มองต่างมุม‘บิ๊กแดง’ ทฤษฎี‘สมคบคิด’

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ มีความคล้ายคลึงกับทฤษฎีสมคบคิด

ปิยณัฐ สร้อยคำ

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Advertisement

ส่วนตัวแล้วมองว่าการออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยที่แสดงให้เห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการส่งเสียงและส่งสารของประชาชนถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงไปยังผู้นำประเทศ รวมถึงตอกย้ำความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่พลเมืองไทยมีมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากการเคลื่อนไหวของเยาวชนดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง และอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ก็เป็นสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐจึง
ควรใช้โอกาสนี้ในการรับฟังเสียงจากเยาวชนซึ่งจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ซึ่งจากการได้พูดคุยกับนักศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัย
และนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาหลายคน พบว่าเยาวชนไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงพลวัตและผลกระทบของการเมืองที่มีต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านการเคลื่อนไหวทางสังคมกันอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

หากถามในส่วนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาว่าเกี่ยวพันกับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการสมคบคิดหรือไม่นั้น คงต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ลักษณะพื้นฐานของการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือ Social Movement ที่เกิดขึ้น เกิดจากการรวมตัวของมวลชนที่มีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ซึ่งมาจากทั้งกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงกลุ่มการเมืองที่มีความคิดเห็นตรงกันและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นๆ หากจะมีผู้สมัครหรือสมาชิกของพรรคการเมืองบางพรรคเข้าร่วมก็ไม่แปลก เพราะเป็นลักษณะปกติของการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนที่ยึดโยงด้วยแนวคิดความคิดบางอย่างร่วมกัน

และหากมองลักษณะของการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากหลายสถาบันการศึกษาที่กระจายในหลายจังหวัดว่าเกิดจากการสนับสนุนหรือสมคบคิดของกลุ่มการเมืองใดหรือไม่นั้น ส่วนตัวชวนตั้งคำถามอย่างหนึ่งว่าในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีความคิดความเชื่อเป็นของตนเองมากขึ้นนั้น การครอบงำจากกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายอีกต่อไป เว้นเสียแต่มีหลักคิดบางอย่างที่ยึดโยงเยาวชนเข้าด้วยกันให้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่ออนาคตของพวกเขาเอง

Advertisement

 

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การใช้วาทกรรมทฤษฎีสมคบคิดกับการชุมนุมแฟลชม็อบของนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ เป็นเรื่องของมุมมองที่แต่ละฝ่ายมีความเห็นที่ต่างกัน บางฝ่ายอาจจะมองว่าทฤษฎีนี้ไม่มีจริง เนื่องจากกระบวนการเคลื่อนทางสังคมอาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และสังเกตจากแฟลชม็อบมีการชุมนุมที่กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้น ในแง่วิชาการจึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะมาจากทฤษฎีสมคบคิด แต่การโยนเรื่องนี้เข้ามาในวงสังคม ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของมวลชน ประเด็นสำคัญมาจากความชอบธรรมทางการเมือง ที่มีคำถามว่าขณะนี้ได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่ เป็นสาเหตุที่มาของการออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ หากสังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่ารัฐบาลทำดี มีความชอบธรรม มวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่สามารถไปต่อได้

ดังนั้น การใช้วาทกรรมนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องการจุดประเด็นเพื่อให้สังคมตั้งคำถาม หรือทำให้ความเชื่อถือลดลงจากการก่อตัวที่เป็นธรรมชาติ นำไปสู่การไม่ยอมรับแนวทางการเคลื่อนไหว หรือเป็นปัญหาในการขยายตัวของมวลชน แต่ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมของแฟลชม็อบยังอยู่ในช่วงของการก่อตัวเป็นเซลล์อิสระต่างๆ และยังขาดทรัพยากรในการเคลื่อนไหว และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยช่วงเวลา หรือมีการระดมทรัพยากรทั้งในแง่ของมวลชนและความจำเป็นด้านอื่นในการเคลื่อนไหว

สำหรับกรณีนี้หากแฟลชม็อบหรือกลุ่มนักการเมืองที่อาจจะอยู่เบื้องหลังจะมาแสดงจุดยืน ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวยังไม่มีแกนนำ
ที่ชัดเจน ทุกพื้นที่มีเพียงแกนนำเฉพาะกลุ่มถือเป็นเซลล์อิสระย่อยๆ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาแสดงตัวหรือแสดงความเห็นตอบโต้ หากเชื่อว่ามีการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติจริง แต่ถ้ามีการจัดตั้งหรือมีการบริหารจัดการการชุมนุมแบบปักหลักพักค้างหรือการจัดการภายในเหมือนกับม็อบการเมืองในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าไม่ได้เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ภายใต้กรอบกฎหมาย นอกจากนี้ในแง่ของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง อาจถูกตั้งข้อสังเกตหรือมีเสียงวิจารณ์ ก็อาจจะออกมาแสดงจุดยืน ชี้แจงความชัดเจนว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของบรรดาขบวนการเคลื่อนทางสังคมก็สามารถทำได้

ถ้าหากทฤษฎีสมคบคิดกลายเป็นกระสุนด้าน ก็อาจมีกลยุทธ์อื่นออกมาอีกเพื่อสร้างปัญหาจากความชอบธรรม แต่ทางเลือกที่ดีที่สุดควรมีการใช้พื้นที่เพื่อการพูดคุยได้อย่างปลอดภัย เพราะการใช้กลยุทธ์ในรูปแบบอื่นทั้งการสร้างข่าวดิสเครดิตก็ไม่เป็นผลดี สุดท้ายอาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าการสร้างวาทกรรมความเกลียดชัง หรือนำไปสู่เงื่อนไขที่อาจทำให้มีความรุนแรงก็เป็นไปได้ แต่ไม่เป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เนื่องจากข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกครั้งจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง แต่เชื่อว่าการเริ่มต้นเจรจาด้วยสันติวิธีจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด

สิ่งสำคัญที่สุดที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ ขอเตือนว่าจะต้องทบทวนในบางประเด็นที่มีการนำเสนอเรื่องที่ละเอียดอ่อน หรือมีความอ่อนไหวทางสังคม ส่วนการใช้ข้อกฎหมายไปจัดการกับบางเรื่องที่ไม่เหมาะสม เชื่อว่าเรื่องรัฐบาลอาจจะยังวิตกว่าการจัดการที่เข้มงวดอาจนำไปสู่การขยายตัวของมวลชน หรือทำให้มีการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ขณะที่การใช้ทฤษฎีสมคบคิดถือเป็นมุมมองหรือความเห็นจากบางฝ่ายเท่านั้น เรื่องนี้จะถูกหยิบยกมาใช้หลายครั้ง แต่ในทางวิชาการยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเป็นจริงตามที่มีการแสดงความเห็นไว้

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ในปัจจุบันการรักษาระยะห่างในบางประเด็นของกองทัพกับการเมืองยังมีความจำเป็นและสำคัญอยู่ การมุ่งเน้นภารกิจด้านความมั่นคงเป็นหลัก น่าจะเป็นประเด็นแรกที่กองทัพให้ความสนใจ ทั้งนี้ ในกรณีของกิจกรรมนักศึกษา อย่างน้อยที่สุด หากกองทัพจะมีท่าทีอย่างไร ควรสนับสนุนในแง่ของการทำงานกับสถาบันการเมืองหลัก เช่น การสนับสนุนให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์
และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ สามารถคืบหน้าไปได้ การระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นของกองทัพในปัจจุบันจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เวลาเราพิสูจน์ความจริงอะไรก็ตามในทางการเมือง เพดานสูงสุดของม็อบคือ อย่าให้เกิดความรุนแรง ในลักษณะการเมืองเรื่องทฤษฎีสมคบคิด การรีบฟันธงนั้นก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะเมื่อมีการพูดถึงทฤษฎีสมคบคิดก็จะลดทอนด้านการเมืองของฝั่งตรงกันข้ามไป เป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่องการจำแนก-แยกแยะประเด็นเคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้น นอกจากจะเป็นความท้าทายของกองทัพแล้ว ลักษณะการเคลื่อนไหว ทั้งในเรื่องประเด็น และการหาจุดร่วมการเคลื่อนไหว ก็ล้วนเป็นจุดร่วมของความท้าทายเช่นกัน เพราะเมื่อคนภายนอกมองและตั้งคำถามถึงทฤษสมคบคิดก็เป็นบทสะท้อนว่าลักษณะของเป้าหมายทางการเมืองในปัจจุบันอาจจะยังไม่มีความเป็นเอกภาพ

อย่างน้อยที่สุด เวลามองเรื่องการเคลื่อนไหวชุมนุมด้านการเมือง เป้าหมายแรก คือการตั้งคำถามกับระบบการเมือง ทั้งในเรื่องของความชอบธรรม หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบการทำงานในระบบการเมือง สมมุติว่าเราหยุด ไม่ให้มีการเคลื่อนไหว การเมืองก็ไม่สามารถทำงานได้ เพราะในระบบการเมือง ความเห็นต่างคือความจำเป็น ยิ่งในระบอบประชาธิปไตยยิ่งจำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนระบบการเมือง ซึ่งหากไปวิพากษ์การเคลื่อนไหวโดยเอามิติความมั่นคงเข้าไปมอง อย่างเช่น ด้านความมั่นคงในยุคเดิม คือการพยายามสร้างความเป็นศัตรู เรียกว่า หาคำจำกัดความของการสร้างเป้าหมาย กระทั่งการสร้างเป้าหมายในลักษณะของภัยคุกคาม ในหลายครั้งการมองด้วยมิติด้านความมั่นคงโดยเฉพาะการตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม ก็จำเป็นต้องมีความระมัดระวังเช่นเดียวกัน

สำหรับทฤษฎีสมคบคิด เป็นลักษณะการตั้งสมมุติฐานแบบกว้างๆ กลายๆ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้มีหลักฐานพิสูจน์อย่างประจักษ์ หรืออธิบายอย่างตรงไปตรงมา ทฤษฎีสมคบคิดไม่ได้มีลักษณะของการหาความรู้ หรือข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากมองในทางการเมือง ทฤษฎีสมคบคิดคือการทำอะไรบางอย่างโดยที่เราไม่สามารถหาใบเสร็จได้ แต่หากมองในฐานะองค์ความรู้นั้น ต้องบอกว่า ทฤษฎีสมคบคิดไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ และในด้านข้อมูลเชิงประจักษ์

ดังนั้น ในทางการเมืองปัจจุบันที่ว่า ต้องระมัดระวังเรื่องทฤษฎีสมคบคิด เพราะมองว่าเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายแบบทางการเมือง เพราะมีความหวาดระแวงฝั่งตรงข้าม ไม่ว่าจะทำอะไร ที่สำคัญคือ ทฤษฎีสมคบคิดจะก่อให้เกิดเรื่องการชิงลงมือในการใช้ความรุนแรง ซึ่งจะต้องระมัดระวัง เมื่อมิติด้านความมั่นคงมองการเมือง บางครั้งการรักษาระยะห่างกับการเมืองจึงยังมีความจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง

ในปัจจุบัน เวลากองทัพเข้ามีบทบาททางด้านการเมืองมากๆ ในบางประเด็น แม้จะเป็นคำถามที่ทำให้เป็นปัญหาด้านการเมืองเอง แต่ในฐานะผู้นำกองทัพ หลายๆ เรื่องก็ไม่ควรจะรีบชิงตอบไปก่อนเพราะอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เรื่องบางเรื่อง หากให้ข้อเสนอแนะได้ ก็มองว่า บางทีทางเลือกของเตมีย์ใบ้ อาจจะเป็นประโยชน์ในการคลี่คลายสถานการณ์ เตมีย์ใบ้ในทางการเมือง ถามอะไรอาจจะไม่รู้บ้าง แต่เน้นการ
กระทำให้เห็น ยิ่งในปัจจุบันมีอำนาจในการตัดสินใจ การระมัดระวังในการแสดงออกจึงยิ่งมีความจำเป็น

ทั้งนี้ การมอนิเตอร์ข่าวสารของหน่วยงานความมั่นคงเป็นเรื่องปกติ และมีความจำเป็น แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ผู้ถูกมอนิเตอร์รู้สึกว่าเป็นการคุกคาม คิดว่าจำเป็นที่จะต้องมีนักข่าวมืออาชีพในการทำข่าวด้านความมั่นคง เพราะสมมุติหากไปถ่ายรูปเพื่อจงใจให้รู้ว่านี่คือการถ่ายรูป ก็อาจแสดงว่านี่คือการคุกคาม แต่หากติดตาม มอนิเตอร์ข่าวตามสถานการณ์จริง และมีความเป็นมืออาชีพ ก็คิดว่าผู้ที่ถูกติดตามจะไม่ได้รู้สึกว่าถูกคุกคาม ซึ่งในลักษณะการปฏิบัติงานอาจไม่ได้จงใจคุกคาม แต่ความเป็นมืออาชีพก็ต้องมีเหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image