คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : การเมืองในบ้าน : โดย กล้า สมุทวณิช

เรื่องของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก เป็นสิ่งที่ขายได้เสมอในงานโฆษณา ถ้าฝีมือถึงๆ ก็อาจจะเป็นงานเรียกน้ำตาแห่งความซาบซึ้งและถูกพูดถึงเป็นกระแสไปได้ อย่างที่เราคงนึกกันออก เห็นกันบ่อยๆ ในโฆษณาของบริษัทประกันชีวิต

เพราะเหตุนี้กระมังที่กรมประชาสัมพันธ์จะเข็นโฆษณา (ชวนเชื่อ) เรื่อง “แม่กับม๊อบ” ออกมาเพื่อรับกับกระแสเยาวชนปลดแอก แต่ท่าทางจะรีบมากถึงกับปล่อยวิดีโอที่คุณภาพความคมชัดระดับ 360 P ออกมา ซึ่งต่ำมากในยุคที่มือถือมีเทคโนโลยีเรตินาดิสเพลย์หรือใกล้เคียง และโทรทัศน์ที่ซื้อในปีสองปีนี้ส่วนใหญ่ก็ Full HD (1080 P) ถึง 4K (2160 P) กันหมดแล้ว

นอกจากความละเอียดจะต่ำประมาณ YouTube ยุคแรกเริ่มแล้ว เนื้อหาของคลิปก็ยังเลี่ยนเชยอย่างที่เดาได้ตั้งแต่เห็นภาพคุณลูกสาวหัวรั้นเผชิญคุณแม่หน้าหงิกในห้องกินข้าว บทพูดเทศนาสั่งสอนโจ่งแจ้ง การแฟลชแบกที่แสนเก่าซ้ำ ก็เรียกทัวร์ไปลงจนต้นสังกัดต้องรีบลบหรือซ่อนจากช่อง YouTube ทางการของกรมกันไป

การจัดทำคลิปโฆษณาคุณภาพต่ำที่ว่านี้อาจเป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถามและตรวจสอบถึงกระบวนการจัดทำหรือจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งนั่นก็ว่ากันไป แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะต้องขอชมว่า อย่างน้อยโฆษณานี้ก็ยังรู้จักวิเคราะห์เอา “จุดเจ็บปวด” หรือ Pain point ของลูกค้าในช่วงนี้มาเลือกนำเสนอ คือเรื่องของการเมืองในบ้าน

Advertisement

ความเห็นต่างทางการเมืองในครอบครัวนั้นมีอยู่แน่นอนก่อนหน้านี้ แต่ราวกับว่าชัดเจนขึ้นมากหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่กลายเป็นว่า ลูกๆ หลานๆ นั้นติดตามและเลือกกาพรรคการเมืองคนละพรรคกับพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่บ้าน เป็นคนละพรรคแบบคนละข้างคนละฝั่งอีกต่างหาก

การปะทะกันยกแรกในเรื่องของพรรคการเมืองจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเด็กๆ อันเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งและกลไกกฎหมายที่คล้ายนิติสงคราม แต่นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่เร่งให้การต่อสู้ในยกต่อไปนั้นคลักข้นเข้มแข็งขึ้นกว่าเก่า เริ่มตั้งแต่การชุมนุมเมื่อต้นปีและตลอดเดือนนี้ ที่ผู้เข้าร่วมและเป็นตัวขับเคลื่อนนั้นเป็นเยาวชนนักศึกษา และเด็กนักเรียนวัยมัธยม ที่ข้อเรียกร้องของเด็กๆ นั้นไปไกลระดับอุดมการณ์จนทะลุเพดาน แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ยังเชื่อว่าเป็นเรื่องฝั่งฝ่ายของพรรคการเมืองต่างขั้ว และพยายามตีโพยตีพายสร้างภาพว่า นี่เป็นการต่อสู้ของคนต่างรุ่น ของเด็กที่ไม่เห็นหัวและลบหลู่ดูหมิ่นผู้ใหญ่ หรือมีคนปลุกปั่นใช้เด็กเป็นเครื่องมือ

การเมืองในครอบครัวเป็นความขัดแย้งที่น่ากระอักกระอ่วน นั่นก็เพราะว่า การเลือกฝั่งฝ่ายทางการเมืองนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องความนิยมชมชอบเหมือนการเลือกเชียร์ฟุตบอลคนละทีมกัน แต่มันหมายถึงการเลือกชุดความเชื่อ ชุดความดี และชุดศีลธรรมที่แตกต่างกัน

Advertisement

ระหว่างความเชื่ออนุรักษนิยมว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมดีงามแล้ว กระแสโลกกำลังเดินไปในทิศทางที่ผิดหลงเลวร้าย สิ่งที่ดีกว่าคือการย้อนเข็มนาฬิกากลับหลัง กับความเชื่อในเสรีภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่รู้สึกไม่เข้าท่า ซึ่งนั่นจะเป็นหนทางที่แก้ปัญหาของโลกและสังคมในปัจจุบันให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ระหว่างความเชื่อว่ามนุษย์เรามีลำดับศักดิ์กำหนดไว้ มีความอาวุโสที่ได้จากการ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ที่ต้องนับถือเคารพอันเป็นเหตุผลในตัวเอง กับความคิดที่ว่าคนเรานั้นเท่าเทียมกัน จะเคารพนับถือกันก็ควรจะเป็นเรื่องของความสามารถและการปฏิบัติตนให้น่าเชื่อถือศรัทธา

ระหว่างความเชื่อว่าดีชั่วอยู่ที่ตัวเรา ปัญหาทั้งหลายแก้ได้จากปัจเจก ถ้าทำตัวเราให้ดีส่วนรวมก็ดี กับความเชื่อว่าสังคมและรัฐนั้นมีโครงสร้างหลายอย่างที่เป็นปัญหาและสร้างข้อจำกัด ซึ่งถ้าไม่แก้ไขในเรื่องนั้น เพียงการกระทำของปัจเจกชนแต่ละคนก็ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลง

ความคิดความเชื่อเหล่านี้ส่งผลต่อแนวคิด อุดมการณ์ และความเชื่อทางการเมือง เนื่องจากการเมืองเป็นภาพแทนของการแสดงออกของเราต่อส่วนรวม ซึ่งเรื่องที่พรรคการเมืองเป็นตัวแทนทางความคิดและอุดมการณ์นี้มาชัดเจนมากขึ้นในช่วงยี่สิบปีหลังนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่านี่คือแกนของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานที่สุดร่วมสมัยเรา

โดยส่วนใหญ่ก็แน่นอนว่า พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ย่อมอยากที่จะปลูกฝังชุดศีลธรรมความเชื่อและความดีงามแบบที่ตนเชื่อถือให้เด็กๆ ลูกหลานของตัวเองอยู่แล้ว เหมือนกับเด็กคือภาชนะใส่ตัวตน ความเชื่อ และความคิด ที่จะดำรงอยู่ต่อไปแม้ในวันที่เราลับลาไปแล้ว

เช่นนี้ การที่ลูกหลานเด็กในบ้านเรา “เท” อุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อที่เราเห็นว่าดีทิ้งไป ปฏิเสธที่จะเป็นภาชนะใส่ตัวตนให้เรา หนำซ้ำยังไปรับเอาอุดมการณ์และความคิดจากอีกฝั่งฝ่ายขั้วตรงข้ามมาแทนที่ จึงกลายเป็นความเจ็บปวดและขัดแย้ง

คงไม่กล่าวซ้ำว่าทำไมผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่เบ่งสร้างออกมาจากตัวเราจึงมีความคิดที่แตกต่างหรือแม้แต่ต่อต้านเรา เพราะได้เขียนไปในคอลัมน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (แด่คันธนูผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน)

มันเป็นไปได้ทั้งทางว่าเขาเห็นเองว่าสิ่งที่เราคิด เราเชื่อ หรือยึดถือนั้นไม่สามารถใช้ได้ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้อีกแล้วในโลกของพวกเขา หรือที่น่าเจ็บปวดกว่านั้น คือเขาก็ยังเห็นว่าคุณค่าต่างๆ ที่เรายึดถือนั้นเป็นของจริง เป็นสิ่งดี แต่เป็นผู้ใหญ่บางคนต่างหากที่ทำตัวหน้าไหว้หลังหลอกไร้หลักการ

เขาจำได้ว่าผู้ใหญ่ที่บ้านเคยด่าคนทุจริตโกงบ้านโกงเมือง เคยเหน็บแนมรัฐบาลที่จะเอาเงินไปสร้างรถไฟความเร็วสูงว่าฟุ่มเฟือย ทำไมไม่เอาเงินไปลงทุนกับการศึกษาและสาธารณสุข แต่ในวันนี้ผู้ใหญ่ที่บ้านกลับทำเป็นมองไม่เห็นความไม่โปร่งใสไม่ชอบธรรมหลายอย่าง ยอมเชื่อคำโกหกที่แสนจะไร้เหตุผล กับทำเงียบในเรื่องที่รัฐบาลซึ่งตัวสนับสนุนจะดึงดันสั่งซื้อเรือดำน้ำลำต่อๆ ไป ในสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เคยสนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองจนเป็นรังนกหวีด เมื่อ 6 ปีก่อน กลับพูดและแถลงอย่างหน้าตาเฉยว่าสถานศึกษาไม่ใช่พื้นที่ของการแสดงออกทางการเมือง ทำราวกับว่าโลกก่อนนี้ไม่มีกล้องติดโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต

และผู้ใหญ่ที่โอดครวญน้ำตาจะเป็นสายเลือดเมื่อได้ข่าวรัฐบาลสลายการชุมนุมที่ตัวเองสนับสนุนด้วยแก๊สน้ำตา แต่วันนี้มาขู่เด็กๆ ลูกหลาน ว่าระวังจะถูกล้อมสังหารอย่างโหดเหี้ยมเหมือนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

พ่อแม่ที่บอกว่ารักลูกและห่วงลูก ไม่อยากให้ลูกไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ใคร กลัวว่าลูกจะได้รับอันตรายจากการชุมนุมนั้น ทั้งที่ในตอนที่ลูกตัวเองยังไม่เดียงสาก็ยังเคยพาไปถ่ายรูปกับลุงกำนันตอนชัตดาวน์กรุงเทพฯมาแล้ว

ก็เป็นกันเสียแบบนี้แล้วจะเรียกร้องเอาการเคารพนับถืออะไรจากลูกหลานเยาวชน ?

จึงต้องกล่าวให้ชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องความคิดทางการเมืองของคนต่างรุ่น และไม่ใช่เรื่องเด็กกับผู้ใหญ่ ถ้ายอมรับความจริงรอบตัว ก็คงจะรู้ว่ามีผู้ใหญ่ในทุกเจเนอเรชั่น ตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ไปยันเอ็กซ์วาย ที่เข้าช่วยเหลือสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องของเด็กและเยาวชน บางคนเข้าร่วมต่อสู้ เสนอตัวปกป้อง บางคนปวารณาตัวเป็นท่อน้ำเลี้ยง จัดหาอาหารน้ำดื่มขนมไอศกรีมไปให้กำลังใจ เหมารถสุขาไปให้ปลดทุกข์

เพราะจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นการต่อสู้และความขัดแย้งระหว่างคนที่มีหลักการอย่างหนึ่ง (ซึ่งเราไม่พูดว่ามันถูกหรือผิดก็ได้) กับกลุ่มคนที่ขี้ฉ้อตอแหล ไม่รับผิดชอบแม้แต่สิ่งที่ตัวเองเคยทำ และใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างหน้าไหว้หลังหลอกสองมาตรฐาน

สิ่งที่เด็กๆ และเยาวชนลุกขึ้นต่อสู้ในวันนี้ ก็คือสิ่งที่พวกผู้ใหญ่นั่นเองเคยสั่งสอนและปลูกฝังเขาไว้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือประชาธิปไตย (ก็พวกคุณยังเคยใช้ชื่อว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็น “ประชาธิปไตย” ที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่เลย)

และพวกคุณก็เคยใช้ถ้อยคำประเภท “คุณธรรม” “ความสุจริต” “นิติธรรม” พวกนี้เพียงเพื่อเป็นอาวุธเอาไว้โจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่เด็กๆ เขาเชื่อไปแล้วว่าคุณเชื่อและเห็นดีเห็นงามไปกับสิ่งนั้นจริง

พี่แหม่ม วีรพร นิติประภา เคยแชร์ภาพจากภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ พร้อมข้อความว่า

“…เราสอนเด็กๆ ของเราเองทั้งหมด เราซื้อหนังสือกับหนังและบ่มเพาะลูกหลานของเราให้เติบโตขึ้นพร้อมกับเรื่องราวของพ่อมดเด็กน้อยอ่อนหัดสามคน ที่อาจหาญต่อกรกับพ่อมดชั่วร้ายครึ่งมนุษย์ครึ่งอสรพิษที่ทรงอำนาจกระทั่งพ่อมดชรากล้าแกร่งยังพ่ายแพ้

เราสอนพวกเขาเองว่าหัวใจมุ่งมั่นคืออำนาจวิเศษที่แท้จริง และแม้แต่เด็กเล็กๆ ก็สามารถเอาชนะปีศาจที่มืดดำที่สุดได้ เราสอนเขาให้จุดไฟในยุคสมัยอันมืดมนของเรา

เราสอนให้เขานำเรา ไม่มีครั้งไหนหรอกที่เราจะเห็นคนหนุ่มสาวกับเด็กระดับมัธยมเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อสังคมอย่างที่เราเห็นที่ฮ่องกง ที่นี่วันนี้ และทุกหนแห่งทั่วโลก อย่างชั่วขณะเวลานี้…”

เพราะเราปลูกฝังเขาเช่นนั้น เราเคยสอนเขาให้ต่อสู้เพื่อความดีงามความถูกต้อง แต่เราบางคนกลับสร้าง หรืออย่างน้อยก็ดูดายปล่อยโลกและสังคมแบบที่เขามองไม่เห็นอนาคตทิ้งไว้ให้ เพียงเพราะเคยชินและอยู่ในสภาวะแบบนี้ได้สบายแล้วในชีวิตที่เหลืออีกไม่กี่ปี จนถึงวันนี้เมื่อสิ่งที่เราเคยปลูกฝังไว้ทำให้เขาลุกฮือขึ้นมาต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกเขาเองแล้ว

ถ้าไม่สนับสนุนเคียงบ่าเคียงไหล่ ไม่ออกไปปกป้อง ถ้าทำได้ก็ควรภาวนาขอให้พวกเขาปลอดภัย หรือถ้าน้อยที่สุดเท่าที่จะขอได้สำหรับผู้มียังความเป็นมนุษย์ คืออย่าสาปแช่งให้เขาได้รับภัยอันตรายใดๆ เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image