รพ.ธารโต โมเดลแก้ปัญหาโรคขาดสารอาหาร-มาลาเรียในพื้นที่

รพ.ธารโต โมเดลแก้ปัญหาโรคขาดสารอาหาร-มาลาเรียในพื้นที่

วันนี้ (7 กันยายน 2563) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.) ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา ว่า รพ.ธารโต แม้จะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กจำนวน 30 เตียง แต่มีการดำเนินงานในรูปแบบเฉพาะของพื้นที่ตนเอง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ถือเป็นโรงพยาบาลเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการประสานโครงการฟาร์มตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทำการเกษตร ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เปิดพื้นที่ทางการตลาดให้ขายสินค้าทางการเกษตรในราคาถูก ป้อนเป็นวัตถุดิบเข้าสู่โรงครัวของโรงเรียนเด็กเล็กและโรงพยาบาล ให้เด็กและคนไข้ได้บริโภคอาหารมีคุณภาพ ช่วยแก้ไขปัญหาโรคขาดสารอาหารในพื้นที่ เด็กมีสัดส่วนสมบูรณ์แข็งแรง

นพ.สุขุม กล่าวว่า รพ.ธารโต ยังแก้ปัญหาการระบาดของโรคมาลาเรียในพื้นที่ด้วยการเพาะพันธุ์ปลากัดและปลาหางนกยูง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงก้นปล่อง ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียลงจากปีละ      2,000 กว่าราย เหลือเพียงหลักสิบรายเท่านั้น

“สำหรับปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับและไฟฟ้ากระชาก โดยเฉพาะช่วงฝนตก ทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์เสียหายบ่อยครั้ง โรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการปั่นไฟ 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการรอการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ สธ.จะพยายามประสานจัดหาอุปกรณ์มาติดตั้ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในสถานพยาบาลพื้นที่ห่างไกลตามแนวชายแดน ทุรกันดาร พื้นที่เกาะ และพื้นที่สูง” นพ.สุขุม กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.มัซลัน ตะเระ ผู้อำนวยการ รพ.ธารโต กล่าวว่า รพ.ธารโต ทำการเกษตรในพื้นที่โรงพยาบาล เพื่อส่งวัตถุดิบเข้าสู่โรงครัวของโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ พบว่าเป็นโมเดลที่ได้ผลดี จึงประสานโครงการฟาร์มตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำการเกษตร คือ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด ปลูกผักต่างๆ และส่งวัตถุดิบให้แก่โรงพยาบาลทำการตลาด โดยส่วนหนึ่งโรงพยาบาลจะรับซื้อมาทำอาหารให้แก่ผู้ป่วย และประสานโรงเรียนรับซื้อเพื่อทำให้อาหารคุณภาพให้เด็ก โดยจะมีการพรีออเดอร์วัตถุดิบทุกสัปดาห์ รวมถึงจัดหาตลาดต่างๆ ให้เกิดการซื้อขายราคาถูก ทำให้เด็กได้รับอาหารมีคุณภาพ เจริญเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัยมากขึ้น ทำให้แก้ปัญหาโรคขาดสารอาหารในพื้นที่ได้ อัตราการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กอำเภอธารโตก็ไม่อยู่อันดับสุดท้ายของเขตสุขภาพที่ 12 อีก

นพ.มัซลัน กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังทำให้กว่า 150 ครอบครัวมีรายได้ ซึ่งเริ่มต้นมียอดขายวันละ 500 บาท ปัจจุบันมียอดขายวันละเป็นแสนบาท สร้างรายได้ให้ครอบครัวละประมาณ 800-1,000 บาทต่อครอบครัวต่อวัน

Advertisement

“สำหรับการแก้ปัญหาโรคมาลาเรีย เราสำรวจหาแหล่งเพาะพันธุ์ยุงก้นปล่องในป่า แต่ไม่พบชัดเจน แต่จากการสังเกตพบว่า การระบาดมักเกิดในหมู่บ้านที่น้ำประปาเข้าไม่ถึง จนค้นพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการตั้งแท็งก์น้ำไว้รองน้ำฝนที่หน้าบ้าน และต่อน้ำภูเขาน้ำป่ามาใช้ ทำให้มีลูกน้ำยุงก้นปล่องในแท็งก์น้ำหน้าบ้าน ที่ผ่านมาได้ประสานประมงอำเภอเพาะพันธุ์ปลากัดและปลาหางนกยูง เอามาปล่อยในแท็งก์น้ำ ก็ช่วยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ทำให้โรคมาลาเรียลดลงจาก 2 พันรายต่อปี เหลือหลักร้อย แต่ปลามีอายุสั้น ทำให้ต้องมีการเพาะพันธุ์ปลาเรื่อยๆ โรงพยาบาลจึงเพาะพันธุ์ปลาเองบริเวณด้านหลังของโรงพยาบาล โดยมีจำนวน 6 บ่อ เมื่อปลาโตเต็มที่ จะมีการย้ายมาปล่อยบริเวณบ่อหน้าโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนตักนำไปปล่อยในแท็งก์น้ำก็ช่วยลดการระบาดของโรคมาลาเรียลงได้จนเหลือหลักสิบเท่านั้น” นพ.มัซลัน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image