ชี้คลายล็อกแต่ลูกจ้างยังตกงาน3ล้านคน เอกชนวอนฟื้นฟู4แสนล.ไร้เงินทอน

ชี้คลายล็อกแต่ลูกจ้างยังตกงาน3ล้านคน เอกชนวอนฟื้นฟู4แสนล.ไร้เงินทอน จี้รัฐกระตุ้นศก.ไทยครึ่งปีหลัง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึงแนวโน้มอัตราการว่างงานของคนไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ว่า น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ของภาครัฐที่ดำเนินมาถึงระยะที่ 4 จากช่วงครึ่งปีแรกอัตราว่างงานของไทยเฉลี่ยจะอยู่ราว 7.5 ล้านคนหรือราว 20% ของแรงงานทั้งระบบ 38 ล้านคน แต่จากระดับแรงซื้อในประเทศและการส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้แรงงานจะกลับเข้าสู่ระบบได้ไม่เต็มที่ คาดว่ายังมีแรงานตกค้างว่างงานอยู่ประมาณ 3 ล้านกว่าคน รวมแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 39 แต่ยังไม่รวมแรงงานที่จะจบใหม่อีกราว 5 แสนกว่าคน

“ผลจากการที่รัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาสู่ระยะที่ 4 ทำให้กิจกรรมต่างๆเปิดดำเนินการเกือบทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจว่าธุรกิจท่องเที่ยวและบริการนั้นอาศัยนักท่องเที่ยวจากต่างชาติสูงกว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศราว 90% ดังนั้นแม้รัฐบาลจะมีมาตรการเที่ยวปันสุขมากระตุ้นยังไม่อาจชดเชยกับรายได้ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ทำให้แรงงานในส่วนนี้กว่า 50% จะยังคงว่างงาน”นายธนิตกล่าว

นายธนิต กล่าวว่า นอกจากนี้แม้ธุรกิจต่างๆเริ่มกลับมาดำเนินกิจการทั้งค้าปลีก ค้าส่ง ภาคการผลิต แต่มีสัญญาณต้องติดตามใกล้ชิดในครึ่งปีหลัง เนื่องจากแรงซื้อของประชาชนถดถอยจาก 2 ปัจจัยได้แก่ 1.ประชาชนรายได้ลดขาดเงินใช้จ่ายจริง 2. ประชาชนมีเงินแต่ไม่กล้าใช้จ่าย เพราะกังวลอนาคตรายได้อาจไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งไทยและต่างชาติ ขณะที่เม็ดเงินที่รัฐบาลออกมากระตุ้นการบริโภคโดยเป็นเงินเยียวยาประชาชน 5.5 แสนล้านบาทและที่เหลือ 4.5 หมื่นล้านบาทใช้ในด้านสาธารณสุขรวมเป็นเงิน 6 แสนล้านบาทเริ่มหมดลง ต้องรอเม็ดเงินภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทที่จะออกมาในเดือนกรกฎาคมนี้ว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนได้มากน้อยเพียงใด

“รัฐบาลจะต้องให้เม็ดเงินดังกล่าวลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ต้องไม่ให้เกิดรั่วไหล เงินทอนระหว่างทางไม่เช่นนั้นเม็ดเงินนี้จะไม่ช่วยขับเคลื่อนได้ โครงการที่จะทำต้องให้กระจายไปยังต่างจังหวัด อาทิ การจัดสัมมนา ไม่ควรจะเน้นการจัดซื้อคุรุภัณฑ์ “นายธนิตกล่าว

Advertisement

นายธนิต กล่าวว่า ขณะเดียวกันภาคการส่งออกของไทยหากมองประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ล้วนแล้วแต่เผชิญกับโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน ประกอบกับยังมีสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนรอบใหม่ การปะทะกันระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ปัจจัยเหล่านี้บั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก ทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยปีนี้ยังคงติดลบสูง 5-8% ภาคการผลิตของไทยที่เน้นพึ่งพาตลาดส่งออกเริ่มลำบาก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ดังนั้นต้องติดตามภาคการผลิตครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิดว่าจะแบกรับภาระต้นทุนกับสภาพตลาดที่ซบเซาได้หรือไม่ ซึ่งจะผลต่อแรงงานแน่นอน

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบทันทีจากโควิด-19 แต่ภาคการผลิตจะเริ่มเห็นชัดเจนครึ่งปีหลังว่าจะรอดหรือไม่ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่พึ่งตลาดส่งออก ขณะที่การผลิตอีกส่วนพึ่งตลาดในประเทศกำลังเผชิญกับแรงซื้อที่ถดถอย สิ่งที่น่าห่วงคืออุตสาหกรรมที่มีสายป่านธุรกิจสั้นจะอยู่รอดได้ยากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งอัดเม็ดเงินลงสู่ระบบ ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นที่จะบริโภค

“นอกจากนี้ต้องลุ้นการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ขณะนี้การเมืองในประเทศเองก็ทะเลาะกัน ทำให้คนไทยรัดเข็มขัดไม่กล้าใช้จ่าย เห็นด้วยที่รัฐจะเร่งอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเม็ดเงินกระตุ้นลงไปแล้วหยุดชะงัก ไม่หมุนเวียนในระบบ ก็ควรทบทวนแนวทางใหม่ รัฐควรประเมินผลจากเงินที่ใช้”แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image