‘ศิลป์ พีระศรี’ (128 ปี) ที่ไม่คุ้นเคย ประติมากรใหญ่ ‘คณะราษฎร’ สู่การเมืองร่วมสมัย

ลานหน้าอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถูกใช้เป็นแลนมาร์คแฟลชม็อบ น.ศ.ศิลปากรต้านเผด็จการ 26 กุมภาพันธ์ 63

“15 กันยายน วันคล้ายวันเกิดศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย”

คือประโยคเปิดเรื่องแบบพื้นฐานในวันครบรอบ 128 ปี ในพุทธศักราช 2563 ที่มีการจัดงาน ‘วันศิลป์ พีระศรี’ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีนิยามในภาพจำเป็นสถาบันการศึกษาด้านศิลปะชั้นนำของไทยเสมอมา

128 ปีของชีวิต ทั้งขณะยังมีลมหายใจและหลังล่วงลับแต่ไม่เคยดับสูญ ด้วยผลงานที่ฝากไว้บนแผ่นดินไทย ไม่ได้มีเพียงประติมากรรมคุ้นตาในสถานที่สำคัญ ไม่ได้มีเพียงความทรงจำที่ถูกบอกเล่าต่อมาอย่างไม่สิ้นสุดในแนว ‘อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์’ สื่อถึงความรักและผูกพันในความเป็นครูฝรั่งกับนักเรียนศิลปะชาวไทยในยุคเก่าก่อน

ไม่เพียงเหตุการณ์เดิมๆ ที่ถูกฉายซ้ำ ทว่า ยังมีเรื่องราวที่ไม่ใช่สไตล์ ‘เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย’ แต่อาจเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่คุ้นเคยหรือถูกเลือกในการจดจำ โดยเฉพาะในแง่มุมที่มีเกี่ยวโยงกับ ‘การเมือง’ หลากยุคสมัย นับแต่อภิวัฒน์สยาม 2475 อีกทั้งห้วงเวลาก่อนหน้า ในฐานะประติมากรคนสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองการปกครอง กระทั่งเปิดประตูมิติมาถึง ‘#แฟลชม็อบไม่ทน’ และย้อนไปๆ มาๆ ช่วง กปปส. ซึ่งลานหน้าอนุสาวรีย์กลายเป็นแลนด์มาร์กของอาณาจักรศิลปากรเพื่อแสดงออกทางการเมือง ยังไม่นับการเป็นบุคคลในตำนาน จนถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกบนบาน และเป็นที่รู้จักยิ่งกว่าศาลเจ้าแม่เฮงหลุยในสวนแก้ว ข้างตึกพรรณราย

Advertisement

ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ ความพยายามปกป้องอาจารย์ศิลป์ในมุมมองที่ตัวเองอยากให้เป็น การช่วงชิงพื้นที่และความเป็นเจ้าของเกิดขึ้นอย่างร้อนแรงระดับ ‘เผ็ดกลาง’ ไม่มากถึงขั้นแตกหักออกแถลงการณ์ แต่แซ่บลิ้นพอประมาณ พอให้มีเรื่องคุยในวงกลิ่นสี ทีแปรง และไลน์กรุ๊ป

ธงงาน 128 ปี ศิลป์ พีระศรี (ภาพจาก PSG.74)

วาทะ ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น’ ถูกนำมาปรับใช้ในม็อบต้านเผด็จการที่ลานหน้าอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ ว่า ‘ชีวิตสั้น ประชาธิปไตยยืนยาว’ จนถูกศิษย์เก่าบางกลุ่มท้วงติงว่าเป็นการ ‘ด้อยค่าอาจารย์ศิลป์’ สุดท้ายเจอสวนกลับด้วยภาพถ่ายเก่าที่ไม่ต้องค้นไกลถึงหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่มาจากเฟซบุ๊กยุคม็อบนกหวีดที่ใช้ลานเดียวกันขายเสื้อยืดชัตดาวน์ กทม.

Advertisement

เหล่านี้ คือเหตุการณ์น่าย้อนรำลึกในชีวประวัติของปูชนียบุคคลท่านนี้

เหรียญที่ระลึก ศ.ศิลป์ พีระศรี เนื่องในคล้ายวันสถาปนาม.ศิลปากรครบ 66 ปี พ.ศ.2552

จากระบอบเก่าถึงระบอบใหม่

ประติมากรใหญ่แนบแน่น จอมพล ป.

ก่อนถึงประเด็นอื่นใด ย้อนไปในประวัติชีวิต คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีซึ่งได้ชื่อ ศิลป์ พีระศรี และการโอนสัญชาติเป็นไทยโดยความช่วยเหลือของ หลวงวิจิตรวาทการ นับเป็นประติมากรที่มีบทบาทตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำงานรับใช้เจ้านายหลายพระองค์ กระทั่งยุคคณะราษฎรก็ยิ่งมีบทบาทมากขึ้น โดยมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งแท้จริงแล้วคือคนสำคัญที่ผลักดันให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรตัวจริง

“ชาวศิลปากรเล่าเรื่องตัวเองด้วยการพูดถึง อ.ศิลป์ ว่าก่อตั้งมหาวิทยาลัย แต่จริงๆ แล้วคนที่เราละเลยไปไม่ได้คือ จอมพล ป. ซึ่งเมื่อไปดูงานประกวดศิลปกรรมแล้วชอบมาก บอกว่าต้องตั้งมหาวิทยาลัย ให้ อ.ศิลป์ หลวงวิจิตรวาทการ พระยาอนุมานราชธนไปตั้งเรื่องมา อ.ศิลป์บอก อย่าตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเลย เอาเป็นเหมือนเทคนิค ช่างศิลป์ แค่นั้นก็พอแล้ว” คือข้อมูลจาก ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ศาสตราจารย์หมาดๆ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รั้วศิลปากร และศิษย์เก่าตั้งแต่ปริญญาตรี

สำหรับการทำงาน ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี บอกว่า จริงๆ แล้วอาจารย์ศิลป์ทำงานสนองทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และประชาธิปไตย โดยเข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ.2466 ตอนอายุ 30 ต้นๆ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 แม้รัฐบาลยุคนั้นเป็นผู้ว่าจ้างมาจากอิตาลี แต่ยังไม่ค่อยเชื่อฝีมือ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงชวนอาจารย์ศิลป์มาปั้นตัวเอง ซึ่งผลงานออกมาดีมาก ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงเชื่อในฝีมือ หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ได้ปั้นพระเศียรรัชกาลที่ 6 โดยครั้งแรกปั้นจากรูปถ่าย จึงออกมาไม่เหมือนจริง กระทั่งเชิญเสด็จรัชกาลที่ 6 มาทรงเป็นแบบ จึงออกมาเหมือนจริงมาก เป็นที่พอพระราชหฤทัย แต่ไม่นานได้เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 7 จึงโปรดให้นำเศียรมาหล่อเป็นประติมากรรมแบบเต็มพระองค์ ซึ่งปัจจุบันประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร ภายในพระบรมมหาราชวัง

ประติมากรรมที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 7 มีโครงการใหญ่มาก คือ โครงการฉลองพระนคร 150 ปี มีความตั้งใจในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 โดยมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่อยมา เช่น สร้างพระบรมรูปประดิษฐานหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม แต่ยกเลิกไป โดยอภิรัฐมนตรีมีมติสรุปว่าจะสร้างสะพานรถข้ามระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร คือ สะพานพุทธ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดให้สมเด็จกรมพระยานริศฯ ออกแบบให้มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คู่สะพาน โดยผู้ปั้นคือศาสตราจารย์ศิลป์

“พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ที่สะพานพุทธ คือ อนุสาวรีย์แห่งแรกที่ตั้งในพื้นที่สาธารณะตอนนั้นเทคโนโลยีในสยามยังทำไม่ได้ เลยส่งไปหล่อที่อิตาลี โดยอาจารย์ศิลป์นั่งเรือไปคุมงานเอง แล้วมาประกอบติดตั้ง ถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่ตั้งในพื้นที่สาธารณะและเป็นอนุสาวรีย์ชิ้นสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

หลังจากนั้น ในยุคคณะราษฎร ศาสตราจารย์ศิลป์ยิ่งได้รับความนิยมมากจากรัฐระบอบใหม่ มีความสัมพันธ์แนบแน่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ รวมถึงพระยาอนุมานราชธน โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังเที่ยวชมงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติด้วย

สำหรับงานศิลปะแนวการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก แต่สำคัญมาก คือ ‘ประติมากรรมที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ซึ่งเดิมศาสตราจารย์ศิลป์ออกแบบไว้ 8 ชิ้น แต่คณะราษฎรตัดออก 4 ชิ้น คงเหลือ 4 ชิ้น ต้นแบบยังเก็บรักษาไว้ที่หอประติมากรรมต้นแบบ ซึ่งในอดีตเป็นโรงปั้นของกรมศิลปากรเดิม ใชัปั้นประติมากรรมตั้งแต่ก่อนก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวอาคารสร้างในยุค 2500 ต้นๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และใช้งานมาจนถึงราว พ.ศ.2530 กระทั่งปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร

ต้นแบบประติมากรรม ‘ทหารอากาศ’ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝีมือ ศ.ศิลป์ พีระศรี และ สิทธิเดช แสงหิรัญ จากหอประติมากรรมต้นแบบ จัดแสดงในนิทรรศการ ‘ศิลปวิทยาการ จากสาส์นสมเด็จ’ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร วันนี้ ถึง 19 พฤศจิกายน

‘รอยต่อทางการเมือง’

เบื้องหลังศักยภาพในจิตวิญญาณใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ยังเคยวิเคราะห์ด้วยว่า ภายใต้บริบททางสังคมและการเมืองช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็น 15 ปีที่การเมืองไทยอยู่ภายใต้อำนาจและการนำของ “คณะราษฎร” ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาท รอยต่อทางการเมืองครั้งสำคัญ เต็มไปด้วยจุดเปลี่ยนทางอำนาจ ความคิด ความเชื่อ รสนิยม ตลอดจนอุดมการณ์ต่างๆ มากมาย ที่เกิดจากทั้งปัจจัยระดับโลกและระดับภายในประเทศ ยุคสมัยนี้นำมาซึ่ง “จิตวิญญาณใหม่” ที่แตกต่างจากยุคก่อนหน้าและยุคหลังจากนั้นอย่างชัดเจน และมีนัยสำคัญต่อการเกิด “อุดมคติใหม่ทางศิลปะ”

ที่สำคัญที่สุดคือ ด้วยจิตวิญญาณใหม่นี้เองที่เป็นพลังผลักดันเบื้องหลังให้ ศิลป์ พีระศรี สามารถแสดงศักยภาพทางศิลปะที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ท่านสามารถผลักดันแนวคิดและผลงานต่างๆ มากมาย

ในบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นศิลปินชื่อดังของไทย ผลงานสำคัญที่ถูกมองข้าม คือ ประติมากรรมรูปทหารเปลือยของ พิมาน มูลประมุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ.2531 ซึ่งปั้นตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ร่ำเรียนกับ ‘อาจารย์ฝรั่ง’ ภายใต้บริบทที่ไทยกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

สิ่งที่ต่างจากอนุสาวรีย์เหมือนจริงในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือการพ่วงเส้นสายแบบศิลปะอาร์ต เดโค ซึ่งเป็นศิลปะสมัยใหม่ในโลกตะวันตกเข้าไปด้วย เป็นการละทิ้งลวดลายแบบประเพณีของยุโรป พวกลายคลาสสิก แต่ออกแบบลายตกแต่งใหม่ด้วยรูปทรงเรขาคณิต

ชีวิตสั้น ประชาธิปไตยยืนยาว

ชัตดาวน์-แฟลชม็อบ ชิงแลนด์มาร์ก

ตัดฉากมาถึงปัจจุบัน แม้มักกล่าวกันว่า ศิลปะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง (ซึ่งไม่จริง) ล่าสุด เมื่อปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หน้าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ แลนด์มาร์กศิลปากร ณ วังท่าพระ ถูกใช้เป็นสถานที่จัดแฟลชม็อบ ในชื่อ ‘ศิลปากรไม่สายลมแสงแดด’ ยั่วล้อภาพความชิวของเลือดข้นคนเขียวเวอริเดียน สีประจำมหาวิทยาลัย ว่าไม่สนใจการบ้านการเมือง โดยในตอนหนึ่ง มีนักศึกษาปราศรัยโดยมีอาจารย์ศิลป์ยืนตระหง่านเป็นฉากหลัง

“ตั้งแต่เด็กถูกสอนว่าหน้าที่ของเราคือการเลือกตั้ง แต่สิทธิในการพูดคุยในประเด็นการเมืองกลับน้อยมาก ผู้ใหญ่บอกว่า อย่าพูด สำหรับที่ ม.ศิลปากร ถือว่าเงียบสงบมาก ไม่เห็นการขยับตัว ถามว่าในประวัติศาสตร์การเมือง ศิลปากรอยู่ตรงไหน”

น.ศ.ศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ชูป้าย ‘นายเป็นสลิ่ม นายจะรู้อะไร’ แรงบันดาลใจจากวาทะ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร’ ของศ.ศิลป์ พีระศรี (ภาพจากทวิตเตอร์ @Incognito)

แฮชแท็ก #ชีวิตสั้นประชาธิปไตยยืนยาว เทียบเคียง ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น’ ของแพทย์ชาวกรีก ‘ฮิปโปเครติส’ ซึ่งอาจารย์ศิลป์นำมาใช้จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

มีการถือป้าย ‘นายเป็นสลิ่ม นายจะรู้อะไร’ อันได้แรงบันดาลใจจากวาทะ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร’ ของศาสตราจารย์ศิลป์เช่นกัน ในตอนท้ายล้อมวงรอบอนุสาวรีย์ จุดเทียน ชู 3 นิ้ว อ่านข้อเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ เนื้อหาเกี่ยวกับ ‘ศิลปะเพื่อประชาชน’ ตะโกนเผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตย จงเจริญ

แฟลชม็อบนี้ ทำเอาศิษย์เก่าบางรายและหลายรายไม่สบอารมณ์ โพสต์ข้อความในโลกออนไลน์วิจารณ์ทำนองว่า นักศึกษาปัจจุบัน ‘ด้อยค่าอาจารย์ศิลป์’ โดยการนำวาทะของปรมาจารย์ด้านศิลปะท่านนี้มาปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องไม่เหมาะสม สุดท้าย เจอสวนกลับระดับออฟไลน์ด้วยการพรินต์ภาพเก่าคราวม็อบนกหวีดและธงชาติไทยใช้พื้นที่ลานอาจารย์ศิลป์ขายเสื้อยืดชัตดาวน์ กทม. มาติดตั้งหน้าอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ โดยปรากฏภาพศิลปินดังๆ หลายราย และปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคลากรนามสกุลศิลปากรจำนวนมากเข้าร่วมม็อบดังกล่าวอย่างเปิดเผย

ภาพการขายเสื้อหนุนม็อบกปปส.ที่ลาน อ.ศิลป์ถูกนำมาโชว์หลังศิษย์เก่าบางกลุ่มติงม็อบน.ศ. ‘ด้อยค่า อ.ศิลป์’

แน่นอนว่าความคิดต่างทางการเมืองอาจติฉินกันได้ไม่เต็มปาก แต่การกีดกันคนเห็นต่าง ยึดพื้นที่ ปกป้องและคิดแทนอาจารย์ศิลป์ คือสิ่งที่ถูกคนรุ่นใหม่ทั้งนอกและในรั้วศิลปากรตั้งคำถามกลับไปเฉกเช่นเดียวกัน

ยังไม่นับความเป็นไปในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยที่กล่าวกันว่าพื้นที่สายอนุรักษนิยมย่อมยืนหนึ่ง ยึดโยงรางวัลและคำพ่วงท้าย ‘แห่งชาติ’

ในปีที่ 128 ของบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัย การปะทะทางความคิด และช่วงชิงพื้นที่แลนด์มาร์กในสถานการณ์การเมืองร่วมสมัยในแวดวงนี้ ยังคงดำเนินไปอย่างน่ารอชม


128 ปี ศิลป์ พีระศรี ทายาทปาฐกถา

งานวันศิลป์ พีระศรี ประจำปี 2563 อังคารที่ 15 กันยายน 2563 โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ ลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ

ปาฐกถา “กายวิภาคมนุษย์ : ว่าด้วยเรื่องรูปแบบ” โดย ศาสตราจารย์ลูกา วิเวียนิ อาจารย์สถาบันศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ หลานชายคนเดียวของศาสตราจารย์ศิลป์

ตักบาตร ออกร้าน ฟังดนตรีสด ร่วมวางดอกไม้พร้อมจุดเทียนระลึก และขับร้องเพลง santa lucia

นิทรรศการ ศิลปกรรมอาจารย์คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เรื่อง “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด : Surviving” 15 กันยายน-12 ตุลาคม 2563 ณ หอศิลป์ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมฯ

-นิทรรศการสถาปัตย์-ปริวรรต ประจำปี 2563 เรื่อง “Collective Adaptation” 15-22 กันยายน 2563 ณ หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

-นิทรรศการผลงานสร้างสรรค์ของคณาจารย์ คณะมัณฑนศิลป์ 15-26 กันยายน 2563 ณ หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ วังท่าพระ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานพร้อมกัน ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม และวิทยาเขตเพชรบุรี อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image