แก้รธน.เรื่องกล้วยๆ…84 ส.ว.เอาด้วยก็จบ

ท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มเห็นไปคนละทิศคนละทาง จะเป็นเสียงส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ก็แล้วแต่ ทำให้พวกโลกสวยมีความหวังขึ้นมาบ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มา และอำนาจของวุฒิสมาชิกในการร่วมพิจารณาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ

ฤทธิ์เดชจากคำถามพ่วงในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 กลายเป็นจุดชนวนทำให้เกิดปัญหามาจนถึงวันนี้

ด้วยข้อคำถามที่ว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีŽ นั่นเอง

Advertisement

หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ 6 เมษายน 2560 จนมีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 สถานการณ์ความเป็นไปทางการเมือง ความสามัคคี ปรองดอง และการดำเนินงานตามแผนปฏิรูป ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นอย่างไร

หากติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เสียงสะท้อนจากการอภิปรายของ ส.ส.และ ส.ว.ต่อรายงานความก้าวหน้าทุกสามเดือน เป็นเครื่องบ่งชี้ชัด ส่วนใหญ่ล้วนไม่ประทับใจแทบทั้งสิ้น

จึงเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่วูบวาบอย่างที่บางท่านคิด รูปแบบวิธีการต่อสู้ของพวกเขาพัฒนาไปจากหลายสิบปีก่อนมากทีเดียว คนรุ่นเก่าอย่าดูเบาเป็นอันขาด

Advertisement

แค่พากันมาเป็นหมื่นเป็นแสน ไม่ต้องปักหลักค้างคืน แต่เลิกแล้วแยกย้ายกันกลับไปนอนตีพุงที่บ้าน พรุ่งนี้มากันใหม่ ต่อเนื่องเป็นเดือน หากเหตุการณ์เป็นไปทำนองนี้ ฝ่ายกุมอำนาจจะทนอยู่ได้อย่างไร

สิ่งที่ไม่เคยเกิด ก็เกิดแล้ว ส.ว.ตัวตั้งตัวตีเสนอคำถามพ่วงเข้าไปในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้กลายเป็นคนจุดประเด็นด้วยตัวเอง ให้ตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมเลือก
นายกฯ และผู้นำกองทัพไม่ควรอยู่ในสภา ยอมรับว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ไม่เกรงพรรคพวกมองหน้าและสวนกลับเอาว่า เฮ้ย ทำไมรีบถอดใจกลับลำเสียล่ะ ขณะที่อีกไม่น้อยยังไม่ยินยอม

เมื่อแนวโน้มเป็นไปเช่นนี้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็จะเห็น ส.ว.ขอประกาศจุดยืนเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นกับผู้มีอำนาจที่เสนอแต่งตั้งตัวเข้ามา ไม่ขึ้นกับรัฐบาล แต่ขึ้นกับผลประโยชน์ส่วนรวม ว่าไปทำนองนั้น

ต่างฝ่ายต่างอ้างในนามแห่งความหวังดีด้วยกันทั้งนั้น ขออยู่ให้ครบเทอม 5 ปี อีกไม่นานก็จะไปแล้ว
ประเด็นอยู่ที่ว่า มวลมหาประชาชนในนามกลุ่มปลดแอกทั้งหลาย รับได้หรือไม่ ทนต่อไปไหวไหมกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับเพื่อพวกเรา จนครบกำหนดเวลาตามบทเฉพาะกาล

แม้เริ่มมีการรับข้อเรียกร้องยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญในเชิงหลักการก็ตาม ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องหาบทสรุปต่อไปให้ได้ว่า จะแก้อย่างไร แก้กระบวนการแก้ไข เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้รายละเอียดทีละมาตราที่เป็นปัญหา

แก้กระบวนการ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติถึงสองครั้งสองหน ครั้งแรกก่อนแก้ ครั้งหลังเมื่อร่างฉบับใหม่เสร็จ สิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและเวลา สู้แก้รายมาตราเลยดีกว่า เร็วและประหยัดอีกต่างหาก

ใครจะตัดสินกรณีความเห็นต่างนี้ ความขัดแย้งจะลงเอยอย่างไร ขณะที่สถานการณ์พัฒนาไปเรื่อยๆ

ผู้ที่จะดับไฟไม่ให้ลุกลามบานปลาย ไม่มีใครทำได้ผลเท่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งได้รับผลโดยตรงจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากยังปรารถนาที่จะอยู่ต่อไปอีก

ถ้าเสียสละกล้าตัดสินใจประกาศจุดยืนให้ชัด เห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว.ในการแต่งตั้ง
นายกฯ ยอมเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์อีกครั้ง เพื่อกลับเข้าสู่วิถีทาง โครงสร้างทางการเมืองที่ควรจะเป็น ส่วนมาตราอื่นๆ ก็ว่ากันไป

เท่านี้แหละครับ ทุกอย่างจะคลี่คลายไปด้วยดี การเมืองเดินหน้าสู่ความปกติ เพราะสลักระเบิดจากคำถามพ่วงถูกถอดแล้ว

ปัญหาต่อมาก็อยู่ที่วุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ ซึ่งยังเงียบงันอยู่ จะตัดสินใจอย่างไร

ครับ เรื่องง่ายๆ ถ้าไม่เรื่องมาก ทำให้ยาก ง่ายกว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจประกาศจุดยืน เสียด้วยซ้ำ ในเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ว่า การแก้ไขต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามจาก 250 คน

ส.ว.คนใดยอมเป็นหน่วยกล้าตาย เป็นหัวขบวน ล่ารายชื่อ ส.ว.ที่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รวบรวมได้ 84 คน ก็จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ 84 ส.ว. ใครล่ะ จะกล้าหาญถึงระดับนั้น เมื่อการเมืองถึงทางตันและเกิดความรุนแรงขึ้นมาเสียก่อน คอยติดตามประวัติศาสตร์กำลังรอการบันทึกหน้าถัดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image