‘มือใหม่-ไม่ได้ขับนาน’ ซิ่งยังไงให้ปลอดภัย!?

รายงานข่าวแจ้งว่า ฟอร์ด ประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความแนะนำผู้ที่เพิ่งเริ่มขับรถเป็น หรือขับเป็น แต่ไม่ได้ขับนานแล้ว ระบุว่า การออกถนนใหญ่เป็นครั้งแรกสำหรับมือใหม่หัดขับนั้นน่าตื่นเต้น พอๆ กับคนที่เริ่มออกเดินทาง หลังจากอยู่บ้านมานาน รู้สึกว่าทักษะการขับรถเริ่มฝุ่นจับ ไม่คุ้นชินกับความวุ่นวายบนท้องถนน เช็กลิสต์ 11 ข้อ สำหรับผู้ขับขี่ทั้งมือใหม่และคนร้างมือไปนาน พร้อมออกถนนอย่างมั่นใจอีกครั้ง ดังนี้

1.รัดเข็มขัด – คาดเข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งแรกเมื่อขึ้นรถ สำหรับผู้โดยสารนั่งเบาะหน้า การคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บอันตรายถึงชีวิตได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ และลดความเสี่ยงเกิดการบาดเจ็บปานกลางถึงรุนแรงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อย่าลืมเตือนเพื่อนร่วมทางของคุณทุกคนให้คาดเข็มขัดนิรภัย

2.ขับเร็วเสี่ยงอันตราย – การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุง่ายที่สุด คือขับขี่ภายใต้ความเร็วที่กฎหมายกำหนด หรือต่ำกว่านั้น หากต้องขับขี่บนถนนเปียก ทางแคบ หรือในสภาพอากาศแปรปรวน ผู้ขับขี่วัยรุ่นอาจรู้สึกว่าความเร็วเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และมีแนวโน้มจะขับเข้าโค้งหรือเร่งแซงด้วยความเร็วสูงเสี่ยงต่ออันตราย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก การเร่งอัตราความเร็วขึ้น 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถเพิ่มความเสี่ยงรถชน และเกิดการบาดเจ็บสูงขึ้นถึง 3 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มถึง 4-5 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดการชนเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ไม่ควรเสี่ยงอันตรายหรือเสี่ยงต่อการเสียค่าปรับเพียงเพื่อไปถึงที่หมายเร็วขึ้นเพียงเล็กน้อย

3.จี้ท้ายไม่เท่ – หลีกเลี่ยงการขับรถใกล้คันหน้ามากเกินไป หากคุณขับเร็วกว่าคันหน้า คุณสามารถใช้เลนขวาที่ว่างอยู่เพื่อแซง และกลับเข้าสู่เลนเดิมอีกครั้งเมื่อแซงพ้นแล้ว วิธีนี้ช่วยให้คุณเลี่ยงผู้ขับขี่ที่ขับรถเร็วท้าทายกฎจราจรได้ แต่หากคุณขับรถเร็วเสียเอง อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ไม่ควรรัวสัญญาณไฟ หรือขับจี้ท้ายคันหน้า เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

Advertisement

4.เตรียมเอกสารสำคัญ – ควรเตรียมเอกสารสำคัญเกี่ยวกับรถให้พร้อมเสมอ เช่น ใบขับขี่ สำเนากรมธรรม์ประกันรถยนต์ สำเนาทะเบียนรถ รวมถึงเบอร์โทรติดต่อในกรณีฉุกเฉิน หลังช่วงเวลาล็อกดาวน์ หน่วยงานต่างๆ ได้ปรับกระบวนการออกเอกสารเหล่านี้ให้เข้ากับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกได้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างและความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข (Social Distancing) เปิดให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น ดีแอลที สมาร์ท คิว (DLT Smart Queue) ผู้ใช้บริการสามารถจองคิวล่วงหน้าเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ทำใบขับขี่ใหม่ หรือต่ออายุใบขับขี่ได้สะดวกรวดเร็ว

5.ชั่วโมงเร่งด่วน – การขับรถช้าๆ บนถนนแน่นขนัดในชั่วโมงเร่งด่วนอาจทำให้คุณหงุดหงิด แต่อย่าลืมเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้เหมาะสม เพื่อลดอุบัติเหตุเมื่อต้องเบรกกะทันหัน โดยทั่วไปอัตราความเร็วทุก 10 กม./ชม. ควรเว้นระยะห่าง 5 เมตร ดังนั้น หากขับด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. ควรเว้นระยะห่าง 25 เมตร ผู้ขับขี่ควรประเมินสถานการณ์และอาจลดระยะห่างตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาพการจราจรและพื้นผิวถนน

6.เอบีเอสคือเพื่อนร่วมทาง – ถ้ารถมีระบบเบรกป้องกันล้อล็อกช่วยควบคุมไม่ให้รถไถลออกข้างทางเมื่อเบรกกะทันหัน ป้องกันล้อล็อกระหว่างการเบรก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว ผู้ขับขี่สามารถควบคุมทิศทางของรถได้ในขณะที่เหยียบเบรกเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง แต่ถ้าไม่มีเอบีเอส จำเป็นต้องระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน

Advertisement

7.ลดสิ่งรบกวนสมาธิ – หมายถึงทุกอย่างที่ทำให้คุณละสายตาจากถนนไม่ว่าจะเป็นการจิบกาแฟ มองผู้โดยสารผ่านกระจกมองหลัง หรือส่งข้อความขณะขับรถ เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุรถชนหลายพันกรณีทั่วโลก

8.งดใช้โทรศัพท์ – ไม่ใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถแม้ขณะติดไฟแดง เพราะตามกฎหมายไม่ว่าอย่างไรคุณก็กำลังขับรถอยู่ หากถูกจับ ตำรวจคงไม่คิดว่าการถ่ายรูปลงอินสตาแกรมขณะรถจอดติดไฟแดงเป็นข้อแก้ตัวที่ฟังขึ้น

9.ขับกลางคืน – การขับรถยามค่ำคืนเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง ทั้งการกะระยะยากขึ้น ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง แถมยังต้องเผชิญกับไฟหน้าแรงสูงของรถสวนมาอีก ควรขับรถให้ช้าลง เพื่อให้เวลาประเมินสถานการณ์ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันปรับลดไฟสูงลงเมื่อมีรถสวน และเช็ดกระจกให้สะอาดอยู่เสมอ

10.ไม่เสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุ – ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงหลุมและถนนลื่นด้วย ลดความเร็วลงเพื่อมองเห็นอุปสรรคและหลบหลีกได้ทัน

11.รู้จักรถของตนเอง – เมื่อเผชิญสถานการณ์คับขัน เปิดระบบสัญญาณเตือนภัย ดับเครื่องยนต์และเช็กว่าคุณและผู้โดยสารปลอดภัยดี ขั้นตอนต่อไปควรตรวจพื้นที่โดยรอบว่าสามารถออกจากรถได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ จึงเคลื่อนย้าย อย่าลืมแลกเปลี่ยนข้อมูลติดต่อหากมีคู่กรณี ที่สำคัญที่สุดคือ ตั้งสติ พร้อมช่วยเหลือ และคิดแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ เพราะการใช้อารมณ์มักจะทำให้สถานการณ์แย่ลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image