รายงาน : รัฐบาลกระเพื่อมหนัก ปรับทีม ศก.หรือยุบสภา

รายงาน : รัฐบาลกระเพื่อมหนัก ปรับทีม ศก.หรือยุบสภา

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ-นักธุรกิจ ต่อกระแสการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐและการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบัน

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

ความเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ทำให้มีความหวังในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่การปรับ ครม.เป็นปลายเหตุไม่ใช่ประเด็นหลัก การปรับ ครม.ถือเป็นการปรับดุลอำนาจภายในพรรค แต่เรื่องสำคัญต้องถามว่าปรับ ครม.แล้วแก้ปัญหาให้ประเทศได้ดีขึ้นจริงหรือไม่ เพราะการปรับมีแนวโน้มที่พรรค พปชร. อาจจะนำคนในพรรคเข้าไปทำหน้าที่หรือนำคนนอกที่เป็นเทคโนแครตเข้ามา ถ้าปรับในรูปแบบของการขย่มจากคนในพรรคอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะไม่มีการนำคนนอกเข้าไปทำหน้าที่มากกว่านำบุคคลภายในพรรคเข้าไปทดแทน

เรื่องใหญ่ที่จะนำบุคคลภายในไปทำหน้าที่คิดหรือว่าจะปรับได้ง่ายๆ เพราะการปรับสนธิรัตน์ อุตตม หรือสุวิทย์ คงจะมีปัญหาพอสมควร เนื่องจากสองรายแรกยังเป็นผู้บริหารพรรค พปชร. หลายคนชอบมองว่า 2 คนนี้เป็นสายตรงของสมคิดแล้วจะถูกปรับออกแต่ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือทั้งอุตตมและสนธิรัตน์ไม่เคยขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่พอใจ ทั้ง 2 รัฐมนตรีจึงมีสถานะพิเศษ ทำงานร่วมกับนายกฯตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว

หลายฝ่ายอาจลืมตั้งข้อสังเกตกรณี พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตัวเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดังนั้นความเคลื่อนไหวที่หวังให้มีการปรับ ครม.กำลังจะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์จะยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับพรรค พปชร.ไม่ใช่เนื้อเดียวกัน แต่มีความทับซ้อนจากสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนนอกที่พรรคเลือก หลายเดือนที่ผ่านมาการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.อ.ประยุทธ์ได้รวบอำนาจไว้ จึงต้องถามว่าพรรค พปชร.จะส่งใครไปก็ได้ เพื่อไปทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ได้จริงหรือไม่ จากการช่วงชิงอำนาจภายในพรรค

Advertisement

หลังมีการเข็น พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ 1.9 ล้านบาทเสร็จสิ้น การปรับเปลี่ยน ครม.ก็อาจมีผลทำให้เกิดกระจายงบประมาณ และอาจทำให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้ ผมขอเรียนว่าการชิงอำนาจในพรรคทำไม่ได้ง่ายๆ ตัวแปรสำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คงไม่ปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาคุมเงินจำนวนล้านล้านบาทในสถานการณ์ล่อแหลม หรือ ถ้ายอมก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอำนาจที่แท้จริง

ส่วนการยก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลุ้นเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.คนใหม่ ก็ไม่น่าจะส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะ พล.อ.ประวิตรก็ต่อท่ออำนาจโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว แต่ประเมินว่าหาก พล.อ.ประวิตรมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค หน้าฉากก็น่าจะมีโดนแรงกดดันเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจเดิมออกไป คงไม่ง่ายถ้าจะตั้งใครก็ได้ ส่วนความเชื่อมั่นที่จะเกิดขึ้นหรือไม่หลังปรับ ครม. ผมไม่ได้มองถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะใช้บริการคนใน หรือคนนอกไปทำหน้าที่ก็คงไม่ต่างกันมาก ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นนโยบายอะไรที่นำมาปฏิบัติแล้วได้ผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ บางเรื่องที่เคยสัญญากับประชาชนก็ทำไม่ได้ และแผนงานใหม่ก็ยังไม่มี ดังนั้นน่าจะมีการหาทางออกด้วยการยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่โดยนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระหลัก เชื่อว่ากระแสเลือกตั้งใหม่จะมาถึงในเร็วๆ นี้

เดชรัต สุขกำเนิด
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

ถ้ามองทีมเศรษฐกิจเดิมของรัฐบาลที่มีบทบาทในพรรค พปชร. โดยตัดประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองออกไป จากการติดตามผลงานพรรคเคยนำเสนอช่วงการหาเสียงเลือกตั้งแล้วยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติทั้งการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การเพิ่มเพดานค่าแรงขั้นต่ำ และอีกหลายเรื่อง ดังนั้นถ้ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หากรัฐมนตรีโดนปรับออก อาจทำให้เห็นว่าพรรคไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคที่ประกาศไว้หรือไม่

เป็นคำถามที่รัฐบาลต้องตอบ ไม่ว่าจะปรับ ครม. หรือทีมเศรษฐกิจอย่างไร ที่ผ่านมาก่อนมีโควิด-19 มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้เกิดความเชื่อมั่น และหลังมีปัญหาการระบาดของโควิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มรุนแรงมาก หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ แม้ว่าประชาชนในประเทศยังเจ็บป่วยไม่มาก

ไม่ว่าจะมีการปรับ ครม.อย่างไร ภาพรวมของประเทศจะต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจที่นำไปใช้แล้วมีผลในทางปฏิบัติ ขณะนี้การส่งออกหรือการท่องเที่ยวมีปัญหา ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก แต่ยังมีปัญหาเงินช่วยเหลือเยียวยาที่ใช้ไปแล้วแต่ยังไม่ทั่วถึง หากทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับเงินสวัสดิการส่วนนี้อย่างทั่วถึง เชื่อว่าส่วนหนึ่งจะกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศได้ สำหรับการท่องเที่ยวที่รายได้สูญหายไปมาก ทีมเศรษฐกิจควรวางแผนล่วงหน้า รองรับโอกาสในการสร้างรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อทำให้มีความยั่งยืน

วันนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้มีการบริโภคหรือเพิ่มอำนาจในการซื้อขายสินค้าภายในประเทศ เป็นเรื่องต้องเร่งดำเนินการ และการปรับทีมเศรษฐกิจใน ครม. จะเป็นทีมเดิมหรือทีมใหม่ ควรเพิ่มศักยภาพของระบบเศรษฐกิจจากฐานรากมากกว่าที่ผ่านมา ประเทศจำเป็นต้องใช้จุดนี้เป็นหลัก เนื่องจากรายได้จากการส่งออกหรือการลงทุนจากต่างประเทศคงเกิดขึ้นได้ยาก

นักวิชาการจากธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานถึงรัฐบาล ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาก แต่ไม่ได้กระตุ้นให้รัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบเพื่อจัดการปัญหา เช่นเดียวกับรายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับความล่าช้าในการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19ก็มาจากการสำรวจที่ครอบคลุมว่ามาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความล่าช้าเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา 2 หน่วยงานรายงานทางวิชาการต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

หากมีการปรับ ครม.ตามที่มีกระแสข่าวจริง ต้องขึ้นอยู่กับนายกฯในการเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่ง เชื่อว่าจะเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาบริหารงาน ในมุมของเอกชนภาคการผลิตจะให้ความสำคัญกับผู้ที่เรียกความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศและต่างชาติได้ ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เดินหน้าแผนฟื้นฟูของประเทศที่กำหนดวงเงินสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านบาท ต้องผลักดันโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจ้างงาน สร้างอาชีพ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเริ่มต้น คนมาใหม่ต้องสามารถเดินหน้าแผนฟื้นฟูได้ทันที ไม่ใช่เริ่มใหม่ ไม่ทำให้งานสะดุด

ต้องกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะเป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่จะช่วยให้ไทยก้าวสู่ประเทศรายได้สูง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี เป็นประเทศพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติ อาทิ นักลงทุนที่ลงทุนในประเทศจีน กำลังต้องการหาพื้นที่ลงทุนใหม่ หลังได้รับผลกระทบจากการแข่งขันทางการค้าระหว่าง (เทรดวอร์) และโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งโลกชะลอตัว กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดลงทุกภาค ทั้งภาคการค้า บริการ และภาคผลิต

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

กรณีกระแสการปรับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน จะต้องประเมินตามความเหมาะสมทางการเมืองที่เป็นระบบรัฐสภา ระบบตัวแทน การตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนบุคคลเข้ามาทำงาน ต้องเป็นการตัดสินใจภายในของรัฐบาล จึงไม่สามารถชี้นำได้ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือใครจะเหมาะสมมากกว่าน้อยกว่าใคร การบริหารการจัดการจะต้องมี 2 ด้านรวมเข้าด้วยกันคือ 1.ในแง่เศรษฐกิจ ต้องมีความเหมาะสมหรือมีเหตุมีผลทางเศรษฐกิจ และ 2.ความเป็นไปได้ทางการเมือง การที่จะเลือกคนที่จัดการบริหารประเทศต้องมีทั้ง 2 ด้านนี้อยู่ด้วยกัน เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่า หากปรับเปลี่ยนแล้วจะมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ และมีความเป็นไปได้ทางการเมืองหรือไม่

ทีมเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ อาทิ คนที่ชอบอาจเห็นด้วยกับโครงการขนาดใหญ่ที่ออกมาต่อเนื่อง เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนคนที่ไม่ชอบก็อาจมองในด้านยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่องว่างของคนรวยและคนจนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หนี้ครัวเรือน หรือความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกแก้ไขใเป็นรูปธรรม

ขณะนี้เราเจอปัญหาเศรษฐกิจ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ความสามารถการแข่งขันระหว่างประเทศที่หย่อนยานลงต่อเนื่อง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน จีดีพีโตเฉลี่ยเพียง 3.8% ชนะประเทศเดียวคือ บรูไน ที่โต 1.8% การเติบโตของประเทศในอาเซียนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.3% สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทุกชุดตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านโครงการอย่างแท้จริง ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่มากกว่าพื้นฐานความสามารถที่มีอยู่ หากไม่ให้ความสำคัญส่วนนี้ ประเทศไทยจะย่ำแย่ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต และ 2.ปัญหาการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบยังไม่สามารถจบลงได้ เป็นตัวอธิบายความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาความยากจน คนตกงาน และกำลังซื้อที่ลดลง โควิด-19 เข้ามาขยายภาพเหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้คนที่จะเข้ามารับช่วงต่อต้องหาคนที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตในช่วงนี้ไปให้ได้ก่อน หลังจากเร่งแก้ปัญหาโครงสร้างต่างๆ

ทีมเศรษฐกิจของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็มีข้อดี ทำโครงการอีอีซีขึ้นมา แต่ปัญหาในเชิงโครงสร้างยังไม่ได้ให้ความสำคัญ มีนโยบายออกมาแต่ไม่ได้แก้ไขได้ตรงจุด อาทิ การแก้ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัพ

มองว่าคนที่จะเข้ามารับหน้าที่ต่อ ต้องมีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการยอมรับข้อเท็จจริงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น หากมีทั้ง 2 ส่วนร่วมกัน น่าจะเป็นข้อดีที่สุด

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

หากมีการปรับ ครม.ช่วงนี้ จะส่งผลในแง่ความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจ การคลัง และพลังงาน เนื่องจากทีมของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือ 4 ยอดกุมาร มีบทบาทสำคัญในการวางนโยบายเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ก.เงินกู้เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจะต้องกระทบอย่างแน่นอน หากการขับเคลื่อนนโยบายขาดความต่อเนื่อง รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมหากจะหาคนมาสานต่อนโยบายที่สมคิดได้วางไว้ เพราะนโยบายด้านเศรษฐกิจการคลังเที่ยวนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ

การปรับ ครม.ท่ามกลางการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่สังคมอาจละเลยไป แต่นักธุรกิจ กลุ่มทุน จับตาประเด็นนี้อยู่ เหมือนเปลี่ยนม้ากลางศึก รัฐบาลอยู่ในช่วงวิกฤตโควิดและมีปัญหาเศรษฐกิจ มีการผ่าน พ.ร.บ.เงินกู้ปรากฏว่าเปลี่ยนผู้ควบคุมนโยบาย ตรงนี้นักธุรกิจจะจับตา แต่ในทางการเมืองน่าจะเป็นผลมาจากความขัดแย้งในพรรค พปชร. ที่จัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัวตั้งแต่ต้น หากดูภูมิหลังของบุคคลที่คุมทีมเศรษฐกิจจะพบว่าไม่ได้มีพื้นฐานเป็นนักการเมือง เป็นเทคโนแครต พปชร.เกิดจากการรวมกันของกลุ่มก๊วนทางการเมืองที่ไม่มีการพัฒนาหรือการปฏิรูปทางการเมือง เป็นกลุ่มก๊วนการเมืองที่ร่วมมือกันเพื่อต่อรองตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้การร่วมมือกันของกลุ่มก๊วนต่างๆ น่าจะพลาดตำแหน่งที่อยากจะได้บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจ นักการเมืองเหล่านี้จึงเป็นด่านแรกที่ต้องเจอกับประชาชนน่าจะมีต้นทุนกับรายจ่ายค่อนข้างมาก เมื่อจ่ายมาก ส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการเมืองไทย คนเหล่านี้จะมาพึ่งพิงหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรค แต่ไม่สามารถพึ่งพิงคนเหล่านี้ได้เนื่องจากเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมการเมืองไทย อาจไม่มีความพร้อมด้านทรัพยากร บรรดานักการเมืองกลุ่มก๊วนเหล่านี้ก็ยิ่งกดดันหนักเข้าไปอีก จึงเป็นเงื่อนไขอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ครม. จะเห็นการเคลื่อนไหวในพรรค พปชร. การกดดันให้ลาออกของกรรมการบริหารพรรค ส่งผลให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคต้องหลุดไปโดยปริยาย ทั้งยังส่งผลต่อแนวโน้มในการปรับเปลี่ยน หรือจัดการ ครม.หลังจากนี้

ที่สมคิดพูดว่า “คนดีอยู่ไม่ได้” “ให้คนดีเข้ามาทำงาน” สะท้อนถึงความขัดแย้งอย่างชัดเจน เป็นการวางสถานะว่าไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่เป็นเทคโนแครต เป็นคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีเจตจำนงที่ดีกับการเมือง แต่คนที่มีเจตจำนงจริงๆ มักจะอยู่ไม่ได้ในสภาพสังคมการเมืองที่เจตจำนงแตกต่างกัน คำว่า “คนดี” “ความดี” นั้น บางครั้งประเมินยากในความเป็นจริง แต่ทำให้เห็นว่ามีความขัดแย้งด้านทัศนคติที่เกิดขึ้นใน พปชร. เป็นการแบ่งแยกตัวเองว่าไม่ได้ข้องแวะกับการเมือง ต้องการทำงานให้กับประเทศชาติจริงๆ แต่อาจทำไม่ได้หากต้องเจอกับกลุ่มคนที่มีลักษณะแบบที่สมคิดบอก เป็นการส่งสารถึงนายกฯว่าในพรรคมีแบบนี้ คนทำงานให้บ้านเมืองกำลังท้อนะ เพราะมีการใช้เงื่อนไขอื่นมาทำลายคนที่อยากทำงาน

กลุ่มสมคิดก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะมีแรงหนุนจากกลุ่ม 3 มิตร แต่ระยะหลังเริ่มเห็นความแตกแยกชัดเจน เมื่อสมคิดไม่มีฐานทางการเมือง หรืออาจจะมีบ้างแต่น่าจะไม่มีพลังมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในซีกของ พปชร.

หากกวาดสายตาดูไวๆ ว่าใครจะเหมาะมาช่วยงานด้านเศรษฐกิจตอนนี้ก็ยังยาก คงหนีไม่พ้นบรรดากลุ่มเทคโนแครต เช่น นายธนาคารที่มีความสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อดูแลการเงินการคลัง หรืออดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ นักพลังงาน เทคโนแครตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น ซีอีโอ ปตท.ในอดีต เป็นต้น ส่วนตัวให้น้ำหนักไปที่ผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มการเงิน การคลัง อาจจะเข้ามาสานต่อขับเคลื่อนนโยบาย และแก้ปัญหาขณะนี้ให้ได้ก่อน หากเป็นนักการเมืองน่าจะลำบากพอสมควรในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต

อย่าลืมว่าการเลือก ครม.ต้องมีเรื่องจิตวิทยาการเมือง พอเห็นชื่อเห็นหน้าตา เห็นประสบการณ์ หรือโปรไฟล์จะสร้างความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง ทำงานได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง อย่างน้อยคนจะมีความหวังว่าอาจจะนำพากระทรวงการคลังไปได้ หรือในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังมีปัญหาเรื่องพลังงานค่อนข้างมาก หากได้ซีอีโอด้านพลังงาน หรือคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกในวงการด้านพลังงาน อย่างน้อยสร้างความเชื่อมั่นได้

หาก พล.อ.ประยุทธ์จะปรับต้องหาคนลักษณะนี้ ก็ไม่น่าพ้นเทคโนแครตและซีอีโอระดับสูง แต่คนเหล่านี้จะเข้ามาหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าปัญหาเวลานี้ซับซ้อนเพียงใด ผู้บริหารระดับสูงล้วนมีต้นทุนที่ต้องประเมินว่าการตัดสินใจเข้าร่วม ครม.มีอะไรต้องสูญเสียไปบ้าง มีอะไรจะจัดการได้บ้าง สุดท้ายการตัดสินใจอยู่ที่นายกฯ ถามว่าทำไมต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ เราต้องกลับไปดูภูมิหลัง เพราะว่า 4 ยอดกุมารรวมถึงสมคิด ทาง พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนเลือกทั้งนั้น เชื่อว่าอำนาจกลับไปเที่ยวนี้ก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเลือกใครเข้ามา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image