ชัชชาติ ชี้ ‘นวนคร’ คือต้นแบบ ‘สมาร์ท ซิตี้’ แนะ ปรับ กทม.ที่เส้นเลือดฝอย พัฒนาคน-ลดเหลื่อมล้ำ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 มิถุนายน ที่ลาน EDEN3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการ “Thammasat City Futures Exhibition and TDS Exhibition 2020” โดยมีการเสวนาหัวข้อ “ซิตี้ ทอล์ก” ในประเด็น โอกาสและความท้าทายของเมืองในอนาคต และมุมมองการพัฒนาเมือง

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาของ นวนคร โดย ม.ธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด คือ คำตอบของกรุงเทพฯ ในอนาคต เป็นต้นแบบพัฒนาเมือง เพราะปัจจุบันที่อยู่อาศัยกับการงานอยู่ห่างกันมาก เราต้องเดินทาง 2 ชม. มาทำงาน และกลับอีก 2 ชม. อนาคตเราต้องมี เมืองบริวาร (satellite town) เพื่อให้คนอยู่ใกล้งานมากขึ้น

“ปัจจุบัน กทม.เป็นระบบทวิภพ มี 2 โลกประยุกต์กัน ซึ่งหัวใจของเมืองคือการเชื่อมโยง แต่ก่อนเชื่อมโยงทางกายภาพ แต่กายภาพสำหรับยุคโควิดคือการแพร่กระจายเชื้อโรค เทรนด์ของโลกจึงถูกถล่มด้วยโควิด ปัจจุบันเราเชื่อมโยงทั้งกายภาพแบบเก่า และแบบใหม่ โควิดทำให้การเชื่อมโยงแบบใหม่มีพลังมากขึ้น ทุกคนเรียนรู้การใช้โปรแกรมซูม (Zoom) ได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่เชื่อว่าอนาคตจะกลับมาเหมือนเดิม เพราะการลงทุนใน กทม.ส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมโยงทางกายภาพ เช่น ห้างสรรพสินค้า ต้นทุนเก่าของกายภาพยังมีอยู่มาก ซึ่งจะมีพลังดึงกลับมา แต่อนาคตจะดีขึ้นเพราะเรามีทางเลือกมากขึ้น คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสมากขึ้นในการเข้าสู่ตลาดดิจิทัล แต่คนที่เจ๊งตอนนี้คือ คนที่แบกต้นทุนกายภาคเก่าอยู่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเทรนด์โลกที่น่าสนุก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาครัฐ เพราะลงทุนด้านกายภาคอย่างมาก แต่ด้านดิจิทัลยังไม่คุ้น ภาครัฐจึงต้องปรับตัวอย่างมาก ตามให้ทัน ซึ่งด้านกฎหมายก็ตามไม่ทัน รัฐยังเอื้อมไปไม่ถึง แต่อีกแง่ก็เป็นข้อดีที่เอกชนจะได้เติบโตขึ้น”

รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าวต่อว่า 5 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นหนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับ สมาร์ท ซิตี้ จำนวนมาก แต่ด้วยความที่ กทม.กว้างใหญ่มหาศาลจึงอาจต้องพัฒนาไปอีกด้าน ซึ่งเมื่อลงพื้นที่ก็พบเห็นปัญหาอย่างมาก เศรษฐกิจคือเรื่องใหญ่ ปากท้องต้องมาก่อนรถไฟฟ้า หรือการสร้างถนน เพราะในอนาคตคนจะตกงานมหาศาลดังนั้น หัวใจของเมือง สมาร์ท ซิตี้ ส่วนตัวมองว่าเป็น ‘เมืองฉลาดพอเหมาะ’ เพราะเราเชื่อเทคโนโลยีมากเกินไป ซึ่งบางครั้งแผนที่ก็พาเราลงน้ำเหมือนกัน

Advertisement

ดังนั้น 3 วงที่จะมาต่อกัน ต้องตอบโจทย์ทั้ง 1.คน 2.ภาคธุรกิจ และ 3.เทคโนโลยี โดยจุดตัดตรงกลาง คือ สมาร์ท ซิตี้ คนต้องหาคำตอบเองและให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งจะต้องระบุปัญหาของเมืองให้ได้ก่อน

บรรยากาศการเสวนา หัวข้อ “City Talk”

“เรามีป้ายจราจรอัจฉริยะ เรามีป้ายแท็กซี่อัจริยะแต่ปัจจุบันกลายเป็นที่จอดรถ คนไม่ใช้ เรามีป้ายบอกสายรถเมล์อัจริยะ แต่พื้นรถเมล์ยังปูด้วยไม้ ถามว่าเป็นสมาร์ทซิตี้หรือไม่หากบริบททั้งเมืองไม่ใช่ สมาร์ทซิตี้ในความหมายของผมต้องตอบโจทย์คนเป็นหลัก ไม่ใช่มาเป็นชิ้นๆ สมาร์ท ซิตี้ อย่าไปเห่อมาก เริ่มที่คน เอาให้กำลังเหมาะโดยใช้วิธีการแบ่งโซน อย่างเรื่องเรียนออนไลน์ ถามว่าเด็กในชุมชนแออัดไม่มีจะเครื่องมือและเทคโนโลยีจะทำอย่างไร ดังนั้น คำว่าสมาร์ท ซิตี้ ต้องระวัง ในอนาคตหากทำไม่ดีจะสร้างความเหลื่อมล้ำ จึงต้องเอาคนเป็นหลัก และทำให้ครอบคลุมทั้งหมด

“ปัญหาของเมืองคือ มีชุมชนจำนวนมากที่อยู่ในเมือง อย่าง กรุงเทพฯ มีชุมชนรวม 2,060 แห่ง มี 1,500 แห่งที่เป็นชุมชนเปราะบาง คนในชุมชนก็คือคนที่มาเป็นพนักงาน เป็น รปภ.ในห้างสรรพสินค้า จึงต้องดูแลคนเปราะบางเหล่านี้ที่เป็นเส้นเลือดฝอย ซึ่งเราเน้นทำเส้นเลือดใหญ่แต่ไม่ลงไปดูเส้นเลือดฝอยว่าเขาอยู่กันอย่างไร เราอาจจะมีสวนสาธารณะแบบสวนรถไฟ 400 ไร่ แต่หัวใจที่แท้จริงแล้ว คือ สวนขนาดเล็ก ขนาด 200 ตรว.ที่คนสามารถมาเดินหลังเลิกงานได้ อาจไม่เซ็กซี่เหมือนทำของใหญ่ๆ แต่จะเข้าถึงง่ายและประหยัดงบ ต้องเอาคนมารวมเป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ท ซิตี้ เพราะเราต้องอาศัยพวกเขา” รศ.ดร.ชัชชาติกล่าว

Advertisement
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

รศ.ดร.ชัชชาติยังกล่าวอีกว่า การจะทำให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ มี 5 ตัวชี้วัด คือ 1.ความมั่งคง 2.ความปลอดภัย 3.สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม 4.การศึกษา และ 5.โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราเน้นโครงสร้างพื้นฐานแต่ไม่ลงลึกระดับเส้นเลือดฝอย ให้เอาพื้นฐานที่ “คนมีความสุข” ไม่ใช่วัดด้วยความยาวของสายรถไฟฟ้า ขอให้เน้นเมืองน่าอยู่ เช่น นวนคร ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ม.มหิดล ศาลายา เช่นนี้ เป็นต้นแบบของเมืองน่าอยู่

ดังนั้น จึงควรมีแพลตฟอร์มรับฟังความเห็นทั้งสองระบบ ดิจิทัล และ อนาล็อก ซึ่งต้องใช้เวลา แต่หลักๆ ทำชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมีการพบปะพูดคุย ถอดความเห็นออกมา อีกประเภทเป็นแพลตฟอร์ม ให้คนช่วยกันเป็นหูเป็นตา เช่น มีคนปล่อยน้ำเสียตอนเที่ยงคืน ก็ถ่ายรูปส่ง ให้ กทม.ดำเนินการ มีวิธีมากมาย ราชการ เอกชน ประชาชน วิชาการ ต้องร้อยเรียงเป็นเนื้อเดียวกัน ดูภาพใหญ่อาจจะซับซ้อน แต่ภาพย่อยไม่ซับ ซ้อนเพราะเราแบ่งเป็นเขตอยู่แล้ว นวนครก็เป็นอีกโมเดลที่บอกได้ว่า จะดูแลคนข้างเคียงอย่างไร อยู่ที่ความจริงใจว่า อยากรับฟังจริงหรือไม่ รับฟังแล้วอยากแก้ปัญหาจริงหรือไม่ เพราะคนแกล้งหลับไม่มีทางปลุกให้ตื่นได้ อยู่ที่ความจริงใจ ถ้าอยากฟังประชาชนจริงก็มีหลายช่องทางที่สามารถทำได้

“เป็นความพิกลพิการอย่างหนึ่ง ระบบเชยนิดหน่อย ผอ.เขตที่เก่งมีเยอะ แต่ด้วยเป็นระบบราชการซึ่งต่อแนวดิ่ง ไม่ได้ต่อแนวราบ ดังนั้น อาจจะให้ประชาชนร่วมประเมินผลงาน ผอ.เขตได้หรือไม่ ซึ่งจะสร้างพลังได้อีกทาง หัวใจสำคัญคือ ความจริงใจ และต้องมีระบบที่บาลานซ์ โดยการคิดอย่างละเอียด”

สำหรับความท้าทายในการพัฒนาเมือง รศ.ดร.ชัชชาติกล่าวว่า โจทย์สำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้คนไปด้วยกันได้ การไล่ที่หาบเร่แผงลอยมีผลกระทบอย่างไรบ้าง มิติของเมืองมีความละเอียดอ่อนมากกว่ามิติเดียว ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้เป็น เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ใช่สำหรับคนบางกลุ่ม ในอนาคตดิจิทัลจะทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น แต่จะทำให้เราเหลื่อมล้ำมากขึ้นด้วย ไม่ใช่พัฒนาอย่างหัวพุ่ง แต่ข้างล่างยังติดอยู่ รัฐต้องหันมาดูแลชุมชนและสังคมให้ละเอียดมากขึ้น

ด้าน นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลายคนอาจจะมองภาพนวนครเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยโรงงาน แต่ด้วยที่มาที่ไปทำให้เราเป็นเขตอุตสาหกรรมที่แตกต่าง กล่าวคือ เมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นพื้นที่ทุ่งนา แย่กว่าพื้นที่รังสิต แต่ด้วยพระปรีชาของในหลวงรัชกาล ที่ 9 ทรงมีพระราชดำริ ให้มีเมืองที่ 2 รองลงมาจากกรุงเทพฯ และได้เลือกพื้นที่นวนคร 20 กม.เหนือจากดอนเมือง ให้เป็นเมนโลจิสติก โดยช่วงแรกรวบรวมพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ และรวบรวมจนปัจจุบันได้ 7,000 ไร่ มีการวางแปลนเมืองให้มีทั้งเขตธุรกิจ เขตโรงงาน และเขตที่อยู่อาศัย แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา จึงขยายพื้นที่เขตอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่จนเติบโตขึ้นเป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวกันก็มีที่พักอาศัยเกิดขึ้น จึงเติบโตต่างจากเมืองอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นอีกวิถีชีวิต และเป็นที่มาของโครงการนี้ด้วย

นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา

“หากศึกษาองค์ประกอบต่างๆ จะพบว่า นวนครมีทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบของเมือง มีทั้งคนอยู่อาศัย ตลาด สถาบันการศึกษา รวมถึงการเข้าถึงโลจิสติกส์ ซึ่งเรามีทั้งถนนพหลโยธิน ดอนเมืองโทลเวย์ และรถไฟ ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะเข้าถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง และเทคโนโลยีที่จะเข้ามา เป็นวัตถุประสงค์ใหญ่ เนื่องจากเรามีศักยภาพทั้งภาคการผลิต พาณิชยกรรม การศึกษา ซึ่งล้วนเป็นสถาบันเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เกิดเมือง สำคัญคือ การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) โดยการปรับตัวต้องพยายามปรับให้ทัน และ ต้องนำเขาด้วย เพราะการผลิตสมัยนี้ใช้เทคโนโลยี และ 5 จี เข้าช่วย อย่างหนึ่งที่ทำไปแล้ว คือ การวางระบบไฟเบอร์ออฟติก ซึ่งหากเกิดความเชื่อมโยงจะสร้างอะไรได้มาก และจะเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน แต่เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำ ทั้ง ภาครัฐ และเอกชน”

“ในอนาคตเราจะมี ‘ดาต้า เซ็นเตอร์’ รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เป็น สังคมพึ่งตนเอง (self society) ที่ดูแลตัวเองร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ โดยด้านกายภาพมี 200 กว่าโรงงาน ประชากรเกือบ 200,000 คน พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่สมบูรณ์แบบด้วยโลจิสติกส์ ติดถนนพหลโยธินและมีเส้นทางรถไฟฟ้า การเดินทางจะง่ายมาก ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเชื่อมเมืองทั้งสองให้เข้าด้วยกัน

ด้านเทคโนโลยี มีการวางระบบไฟเบอร์ออฟติก และระบบเชื่อมต่อ เริ่มด้วย ‘สมาร์ท อินดัสตรี’ (smart industry) โดยใช้เทคโนโลยีเอไอ และอื่นๆ เข้ามาช่วย ด้าน สมาร์ท เอดูเคชั่น (smart education) ม.ธรรมศาสตร์จะเป็นหลักเรื่องนี้ ด้วยการเรียนการสอนสมัยใหม่เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง โดยออกแบบหลักสูตรต่างๆ ให้สอดรับกับความต้องการของคน ตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับผู้บริหาร ด้าน สมาร์ท เทคโนโลยี (smart technology) จะเอาเทคโนโลยีมารวมกันพัฒนาให้เกิดเมืองที่มีความพร้อมทุกประการ เอื้อต่อกันทุกด้าน คนสามารถพัฒนาร่วมกัน สวทช.สามารถทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์ได้มาก ทำให้คนมีงาน และมีการพัฒนาเทคโนโลยี

ทั้งหมดทั้งมวล เมื่อรวมกันจะก่อให้เกิดความเป็น สมาร์ท ซิตี้ (smart city) ซึ่งในอนาคตจะเป็นจุดสำคัญที่พัฒนาต่อไปเป็น สมาร์ท พีเพิล (smart people) พัฒนาให้คนในพื้นที่มีความพร้อมที่จะรองรับอนาคตใหม่ๆ เกิดเป็นสังคม สมาร์ท โซไซตี้ (smart society) สังคมที่ดีตามที่เราวาดหวัง ด้วยศักยภาพที่เรามีจะสร้างสมาร์ทซิตี้เป็นโมเดลให้กับที่อื่นๆ ต่อไป แต่สมาร์ตซิตี้เป็นเพียงกระบวนการ ซึ่งแต่ละเมืองย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพของเมือง เมืองใน กทม.ก็จะเป็นอีกบริบท” นายนิพิฐเผย

นายนิพิฐกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่หนึ่งองค์ประกอบ สิ่งสำคัญคือ คน เป็นปัจจัยในการสร้างเมือง เพราะในที่สุด หากเราพัฒนาเมืองให้ดี เมืองจะกลับไปสร้างคน เรามีชุมชนจำนวนมาก เป็นกระดูกส่วนสำคัญของนวนคร คนที่มาช่วยตอนน้ำท่วมใหญ่ คือคนที่อยู่รอบๆ นวนคร ต่างพึ่งพาอาศัยกัน คนในชุมชนก็มาทำงานนวนคร ถึงเวลามีภัยก็มาช่วยกันปกป้องบ้านของเขา เทคนิคคือ เรามีการประชุมหัวหน้าชุมชนแทบทุกเดือนเพื่อรับทราบปัญหา โดยจะเป็นคนคุยกับผู้ดำเนินการอุตสาหกรรม มีปัญหาอะไรจะมีเว็บไซต์กลาง มีช่องทางให้คนสื่อสาร เมื่อเรียนรู้ ช่วยเหลือกันจะกลายเป็นเพื่อนบ้านที่แท้จริง ตอนนี้นวนครเป็นชุมชนที่น่าอยู่ มีปัญหาก็เข้าไปแก้ไขได้ทันที รวดเร็วกว่าภาครัฐเข้ามาแก้ไข

“ที่เราประสบความสำเร็จเพราะเราทราบปัญหาที่แท้จริงของประชากร ไม่ได้ฟังแต่เสียงประธานชุมชน เรามีไลน์กรุ๊ปที่ใครก็ตามสามารถเข้ามารายงานได้ จึงสามารถแก้ปัญหาได้ทันทีในชั่วโมงหรือนาที เรามีการใช้โปรแกรม Traffy Fondue ของ สวทช.ในเรื่องการดูแลเมือง จึงทำทุกอย่างได้แบบเรียลไทม์ คือ ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีมาเป็นองค์ประกอบให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การสร้างเมืองให้สำเร็จ มีทั้งเรื่องชิงโครงสร้างพื้นฐาน แต่ที่สำคัญคือ การจัดการ ซึ่งรวมไปถึงองค์กรส่วนท้องถิ่นด้วย ทีมต้องตามให้ทันและเข้าใจความต้องการของประชากรในท้องถิ่นนั้นๆ หากพัฒนาเมืองโดยใช้ระบบปัจจุบันอาจไม่เหมาะ ต้องเซ็ตใหม่ ไม่ต้อถึงขึ้นเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่ให้เอกชนและท้องถิ่นจัดการเมืองที่เขาต้องการให้เป็น” นายนิพิฐกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image