รายงานหน้า2 : 105 นักวิชาการออกโรง จี้รัฐบาลจัด‘เลือกตั้งอปท.’

หมายเหตุความเห็นกรณี 105 อาจารย์ และนักวิชาการลงนามในแถลงการณ์เครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น (คปท.) จี้ให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งภายในปี 2563

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
สถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

แนวคิดการออกแถลงการณ์เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2563 เพราะว่ามีความพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเงียบหายไป แม้ว่าจะออกกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อเดือนเมษายน 2562 ผ่านไป 17 เดือน และปกติเมื่อมีกฎหมายเลือกตั้งทั้งระดับชาติ หรือท้องถิ่น ก็จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้ง แต่พบว่ารัฐบาลได้ยื้อการเลือกตั้งท้องถิ่น
ไม่ให้เกิดขึ้น เพราะกระบวนที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหารต้องการทำลายประชาธิปไตยและระบบรัฐราชการให้เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนท้องถิ่น
เหมือนการย้อนยุคไปถึงระบบเผด็จการทหารเมื่อ 60-70 ปีก่อน มีการยึดอำนาจเมื่อปี 2490 ท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารมาตั้งแต่หลังปี 2475 ถูกเปลี่ยนให้มาจากการแต่งตั้ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทำให้ท้องถิ่นกลายเป็นส่วนหนึ่งในกลไกอำนาจของกระทรวงมหาดไทยถึงหลัง 14 ตุลาคม 2516 จึงมีการรื้อการเมืองท้องถิ่นในรัฐธรรมนูญปี 2517 จากนั้นเมื่อมีการรัฐประหารในปี 2519 ท้องถิ่นก็ถูกดึงอำนาจกลับไปให้ข้าราชการประจำ โดยการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายกเทศมนตรี
ขณะที่กระบวนการการเมืองท้องถิ่นถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทำให้มีการกระจายอำนาจในท้องถิ่นที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีวิวัฒนาการเรื่อยมา โดยมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง ทั้งผู้ว่าฯ กทม. นายกเมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายกเทศมนตรีในเทศบาลทุกระดับ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในฐานะ อปท.ในรูปแบบทั่วไป ให้ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศมีการพัฒนาในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจากบริการสาธารณะ การวางแผนจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่ตรงกับความต้องการ
ในท้องถิ่นนั้น
แต่การรัฐประหารของ คสช.เมื่อปี 2557 มีความพยายามทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น แม้ว่าจะยอมให้มีการเลือกตั้งระดับชาติ แต่การเลือกตั้งก็ทราบว่ามีการออกแบบกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งมีการใช้อำนาจและกลไกต่างๆ ที่มีเป้าหมายทำลายการแข่งขันทางการเมืองที่แท้จริง สำหรับการเมืองท้องถิ่นรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจยังไม่จริงใจกับพื้นฐานการกระจายอำนาจ
ดังนั้นเมื่อนักวิชาการที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และการเมืองการปกครองท้องถิ่น โดยการสอนวิชาการเมืองท้องถิ่นที่ผ่านมาได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในรอบ 20 ปี และในที่สุด
นักวิชาการเห็นตรงกันว่าคงสอนหนังสือต่อไปไม่ได้ ถ้าท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้ง เพราะนักศึกษาคงไม่ให้ความเชื่อถือจากหลักการหรือทฤษฎี หลังจากมองเห็นความจริงว่าอำนาจท้องถิ่นขึ้นอยู่กับทหารและข้าราชการประจำ ไม่ได้มาจากรากฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และในฐานะของผู้สอนหนังสือต้องออกมาแสดงตนว่า ไม่อาจทำให้หลักการของการเมืองท้องถิ่นที่มีธรรมาภิบาลที่ดีของประเทศนี้ เป็นเพียงคัมภีร์ที่พูดแต่ไม่มีหลักในการปฏิบัติที่แท้จริง
ถ้านักวิชาการสามารถออกมากดกันให้มีการเลือกตั้ง หรือทำให้มีการพูดคุยในประเด็นนี้มากขึ้น ดีกว่าถูกทำให้ลืม ในช่วงที่มีการนำเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็สมควรจะพ่วงการพัฒนาเมืองท้องถิ่นเข้าไปด้วย เพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพราะการถูกแช่แข็ง 6-8 ปี ได้ทำลายการเมืองท้องถิ่นอย่างมาก ได้ทำให้ อปท.เป็นเหมือนหน่วยงานของภาคราชการ คอยฟังคำสั่งจากรัฐบาลเท่านั้น ไม่อาจจะคิดสร้างสรรค์เองได้ และผู้ที่มีตำแหน่งในอำนาจหน้าที่ โดยตนเองไม่ต้องไปแข่งขัน หรือเสนอตัวเป็นทางเลือกให้ประชาชนตัดสินใจ ถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่น และในหลักการถือว่าไม่ใช่ผู้นำท้องถิ่นที่สร้างสรรค์อีกต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจระดมนักวิชาการที่มีความเห็นตรงกันออกแถลงการณ์
ในโอกาสต่อไปก็จะต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง หากภายในเดือนกันยายนนี้ ครม.ยังไม่มีมติให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับ อบจ. ดังนั้นจะต้องออกมาขับเคลื่อนร่วมกับ ส.ส.ในสภา โดยพุ่งเป้าที่ผู้ว่าฯ กทม.ที่เปรียบเป็นสัญลักษณ์การเมืองท้องถิ่นในประเทศ เพราะผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันไม่ควรดำรงตำแหน่งอีกต่อไป จะต้องมีการเลือกตั้ง โดยคืนอำนาจให้ประชาชนใน กทม.จะต้องกำหนดทิศทางให้เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญ
สำหรับเสียงสะท้อนหลังออกแถลงการณ์ มีผลตอบรับจากนักวิชาการในต่างจังหวัด เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว และต้องยอมรับว่านักวิชาการในต่างจังหวัดจะถูกคุกคามมากกว่านักวิชาการที่อยู่ใน กทม. เพราะต่างจังหวัดอยู่ใกล้กับหน่วยกำลังอำนาจของรัฐที่สามารถบุกเข้าไปหาในมหาวิทยาลัยหรือบ้านพักได้ แต่ขณะนี้นักวิชาการต่างจังหวัดทราบว่ามีเครือข่าย มีกลุ่มที่เห็นตรงกัน และก่อนหน้านี้มีอีกหลายคนที่เห็นตรงกัน แต่ไม่กล้าลงนาม เพราะเกรงปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและครอบครัว รวมทั้งการทำงานในพื้นที่
หลังจากนี้จะผลักดันให้มีการเสวนา สัมมนา อภิปราย เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นให้มากขึ้น นอกจากนั้นจะเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับเครือข่ายของนักการเมืองท้องถิ่น จากหลายพรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งทั่วประเทศ ซึ่งเดิมต้องรอรัฐบาลเคาะระฆัง แต่ขณะนี้อาจเปลี่ยนวิธีการด้วยการออกมากดดันรัฐบาลให้จัดการเลือกตั้ง อปท.ทุกระดับ
สำหรับฝ่ายการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร เริ่มทราบว่ามีการสนับสนุนทางวิชาการ โดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมายังโดดเดี่ยว แต่วันนี้มีเครือข่ายที่พร้อมประสานงาน และในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มต้นในการออกแถลงการณ์ถือว่าบรรลุผลสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะส่งผลทำให้ผู้รับผิดชอบด้านการปกครองท้องถิ่น เริ่มคิดมากขึ้นว่าแรงกดดันจะมาถึงรัฐบาลไม่ใช่เฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กระแสการเลือกตั้งท้องถิ่นจะกระจายลงไปในระดับจังหวัดมากขึ้น
ในทางวิชาการขณะนี้หลายฝ่ายสนใจว่าการแช่แข็งเลือกตั่งท้องถิ่นนาน 6-8 ปีจะมีผลกระทบอย่างไร นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเห็นว่าการบริหารงานท้องถิ่นจากผู้รักษาการจะนิ่งเฉย ไม่ต้องคิดค้น นวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ นโยบายในอนาคต เพราะว่าการอยู่ในตำแหน่งยาวนาน ที่มาจากคำสั่งพิเศษจะเป็นผลประโยชน์อันยอดเยี่ยม โดยรอเพียงการรับคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล
ดังนั้นโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจึงพุ่งเป้าไปที่ท้องถิ่น นอกจากนั้น ทำให้ข้าราชการประจำใน อปท.เริ่มสร้างเครือข่ายอำนาจมากขึ้น และอาจเชื่อมโยงไปถึงกลไกการทุจริตไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งที่เคยคิดว่าผู้บริหารท้องถิ่นอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปี แต่ขณะนี้ข้าราชการเห็นว่าผู้บริหาร อปท.บางรายไม่มีศักยภาพ แต่รัฐบาลกลางสำคัญกว่า สิ่งเหล่านี้มาจากผลการวิจัยภาคสนาม และเสียงสะท้อนของนักวิชาการในต่างจังหวัดก่อนที่จะมีการออกแถลงการณ์ล่าสุด
เมื่อมองถึงการสูญเสียโอกาสของประชาชนจากการรักษาการอย่างยาวนาน เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ชนบท หรือชุมชนเมืองรู้สึกได้ แต่ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่มีอำนาจด้านความมั่นคงในบางพื้นที่ไปกดทับความรู้สึกเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ หรือวิพากษ์วิจารณ์ท้องถิ่นได้ ทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การจัดการขยะ การทำโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณะถูกร้องเรียนตลอดเวลา
แต่กลายเป็นว่าร้องเรียนแล้วก็ไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้กับผู้ที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เพราะบุคคลเหล่านั้นคิดว่าตนเองอยู่ได้ เพราะอำนาจของรัฐบาลกลาง และผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วนก็ไม่ต้องการมีความขัดแย้งใดๆ กับอำนาจรัฐที่มาจากรัฐบาลทหาร สิ่งเหล่านี้จึงไม่ตอบโจทย์การบริหารเมืองท้องถิ่นเหมือนหลักการกระจายอำนาจในประเทศพัฒนาแล้วที่ทำงานมีเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน เพราะการเลือกตั้งทุก 4 ปีผู้บริหารชุดเดิมจะต้องนำเสนอผลงานที่ผ่านมา และนำเสนอนโยบายใหม่ สำหรับฝ่ายที่เป็นคู่แข่งก็ต้องเสนอทิศทางการทำงานที่ดีกว่าเป็นทางเลือก การเลือกตั้งจึงนำไปสู่การแข่งขันเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดของชุมชนนั้น

 

Advertisement

วิชิต ปลั่งศรีสกุล
อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร

เชื่อว่าการออกแถลงการณ์จะสร้างกระแสความกดดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญเพื่อจัดการเลือกตั้ง อปท.ทุกระดับ ซึ่งล่าสุดประธาน กกต.ก็ออกมายืนยันความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ขณะที่ท้องถิ่นก็มีการกันเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่กระทรวงมหาดไทยจะยื้อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นล่าช้าออกไปอีกโดยไม่มีอนาคต ขณะที่การจัดการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านทดแทนในตำแหน่งที่ว่างในหมู่บ้านทั่วประเทศของกรมการปกครองก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่น่าแปลกใจที่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้มีความพยายามจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งที่การเมืองท้องถิ่นในยุคที่ผ่านมาไม่ได้เป็นต้นตอ ความขัดแย้งของคนในประเทศ ไม่ได้มีการแย่งชิงอำนาจรุนแรง
ที่สำคัญในอนาคตประชาชนเริ่มตื่นรู้ถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในการบริหารงานของผู้บริหารท้องถิ่นมากขึ้น หลังจากกรรมาธิการฯ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องในบางจังหวัด มีวาระการทำงาน 4 ปี เพื่อทำหน้าที่ทดแทนผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง เหมือนการทำหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.

 

Advertisement

ทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล
ปลัด อบต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะประธานมูลนิธิปลัด อบต.แห่งประเทศไทย

การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก และการหยุดการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายปีที่ผ่านมา เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยในระดับฐานราก เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งประชาชนได้รับโอกาสในการตัดสินใจตามสิทธิของการมีส่วนร่วมในการกระจายอำนาจ และเมื่อไม่มีการเลือกตั้งถือเป็นการหยุดระบบการตรวจสอบของประชาชน การเมืองท้องถิ่นจึงกลายเป็นระบบรวบอำนาจโดยผู้บริหารนานกว่า 8 ปี หรือ 2 วาระ หากปล่อยไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอนาคตก็จะมีปัญหาพอสมควร หรืออาจทำประชาชนเคยชินว่าในท้องถิ่นไม่จำเป็นจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง และอาจประเมินว่าการปกครอง โดยรัฐบาลกลางที่กำหนดนโยบายมาถูกทางแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ อปท.ถูกกลืน หรือถูกผลักออกนอกระบบโดยไม่รู้ตัว เพราะจะถูกสั่งการจากหน่วยงานส่วนกลาง จากนั้นผู้บริหารท้องถิ่นก็รอรับคำสั่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่
ขณะเดียวกันงบประมาณที่รัฐอุดหนุนให้ท้องถิ่นก็จะถูกลดทอนไป และเงินอุดหนุนบางประเภทถูกส่งผ่านอำเภอในระบบราชการส่วนภูมิภาค อาจทำให้ถึงจุดหนึ่งองค์กร อปท.จะรู้ว่ามีอำนาจหรืองบน้อยลง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นความจงใจของผู้มีอำนาจหรือไม่ ที่หยุดยั้งและบั่นทอนการกระจายอำนาจของท้องถิ่น
ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่น่าวิตก แต่ผู้บริหารบางรายอาจรู้สึกพอใจ เพราะได้อยู่ในอำนาจต่อไป ไม่มีการเลือกตั้ง แต่ในระยะยาวเชื่อว่า อปท.อาจจะถูกทำลายโดยไม่รู้ตัว และเมื่อประชาชนในพื้นที่รู้ว่าพึ่งพาท้องถิ่นไม่ได้ก็กลับไปสู่วงจรอำนาจของหน่วยงานส่วนกลาง จังหวัด หรืออำเภอเหมือนเดิม เพราะผู้บริหารขาดความกระตือรือร้น ประชาชนตรวจสอบการทำงานไม่ได้ ทุกวันนี้ข้าราชการท้องถิ่นก็ทำงานโดยขาดแรงจูงใจ เพราะผู้บริหารบางรายไม่ได้คิดค้นนโยบายใหม่ เพราะเคยชินกับการอยู่ในระบบคล้ายระบบราชการ โดยผู้บริหารจะรอฟังคำสั่งจากส่วนกลาง
แต่ถ้าคนท้องถิ่นไม่ตื่นตัว หรือออกมาเรียกร้อง เพราะคิดว่ายังได้ประโยชน์ไม่ได้เสียหาย หรือเดือดร้อน เมื่อมีแนวคิดเป็นเช่นนี้ อาจทำให้ อปท.ไม่เหลือความสำคัญอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image