เจ้าของที่ดินสุสาน 3 พันปี เผยนาทีพบเศษกระดูก รองผู้ว่าฯ อ่างทองห่วงใกล้ฤดูทำนา ชวนกรมศิลป์ถก

บ้านพักที่จัดเก็บโบราณวัตถุ

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม สืบเนื่องกรณีการพบโบราณวัตถุจำนวนมากบนที่ดิน 17 ไร่ 2 แปลงในตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ซึ่งคณาจารย์ด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีลงพื้นที่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมโดยระบุว่า เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่อายุ 3,000 ปี

สภาพผิวดินปัจจุบัน พบโบราณวัตถุกระจายตัวทั่วบริเวณ
สภาพพื้นที่ 17 ไร่ 2 งาน พบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ครั้งแรกในจังหวัดอ่างทอง

นายสมเกียรติ บริบูรณ์ อายุ 54 ปี เจ้าของที่ดินกล่าวว่า ตนพบโบราณวัตถุต่างๆ จากการขุดหน้าดินเพื่อนำไปจำหน่าย โดยครั้งแรกขุดลึกลงไปจากผิวดินราว 1 เมตรกว่า ได้พบเศษกระดูก และเศษภาชนะดินเผาระเกะระกะ เกรงคนมาเหยียบย่ำ จึงจุดธูปไหว้และขอนำไปเก็บรักษาไว้ที่ห้องพระภายในบ้านพัก จากนั้นมีการขุดลึกลงไปอีกครั้งละ 30 ชม. รวม 3 ครั้ง ยังคงพบโบราณวัตถุอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้ทดลองขุดตามรอยโบราณวัตถุในจุดที่พบหนาแน่น ทำให้ได้พบภาชนะดินเผาที่มีสภาพสมบูรณ์ รวมถึงโบราณวัตถุอื่นๆ ซึ่งล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าประกอบด้วย ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ และสัตว์, ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ทั้งที่สภาพสมบูรณ์ และชิ้นส่วนที่แตกหัก เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดิน ก้นกลมทาน้ำดินสีแดง ผิวขัดมัน, ชิ้นส่วนภาชนะลวดลายขูดขีด, หินดุ สำหรับทำภาชนะดินเผา, เครื่องมือหินขัด, ชิ้นส่วนหอกสัมฤทธิ์, ลูกปัดทำจากกระดูกปลาขนาดใหญ่ เป็นต้น

สมเกียรติ บริบูรณ์ เจ้าของที่ดิน

นายสมเกียรติกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ดินดังกล่าว ตนได้ให้ชาวบ้ายรายอื่นเช่าทำนา ซึ่งใกล้ฤดูกาลทำนาแล้ว ส่วนตัวอยากให้มีการขุดค้นโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะอยากรู้ว่าบ้านเกิดของตนเก่าแก่และสำคัญอย่างไร

รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และชมรมนักโบราณคดีสมัครเล่นเมืองสุพรรณ ขณะลงพื้นที่เมื่อ 12 กรกฎาคม

Advertisement

นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกของจังหวัดอ่างทองที่มีการพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รู้สึกยินดีมากที่คณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมสังเกตการณ์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่ดินดังกล่าวมีผู้เช่าทำนา เมื่อพบโบราณวัตถุจำนวนมากจึงชะลอการทำนาไว้ ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ซึ่งก็เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น ตนอยากขอให้กรมศิลปากร ส่งนักโบราณคดีลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสม ตนในฐานะรองผู้ว่าฯ และคณะพร้อมให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวก โดยอาจมีการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เนื่องจากเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีค่าของประเทศ นอกจากนี้ อาจเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต เนื่องจากตั้งอยู่ริมถนน เดินทางเข้าถึงง่ายและเชื่อมต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้สะดวก ทางจังหวัดพร้อมทำงานร่วมกันและหาแนวทางร่วมมือในการพัฒนาในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน

พงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image