“ฉัตรชัย ศิริไล” MD13+ ฉายภาพกลางโควิด โจทย์หิน 4 ปีผลักดัน ธอส.แข็งแกร่ง

เข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วาระที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา

จากสถานการณ์โควิด-19 กระทบไทยและทั่วโลก ถือเป็นความท้าทายของ ฉัตรชัย ศิริไล ว่าการดำรงตำแหน่งอีกสมัย 4 ปีข้างหน้า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ ธอส.เหมือนสมัยแรกได้หรือไม่

ในสมัยแรก “ฉัตรชัย” พลิกโฉม ธอส.ให้ก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัล ทำให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 อย่างไม่สะดุด รวมถึงปรับกระบวนการขอสินเชื่อ และอนุมัติสินเชื่อให้เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อตอบโจทย์คนในทุกระดับ

จนทำให้ ธอส.กลายเป็นที่จดจำของประชาชนหากต้องการสินเชื่อบ้าน ต้องคิดถึง ธอส.

Advertisement

สมัย2เน้น3เรื่องใหญ่

ในการเข้ามาทำงานในวาระที่ 2 ให้สัญญากับคณะกรรมการ (บอร์ด) ธอส.ไปว่าจะเน้นใน 3 เรื่องใหญ่

เรื่องแรกเน้น ดิจิทัลเซอร์วิส แบงก์รัฐคงไม่สามารถไปดำเนินการดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบได้ เพราะลงทุนสูงมาก โดยในเรื่องดิจิทัลเซอร์วิส ธอส.ตั้งเป้าหมายให้สามารถดำเนินการทุกอย่างบนอากาศมากที่สุด ถ้าทำได้จะเป็นการลดต้นทุน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการ ธอส.ได้

Advertisement

ธอส.เน้นดิจิทัลเซอร์วิส เพราะลงทุนต่ำกว่าดิจิทัลแบงกิ้ง ถ้าต้องลงทุนดิจิทัลแบงกิ้งเป็นการลงทุนเกินตัวเกินไป ตรงนี้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทย หลังจากโควิด-19 ทำให้ชีวิตคนหันเข้าหาดิจิทัลมากขึ้น ก่อนหน้านี้คนกลัวเทคโนโลยี ไม่กล้าใช้ แต่เมื่อต้องเจอกับโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน

ที่ผ่านมา ธอส.ปรับเปลี่ยนเรื่องดิจิทัล ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างดี การทำงาน การให้บริการลูกค้าไม่สะดุดลง ยืนยันว่าการนำดิจิทัลมาใช้จะไม่ลดสาขาที่มีอยู่ 200 แห่ง แต่จะเปลี่ยนฟังก์ชั่น เช่น ข้างล่างคือสินเชื่อ ข้างบนคือการเงิน

เรื่อง 2 คือ ดูแลงบดุล (balance sheet) ของ ธอส.ให้แข็งแกร่ง ธอส.มีสินเชื่อคงค้าง (พอร์ต) ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ดังนั้น ต้องมีแนวทางทำให้สามารถคงสินเชื่อดังกล่าวไว้ และทำให้สินเชื่อดังกล่าวสร้างรายได้ต่อธนาคาร

เรื่องสุดท้ายคือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม แบงก์ต่างๆ เปลี่ยนพฤติกรรม พนักงานต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ในช่วงโควิด-19ทำให้เกิดเวิร์กฟรอมโฮม ต้องให้ชัดเจนว่างานแบบไหนต้องเวิร์กฟรอมโฮมได้ งานแบบไหนเวิร์กฟรอมโฮมไม่ได้ และการเวิร์กฟรอมโฮมศักยภาพการทำงานของพนักงานต้องมากกว่า 120%

ขณะนี้ฝ่ายบุคคลของธนาคาร ร่วมกับฝ่ายประเมินผลกำลังวิเคราะห์การทำงานของพนักงานว่า ในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร โดยต้องอยู่บนพื้นฐานแบงก์ต้องไม่เอาเปรียบพนักงาน พนักงานต้องไม่เอาเปรียบแบงก์

ภาพธอส.ใน4ปีข้างหน้า

เมื่อถามว่าในอีก4ปีข้างหน้าวางภาพ ธอส.ไว้อย่างไร

“ฉัตรชัย” ตอบทันทีแบบไม่คิดนานว่า ขอทำปีนี้ให้รอดก่อน เพราะสถานการณ์แบบนี้คงไม่สามารถวางแผนอะไรแบบยาวๆ ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไป ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ดัดจริต ตอนนี้คงมองได้แค่ 3 เดือน 6 เดือนเท่านั้น

การเดินไปข้างหน้าต้องปรับเปลี่ยนแผนงานพอสมควร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนจะวางแผนยาวทำไม 4 ปี

ในระยะสั้นภายในสิ้นปีนี้ งบดุลของ ธอส.ต้องกลับมาเฮลตี้ (แข็งแรง) ไม่ใช่การเน้นตัวเลข แต่ความแข็งแรงต้องสะท้อนออกมาให้ได้ โดยเฉพาะการรับมือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) จากโควิด-19 ขณะนี้ปัญหาหนี้เสียยังมองยากว่าจะเป็นอย่างไร เพราะกำลังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในช่วงโควิด-19 มีทั้งการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้น ต้องมีแนวทางว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดหนี้เสียสูงขึ้นจนกระทบงบดุล

ขณะนี้เปรียบเสมือนกำลังเข้าไปห้องมืด ดังนั้น คงไม่สามารถวางแผนยาวได้ ก่อนโควิด-19 เคยวางแผนมากสุด2 ปี แต่หลังจากเกิดโควิด-19 ต้องเปลี่ยนไป เพราะเราต้องอยู่กับโรคนี้ไปอีกนาน ดังนั้น สถานการณ์แบงก์ต้องเปลี่ยนไป การดูแลกลุ่มลูกค้าต้องแตกต่างกันไป ลูกค้าธุรกิจต้องดูแลอีกแบบ ลูกค้าที่ทำตามพันธกิจ ทำตามนโยบายรัฐบาลต้องดูแลอีกแบบหนึ่ง

ความเฮลตี้ของแบงก์รัฐ เมื่อ 4 ปีก่อน ในสถานการณ์ปกติแบงก์รัฐทั้งหมดต้องเฮลตี้เพราะต้องแข่งกับแบงก์พาณิชย์ แต่ในวันที่ไม่ปกติ เกิดวิกฤตขึ้น ต้องแข็งแรงพอเป็นไม้เป็นมือให้กับภาครัฐ

กำไรหดแต่ต้องแข็งแกร่ง

ขณะนี้ ธอส.ยังสามารถปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมาย ล่าสุดยังสามารถปล่อยสินเชื่อถึง 9.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจนถึงสิ้นปีการปล่อยสินเชื่อจะสามารถทำได้ถึง 2.1 แสนล้านบาท หากไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่น โควิด-19 รอบ 2

แม้ปล่อยสินเชื่อตามเป้าหมายแต่จากสถานการณ์โควิด-19 ดอกเบี้ยในตลาดต่ำ และแข่งขันรุนแรงทำให้กำไร (มาร์จิ้น) ที่ได้รับจากสินเชื่อบางมาก เพราะขณะนี้ ธอส.ช่วยเหลือลูกค้า มีนโยบายมากมาย รวมถึงมีสินเชื่อคิดดอกเบี้ยต่ำสุดเพียง 1.99% ต่อปี

ทำให้ในปีนี้ต้องลดเป้าหมายกำไรเหลือเพียง 8,000 ล้านบาท จากต้นปีตั้งเป้าหมายไว้ 13,000 ล้านบาท แต่มองไว้ว่าถ้าสถานการณ์โควิด-19 ไม่รุนแรงไปกว่านี้ ปีนี้น่าจะทำกำไรถึง 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การทำให้ธนาคารเข้มแข็งต้องดำรงคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ให้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 8.5%

ในเดือนเมษายน 2563 BIS ratio ธอส.อยู่ที่ 15.41% ทำให้ ธอส.สามารถเข้าไปช่วยรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนช่วงที่เกิดวิกฤตได้เป็นอย่างดี หากเกิดความเสียหายขึ้นจากการช่วยเหลือดังกล่าว BIS ratio ยังสูงกว่าเกณฑ์ ธปท. ซึ่ง ธอส.ตั้งเป้าหมายว่าต่ำสุด BIS ratio ต้องไม่หลุด 10.5%

ส่วนเอ็นพีแอลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจภายในสิ้นปีจะอยู่ที่ 4.75% จากปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.68% สูงกว่าปลายปีที่อยู่ในระดับ 4.09%

ยืนยันว่าขณะนี้สภาพคล่องไม่มีปัญหา สามารถตั้งสำรองเพิ่มหากหนี้เสียมากขึ้น ประเมินว่า ธอส.สามารถรับความเสี่ยงจากหนี้เสียอีก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดจากลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 2 แสนล้านบาท ธอส.สามารถรับความเสี่ยงถึง 20% ของ 2 แสนล้านบาท

ต้องรอดท่ามกลางวิกฤต

ถ้าแบงก์ไม่เข้าไปช่วยพักชำระหนี้ให้ลูกค้า จะทำให้เอ็นพีแอลทั้งระบบสูงขึ้นมาก กระทบเศรษฐกิจภาพรวม

แม้การพักชำหนี้บ่อยๆ ไม่เป็นผลดี ทำให้สถานะทางการเงินธนาคารไม่สวยงาม แต่ต้องช่วยให้ประชาชนอยู่รอด ช่วยให้สามารถหายใจให้ได้ก่อน

นอกจากทำให้ลูกค้าหายใจได้แล้ว ต้องดูว่าทำอย่างไรองค์กรยังหายใจ เพราะขณะนี้เหมือนเดินไปยังสถานที่มืดๆ ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาความเป็นความตายของเชื้อโรค ดังนั้น ความรู้สึกและผลกระทบจะไม่เหมือนกันกับช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาเพราะขณะนี้เศรษฐกิจยังอยู่ ทุกอย่างยังอยู่ คนกลัวตายทำให้เกิดอะไรไม่รู้ คนที่มีชีวิตอยู่ขณะนี้ไม่มีใครมีอายุถึง 100 ปี ดังนั้น ไม่รู้ว่าที่ผ่านมาในวิกฤตโรคระบาดแบบนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และต้องทำอย่างไร

ดังนั้น ธนาคารต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น ในช่วงโควิด-19 การปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านต้องเน้นในกลุ่มมีกำลัง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อธนาคารยังเป็นไปตามเป้าหมาย

ช่วงโควิด 2-3 เดือนที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อไม่ได้ลดลง แม้จำนวนลูกค้าลดลง แต่มูลค่าต่อรายสูงขึ้น ราคาเฉลี่ยของบ้านปล่อยกู้มีมูลค่าสูงขึ้น จากอดีตเฉลี่ยประมาณรายละ 1 ล้านบาท

โควิด-19 ระบบธนาคารเข้าไปช่วยเหลือประชาชนค่อนข้างมาก กลับด้านจากวิกฤตปี 2540 ที่ระบบธนาคารมีปัญหาจนประชาชนต้องมาช่วยเหลือธนาคาร

เล็งช่วยลูกค้าพักหนี้เพิ่ม

มาตรการช่วยโควิด-19 ของ ธอส.ทั้ง 8 มาตรการมีลูกหนี้เข้าร่วม 4.3 แสนล้านบาท จากพอร์ต 1.2 ล้านล้านบาท

พบว่ามีลูกค้าขอพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 2 แสนราย วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท

มาตรการทั้งหมดสิ้นสุด 30 ตุลาคม 2563 จากนี้ ธอส.ต้องประเมินว่าลูกค้าที่พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจะมีความสามารถในการชำระหนี้หลังจากสิ้นสุดมาตรการอย่างไร โดยในกลุ่มนี้มีลูกค้าที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ประมาณ 5% หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นปัญหาก่อนเข้าร่วมมาตรการ

ในช่วงเดือนกันยายน หรือก่อนหมดมาตรการ 60 วัน ธอส.จะเข้าไปประเมินลูกค้าว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ไหวหรือไม่ ถ้าไหวผ่อนได้แค่ไหน ต้องประเมินเป็นรายคน ต้องมาดูว่าเมื่อหมดมาตรการ เขาจะสามารถหายใจเองได้ไหม ถ้าหายใจเองได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหายใจเองไม่ได้ ต้องออกมาตรการประนอมหนี้แบบพิเศษมาช่วย

ถ้ากลุ่มที่หายใจไม่ได้ถอดปลั๊กก็จะตายทันที แบงก์ต้องมาประเมินว่างบดุลของบริษัทรองรับได้แค่ไหน การดูแลและช่วยเหลือลูกค้าต้องใช้ความละเอียด และต้องประเมินร่วมกับสถานะของธนาคารว่าจะช่วยได้แค่ไหน อย่างไร

ข่าวดีดอกเบี้ยบ้านจ่อลด

สิ่งสำคัญของคนกู้เงินคือดอกเบี้ย มีข่าวดีสำหรับลูกหนี้แบงก์รัฐว่าดอกเบี้ยมีโอกาสลดลงในเร็วๆ นี้ เพราะเสนอไปยังกระทรวงการคลังให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาแบงก์รัฐลง 50% เหลือ 0.125% จากที่เคยส่ง 0.25% ของฐานเงินฝาก

ตรงนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการที่ ธปท.ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯของแบงก์พาณิชย์ลง 50% จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือร้อยละ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้แบงก์พาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ประชาชนและธุรกิจช่วงโควิด-19

ขณะนี้ทราบว่าข้อเสนอแบงก์รัฐกำลังเตรียมเข้า ครม. ถ้า ครม.เห็นชอบ แบงก์รัฐสามารถลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าได้ทันที

ทำให้ ธอส.จะสามารถปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่อยู่ 6.150% ต่อปี ลงได้อีก

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสปรับลดลงอีก หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น เชื่อว่า ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ เพื่อให้ ธอส.สามารถบริหารจัดการเงินกู้ให้ถูกลง เร่งรัดให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องขายสลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส.ชุดพิมานมาศ ให้ครบทุกหน่วยภายในวันที่ 24 กันยายน 2563

สลากดังกล่าวเปิดขายจำนวน 1 ล้านหน่วย หน่วยละ 5 หมื่นบาท วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด ให้ดอกเบี้ย 0.9% ต่อปีผู้ซื้อมีโอกาสถูกรางวัลปกติหมวดละ 10 รางวัล รางวัลละ 5 หมื่นบาท ทุกเดือน รวม 36 ครั้ง และรางวัลพิเศษ หมวดละ 2 รางวัล รางวัลละ 5 แสนบาท ทุกไตรมาส รวม 12 ครั้ง

ถ้าขายสลากได้หมด ทำให้ต้นทุนการเงิน ธอส.ถูกลงและสามารถออกผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพิ่มขึ้น

ขยับเกณฑ์บ้านล้านหลัง

ส่วนโครงการบ้านล้านหลังเคยสร้างกระแสฮือฮา เพราะยอดคนไปจองสิทธิอย่างล้นหลาม โดยกำหนดกรอบวงเงินปล่อยกู้ 5 หมื่นล้าน ล่าสุด จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ยื่นกู้ 30,476 ราย วงเงิน 22,495 ล้านบาท อนุมัติ 28,912 ราย วงเงิน 20,576 ล้านบาท หรืออนุมัติได้เดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท

ปัจจุบันหลังจากดำเนินโครงการมาเป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง บ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มีน้อยลง ดังนั้น ธอส.จึงเสนอให้ ครม.และ ครม.มีมติมาแล้วให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยมีทางเลือกในการหาซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น รวมถึงคอนโดมิเนียม ราคา 1.2 ล้านบาท ตามแนวรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ การปรับราคาดังกล่าวสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนโดยกำหนดให้กิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริมตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ราคาต่อหน่วยไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ส่วนที่อยู่อาศัยที่ตั้งในจังหวัดอื่นต้องราคาหน่วยละไม่เกิน 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขยายราคา 1.2 ล้านบาท ช่วยทำให้คนเคยกู้ 1.1-1.2 ล้านบาท สามารถมากู้ได้มากขึ้น และผลจากโควิด-19 ทำให้คอนโดมิเนียมราคาเกิน 1.3 ล้านบาท ปรับลดราคาลงมาเหลือ 1.2 ล้านบาท แทบทั้งนั้น

การปรับราคาบ้านล้านหลังเพิ่มขึ้น น่าจะทำให้คนไทยมีบ้านเพิ่มมากขึ้น

ผลงานรอบ4ปีที่ผ่านมา

“ฉัตรชัย” ดำรงตำแหน่งวาระแรกช่วง 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2559-3 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธอส.คนที่ 13 เมื่อมารับตำแหน่งอีกรอบเมื่อ 15 มิถุนายน 2563 เจ้าตัวบอกว่า ถือเป็นกรรมการผู้จัดการ ธอส.คนที่ 13+ ไม่ใช่คนที่ 14

ผลงานสำคัญในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ในส่วนการเงิน สินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 900,223 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 1,245,651 ล้านบาท ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 38.37% ปล่อยสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2562 ถึง 1,209,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 40.15% ทำให้ธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างเป็นอันดับ 1 ที่ 29.33% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ครองส่วนแบ่ง 27.76%

ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 8,700 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 13,253 ล้านบาท ในปี 2562 ต้นทุนทางการเงิน (Cost of Fund) เหลือ 2.09% จาก 2.74% และมีอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ณ สิ้นปี 2562 ที่ 2.47%

ในส่วน BIS ratio ธอส.สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนดไว้ 8.5% มาตลอด โดยในปี 2562 BIS ratio เท่ากับ 15.17% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 BIS ratio อยู่ที่ 14.11% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงจาก 5.45% ของสินเชื่อรวมในปี 2558 เหลือเพียง 4.09% ในปี 2562

นอกจากนี้ ยังผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทำให้ธนาคารสามารถออกสลากออมทรัพย์ในปี 2562 รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ในปี 2562

ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางหลายโครงการ อาทิ โครงการบ้านล้านหลัง โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ บนที่ดินราชพัสดุ โครงการมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย บ้านดีมีดาวน์ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โครงการของขวัญปีใหม่ เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินสำหรับลูกค้า ธอส. ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

ธอส.ได้รับผลการประเมินตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ พบว่า ผลคะแนนที่รวมในส่วนกระบวนงาน/ระบบงาน (SEPA) และในส่วนผลลัพธ์ (Result) ของ ธอส.

ปี 2561 มีผลคะแนนรวมที่ 4.8420 สูงที่สุดในรอบ 8 ปี ตั้งแต่มีระบบการประเมินผลการดำเนินงาน

ช่วง 4 ปี ธอส.รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2562 ถึง 3 รางวัล ประกอบด้วย 1.รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม 2.รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น ประจำปี 2562 และ 3.รางวัลชมเชย ประเภทรางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านการยกระดับการบริหารจัดการองค์กร (ธอส.-อสป.)

รางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA Awards) อันดับ 1 ที่ 99.06 คะแนน เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2560-2562

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ Thailand Quality Award (TQA) ประจำปี 2562 โดยสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image