่มีความรุนแรงจากการประท้วง ไม่สามารถควบคุมฝูงชนได้แล้ว รัฐบาลกลางที่วอชิงตันอาจจะส่ง “กำลังทหาร” ของกองทัพสหรัฐเข้าเสริมกำลัง

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏจากสื่ออาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า รัฐบาลอเมริกันในสถานการณ์ปัจจุบันได้นำกำลังทหารสหรัฐเข้ามาใช้ในการควบคุมการประท้วงในเมืองต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพที่เห็นกำลังพลในเครื่องแบบทหารนั้น เป็นกำลังพลอาสาสมัครในสังกัด “กองกำลังป้องกันชาติ” (The National Guard) ไม่ใช่ทหารจากกองทัพบก

หากพิจารณาในโครงสร้างทางทหารของกองทัพบกอเมริกัน กองกำลังป้องกันชาติของกองทัพบก (The Army National Guard) มีสถานะเป็นกำลังสำรองในระบบของกองทัพบกสหรัฐ กองกำลังส่วนนี้อยู่ในอำนาจความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ว่าการรัฐ คือเป็นกำลังพลทหารที่ขึ้นอยู่กับผู้ว่าการรัฐต่างๆ และผู้ว่าในแต่ละรัฐสามารถประกาศระดมพลเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ตามที่ต้องการ ในส่วนงบประมาณนั้น กองกำลังส่วนนี้ได้รับงบสองทางจากทั้งกระทรวงกลาโหมและจากรัฐนั้นๆ

แต่ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินขนาดใหญ่ รัฐบาลกลางสามารถใช้อำนาจในการระดมพลของกองกำลังป้องกันชาติ รวมถึงการใช้อำนาจในการส่งกองกำลังส่วนนี้ไปปฎิบัติการทางทหารในโพ้นทะเล เช่น ที่เห็นมาแล้วในช่วงสงครามเวียดนามมาแล้ว ส่วนกำลังพลสำรองของกองทัพบก (The Army Reserve) นั้น อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของกองทัพบก แต่ไม่ได้มีภารกิจในภาวะฉุกเฉินของรัฐ คือ เป็นกำลังพลที่ถูกเตรียมไว้ใช้ในภารกิจทางทหารโดยตรง

Advertisement

หากเปรียบเทียบในเชิงปริมาณ จะเห็นได้ว่ากองทัพบกอเมริกันมีจำนวนรวม 476,200 นาย กองกำลังป้องกันชาติของกองทัพบกมีจำนวน 335,200 นาย และกำลังพลสำรองของกองทัพบกมีจำนวน 188,800 นาย (กำลังสำรองของกองทัพบกทั้งหมดมีจำนวน 524,000 นาย)

ดังนั้นเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์แสดงออกด้วยการขู่ว่า ถ้าในระดับมลรัฐไม่สามารถควบคุมความรุนแรงที่เกิดจากการชุมนุมประท้วงได้แล้ว รัฐบาลกลางจะส่ง “กำลังทหาร” ของกองทัพสหรัฐเข้ามา คำกล่าวเช่นนี้ก็คือ การส่งสัญญาณว่ารัฐบาลทรัมป์อาจเข้าแทรกแซงวิกฤตการประท้วงด้วยการส่งทหารเข้าควบคุม โดยไม่จำเป็นต้องรอการร้องขอจากผู้ว่าการรัฐ

คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ ทรัมป์จะสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในฐานะ “ผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด” ของกองทัพสหรัฐสั่งการในลักษณะเช่นนี้ได้หรือไม่ … รัฐสภาอเมริกันจะยอมให้ทรัมป์ใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้ได้หรือไม่ … สังคมอเมริกันจะยอมรับภาวะการใช้กำลังรบของกองทัพสหรัฐเข้าควบคุมฝูงชนได้เพียงใด

Advertisement

แน่นอนว่า หลายคนตกใจกับคำประกาศของทรัมป์ในครั้งนี้ก็เพราะ ทรัมป์กำลังทำตัวเหมือน “ผู้นำในประเทศกำลังพัฒนา” ที่เมื่อเผชิญหน้ากับการต่อต้าน และรัฐบาลมีท่าทีเพลี่ยงพล้ำต่อการชุมนุมเรียกร้องจากการประท้วงเมื่อใด เครื่องมือสำคัญที่ผู้นำเหล่านี้เรียกร้องหาจะไม่แตกต่างกัน ก็คือ การเรียกหา “บริการจากกองทัพ” ให้เข้ามาเป็นเครื่องช่วย … แต่นั่นคือ การเมืองประเทศโลกที่สาม ไม่ใช่การเมืองอเมริกัน!

แน่นอนว่า การใช้บริการทหารในภารกิจ “สลายฝูงชน” ในประเทศโลกที่สาม ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเกิดในหลายประเทศ คนที่เรียนวิชา “ทหารกับการเมือง” ล้วนตระหนักดีว่า การใช้บริการของทหารในภารกิจเช่นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทหารต้องมีบทบาททางการเมือง และขณะเดียวกันก็กลายเป็นเงื่อนไขในตัวเองให้ทหารต้องแทรกแซงทางการเมือง

ในด้านหนึ่งการกระทำเช่นนั้น จะทำให้กองทัพกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุมไปโดยปริยาย และในอีกด้านการเข้าควบคุมฝูงชน จะหนีไม่พ้นจากการปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม ผลที่ตามมาจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างทหารกับประชาชน ซึ่งในบริบทของสังคมอเมริกันแล้ว ไม่เคยมีในลักษณะเช่นนี้มาก่อน เพราะกองทัพสหรัฐไม่เคยถูกนำมาใช้ในภารกิจของการเมืองภายในด้วยการ “ควบคุมและสลาย” ฝูงชน และต้องยอมรับว่าในภาพรวมแล้ว สถาบันทหารเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับและให้เกียรติจากสังคมอเมริกัน

แตกต่างอย่างมากจากบทบาทของทหารในประเทศโลกที่สามหลายประเทศ ที่กองทัพถูกใช้ในภารกิจเช่นนั้น จนกลายเป็น “ตราบาป” ที่ติดอยู่กับประวัติศาสตร์กองทัพ เช่นที่ครั้งหนึ่ง กองทัพในละตินอเมริกาในยุคสงครามเย็นมีภารกิจในการต่อต้านและปราบปรามผู้เห็นต่าง จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า ทหารเป็น “ผู้ปราบปรามประชาชน”

ในอีกซีกโลกหนึ่ง บทเรียนการการมีบทบาทเช่นนั้นของกองทัพไทยไม่ว่าจะเป็นในปี 2516, 2519, 2535, และ 2553 ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงข้อสังเกตในสองประการนี้เช่นกัน หรือตัวอย่างของกองทัพในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นในเวียดนามใต้ ในอินโดนีเซีย ในฟิลิปปินส์ หรือในพม่า (เมียนมา) ในช่วงที่กองทัพมีบทบาททางการเมืองอย่างมากนั้น ก็เห็นปรากฏการณ์ของการปราบปรามประชาชนไม่แตกต่างกัน จนคุณลักษณะเช่นนี้แทบจะกลายเป็น “แบรนด์” ของทหารในประเทศที่ระบอบการเมืองมีความล้าหลัง หรือการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา และผู้นำทหารในประเทศเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องกังวลกับปัญหาข้อกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง เพราะกระบวนการทางกฎหมายในประเทศเช่นนี้มักจะไม่ก้าวล่วงกับปฎิบัติการทางการเมืองของทหาร … แต่ในประเทศที่การเมืองพัฒนาแล้ว มุมมองเช่นนี้แตกต่างออกไปอย่างมาก

หากมองจากบริบทของความเป็น “ทหารอาชีพ” ของกองทัพในแบบสากลแล้ว ไม่มีผู้นำทหารอาชีพคนใดอยากที่พา “สถาบันทหาร” เข้าไปแบกรับภารกิจเช่นนั้น เพราะไม่เพียงจะจบลงด้วยการเป็น “ศัตรูประชาชน” ในฐานะจักรกลของรัฐบาลในการสลายฝูงชนเท่านั้น หากแต่ยังอาจจะกลายเป็น “ความผิดทางกฎหมาย” ติดตัวนายทหารที่เกี่ยวข้องไปด้วย เพราะคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในกองทัพของประเทศประชาธิปไตยนั้น จะต้อง “ชอบด้วยกฎหมาย” และสถานะของการสั่งการที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นนี้ อาจจะทำให้ผู้นำทหารในโลกตะวันตกต้องคิดทบทวนอย่างมาก เมื่อจะต้องนำกำลังพลออกจากที่ตั้งในภารกิจทางการเมือง เพราะในสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ผู้ว่าการในหลายรัฐได้สั่งการให้กองกำลังเนชั่นแนลการ์ด ออกมาปฎิบัติภารกิจอยู่แล้ว และในขณะเดียวกันก็เห็นท่าทีจากหลายผู้ในหลายรัฐว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลกลางของทรัมป์ส่งกำลังทหารของกองทัพสหรัฐเข้ามาในรัฐตนอย่างแน่นอน เพราะการนำกำลังทหารเข้าสู่พื้นที่การชุมนุมอาจจะยิ่งกลายเป็นชนวนความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น และกองทัพสหรัฐเองก็ไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อใช้ในภารกิจเช่นนี้แต่อย่างใด

วันนี้อาจจะต้องเปรียบเทียบว่า ทรัมป์กำลังทำการเมืองอเมริกันให้กลายเป็นการเมืองของประเทศโลกที่สาม หรือที่อาจเรียกว่าเป็น “The Third Worldnization of American Politics” แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้มีนัยว่า ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันกำลังล้มลง เป็นแต่เพียงเราอาจจะต้องยอมรับว่า ประชาธิปไตยเองก็มีด้านที่ “น่าเกลียด” (ugly) ในบางเรื่อง ที่การใช้เสรีภาพในการประท้วงอาจนำไปสู่ความรุนแรงในลักษณะของการก่อ “จลาจล” (riot) และอาจเลยไปจนถึงขั้นของการ “ปล้นสะดม” ร้านค้า (looting) และแน่นอนว่าสภาวะเช่นนี้จะกลายเป็นจุดด้อยให้ระบอบอำนาจนิยมใช้ “เยาะเย้ย” หรือในอีกมุมหนึ่ง ทรัมป์กลายเป็นตัวแทนที่ทำให้ผู้นำเผด็จการในหลายประเทศมีข้ออ้างต่อการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมในประเทศของตน

แต่ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นความท้าทายว่า สุดท้ายแล้ว สังคมจะตัดสินใจ “เลือก” ผู้นำเช่นนี้ให้กลับมาอีกหรือไม่ อย่างน้อยการเลือกตั้งยังเปิดโอกาสให้สังคมได้เลือก และขณะเดียวกันก็ท้าทายกับผู้นำอย่างทรัมป์ว่า เขาจะกลับมาได้อีกอย่างไรถ้าในหลายส่วนสังคมอเมริกันกำลังรู้สึกอย่างมากว่า ประธานาธิบดีไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา แต่กลายเป็น “ตัวปัญหาหลัก” ที่ช่วย “เทน้ำมัน” เข้าใส่กองเพลิงแห่งการประท้วงให้ทวีความรุนแรงขึ้น!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image