กรมพินิจฯ แนะพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการเลิกสูบบุหรี่

กรมพินิจฯ แนะพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการเลิกสูบบุหรี่

 

จากคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ที่ระบุว่า “ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบและป้องกันพวกเขาจากยาสูบและการใช้นิโคติน” ทำให้ทุกหน่วยงาน ที่ขับเคลื่อนงานป้องกันการสูบบุหรี่ หันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องเยาวชนทุกกลุ่มให้ห่างไกลจากบุหรี่ เช่นเดียวกับเด็กในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน หรือในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลให้เข้าถึงสิทธิและบริการเลิกบุหรี่

นายสหกรณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงภาพรวมการติดบุหรี่ของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมทั้งศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้าสู่สถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุหรี่ประมาณ ร้อยละ 70 – 80 ซึ่งที่ผ่านมา สถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ได้มีกระบวนการตรวจสอบเรื่องการสูบบุหรี่กับเด็กที่อยู่ในการดูแลอย่างต่อเนื่อง

 

Advertisement

 

ทั้งนี้ จากความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนการสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งได้สนับสนุนองค์ความรู้ และสร้างความเข้าใจแก่พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ตลอดจนสนับสนุนเครื่องมือการตรวจวัดคาร์บอนมอนนอกไซด์จากลมหายใจเด็ก ทำให้แนวโน้มการเลิกบุหรี่ได้ เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งจากการสุ่มตรวจปัจจุบันพบว่า มีเด็กที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ ไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งหลังจากนี้ได้ตั้งเป้าหมายว่า เด็กทุกคนที่อยู่ในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ จะต้องเลิกบุหรี่ให้ได้ ก่อนจะออกไปสู่สังคมอีกครั้ง

Advertisement

อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวถึงบทบาทของกรม ในการช่วยให้เด็กเลิกสูบบุหรี่ด้วยว่า ที่ผ่านมาใช้กฎระเบียบของสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ที่มีข้อห้ามในการสูบบุหรี่ หากฝ่าฝืนก็ตัดสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดเวลาเยี่ยมบ้าน หรือ การอำนวยความสะดวกอื่น ๆ แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ ก็จะอำนวยความสะดวกในเชิงบวกมากขึ้นตามไปด้วย พร้อมกับการสร้างพฤติกรรมให้เด็กเห็นถึงโทษของบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพในระยะยาว สื่อสารให้เด็กเกิดความเข้าใจและตระหนักรู้ด้วยตนเอง จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไป ควบคู่กับการดำเนินงานจาก สสส. และภาคีเครือข่าย ในการให้เครื่องมือตรวจสอบลมหายใจของเด็ก จนทำให้ได้ทราบข้อมูลที่แท้จริง และนำมาสู่การแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ได้มากขึ้น โดยกรมต้องการหารือร่วมกันกับหน่วยงานของ สสส. และ เครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย ในการวางแผน ถอดบทเรียน นำมาสู่การปฏิบัติงานร่วมกัน พร้อมต่อยอดโครงการนี้ไปสู่เด็กทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ซึ่งโครงการในรูปแบบนี้จะต้องได้รับการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง พร้อมฝากว่า

“สิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กคือผู้ปกครองที่ต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องของบุหรี่กับเด็กและเยาวชน หากถ้าเป็นตัวอย่างที่ดีในการเลิกสูบบุหรี่แล้ว เชื่อว่าก็จะเป็นการก่อพฤติกรรมที่ดีของเด็กต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน” นายสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ขณะที่ตัวแทนเยาวชน ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย สิริธร อย่าง นายเอ (นามสมมติ) กล่าวว่า เมื่อก่อนเคยสูบบุหรี่วันละ 2 ซอง ตั้งแต่อายุ 13 ปี ทำให้มีอาการหายใจไม่ออกเวลานอน เวลาเล่นกีฬาจะเหนื่อยง่ายมากเมื่อเข้ามาอยู่ศูนย์ฝึกฯ จึงมาขอคำปรึกษากับพยาบาล ทำให้ได้รับความช่วยเหลือวิธีการต่าง ๆ ทั้งการอมลูกอม ใช้ย้ำยาบ้วนปาก หรืออมมะนาวเป็นชิ้น ๆ โดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในการเลิกบุหรี่ ซึ่งได้รับความรู้และกำลังใจจากเจ้าหน้าที่และพยาบาลที่ดูแล ทำให้สูบบุหรี่ได้ในที่สุด ทำให้ไม่มีอาการไอ และกลับมาเล่นกีฬาได้เป็นปกติอีกครั้ง

พร้อมฝากถึงเด็กและเยาวชนคนอื่นถึงพิษภัยของบุหรี่ว่า “การสูบบุหรี่เป็นการทำร้ายตนเอง ทำให้ร่างกายแย่ลง ถ้าคิดจะเลิกสูบก็ต้องทำทันที ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ใจเราเอง และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่คอยให้กำลังใจและให้ความรู้ ทำให้ผมเลิกสูบบุหรี่ได้”

เช่นเดียวกับนายบี (นามสมมติ) เยาวชน ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย สิริธร ที่บอกว่า สูบบุหรี่เพราะทำตามเพื่อน คิดว่าทำแล้วเท่ และนำไปสู่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดชนิดอื่น ๆ หลังจากใช้เวลา 2 – 3 สัปดาห์ ในการเลิกสูบบุหรี่แล้ว ปรากฎว่าสุขภาพดีขึ้น ที่สำคัญ คือ ทำให้พ่อแม่ภูมิใจที่สามารถเลิกสูบได้ เมื่อเลิกได้แล้วก็ตั้งใจว่าจะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่อีกแล้ว พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ให้ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ และให้ข้อคิดดี ๆ ตลอดมา

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image