นักเรียนนักศึกษาชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ โดย โคทม อารียา

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อรับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ในหลายจังหวัด อย่างไรก็ดี พรรคฝ่ายค้านไม่ส่งชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ ด้วยเหตุผลที่พอสรุปได้ว่า นักศึกษามีข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ก็ควรให้นายกฯเป็นคนตอบ และคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะทำงานซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าเป็นการถ่วงเวลามากกว่า ส่วน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลให้เหตุผลหลายข้อที่สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการฯ เช่น ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักศึกษาไม่มากพอที่จะประมวลความเห็นในการหาทางออก การตั้งคณะกรรมาธิการฯจะเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออก และอีกความเห็นหนึ่งคือ นักเรียน นักศึกษามี 4 แสนคนทั่วประเทศ คณะกรรมาธิการฯจะรับฟังความเห็นให้ทั่ว ไม่เฉพาะของนักศึกษาบางกลุ่ม บางเหล่า

ผมมีความเห็นสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการฯ (แม้ความเห็นของผมจะไม่สำคัญเพราะถึงอย่างไร สภาฯก็ตั้งอยู่ดี) เพราะสภาฯทำได้ทั้งตั้งคณะกรรมาธิการฯและเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตอบนักศึกษาไปพร้อมกันได้เลย ถ้าทำเช่นนี้จะไม่เป็นการถ่วงเวลา และตอบสนองเหตุผลของ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้ตามสมควร แต่ถ้าคณะกรรมาธิการฯอ้างว่าต้องการรับฟังความเห็นของนักเรียนนักศึกษาเรือนแสนคนให้ทั่ว แล้วขอเวลารับฟังเพิ่มไปเรื่อย ๆ โดยไม่เสนอความเห็นใด ๆ ต่อรัฐบาลในระหว่างนั้น ก็ดูจะเป็นการเสียเวลาเปล่า

เพื่อประกอบการพิจารณา คณะกรรมาธิการฯอาจศึกษาคำตอบของนายกรัฐมนตรีที่ตอบข้อหารือของ ส.ส. ในสภาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ หลังจากที่มีการชุมนุมฉับไว (flash mob) ของนักศึกษาในช่วงนั้น (ก่อนที่จะมีการพักการชุมนุมไปหลายเดือน ด้วยเหตุการระบาดของโควิด – 19) นายกฯกล่าวโดยสรุปว่า “สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำอย่างเต็มที่คือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะฉะนั้นการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามกฎหมาย ผมเป็นกังวลกับเด็กเหล่านี้ อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจจะถูกชักชวน อาจจะถูกปลุกมาโดยฟังความข้างเดียว ขอให้นิสิตนักศึกษาทุกคนที่ชุมนุมเวลานี้ ช่วยกรุณาฟังข้อมูลต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้แถลงออกไป แล้วก็เลือกฟังดูนะครับว่า จะเชื่อทางไหน

สิ่งที่เป็นกังวลกับเขาก็คือว่า กฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์นะครับ ไม่ว่าจะวันนี้วันหน้า นี่ผมไม่ได้ขู่นะครับ หลาย ๆ อย่างก็ถูกดำเนินคดีความ ไม่ว่าจะสีไหนก็ตาม

Advertisement

ผมไม่ได้เคยสั่งการว่า จะต้องไปปะทะ โดยที่จะต้องใช้มาตรการที่เบาที่สุด เพราะฉะนั้นก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วยเถอะครับ ถ้าเขาไม่ทำเขาก็มีความผิด เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
ท่านโทษแต่ฝ่ายรัฐบาล ผมยังไม่โทษฝ่ายนักศึกษาเลย อนาคตเขาจะหมดไปในวันหน้าด้วยคดีอาญา ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกจริงๆ

ขณะนี้ที่ผมต้องเตือนก็คือ อย่าได้มีการนำในเรื่องของการหมิ่นสถาบันเข้าไปขับเคลื่อนด้วย ผมบอกอย่าทำโดยเด็ดขาด ถ้าไปสู่ตรงนั้นละก็ มันจะเกิดเรื่องมาอย่างที่ท่านว่าเมื่อกี้นี้ละ”

ต้นเรื่องคือข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักเรียนนักศึกษาที่มาชุมนุมกัน คณะกรรมาธิการฯควรศึกษาข้อเรียกร้องดังกล่าว ข้อเรียกร้องที่ 1 คือการเคารพสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง (โดยไม่ถูกคุกคามและบิดเบือนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) เรื่องนี้ สภาน่าจะตอบรับได้เลย และเสนอความเห็นในเรื่องนี้ต่อรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว เพราะในหลักการ รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิของบุคคลในการแสดงออกอยู่แล้ว แต่ถ้าเกรงว่าจะมีการใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อเข้าแทรกแซงการชุมนุมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างความเกลียดชัง ใช้ไอโอใส่ร้าย ใช้ตัวป่วนยุให้เกิดความรุนแรง ใช้ม็อบชนม็อบ ฯลฯ หรือถ้าเกรงว่านักศึกษาจะใช้สิทธิเกินขอบเขต คณะกรรมาธิการฯก็สามารถเตือนสติได้ แล้วเสนอผลการศึกษาในประเด็นข้อเรียกร้องนี้ต่อรัฐบาลเป็นการเร่งด่วน เพื่อความไม่ประมาท และช่วยกันป้องกันเหตุรุนแรง
ข้อเรียกร้องข้อที่ 2 และข้อที่ 3 เป็นเรื่องการเมือง ที่นายกฯ อาจตอบยากกว่า ข้อที่ 2 เรียกร้องให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่โดยใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ข้อที่ 3 เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลายคนคงไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งสองข้อนี้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น รัฐบาลทำหน้าที่รับมือวิกฤตโควิด – 19 ได้ดีมิใช่หรือ แล้วเรากำลังจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอันสืบเนื่องจากวิกฤตโควิด – 19 อยู่ไม่ใช่หรือ จะมาปรับเปลี่ยนผู้มีอำนาจกันท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจกระนั้นหรือ การยุบสภาหมายถึงการยุติอำนาจนิติบัญญัติเป็นการชั่วคราว ส่วนอำนาจบริหารก็เหลือเพียงการรักษาการ ส่วนการเลือกตั้งใหม่โดยเปลี่ยนระบบเลือกตั้งก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็แสนจะยาก (เพราะลงกลอนไว้แล้ว) ต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม (ประมาณ 84 คน) จะไปหาที่ไหน และจะต้องมี ส.ส. ฝ่ายค้านเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ (จะหาได้หรือ) และถ้าจะแก้มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ การทำตามข้อเรียกร้องข้อที่ 2 ก็ต้องมีสองจังหวะอยู่ดี คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน แล้วแก้ไขกฎหมายลูก เช่นกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง แล้วจึงจะจัดให้มีการเลือกตั้งเรื่องที่ยากยิ่งกว่ายาก คือการชวนให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ (ส.ส., ส.ว., และรัฐบาล) เกิดตาสว่างและพร้อมที่จะลงจากอำนาจโดยเร็ว พวกเขาจะมีแก่จิตที่จะทำเรื่องที่ขัดผลประโยชน์ของตนได้ละหรือ

Advertisement

ผมจึงขอเสนอให้พิจารณาข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ในลำดับความสำคัญก่อน การทำตามข้อเรียกร้องนี้อาจจะดูเหมือนไม่ทันใจผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องที่ 2 แต่ผมว่าถึงอย่างไรก็ต้องใช้เวลาอยู่ดี เพราะนักศึกษาและประชาชนไม่มีอำนาจจะไปบีบบังคับผู้มีอำนาจ ทำได้เพียงแสดงเหตุผลและชี้ความชอบธรรมของข้อเรียกร้อง ถ้าข้อเรียกร้องมีเหตุผล แต่ผู้มีอำนาจยังยึดประโยชน์ส่วนตัว หากเป็นเช่นนี้ ความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์อันอาจลุกลามไปจะตกแก่ผู้มีอำนาจนั่นเอง

ผมขอยกคำกล่าวต่อไปนี้มาอ้างอิงเพื่อประกอบการให้เหตุผล แต่ด้วยความเคารพอย่างสูงต่อแหล่งที่มา จึงไม่ขออ้างถึงในที่นี้ คำกล่าวคือ “ทหารได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์ เป็นผู้กุมอาวุธและกำลังรบของประเทศ เป็นที่เคารพเกรงขามในหมู่ชนทั่วไป ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่ใช่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะ เช่น ไปเล่นการเมือง การกระทำเช่นนั้นจะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหาร โดยเข้าใจว่าเอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว”

อันที่จริง ทหารได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองบ่อยครั้งมากโดยการรัฐประหาร สองครั้งสุดท้ายได้อ้างเหตุผลว่า ต้องการควบคุมสถานการณ์ที่เกิดจากการชุมนุมยืดเยื้ออันอาจลุกลามเป็นความรุนแรงในวงกว้างได้ ในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 พอสถานการณ์สงบ ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ทหารก็คืนอำนาจแก่ประชาชนภายในเวลาปีเศษ ในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 พอสถานการณ์สงบ ตอนแรกก็ขอเวลาหน่อย ขอให้ไว้ใจว่าจะคืน “ความสุข” ให้โดยเร็ว แต่กลับมีการกระทำต่าง ๆ นานา โดยใช้อำนาจรัฐปั้นแต่งว่า การขออยู่นาน ๆ ก็เพื่อวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผลคือ ด้านการเมืองจะปฏิรูปใน 5 ประเด็น ด้านการบริหารราชการแผ่นดินจะปฏิรูปใน 5 ประเด็น ด้านกฎหมายจะปฏิรูปใน 4 ประเด็น ด้านกระบวนการยุติธรรมจะปฏิรูปใน 4 ประเด็น ด้านการศึกษาจะปฏิรูปใน 4 ประเด็น ด้านเศรษฐกิจจะปฏิรูปใน 4 ประเด็น และด้านอื่น ๆ อีก 5 ประเด็น ซึ่งทั้งหมดนี้ กำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายในหนึ่งปี บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาสามปีกว่าแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าได้ดำเนินการปฏิรูปอะไรไปบ้าง คล้ายกับว่าผู้กระทำรัฐประหารขายฝัน พอได้สืบทอดอำนาจก็ละเลยไม่ทำตามเหตุผลต่าง ๆ ที่เคยอ้างไว้ในการยึดอำนาจ กล่าวโดยเฉพาะ เมื่อทหารที่ทำรัฐประหารไม่ยอมลงจากอำนาจ หากไปแปลงโฉมและสมคบคิดกับนักการเมืองส่วนหนึ่งเพื่อจะได้อยู่นานโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนจำนวนมาก นี่คือเหตุผลที่ทำให้นักเรียน นักศึกษาหมดความอดทนกับการ “เอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว” ใช่หรือไม่

ถ้านายกรัฐมนตรีรับทราบความประสงค์ของนักเรียน นักศึกษา ที่มีข้อเรียกร้องข้อที่ 3 แล้ว หากมีดำริที่จะลงจากอำนาจในเวลาที่ไม่นานเกินรอ เพราะรู้สึกว่าไม่น่ายึดติดและ “พอแก่เวลาแล้ว” ก็ควรวางแผน กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในอันที่จะลงจากอำนาจให้สำเร็จอย่างสง่างาม ซึ่งน่าจะทำได้ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งตามวาระของสภาในปี 2566 เช่นให้สำเร็จในปี 2565 ขั้นตอนแรก ๆ คือการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในนามของคณะรัฐมนตรี อย่างน้อยเพื่อขอแก้ไขมาตรา 256 และแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้ง กับพรรคการเมือง และกับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. โดยให้กลับมาใช้ระบบตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งนี้อาจให้มีการลงประชามติว่าควรมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งหรือไม่ ในระหว่างนั้น ควรยกร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ยกร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีควรร่วมมือกับรัฐสภาในการดำเนินการให้การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ลุล่วงไปด้วยดี ตามฉันทานุมัติที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และความปรารถนาของชนชาวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image