วิจัยพฤติกรรมป้องกัน ‘โควิด-19’ ช่วงผ่อนปรนล็อกดาวน์ พ.ค.-มิ.ย.

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ในไทยที่เข้าสู่ช่วงพีคประมาณปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนรัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการประกาศทั้งมาตรการบังคับ และมาตรการทางสังคม ตลอดจนปรับเปลี่ยนมาตรการอย่างเป็นพลวัตรเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนไปของการระบาด เช่น การห้ามเข้า-ออกจังหวัด การประกาศเคอร์ฟิวระหว่างช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เห็นความสำคัญของการประเมินความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว จึงได้หารือร่วมกับทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อทำการประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ผ่านช่องทางออนไลน์ https://thaifightcovid19.com/ และนำเป็นไปเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ประกอบการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไปได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หัวหน้าโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้ริเริ่มขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำการติดตามการปฏิบัติตามมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ในประชาชนไทยและนโยบายต่างๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ หรือมาตรการหรือข้อแนะนำอื่นๆ เช่น การรักษาระยะห่าง (Physical distancing), การใส่หน้ากาก, การล้างมือ, กินอาหารร้อน และใช้ช้อนกลางของตนเอง, การลดการสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก และตา เป็นต้น และเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและเชิงระบบ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังมุ่งหวังที่จะจัดทำข้อความสำคัญ หรือ key messages ที่จะนำไปใช้สื่อสารให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรการและนโยบายต่างๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย

นพ.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า การศึกษาครั้งนี้ยังมีความโดดเด่นที่ต่างจากงานวิจัยอื่นๆอยู่ 3 ประการ คือ

Advertisement

1.การได้ข้อมูลผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1 แสนตัวอย่าง ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับการศึกษาอื่นๆ ซึ่งมักมีขนาดตัวอย่างเพียงหลักพันเท่านั้น การศึกษาวิจัยนี้จึงเป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่มาก

2.การศึกษาวิจัยนี้ทำการศึกษามาตรการและนโยบายของรัฐบาลที่เป็นพลวัตร (dynamic) ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในแบบสำรวจให้เหมาะสมต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ความเป็นพลวัตรนี้เองที่ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้แตกต่างจากการศึกษาวิจัยชิ้นอื่นๆ การศึกษาวิจัยอื่นๆมักเป็นการสำรวจพฤติกรรมของประชาชนต่อมาตรการใดมาตรการหนึ่งเท่านั้น

3.นักวิจัย เป็นผู้ที่อยู่วงในของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงระบบ ทำให้มีข้อได้เปรียบในการนำผลการวิจัยเข้าสู่กระบวนการจัดทำนโยบาย ทำให้ผลการวิจัยได้ใช้ประโยชน์จริง และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย (Evidence based policy) เนื่องจากสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอเชิงนโยบายแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจได้โดยตรง

Advertisement

“ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นทั้งการสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนต่อมาตรการ และนโยบายต่างๆของรัฐบาล ที่สามารถวิเคราะห์ได้ถึงพลวัตรของพฤติกรรมเมื่อมีการปรับเปลี่ยนนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสำรวจนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากพอที่จะเป็นตัวแทนในระดับประเทศแล้ว แต่เนื่องจากการศึกษาวิจัยนี้ทำการสำรวจแบบออนไลน์ ประชาชนที่เข้ามาตอบจึงเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการศึกษาในครั้งนี้ ดังนั้น ผลการศึกษาที่ได้อาจไม่ได้สะท้อนความรู้ ความเข้าใจ หรือพฤติกรรมของประชาชนทุกกลุ่มของประเทศไทย” นพ.วิโรจน์ กล่าว

สำหรับข้อสรุปสำคัญที่ได้จากการประมวลข้อมูลตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคเป็นอย่างดี (99.8% เข้าใจ และ 93.8% คิดว่ามาตรการนี้ช่วยลดการแพร่ระบาดได้) และผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งให้ความร่วมมือในการอยู่บ้าน (53.0%) ตลอดเดือนเมษายน

ขณะเดียวกัน ประชาชนยังมีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นสำหรับการใส่หน้ากากและการล้างมือ อย่างไรก็ตาม พบว่าการจับหน้า ตา จมูก ปาก และการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลมากกว่า 2 เมตร ยังมีสัดส่วนปฏิบัติได้น้อยกว่าพฤติกรรมอื่นๆ

“ในส่วนของสถานที่ที่ประชาชนต้องการไปมากที่สุดหากมีการผ่อนปรนในเดือนพฤษภาคม ได้แก่ ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในชีวิตประจาวัน แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งต้องการไปสถานที่ที่จำเป็นน้อยกว่า เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ศาสนสถาน ซึ่งควรมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดและดูแลสถานที่ดังกล่าวให้มีความปลอดภัยต่อไป ขณะที่มาตรการผ่อนปรนอาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรเพิ่มขึ้น เห็นได้จาก ผู้ตอบแบบสอบถาม 22.3% มีแผนจะเดินทางออกนอกจังหวัดในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม” นพ.วิโรจน์ กล่าว

นอกจากนี้ การสำรวจยังได้พบข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆนอกเหนือจากด้านพฤติกรรมสุขภาพ เช่น พบว่าประชาชนเกินครึ่งมีรายได้ลดลง (52.1%) และมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น (58.0%) ในระหว่างที่มีมาตรการ โดย 39.6% ต้องการให้มีมาตรการชดเชยรายได้ และ 32.4% ต้องการให้ลดรายจ่ายด้านสาธารณูปโภค และประชาชน 51% ไม่พบการซื้อขายแอลกอฮอล์ ในช่วงที่มีการห้ามจำหน่ายสุรา แต่อีก 20% ยังพบเห็นการซื้อขายอยู่

ทั้งนี้ ผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายในช่วงเดือนเมษายน ทางทีมผู้วิจัยได้รายงานให้ผู้กำหนดนโยบายระดับกระทรวงและระดับประเทศทราบ โดยในส่วนของการนำเสนอผลงานแก่ผู้กำหนดนโยบายระดับกระทรวง จะทำผ่านทางคณะทำงาน MOPH Intelligence Unit (MIU) คณะกรรมการประมวลสถานการณ์และวิชาการ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ ขณะที่ การนำเสนอผลการประเมินแก่ผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศ มุ่งเน้นการเสนอรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ และรายงานผลการสำรวจภาพรวมขั้นสุดท้ายแก่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

ขณะเดียวกัน จากผลการสำรวจที่ผ่านมา ทางทีมนักวิจัยมีความเห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามพฤติกรรมการป้องกันตนเองของประชาชน ในระหว่างมาตรการผ่อนปรนในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนต่อไป

“ทีมนักวิจัยได้นำเสนอผลการสำรวจฯในที่ประชุม MIU และ EOC (Emergency Operating Center) ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว คณะกรรมการทั้งสองชุดมีความเห็นว่า การสำรวจนี้มีประโยชน์มาก จึงขอให้ทำการสำรวจต่อไป ทีมนักวิจัยจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม เพื่อปรึกษาและพิจารณาแนวทางการสำรวจในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล ซึ่งในครั้งนี้เราพยายามปิดจุดอ่อนของการศึกษาในเดือนเมษายน โดยจะนำวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และการขอความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่การดูแลรับผิดชอบของ อสม.ช่วยตอบแบบสอบถาม อันจะนำมาซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และกระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย” นพ.วิโรจน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image