ประวัติศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ 20 ปีกับประเทศไทย 4.0 โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์(แฟ้มภาพ)

เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายนปีนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ที่ใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นตัวชี้นำโดยมีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นประเทศไทย 4.0

ครับ ! เรื่องประเทศไทย 4.0 มันเป็นอย่างนี้ครับ คือโมเดลการพัฒนาประเทศไทย 1.0 คือการเน้นพัฒนาภาคเกษตรด้วยการขยายพื้นที่การเกษตรคือการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมโหฬารเพื่อทำเป็นที่ไร่ที่นานั่นแหละรวมทั้งการสร้างเขื่อนส่งน้ำไปใช้ในการเกษตร พอมาถึงประเทศไทย 2.0 เริ่มเน้นอุตสาหกรรมเบา คือโรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้าพร้อมกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเช่นถนน ไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าว และพอถึงประเทศไทย 3.0 คือ การเน้นอุตสาหกรรมหนัก และการส่งออก แต่ทั้ง 3 รหัส ตั้งแต่ 1.0, 2.0 จนถึง 3.0 แล้ว ปรากฏว่าประเทศไทยต้องติดหล่มอยู่ในกลุ่มประเทศ “รายได้ปานกลางขั้นสูง” แบบว่าจมปลักนั่นแหละครับขยับเขยื้อนตัวก้าวไปข้างหน้าต่อไปไม่ได้ออกมาได้จึงต้องมีโมเดล หรือรหัสใหม่ “ประเทศไทย 4.0” คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ได้แก่

1.เปลี่ยนจากการผลักดันสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

ครับ ! เจ้า 4 ข้อนี่แหละคือประเทศไทย 4.0 นั่นเองหวังว่าคงจะหลุดจากหล่มออกจากปลักได้นะครับ

Advertisement

ความจริงเรื่องของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยนั้นถือเป็นเรื่องตลกร้ายจริงๆ นะครับสมกับคำพังเพยที่ว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” คือเกลียดตัวเหี้ยแต่ชอบกินไข่เหี้ย และเกลียดปลาไหล (เพราะเหมือนงู) แต่ชอบกินน้ำแกงปลาไหลต้มเปรตนั่นแหละ กล่าวคือ นโยบายของรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง พ.ศ.2502-2506) มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งคอมมิวนิสต์โซเวียต คอมมิวนิสต์จีนและคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือตลอดจนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างรุนแรงและเฉียบขาดขนาดจับคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ประหารชีวิตถึง 3 คน

แต่ปรากฏว่ารัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์นี่เองที่รับเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีต้นแบบจากแผนห้าปีของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โซเวียตภายใต้จอมเผด็จการสตาลิน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีนี้บรรดาประเทศคอมมิวนิสต์ทุกประเทศมีทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจีนแดง เกาหลีเหนือ เวียดนามเหนือ เยอรมันตะวันออก ฮังการี โปแลนด์ ฯลฯ

ความจริงบรรดาแผนห้าปีของคอมมิวนิสต์นี่นะครับบรรดาประเทศประชาธิปไตยเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ เขาไม่มีหรอกเพราะการที่จะมีแผนห้าปีแบบคอมมิวนิสต์ได้นั้นต้องมีโทษสมบัติที่สำคัญที่สุดขาดไม่ได้คือ ต้องมีการปกครองแบบเผด็จการซึ่งประเทศไทยภายใต้รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ แม้จะต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ทั้งหลายที่เป็นเผด็จการฝ่ายซ้ายอย่างเข้มแข็งก็ตาม แต่รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์เองก็เป็นเผด็จการทหารซึ่งเป็นเผด็จการฝ่ายขวา ดังนั้นธนาคารโลกภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาจึงได้เอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีที่รัฐบาลต้องเป็นตัวกำหนดทิศทางในการพัฒนาซึ่งแผนห้าปีของคอมมิวนิสต์จะเน้นการบังคับออมของภาคการเกษตรแล้วใช้ทุนจากการบังคับออมนั้นมาทุ่มในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักแต่แผนเศรษฐกิจห้าปีของนักวิชาการอเมริกันทดลองเอามาใช้กับประเทศไทยนั้นเน้นการขยายตัวของภาคการเกษตรและสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมคือ การสร้างถนนหนทางเพื่อการขนส่ง สร้างเขื่อนเพื่อขยายโรงงานไฟฟ้า น้ำประปาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเบาก่อนเช่นโรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้าโดยการกู้เงินจากธนาคารโลกซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมๆ กับ องค์การไอเอ็มเอฟที่คนไทยรู้จักดีนั่นแหละ (ตรงนี้ต่างกับคอมมิวนิสต์ตรงที่ไทยเรากู้เงินภายนอกประเทศ แต่สหภาพโซเวียตตอนสมัยเลนินนั้นไม่มีใครเขาให้กู้เงินจึงต้องบังคับออมเอาจากภาคการเกษตรที่ทำเอาชาวไร่ชาวนาอดตายกันไปไม่น้อย)

Advertisement

แต่ที่ไทยเราทำเหมือนกับแผนห้าปีของคอมมิวนิสต์ทั่วไปก็คือให้ภาคการเกษตรแบกรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง

อีทีนี้บรรดาแผนห้าปีทั้งหลายนี่มักเจอปัญหาตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น คือ Law of Diminishing Return (กฎแห่งการทดแทน) คือ กฎว่าด้วยผลตอบแทนลดลงจะเกิดขึ้นในการผลิตระยะสั้น กฎนี้กล่าวว่าถ้าเพิ่มปัจจัยการแปรผันเข้าไปทำงานร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ที่คงที่มากเกินกว่าปริมาณหนึ่งจะทำให้ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นในอัตราลดลง หรือทำให้ผลผลิตเพิ่มของปัจจัยแปรผันลดลง (ผู้เขียนไม่รู้ว่าจะเขียนอธิบายให้ง่ายๆ กว่านี้ได้อย่างไร) ว่ากันง่ายๆ ก็คือการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในตัวแปรทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว พอถึงจุดหนึ่งก็จะมีผลตอบแทนลดลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นไม่คุ้ม ขาดทุน ยกตัวอย่างนโยบายการศึกษาที่ทุ่มทุน (งบประมาณ) เข้าไปอย่างมหาศาลติดต่อกันเป็นเวลานานจนงบประมาณการศึกษาสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ผลก็ออกมาอย่างที่เห็นกัน ก็คือ การศึกษาตกต่ำจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

ส่วนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี่ผู้เขียนไม่เคยเห็นบ้านไหนเมืองไหนเขาทำกันเลยเพราะแค่การเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีนี่ยังยากที่จะคาดคะเนดูอย่าง ไลน์ (Line) เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่เกิดมาได้ภายในเวลาไม่ถึง 20 ปีเลยได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนเราไปขนาดไหน การกำหนดเส้นทางการพัฒนาประเทศตั้ง 20 ปีล่วงหน้านั่นมันไสยศาสตร์แล้วละ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์หรอก

ครับ ! ก็เอาใจช่วยแหละครับเมืองไทยเราคงต้องพึ่งปาฏิหาริย์อยู่แล้ว

ตลกที่มีพวกเทคโนแครตสมัยเก่า ตามโลกไม่ทันแล้วมาเสนอและเรื่องอย่างนี้ให้ข้าราชการนำไม่ได้หรอกไม่ทันเขาหรอก ทฤษฎีรองเท้าสามารถ ศรแดง Law of Diminishing Return

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image