‘ไอลอว์’ โยนเผือกร้อนใส่ ‘ชวน หลีกภัย’ ให้จับตาจะดึงร่าง กม.ฉบับประชาชนมาพิจารณาหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดกิจกรรม ตลาดนัด “งานสภากับประชาชน” โดยมีเวทีเสวนา มินิคอนเสิร์ต และงานออกร้าน

เวลา 10.30 น. มีการเสวนาโต๊ะกลม “ประชาชนกับสภา” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้กลไกสภาแก้ปัญหาชุมชน โดยผู้มีประสบการณ์ในการยื่นข้อกฎหมายต่อคณะกรรมการ ร่วมเสวนา

นายณัชปกร นามเมือง ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ย้อนกลับไปยุคก่อนเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนไปมากคือ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งตอนหลังไม่มีใครไปแล้ว ทำให้เห็นว่าประชาชนเลือกจะเดินเข้ามาให้ความเห็นต่อรัฐสภา สะท้อนว่า สภาคือสถานที่ที่จะมีคนรับฟังเขาอยู่ หากใครหมดหวังจากกลไกอิสระ รัฐสภาก็ยังเป็นกลไกที่เราเข้าถึงได้ มีสิทธิ มีเสียงในฐานะผู้แทน ลองไปใช้บริการกันดู

สำหรับไอลอว์ได้ไปทั้งใช้บริการ และถูกใช้บริการ คือไปเสนอกฎหมาย หลังเลือกตั้งได้เสนอกฎหมายประชาชน 1 ฉบับ และร่างรายชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ ต่อทางสำนักเลขาธิการกรรมาธิการสภาผู้แทน ที่ค่อนข้างจะเป็นมิตรที่สุดแล้วกับประชาชน เช่น เราเสนอร่างกฎหมาย ที่ขอยกเลิกกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันเข้าชื่อเสนอกฎหมายและเข้าสภาแล้ว แต่รัฐบาลเสนอกฎหมายของตัวเอง ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูป จึงต้องเอา ส.ว.เข้าไปพิจารณาอัตโนมัติ สู้ทั้งกลไกและสู้กับ ส.ว.ด้วย

Advertisement

นายณัชปกรกล่าวว่า เบื้องต้นรัฐสภามีปัญหาพื้นฐานคือ 1.เชิงสถาปัตยกรรม ทางเข้า ส.ส. กับ ส.ว.คนละที่ และ 1 แสนรายชื่อ ที่ร่างเสนอไป ก็ให้คนเข้าไปไม่ได้ ต้องมาวิ่งต่อรอง เพื่อขอตัวแทน 10 คนเข้าไป ให้ประชาชนไปยืนออหน้าประตู สถาปัตยกรรมใหม่ ไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนไปส่งเสียงเลย เข้าใจว่าตอนออกแบบพยายามให้ประชาชนเข้าไปชุมนุมในสภาได้ แต่จัดลำดับให้พื้นที่ของประชาชนเป็นสถานที่สุดท้าย คือปัญหาที่กรรมาธิการต้องเร่งรัด ประชาชนอยากใช้พื้นที่สภาแล้ว

2.การเสนอกฎหมาย เมื่อยื่นเรื่องแล้วกระบวนการจากนั้นค่อนข้างล่าช้า กว่าจะยื่น 45 วัน ใช้เวลาร่างกฎหมายของไอลอว์ผ่านไปปีกว่า เพิ่งได้รอบรรจุวาระ จะเห็นว่าการจะใช้ประชาธิปไตยทางตรงไม่เคยเกิดขึ้นเลย ทำไมต้องรอร่างของรัฐบาลมาประกบเสมอ ถ้ารัฐบาลช้าคือความผิดของรัฐบาล ไม่ใช่ของประชาชน ควรไปเถียงในชั้นกรรมาธิการ สภาไม่ได้เห็นความสำคัญของประชาชน ถือสิทธิมาทีหลังแล้วจะมาก่อน

3.ความโปร่งใส เมื่อรับเรื่องไปแล้ว ควรจะมีรายงานเผยแพร่อย่างชัดเจน ให้ประชาชนได้ติดตามความคืบหน้าต่างๆ อยากเห็นว่าแต่ละคนพูดอะไรในสภา จะได้รู้ว่าใครคือตัวปัญหา ไม่เอารายงานแบบสรุป ขอบันทึกอย่างละเอียดให้ประชาชน จะได้รู้ว่าใครเป็นคนขัดขวางการแก้ปัญหาของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องไร้เจ้าภาพ เมื่อเห็นว่าการตั้งกรรมาธิการเหล่านี้ไม่โปร่งใสจะร้องไปที่ใคร หรือควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกิจการสภา

Advertisement

4.ความสำเร็จของการใช้กลไกสภา ควรจะมีการสรุปบทเรียนในทุกปี ว่าแต่ละปีมีการยื่นกี่เรื่อง ประสบความสำเร็จและมีปัญหาเท่าไร คงจะดีหากมีการทำฐานข้อมูลดีๆ ซึ่งจะช่วยได้ในการหาทางออกร่วมกัน

5.บางเรื่องประชาชนได้ศึกษามาดีแล้ว ดังนั้น ทางออกไม่ควรเป็นแค่การตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาเพียงอย่างเดียว มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะตั้งหน่วยงาน เช่น นิติกร หรือหน่วยงานด้านกฎหมาย เพื่อจัดทำร่างกฎหมายให้ประชาชนเอาไปใช้ต่อยอดได้ เพื่อความรวดเร็ว

“เหตุการณ์ล่าสุด 24 กันยายน มีมติเลื่อน ต้องประชุมในสมัยหน้า ซึ่งห้ามเสนอญัตติเดียวกันในที่ประชุมเดียวกัน แต่มีทางเลือกข้อ 33 ระหว่างพิจารณา หากมีเรื่องเกี่ยวเนื่องในการพิจารณา ประธานรัฐสภาสามารถหยิบเรื่องขึ้นมาพิจารณาควบคู่ไปได้ ดังนั้น ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา จึงขอเชิญชวนให้ช่วยกันจับตาท่านชวน หลีกภัย ประธานสภา ว่าจะหยิบร่างของประชาชนเข้ามาพิจารณาหรือไม่ หากไปคว่ำในสมัยประชุมหน้าอีก ใจกลางปัญหาก็อยู่ที่ท่านชวน หากตกญัตติแล้ว จะหยิบญัตติขึ้นมาพิจารณาได้ ก็ขึ้นอยู่กับท่านชวนอีก 1 เดือนนี้เผือกร้อนอยู่กับท่าน คิดดีๆ 1 เดือนผมรอได้ แต่ประชาชนจะรอท่านหรือไม่ คือประเด็นที่ต้องจับตา” นายณัชปกรกล่าว

นายณัชปกรเปิดเผยด้วยว่า ตอนนี้ร่างประชาชนอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งกรอบคือ 45 วัน ท่านชวนบอกจะใช้เวลา 15 วัน ตอนนี้ระดมเจ้าหน้าที่ 100 คน มาตรวจนับ ส่วนที่ดียังมี แต่ปัญหาก็มีอยู่เยอะ มีทางออกได้ ตราบใดที่นักการเมือง ตัวแทนประชาชนจะแก้ปัญหา ไปต่อได้แน่นอน

“ในฐานะองค์กรทำงานเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกเราจะทำหน้าที่ถึงสุด หากถึงจุดที่ประชาชนออกมาร่วมด้วย ไอลอว์ก็ยินดีจะร่วมด้วย ไปหน้ารัฐสภาอีกครั้งเพื่อบอกประธานชวนถึงหน้าที่ของท่าน หากท่านไม่รู้สำนึก ประชาชนต้องเป็นคนเตือนท่านเอง” นายณัชปกรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image