ชลน่าน ยันยื่น 4 ญัตติแก้รธน.ถูกต้อง ทันวาระประชุมสภา 23ก.ย. ฝากส.ว.ให้คิดถึงส่วนรวม

“ชลน่าน” แจง ปมยื่น 4 ญัตติแก้รธน. ยัน ถูกต้อง-เรียบร้อย ทันบรรจุวาระประชุมสภาฯ 23 ก.ย.นี้ พร้อมฝากส.ว.โควตาทหารยึดประโยชน์ปท.ภาพรวม อย่าเห็นแก่ตัว เผย ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยปมปิดสวิทซ์ บอกเหมือนได้ปลดตราบาป

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 17 กันยายน ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงกรณีปัญหาการลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 4 ฉบับซ้ำซ้อนกับญัตติ 256 โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้สภาตรวจสอบว่า พรรคฝ่ายค้านเกรงว่าจะมีปัญหาในการตรวจสอบ เพราะเวลาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเมื่อมีร่างไหนเข้ามาก่อนก็จะถือว่าเป็นร่างหลัก โดยในร่างหลักนั้น หลักการไม่ครบ เราจึงอยากให้ตกไปแล้วเสนอร่างใหม่ แต่เกรงว่าชื่อจะไปซ้ำกับร่างแรกแล้วทำให้ญัตติตกไปทั้ง 2 ร่าง เจ้าหน้าที่สภาฯ แนะนำให้เรารวมชื่อและเสนอถอนชื่อออกจากร่างแรกแล้วมาเซ็นต์เสนอใหม่ในร่างที่สอง จึงเกิดการรวบรวมรายชื่อจากสมาชิกผู้ที่เสนอร่างเดิม จากทั้งหมด 187 คน ถอนชื่อให้เหลือไม่ถึง 98 คน โดยถอนชื่อออกไปทั้งหมด 137 ชื่อ ซึ่งมั่นใจว่าทั้ง 4 ร่างฉบับล่าสุดที่ไม่มีปัญหาจะถูกส่งไปให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พิจารณาในวันนี้ และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะถูกส่งกลับมาให้ประธานสภาฯบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมทันวันที่ 23 ก.ย. โดยทั้ง 4 ร่างบวกกับร่างมาตรา 256 อีก 2 ร่างจะเข้าพิจารณาพร้อมกันทั้งหมด 6 ร่าง

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการยื่นคัดค้านของนายไพบูลย์ จะมีผลหรือไม่นั้น การลงชื่อซ้ำจะมีผลก็ต่อเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหลักการเดียวกัน ถ้าเป็นคนละหลักการ แก้ไขรายมาตรา และไม่เกี่ยวเนื่องกัน ก็ถือว่าเป็นคนละร่างคนละหลักการ สมาชิกมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกี่ร่างก็ได้ ส่วนจะมีผลกับการยับยั้งการพิจารณาหรือไม่นั้น หากส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจริง ตนคิดว่าค่อนข้างจะมีช่องทางที่ยากมาก ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วไม่เข้าข่ายที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะประธานสภาฯยืนยันว่าเข้าชื่อได้ เพราะหลักการต่างกัน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนร่างที่เสนอไปทั้งหมด 6 ร่างนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนหรือไม่นั้น ตนขอเรียนว่า กฎหมายรองรับในเรื่องนี้ คือกฎหมายว่าด้วยการกระทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนว่ากฎหมายที่ต้องรับฟังความเห็นหมายถึงกฎหมายประเภทไหน โดยมีนิยามว่า 1.กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับ 2.พ.ร.บ.ทั่วไป และ 3.พ.ร.ป. ว่าด้วยประมวลกฎหมายไม่มีบทบัญญัติใดที่พูดถึงตัวรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในขอบข่ายต้องไปรับฟังความคิดเห็น

Advertisement

เมื่อถามว่าญัตติอาจจะไม่ผ่าน เพราะสว.ที่มาจากผู้นำเหล่าทัพและข้าราขการทหารอาจจะโหวตคว่ำนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของส.ว. แต่หากไม่มีเสียงส.ว.1 ใน 3 แม้ส.ส.ทั้ง 500 คนจะเห็นชอบก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ที่เขาจะดำเนินการอย่างนั้น ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภานั้นยากมาก นอกเสียจากว่าจะมีกระแสเรียกร้องจากประชาชน ทั้งนี้ ตนมองว่าไม่ผ่านมาตรา 270 , 271 หรือ 279 อาจจะไม่เป็นประเด็น เพราะไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจของสว.เลย แต่สำหรับมาตรา 272 มีส.ว.บางคนเข้ามาคุยกับตนและบอกขอบคุณที่ปลดทุกข์ในใจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้เขาทำหน้าที่ที่ไม่ควรในการเลือกนายกรัฐมนตรี บางคนถึงขนาดบอกว่าเอาตราบาปออกจากตัวเองได้ ดังนั้น เราไม่ได้ไปตัดอำนาจ หรือปิดสวิทซ์เขา แต่เราคืนความเป็นส.ว.ให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้เขา และยึดอำนาจของผู้มีอำนาจออกจากรัฐธรรมนูญ

“อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ส.ว.ที่มาจากผู้นำเหล่าทัพ ได้ตระหนักและคิดถึงบ้านเมืองภาพรวมเป็นหลัก ถ้าการตัดสินใจของท่านมีผลต่อการสร้างความวุ่นวายและปั่นป่วน เกิดความแตกแยกกันในบ้านเมือง ผมก็คิดว่าท่านเห็นแก่ตัวมากเกินไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image