รัฐศาสตร์ มสธ. จัดวงเสวนา “รัฐไทยกับการศึกษา : วิกฤตในวิกฤตโควิด?”

ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ มสธ.
รัฐศาสตร์ มสธ. จัดวงเสวนา “รัฐไทยกับการศึกษา : วิกฤตในวิกฤตโควิด?”

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ณ ห้องประชุมสามศร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เสวนาหัวข้อ รัฐไทยกับการศึกษา : วิกฤตในวิกฤตโควิด? โดยมี วิทยากร ประกอบด้วย ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.อรรถพล อนันตวรกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ อ.ธนสักก์ เจนมานะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

โดยนายเนติวิทย์ กล่าวถึงปัญหาวิกฤตโควิด กับผลกระทบทางการศึกษา ระบุว่า

นับตั้งแต่วิกฤตโควิด ส่วนตัวที่พบเจอ พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ได้มีการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ต่างๆเต็มที่ ไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือผู้คนระยะยาว การช่วยเหลือในระบบของส่วนราชการไม่ครอบคลุมผู้คน หลายอาชีพถูกละเลย ส่วนผลกระทบของนิสิตในมหาวิทยาลัยนั้น พบว่ามหาวิทยาลัยไม่มีมาตรการช่วยเหลือนิสิต ตอนมีนโยบายให้กลับทันที หลายคนอยู่ในหอพักไม่ได้เก็บของ ข้าวของเสียหาย จนมีนิสิตร้องเรียนมา ส่วนเรื่องค่าเทอมก็มีปัญหา รวมถึงปัญหาการหางานใหม่ของนิสิตที่จบปัญหา ที่จริงเรื่องพวกนี้ต้องได้รับการชดเชยเพราะเป็นการจบการศึกษาในภาวะที่ประเทศกำลังเกิดวิกฤต

นายเนติวิทย์ ระบุว่า เมืองไทยล้มเหลวเรื่องการจัดการการศึกษา สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ คนส่วนใหญ่เหมือนมีการศึกษา แต่ไม่มีปากเสียง ไม่มีอำนาจ หลายเรื่อง การมีการศึกษา เหมือนยิ่งถูกทำให้จำกัดกรอบคิด คนที่ออกมาร้องเรียนตอนนี้มีแต่เด็กมัธยม ถามว่าทำไมนักเรียนมัธยมออกมา มากกว่านักศึกษามหาลัย เพราะการศึกษากับอำนาจมันโยงกัน การศึกษาของไทย มันไม่ได้รับใช้คนเรียน แต่มันรับใช้ผู้มีอำนาจ นักเรียนที่ประท้วงตอนนี้ เพราะเห็นว่าพิธีกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น มันทำงานไม่ได้แล้วอีกต่อไป วาทกรรมที่เคยทำงานมันทำไม่ได้ต่อไปสำหรับคนรุ่นใหม่ ขณะที่การศึกษาในอดีตเน้นสอนให้คนชินชา ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นเพราะคนเริ่มพูดความจริง สำหรับตนเอง การศึกษาไทยยังอยู่ในการครอบงำของอำนาจนิยมอยู่ ไม่มีภาคประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องมากนัก สุดท้าย การตัดสินใจเชิงนโยบายทุกอย่างก็อยู่ที่ผู้นำประเทศ ที่ผู้บริหารการศึกษา แต่ตอนนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมากเขาไม่ยอม แล้วเขากำลังต่อสู้

Advertisement

นายเนติวิทย์ กล่าวต่อว่า ช่วงแรกที่ตนเคลื่อนไหว  กลุ่มที่ผลักดันปฎิรูปการศึกษา มีน้อย ปัจจุบันมีหลายกลุ่ม ขบวนการนักเรียนปัจจุบันหลากหลายมาก กระจายไปถึงระดับโรงเรียน แต่ก่อนการจะสร้างการผลักดันการเปลี่ยนแปลงต่างๆในระดับโรงเรียนเป็นไปได้ยากมาก ปัจจุบันหลากหลายและเข้มแข็งมากขึ้น นักเรียนรุ่นนี้โตมากลับความไม่เป็นธรรมทางการเมือง โลกออนไลน์ทำให้นักเรียนเข้าถึงข้อมูลทางประวัติศาตร์การเมือง รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมทางการเมือง เด็กรุ่นใหม่โตมาจากทวิตเตอร์ ที่มองปรากฎการณ์แบบองค์รวม มีการคิดเชิงกลยุทธ์มากขึ้น โดยเฉพาะการปั่นแฮชแท็ก สร้างอารมณ์ร่วมทางการเมือง พวกนี้ไม่ได้ทำง่ายๆเด็กรุ่นใหม่จึงมีความเข้าใจเรื่องกลยุทธ์ต่างๆมากขึ้น ได้เรียนรู้ประเด็นทางการเมืองในระดับสังคมมากขึ้น มีการบอยคอต กิจกรรมสังคมต่างๆ เหล่านี้เป็นผลที่ทำให้นักเรียนรุ่นนี้โตมา ซึ่งส่วนตัวก็มองว่า องค์ความรู้ของนักเรียน นักศึกษาปัจจุบัน ยังไม่ข้ามไปในระดับต่างประเทศมากเท่าที่ควร

ทั้งนี้ จะไปคาดหวังให้นักเรียนรักษาขบวนการเหล่านี้ต่อไป มหาวิทยาลัยก็ควรสร้างแพลตฟอร์มบางอย่างให้องค์ความรู้ ความฝันของนักเรียนรุ่นนี้ได้แสดงออก ให้สามารถมีความฝันเหล่านี้ต่อไป ให้สามารถนำความคับข้องใจที่เกิดขึ้น มาสู่การแปรเปลี่ยนเป็นการปฎิบัติ เป็นต้น  ประเทศไทย มีกลุ่มผู้ปกครองหรือศิษย์เก่าที่มีวิธีคิดก้าวหน้าน้อย หลายคนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมสมัยที่เคยเรียน แต่ไม่ได้พูดอะไร ตอนนี้คือเวลาที่ศิษย์เก่าที่ก้าวหน้า จะมาสนับสนุนเยาวชนที่กำลังเคลื่อนไหวตอนนี้ เราต้องทำให้การคิดต่างจากสังคมแบบที่เยาวชนกำลังเคลื่อนไหวอยู่ มีพื้นที่ และทำให้การต่อสู่ทางความคิดของเยาวชนเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

“คนที่แต่ละรุ่นมีภาระที่แตกต่างกัน ผู้ใหญ่ก็คาดหวังรุ่นเยาวชน ต้องเป็นไปตามกรอบ ผมอยากให้มีการเว้นพื้นที่ว่างให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ด้วย การจะเดินหน้าอย่างไร ต้องมีการพูดเรื่องปรัชญาการศึกษาใหม่ วัตถุประสงค์การศึกษาใหม่ มันต้องมีการถกเถียงพูดคุยกันใหม่ทั้งบทบาทคนสอนและผู้เรียน โลกนี้ไม่มีคำตอบตายตัว ต้องส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ขบวนการสังคมที่เกิดขึ้น กลับส่งผลให้เด็กสนใจการเรียนมากขึ้น สนใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น การเกิดความขัดแย้ง ถกเถียงกัน มันจำเป็นต้องมี ต้องทำให้มีความคิดที่หลากหลายเกิดขึ้น ในอนาคตผมเชื่อว่า จะมีการต่อต้านในวัฒนธรรมการศึกษามากขึ้น ช่วง 1-3 ปีนี้ เหล่านี้จะกระตุ้นให้ครูอาจารย์ ปรับการเรียนการสอน การพูดคุยปัญหาการศึกษาอย่างตรงไปตรงมาดีที่สุด ผมเสนอให้มีติ้งแท้งค์ด้านเยาวชน แบบที่ออสเตรเลียทำ หลังโควิดหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น คนเห็นใจ- เข้าใจกัน มากขึ้น”

“การเรียนในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีส่วนช่วยการหาความรู้ทางการศึกษามากขึ้น ฉะนั้นโรงเรียนในปัจจุบันต้องเปลี่ยนบทบาท ไม่ใช่พื้นที่หาความรู้อย่างเดียว แต่ต้องเป็นพื้นที่การถกเถียงทางความคิดที่ปลอดภัยด้วย ให้นักเรียนสามารถหาความรู้ทางการเมือง สังคมเศรษฐกิจด้วย”

เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  ระบุว่า   ช่วงแรกของวิกฤตโควิด นโยบายกระทรวงศึกษายังอยู่ในช่วงตั้งรับ กว่าจะเริ่มนโยบายปิดเทอมก็ก้าวเข้าเดือนเมษายน และยังมีปัญหาการสื่อสารที่เกิดความสับสนอย่างมาก เช่นให้โรงเรียนสร้างระบบการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ต่อมาถูกจำกัดด้วยสำนักงานเขตพื้นที่ จนเกิดความวุ่นวายในการทดลองระบบ ฝั่งมหาวิทยาลัย เมื่อผ่านไปสองเดือนก็มีปัญหาเรื่องการสอนออนไลน์ และเรื่องการสอบ ช่วงเดือนก.ค. มหาวิทยาลัยแทบไม่ได้ทำอะไรเลย มาเตรียมกันอีกทีช่วงก่อนเปิดเทอม มีปัญหาการจัดการเรียนการสอน เพราะไม่ได้มองภาพราวมการศึกษา และความวุ่นวายทางการศึกษาก็เกิดขึ้นจริงๆ การเปิดเทอมก็มีการสลับหลายแบบ เพราะแต่ละโรงเรียนต้องออกแบบระบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับโรงเรียนเอง แม้แต่มหาวิทยาลัยกลุ่มหลักจำนวนไม่น้อย นิสิตนักศึกษาบางคนก็ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์ได้ในบางพื้นที่ ยิ่งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ยิ่งมีปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีปัญหาความวุ่นวาย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ มีปัญหาการจัดการที่ยากมาก เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสัปดาห์ต่อสัปดาห์กันไป เกิดภาพความเหลื่อมล้ำเชิงซ้อน ในโรงเรียนเดียวกันบางโปรแกรม มาเรียนได้เต็มห้อง เพราะห้องมีนักเรียนน้อย ขณะโปรแกรมปกติ มีการสลับกัน ยังไม่นับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เด็กๆหลายคนกลับบ้าน เจอผลกระทบจากครอบครัวอีก วิกฤตหลายอย่างกระทบการเรียน บางคนกระทบโดยตรงต้องหาอาชีพ

ทั้งนี้ ครอบครัวไทยมีความซับซ้อน ต่างกัน หลายครอบครัวไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ ขณะที่ทางด้านปัญหาของอาจารย์เองก็มีปัญหา หลายคนต้องปรับตัวกับระบบการเรียนการสอนใหม่

ผศ.อรรถพล  เล่าต่อว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ตนเพิ่งเข้าไปคุยเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับนักเรียนมัธยมฯ ผู้ฟัง 60% เป็นเด็ก ม.2-3 บางปัญหาเป็นเรื่องพื้นฐาน ง่ายมากๆแต่เรามองไม่เห็น โรงเรียนจำนวนมากที่ตนทำงานด้วยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนในกทม. ตอนนี้มีปัญหา ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งเล่าให้ฟัง ตั้งแต่เปิดเทอมมา เด็กกินข้าวเยอะขึ้นหนึ่งเท่า เหตุเพราะ ไม่ได้กินข้าวเย็น เลยต้องมากินข้าวเช้า กับ กินข้าวเที่ยงเยอะขึ้น เพราะจะต้องไม่ได้กินข้าวเย็น นี่คือการได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนเป็นครอบครัวระดับกลางถึงระดับล่าง คนใช้แรงงาน ทั้งนี้อำนาจในการต่อรองในสังคมของคนแต่ละกลุ่มต่างกัน โรงเรียนแต่ละโรงเรียนเห็นชัดในเรื่องนี้ การอ้างเรื่องการให้อิสระการจัดการ จัดสินใจ เป็นไปไม่ได้จริง คนมีความกลัวที่ฝังอยู่ในระบบบริหารการศึกษา โรงเรียนเอกชนไม่ค่อยมีปัญหานี้

“ลูกศิษย์ผมเป็นอาจารย์ราชภัฏ นำเด็กในหมู่บ้านมาสอนช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เจออาจารย์ใหญ่ บอกว่า ครูไม่มีสิทธิมาสอนลูกศิษย์ของผม” นี่คือเรื่องเล่าสุดตลกที่เกิดขึ้น  แต่ถ้าโรงเรียนไหน ดื้อแพ่ง ผอ.ที่เอาประโยชน์เด็กเป็นตัวตั้ง ยอมมาร่วมกับรูปแบบการสอนที่ลูกศิษย์ผมออกแบบ ใช้สอนเด็ก ปรากฎว่า เด็กๆได้ประโยชน์ สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นตัวอย่างของเขตการศึกษาเลย”  ผศ.อรรถพล  กล่าว

และว่า ถ้าฟังเสียงนักศึกษาที่เคลื่อนไหวขณะนี้ จะเห็นว่านักศึกษาเรียกร้องว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย เราจัดการศึกษา แค่ได้จัดการศึกษา การปิดเทอม มันไม่ได้มีการวางแผน ออกแบบรูปแบบการสอน เปิดเทอมมา ก็มีการสอนหลายแพลตฟอร์ม เด็กปีหนึ่งที่เพิ่งเปิดเทอม เจอแจ็กพอต ต้องวิ่งเรียนออนไลน์ในแต่ละวิชา หากการศึกษาต้องตอบโจทย์ผู้เรียน วิกฤตโควิดมันบอกเราว่า การศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่นั้น วิกฤตครั้งนี้บอกเราว่า การรับฟังเสียงของผู้เรียนคือสิ่งสำคัญมาก วิกฤตโควิดบอกเราอีกอย่างว่า ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อินเตอร์เน็ตหมู่บ้านใช้งานไม่ได้ เวลาเกิดวิกฤตจริง พวกนี้ไม่ได้ช่วยเวลามีวิกฤต ประเทศเราไม่มีอสม.การศึกษา โรคระบาดทำให้เราเห็นโจทย์ว่า เราไม่ได้ส่งเสริมคนในพื้นที่ในการมีส่วนช่วยจัดการการศึกษา

“การเมืองวันนี้เปลี่ยนไปไวมาก นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเมื่อ 5-6 ปีก่อน วันนี้กลายเป็น ส.ส.แล้ว เนติวิทย์ ซึ่งเคยเคลื่อนไหวด้านการศึกษา วันนี้กลายเป็นแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยแล้ว ปัญหาตอนนี้คือ ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ยังอยู่ในจุดเดิม มองปัญหาแบบเดิม ตั้งคำถามแบบเดิม การออกแบบโครงสร้างทางการศึกษา ที่ผ่านมา แม้มีแนวโน้มการพยายามกระจายอำนาจทางการศึกษา แต่มันไม่สำเร็จ การพัฒนาหลายเรื่อง ยังใช้แรงงานครู ศิษย์เก่า อยู่เลย เราไม่ควรปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงที่ดี ต้องขึ้นกับครู ผอ.โรงเรียนที่กล้าคิดแตกต่างๆ โจทย์การกระจายอำนาจ ตอนนี้มีเป็นการกระจายอำนาจทางการศึกษาแบบแค่เอกสาร แต่ในทางวัฒนธรรมการกระจายอำนาจยังอิงกับการรวมศูนย์” ผศ.อรรถพล  กล่าว

ผศ.อรรถพล อนันตวรกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ส่วนในอนาคตนั้น ในระดับโรงเรียน เราต้องมีรายละเอียดของตัวบุคคลมากขึ้น ต้องเก็บข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้เราเห็นแผนการรับมือ ระยะกลาง ระยะยาว หรือต้องการให้สังคมเข้าไปดูแล อย่างในมหาวิทยาลัยก็เริ่มมีการสำรวจแล้วเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทัน ส่วนโจทย์ที่ใหญ่กว่าคือกระทรวงต้องไม่นิ่งนอนใจ ต้องคิดเรื่องการระบาดรอบสอง หากมีการปิดโรงเรียนฉุกเฉินต้องทำอย่างไร โรงเรียนเพิ่งจะสอบกลางภาคเอง ตอนนี้โรงเรียนไม่ได้เตรียมแผนเหล่านี้เอาไว้ แต่ละเขตพื้นที่มีความเสี่ยงต่างกันไป ระดับกระทรวงยังไม่เห็นนโยบายเรื่องนี้

“เรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน หลายโรงเรียนไม่สามารถดึงพลังชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ได้ให้ฝ่ายใดมองว่าเป็นการผลักภาระ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการออแบบโจทย์การบริหารการศึกษา การประเมินการศึกษา การเปลี่ยนเรื่องอำนาจการตัดสินใจ จำนวนนักเรียนต่อห้อง คุณภาพของแต่ละแพลตฟอร์มการศึกษา ต้องพยายามลดความรู้สึกเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การทบทวนงบประมาณรายหัวเด็ก การเสริมพลังของท้องถิ่น การจัดการศึกษาที่มีโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่สูงมาก มีอำนาจนิยมสูงมาก สังคมอย่างปล่อยให้เด็กสู้ลำพัง เราให้การศึกษาแบบไหน เด็กก็จะรับการการศึกษาแบบนั้น”

“ทั้งนี้จากการฟังเยาวชนปราศรัยพูดเรื่องการศึกษา เขาไม่ได้อยากให้การศึกษาไทยเป็นแบบฟินแลนด์หรืออะไร ไม่มีคำพูดเหล่านี้อยู่การชุมนุม เขาต้องการแค่ไม่อยากให้มีระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน ไม่อยากให้มีสิ่งที่ไม่ดี ต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยที่จะพูดเรื่องการเมืองในโรงเรียน” ผศ.อรรถพล  กล่าว

ขณะที่ อ.ธนสักก์ เจนมานะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

ความไม่พร้อมของรัฐในการจัดการวิกฤตโควิด ถูกสร้างด้วยโครงสร้างสังคมที่มันเป็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะความไม่ใส่ใจประชาชน ทั้งนี้ ไทยมีประชากรนอกระบบประกันสังคมกว่า 25 ล้านคน หากมองในด้านรายได้  รายได้ของคนจนที่สุดประเทศ 25 ล้านคน อยู่ที่ 5,000 ต่อเดือน จะเห็นว่าวิกฤตมันตกกับคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะคนทำงานนอกระบบ ไทยมีแรงงานนอกระบบเยอะ แต่ไม่มีความพยายามนำคนพวกนี้เข้ามาในระบบ อย่างตอนแรก รัฐบอกจะแจกเงินเยียวยา ล้านคน ซึ่งให้ตนงง เพราะแรงงานนอกระบบไทย มี 25 ล้านคน

“สำหรับเด็กยากจน ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 5,000 บาท ทำให้มีปัญหาความยากลำบากและรัฐไม่มีได้มีนโยบายการดูแลเรื่องนี้ วิกฤตทำให้การดูแลเด็กวัยเล็ก และยากจน ลำบากมากขึ้น ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทของประเทศไทย ถ้ามองในภาพรวมระดับโลก ถือว่าเป็นปัญหามาก สะท้อนปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ อย่างเรื่องการศึกษาในมหาวิทยาลัย อย่างคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมีภาคอินเตอร์ กับภาคปกติ พบว่า ภาคอินเตอร์ ไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์เลย ขณะที่ภาคการศึกษาภาษาไทย มีปัญหาเรื่องการเรียนการสอนมากกว่า เรื่องนี้สะท้อนชัดเจนเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะเห็นว่า ปัญหาโรคระบาด มันเข้าไปโจมตีคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคม ในหลายประเทศจะเห็นว่า แรงงานนอกระบบ เด็กเล็ก คนที่ต้องออกมาทำงานในเวลาวิกฤต ที่เป็นผู้แพร่ระบาด ปัจจัยหลักจึงเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมที่เปราะบาง ทำให้วิกฤตโควิดกระทำกับคนในสังคมต่างกันไป แต่คนตัวเล็กที่สุดได้รับผลกระทบหนักที่สุด”

“กรณีเนติวิทย์พูดเรื่องการศึกษาอำนาจนิยม หรืออ.อรรถพล พูดเรื่องการจัดการศึกษาให้มันเสร็จๆไป ผมอยากพูดเรื่องการศึกษาไทยมันผูกกับทุนใหญ่ ปรัชญาการจัดการศึกษาของไทย มันอิงกับระบบตลาดเสรี คนไม่มีกำลังได้การศึกษาฟรี ถ้ามีกำลังก็จะได้การศึกษาอีกแบบที่ดีกว่า ถ้าเป็นระดับชนชั้นนำก็จะมีโรงเรียนอีกระดับ เราไม่ได้สร้างเยาวชนเป็นแรงขับเคลื่อน เราสร้างเยาวชนเพื่ออกมาเป็นเครื่องจักรทุนนิยมไทย ปัญหาเรื่องการศึกษา การเมือง มันผูกกันหมดเวลาเกิดวิกฤตขึ้น มันจึงกระทบกันอย่างที่เห็น” อ.ธนสักก์ กล่าว

ส่วนการเคลื่อนไหวของเยาวชนขณะนี้  ตนมองอย่างสนับสนุน มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนทางการเมือง สังคม รู้สึกดีใจที่ระหว่างวิกฤต นักศึกษาก็สนใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน ช่วงก่อนโควิด หลายคนทำกิจกรรมเดิมๆ  แต่ พอเกิดวิกฤตโควิด เหมือนมีอะไรไปกระตุ้นนักศึกษา จนเหมือนเปลี่ยนไป เทอมนี้ สัมผัสได้ว่านักศึกษาเข้าใจ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น

ส่วนเรื่องอนาคตนั้น ตนมองเรื่อง ความยุติธรรมทางการคลัง ขณะนี้ รัฐไทย “จน” รายได้คือภาษี ก็มักเก็บจากคนจน เพราะมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อเทียบกับประเทศที่สามารถจัดสวัสดิการถ้วนหน้าได้ มุ่งเก็บจากความโชคดีของคนรวย เช่นภาษีรายได้ ภาษีทรัพย์สิน เรื่องพวกนี้ไม่เคยเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ถามว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องสร้างฉันทามติใหม่ สร้างความเข้าใจใหม่ รัฐต้องตั้งใจ แต่ระบบการเมืองปัจจุบัน เหมือนความเป็นไปได้แทบไม่มี นายทุนเสียภาษีโรงเรือน สิ่งปลูกสร้างไม่ได้มาก นี่คือการที่เราต้องสร้างการยุติธรรมทางการคลังใหม่ นอกจากนี้ยังต้องลดความเหลื่อมล้ำเรื่องอื่นๆ เช่นการลดความเหลื่อมล้ำในแรงงานนอกระบบ นี่คือสิ่งที่ต้องเกิด แต่คำถามใหญ่คือสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้หรือไม่

อ.ธนสักก์ เจนมานะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้าน ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า

เห็นด้วยกับวิทยากรทุกคนที่พูด นับเป็นเรื่องน่ายินดีในปัจจุบันคือ คนที่เข้าใจปัญหาเรี่องการรวมศูนย์อำนาจ และการกระจายอำนาจมีมากขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบจากในอดีต ทั้งนี้คนไทยไม่เคยถูกทำให้ตระหนักหรือต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม และความแข็งแกร่งของรัฐราชการรวมศูนย์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไทยจึงมีระบบราชการที่แข็งแกร่ง ยืนอยู่อย่างทรนงองอาจมาได้ตลอด

ประเด็นสำคัญที่สุด จะเห็นว่าโครงสร้างรัฐราชการรวมศูนย์มีความเข้มแข็ง มีคนบอกว่า มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทำงานช้ากว่าสมัยอยู่ในระบบอีก ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด พบว่า ความเปลี่ยนแปลง หรือความพยายามที่จะต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดอย่างเชื่องช้า คณะต่างๆจะทำอย่างไรก็ไม่มี ระดับมหาวิทยาลัยจะขยับอย่างใหญ่ๆหน่อยก็ไม่มี ในมหาวิทยาลัยทุกอย่างดูเงียบไปหมด ตอนนี้ยังมีการซ้อมเตรียมรับน้องอยู่เลยในทุกเย็น ความพยายามในการจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะในสายอุดมศึกษา ยังไม่มีการจัดการที่เพียงพอ เพราะเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ คนไม่ค่อยกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นักศึกษา มีบทบาทในทางสาธารณะอย่างมาก  วิกฤตในวิกฤตช่วงโควิดขยายตัว ผมคิดตั้งข้อสังเกิตว่า ขณะนี้เป็นการตื่นตัวอย่างมากในหมู่นักเรียน นักศึกษา เรื่องการชูสามนิ้ว การผูกโบว์ขาว ระบบดิจิตัล ที่เติบโตอย่างมากขณะนี้ ทำให้นักศึกษาได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างมาก นับว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นการตื่นตัว น่าสนใจว่าเป็นวิกฤตในวิกฤตที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ใครจะคิดว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารที่ผ่านมา คนไม่เชื่อผู้บริหารประเทศแล้ว เรื่องการศึกษา ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก มีการพูดกันมานานมาก ขณะนี้ นิสิต นักศึกษา ลงไปพูดถึงเรื่องพื้นที่ทางการเมืองแล้ว ปัญหาทั้งหมดคือเราจะจัดการกับสถานการณ์ปัญหาหลักๆเหล่านี้อย่างไร ในปัญหาการศึกษาเอง ก็ยังไม่มีการจัดการปัญหาต่างๆได้เพียงพอ มันเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตไปทั้งหมดเลย

“การที่ประเทศไทย มีลักษณะพิเศษ ไม่ใช่เมืองขึ้นของตะวันตก ลักษณะการรวมศูนย์อำนาจของไทยมันผนึกแน่นมาก มันส่งผลต่อปัญหาความแตกต่าง เมือง ชนบท ปัญหาแรงงานนอกระบบ ที่ใหญ่ขึ้นมากๆ และเมื่อเกิดวิกฤต มันกลายปัญหาขนาดใหญ่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ท่ามการการระบาดของโรค”ศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าว

ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าวต่อว่า วิกฤตซ้อนวิกฤตเริ่มต้นในปี 2557 จากการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ มันเป็นการโต้ทวนกระแสที่ล่าหลังที่สุด  ในปี 2562 เขากลับต่อท่ออำนาจตัวเอง เมื่อมาเกิดวิกฤตโควิดท่ามกลางการเฟื่องฟูของดิจิทัลเทคโนโลยี ปัญหาจึงซับซ้อนยากจะแก้ไข คำถามสำคัญคือเราจะเข้าใจวิกฤตนี้อย่างไร จะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ในสังคมที่ล้าหลังทางการเมืองอย่างที่สุด คนที่อายุเยอะช่วยกันกดการเปลี่ยนแปลง เราอยู่ในยุคสมัยของการต่อสู้แล้วในวันนี้

“ผมเคยทำงานเป็นที่ปรึกษารมว. ตลอดสองปี กระทรวงศึกษาฯ มีรัฐมนตรีถึง 4 คน ไม่เคยได้คุยกับรัฐมนตรี เพราะท่านออกข้างนอกตลอด มาถึงรัฐมนตรีคนสุดท้าย คือนายจาตุรนต์ ฉายแสง  มีการตั้งคณะกรรมการ 8 คน วางแผนปฎิรูป สุดท้ายอยู่ได้ห้าเดือนก็มีการยึดอำนาจ ส่วนตัวมองว่าโดยภาพรวมคนที่จะเป็น รมว.ศธ.ไม่ได้ตั้งใจมาเป็น ยังไม่เห็นใครมีเป้าหมายขัดเจนว่าอยากจะเป็นรัฐมนตรีเพื่อจะมาเปลี่ยนแปลง ช่วงที่ตนเสนอ ตนเสนอแค่ขอคุยกับบุคลากรการศึกษา 8 จังหวัด ใน 4 ภาค แค่อยากฟังว่าการศึกษาของไทย มีปัญหาอะไร แค่อยากนำเสนอ ขอแค่นี้แต่ไม่เคยได้ นี่คือประสบการณ์ของผม ผมคิดว่ามันไม่มีความมุ่งมั่นใดที่จะทำอย่างจริงจัง” ศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image