‘รัฐธรรมนูญเป็นเหตุ’ สังเกตได้ ตั้ง กมธ. ‘เกมยื้อ หรือลดเสี่ยง’?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กลายเป็นวาระแห่งชาติ

ชาติ ในความหมายที่ว่า คือประชาชน

เมื่อประชาชนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดยมีการยื่นรายชื่อผู้มีสัญชาติไทยกว่าแสนรายที่รวบรวมโดย ‘ไอลอว์’ หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ขนขึ้นรถซาเล้งไปสภา

กระทั่งรวมตัวหน้ารัฐสภา ปราศรัยปมปัญหา ทั้งทางบก ทางน้ำ ในค่ำคืนวันที่ 24 กันยายน

Advertisement

ทว่า สุดท้ายมีมติไฟเขียวตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นกลยุทธ์ยื้อเวลา’หรือไม่?

25 กันยายน “Salaya Democracy Fest” ถูกจัดขึ้นที่ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยเครือข่าย We Fair, ภาคีนักศึกษาศาลายา, ศาลายาเนี่ยน และ ‘สามัญชน’

มากมายด้วยกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในห้วงเวลาถึง 88 ปี สิ่งที่มีคือ ‘ความ (ยัง) ไม่ตั้งมั่น’

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นการฉายสารคดีสั้น บูธรำลึกถึงการต่อสู้ของคนในมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน การรำลึกถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้บุกเบิกโครงการบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง นิทรรศการ Uprising 2020 รวมความเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีนี้ โดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน

นิทรรศการโดย “พิพิธภัณฑ์สามัญชน”

เสื้อชุมนุมทางการเมืองของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมถึงอุปกรณ์ชุมนุม อาทิ ป้ายผ้า สคริปต์ปราศรัย มือตบ 3 นิ้ว พัดและผ้าโพกหัว “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ถูกนำมาจัดแสดงพร้อมด้วยภาพวาดบุคคลสูญหาย โดยศิลปินชาวเชียงใหม่ โปสเตอร์ยกเลิก ส.ว. อีกทั้งสติ๊กเกอร์จากงาน ActสิArt ป้ายห้อยคอสต๊าฟในกิจกรรมการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน และ 19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร

หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวการจับกุมทนายอานนท์ และไมค์ ระยอง, นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ รูปนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยที่ต้องถูกบันทึกไว้ ไม่อาจลืม

และแน่นอนว่า หนึ่งในเสวนาหัวข้อสำคัญ จะขาดปมร้อน (แก้) รัฐธรรมนูญไปไม่ได้

นิทรรศการโดย “พิพิธภัณฑ์สามัญชน”

‘นักเรียนเลว’เทียบรัฐธรรมนูญ’ 60

ไม่ต่างกฎโรงเรียน

เริ่มด้วยสุนทรพจน์โดยตัวแทนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘นักเรียนเลว’ ซึ่งบอกว่า ถ้าพูดกันแล้วอาจรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญไกลจากตัวเด็กมัธยมที่ยังอายุไม่ถึง 18 ปี ลงชื่อแก้ไขไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญคือการเมือง เกี่ยวข้องกับชีวิตของนักเรียนจำนวนมาก ที่พร้อมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ แต่ภายใต้รัฐเผด็จการ เราหลายคนถูกคุกคามด้วยการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ทั้งในโรงเรียน โดยตำรวจ และในบ้าน การต่อสู้นี้ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่างเพื่อปลายทางที่เราฝันร่วมกัน

รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา น้อยมากที่ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการร่าง เป็นเพียงเสี้ยวหยิบมือเล็กๆ ที่เข้าไปร่างกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วประเทศ ไม่ต่างจากกฎโรงเรียนที่เป็นภาพสะท้อน นักเรียนไม่มีส่วนร่วมในการร่าง หรือคิดว่าจะมีอะไรมาบังคับใช้กับตัวเอง ประชาชนแทบไม่มีความสำคัญในกระบวนการเหล่านี้

“รัฐธรรมนูญปี’60 นี้บังคับใช้กับทุกคนแต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับพวกเรา ร่างขึ้นมาเพื่อ คสช. ไม่ใช่เพื่อประชาชนและอนาคตของประเทศ แต่เพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น ในฐานะที่ต้องอยู่ประเทศนี้ไปอีกหลายสิบปี เราต้องอยู่กับสิ่งที่เราไม่มีทางเลือก เอาคนที่เราไม่ได้เลือกตั้งมาครอบเรา ตัดสินว่าควรบังคับใช้กฎหมายอะไร ทั้งที่คนเหล่านั้นนอกจากจะกินเงินเดือนจากเราโดยสูญเปล่าแล้ว ยังไม่ได้มาจากพวกเรา

ในสมรภูมิการเมือง ประชาชนแทบไม่เคยอยู่ในนั้น ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ ลงมติ ส.ส.เป็นส่วนหนึ่ง แต่จำนวนอีกครึ่งของ ส.ส.กลับเป็น ส.ว.ที่เราไม่ได้เลือกมาสักคน แล้วอนาคตเราจะเป็นอย่างไร ในอีก 20-30 ปี ส.ว.เหล่านั้นคงไปเกิดใหม่อีกชาติ แต่เรายังต้องจมกับปัญหาที่เขาทิ้งไว้ให้เรา อนาคตริบหรี่เหลือเกินภายใต้รัฐเผด็จการ”

ตัวแทนนักเรียนเลวบอกด้วยว่า ยังมีหลายคนผลักการเมืองออกจากเด็ก โดยระบุว่าในสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งสกปรก น่ากลัว แต่การเมืองก็ยังเป็นเรื่องของทุกคน อนาคตของพวกตนที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ คนวัยทำงานที่จะโตเป็นผู้สูงอายุ ขึ้นอยู่กับการเมือง ฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญླྀ จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่แก้และปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นเรื้อรัง ประเทศจะดิ่งลงเหวเรื่อยๆ และคนที่ขู่เราว่าจะมีอนาคตหรือไม่ ก็ไม่รู้ว่าวันนั้นประเทศจะยังมีอยู่หรือไม่ ดังนั้น การแสดงออกทางการเมืองจึงเป็นหน้าที่หนึ่งของเยาวชนด้วย

‘ภาคีศาลายา’ เชื่อ ส.ว. ‘เล่นเกม’ ยื้อเวลา

จากนั้นเข้าสู่เนื้อหาในหัวข้อ “เหตุจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รูปแบบ ส.ส.ร. และการทำประชามติ”

ณวิบูล ชมภู่ ประธานภาคีนักศึกษาศาลายา กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทยในยุควิกฤต เพราะคือโครงสร้างของประเทศ ถ้าโครงสร้างไม่ดีประเทศจะเดินหน้าต่ออย่างไร รัฐธรรมนูญླྀ มาจาก สนช.และสภาปฏิรูป

ซึ่งล้วนก่อตั้งโดย คสช.เมื่อปี พ.ศ.2559 ก่อนลงประชามติ คนที่ไม่เห็นด้วยถูกคุกคาม เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ยึดโยงประชาชน ซึ่งยังมีหลายมาตราที่ให้อำนาจ คสช. จึงเป็นการยึดโยงอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้น ทางออกเดียวคือดึงอำนาจเผด็จการมาสู่อำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง

“ล่าสุด ประชาชนได้ส่งรัฐสภาไปแสนกว่ารายชื่อ ดูเหมือนว่า ส.ว.ยังไม่ตอบรับเสียงของประชาชน และในสถานการณ์ปัจจุบัน ส.ว.ปฏิเสธเสียงเรา เล่นเกมไม่รับร่าง และใช้การยืดเรื่องไปอีก 1 เดือน ทำให้เห็นแล้วว่าไม่สนใจประชาชน กระบวนการนักศึกษาจึงต้องกดดันให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะคือเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง” ประธานภาคีนักศึกษาศาลายากล่าว

นิทรรศการโดย “พิพิธภัณฑ์สามัญชน”

ไอลอว์ชี้ฉบับ’60 มีปัญหา ‘ตั้งแต่อารัมภบท’

มาถึงตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์’ ซึ่งจัดแคมเปญรณรงค์ล่า 5 หมื่นชื่อ เรียกร้อง ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ จนกวาดมาได้กว่าแสนชื่อ แต่สุดท้ายท่านประธานสภา ชวน หลีกภัย บอกว่านำเข้าพิจารณาไม่ทัน

ตัวแทนไอลอว์ย้อนวิเคราะห์ปรากฏการณ์ 24 กันยาฯ ว่าอาจเป็นภาพสะท้อนถึงความตั้งใจบางอย่างหรือไม่

“มติเราอาจวัดไม่ได้ แต่จากการชุมนุม หลายคนตั้งคำถามเรื่องการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่มีตั้งแต่การเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยความขัดแย้งคือเรื่องปกติและจำเป็น เพราะทำให้เกิดการตั้งคำถาม แต่รัฐธรรมนูญླྀ พรรครัฐบาลก็ยืนยันว่าเป็นหนึ่งในอาเจนด้าแต่ยังไม่มีความชัดเจน คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ก็เคยยื่นในสภาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นแปลว่ามีการพูดคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาระดับหนึ่ง จึงน่าจะมีการตกผลึกบ้างแล้ว วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา คนจึงจดจ้องว่าจะเป็นอย่างไร”

ทางไอลอว์ที่จัดแคมเปญเข้าชื่อ ช่วง 3-4 วันก่อนยื่น เราทำงานอย่างหนักเพื่อที่สภาจะดำเนินการต่อได้อย่างรวดเร็ว และหวังว่าร่างที่เราทำอย่างยากลำบากน่าจะผลักดันได้อย่างเป็นระบบ แต่เมื่อมติเมื่อวานออกมาจะมีความกังวลว่าจะกระทบอะไรหรือไม่ ซึ่งทางทีมงานได้ไปค้นระเบียบในรัฐสภา ประธานสภายังสามารถดึงเรื่องกลับมาได้หรือไม่ เราจะยังมีความหวังในร่างฉบับประชาชนว่าจะยังคงมีต่อไป หวังว่าทางสภาผู้แทนราษฎรและ ส.ว.ที่เข้ามาทำเพื่อประเทศชาติจะเคารพเจตนารมณ์ของคนที่มาเข้าร่วม” ตัวแทนไอลอว์กล่าว ทั้งยังระบุว่า

รัฐธรรมนูญ’60 มีปัญหาตั้งแต่อารัมภบท เมื่อเทียบกับปีཤ ที่สั้น พูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ’60 ร่ายยาวถึงความขัดแย้ง ธงไม่ได้การันตีสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาตั้งแต่แรก คือเหตุผลที่จำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ อารัมภบทต้องสะท้อน มุ่งไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีการร่างใหม่ ที่คนร่างมีจุดยึดโยงอะไรบางอย่างกับประชาชน

มณเฑียร บุญตัน

ส.ว.เปิดใจอยากโหวตให้

แต่ต้องเลื่อน หวัง ‘ลดความเสี่ยง’?

ปิดท้ายที่สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ทำพิธีจับลงหม้อ’เชิงสัญลักษณ์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน ก่อนโดนโห่ไล่ซ้ำหน้าประตูรัฐสภา พร้อมโปรย 250 ใบลาออกด้วยมือตัวแทนคณะประชาชนปลดแอกในค่ำคืนวันที่ 24 กันยายน

มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ยืนยันในเวทีเสวนาว่า ตนเป็นคนไม่ฝืน ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อใดที่ผู้มีอำนาจฝืนความรู้สึกของประชาชน ครั้งใดก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดปัญหาไปไม่ได้ แม้แต่ประวัติศาสตร์ในรัฐบาลที่เข้มแข็งก็ไม่สามารถฝืนความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งในกติกาที่ใช้ในการบริหาร เมื่อความรู้สึกนึกคิดของคนเห็นความสำคัญ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้

“ผมเตรียมตัวโหวตอยู่แล้ว ซึ่งในวันอภิปรายได้อภิปรายเป็นคนแรก เลยพูดไปว่า ในขณะที่สนับสนุนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมาตลอด 20 ปี เชื่อว่ากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะเพิ่มวุฒิภาวะของพลเมืองได้ จึงคิดเป็นบวกเสมอ แต่ละวาระไม่สำคัญเท่าประตูแห่งการแลกเปลี่ยนในสภา

คิดว่าจะมีการโหวต 18.00 น. คิดว่าน่าจะได้โหวตแน่นอน ผมเตรียมตัวโหวตหนุนร่างของฝ่ายค้าน และร่างของรัฐบาลที่แก้มาตรา 256 ซึ่งจะมีส่วนในการตั้ง ส.ส.ร.แต่ก็มีการถกเถียงว่าการจะสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่เพียงมาตราเดียวเพียงพอหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าฉบับปี 50 มีปัญหา ทำให้เกิดการเรียกร้องได้ว่า ผู้เสนอแก้ไขมาตรา 291 ทำเกินเลยกว่าวิธีการแก้ไข จึงเป็นปัญหาในตอนนั้น ดังนั้น รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ แต่ข้อดีคือเมื่อแก้ไขแล้วให้ไปทำประชามติ ดังนั้น จะแก้วิธีการใดก็ไปลงประชามติ รัฐธรรมนูญ 60 แก้ไขความคลุมเครือนั้นไปแล้ว” มณเฑียรกล่าว

จากนั้นยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญ’ 60 แก้ยาก แต่ก็ยังแก้ได้ ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญไม่ควรแก้ยากเกินไป คนที่เชียร์อาจบอกว่าเหมาะที่สุด ตอนนั้นก็เป็นคนหนึ่งที่โหวตให้เพราะไม่มีทางเลือก ในส่วนมาตรา 256(8) แก้ไขแล้วต้องไปทำประชามติ ข้อถกเถียงคือ ควรถามก่อนแก้ หรือแก้ก่อนถาม จึงเกิดความสับสนในสภา

นิทรรศการโดย “พิพิธภัณฑ์สามัญชน”

สุดท้ายมีคนเสนอว่า ถ้าปล่อยให้โหวต อาจจะตก เมื่อเสนอก็เป็นไปตามข้อบังคับ ให้ตั้งกรรมาธิการก่อนรับหลักการ การจะสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่เป็นอำนาจของประชาชน แล้วควรจะถามประชาชนกี่ครั้งกันแน่ ซึ่งท่านประธานสภาไม่ได้เตรียมการมาก่อน จึงต้องดำเนินการตามนั้น การไม่ได้ลงมติและเลื่อนไป จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เพราะผมก็อยากลงคะแนน แต่หลายท่านบอกว่า ลดความเสี่ยงดีกว่า ที่ ส.ว.จะไม่เห็นด้วย เหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังไม่ทราบ แต่ส่วนตัวมองในแง่ดี ในฐานะคนที่ตั้งใจจะโหวตให้

“เราหลายคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขก็ต้องทำหน้าที่ เมื่อมีคนเสนอ สภาเกิดความไม่มั่นใจ คิดว่าการยืดออกไปจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น หาวิธีการที่ทำให้รัฐธรรมนูญลดความน่าหวาดกลัว สุดท้ายน่าจะมีการลงมติที่ลดความตึงเครียดได้ อย่างไรก็ดี สภามีหน้าที่ชี้แจงกับประชาชน ส่วนตัวจึงไม่ฝืน เมื่อจะมีการแก้ไข” ส.ว.มณเฑียรกล่าว

นี่คือส่วนหนึ่งของมุมมองหลากหลายในวันที่การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความหวังในสโลแกน ‘หากการเมืองดี…’ ที่ทุกคนสามารถเติมคำในช่องว่างได้อย่างที่ใจต้องการ

นิทรรศการโดย “พิพิธภัณฑ์สามัญชน”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image