เมื่อกรุงเทพฯต้องการการระบายน้ำ และการระบายอารมณ์ : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

“เมื่อวานนี้ ฝนตกลงมาอย่างหนักเต็มพื้นที่กรุงเทพฯโดยเฉพาะในพื้นที่เขตชั้นใน เช่น สาทร ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร คลองเตย วัฒนา และพระโขนง ตกหนักมากและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเขตเมืองและย่านเศรษฐกิจที่มีพื้นที่รับน้ำน้อย ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเลิกงาน เจ้าหน้าที่ของเราก็เร่งทำงานแก้ไขปัญหาในทุกจุดอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

แม้วันนี้ (3 ต.ค.63) จะเป็นวันหยุด แต่เจ้าหน้าที่ของเรายังเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง เพราะคาดการณ์ว่าช่วงบ่ายถึงค่ำจะมีฝนตกเพิ่มถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ครับ

ส่วนหมู่บ้านหรือตรอกซอยไหนที่ยังมีน้ำท่วมขังตกค้าง รีบแจ้งศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม.เพื่อประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตในการเร่งแก้ไขครับ โทร 0-2248-5115 ครับ”

มติชน “ผู้ว่าฯ อัศวิน ชี้เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมขังเต็มที่ แนะ ปชช.โทรแจ้งศูนย์ป้องกันน้ำท่วม” 3 ตุลาคม 2563

Advertisement

ฝนกระหน่ำกรุง! หลายจุดยังอ่วม ประชาชื่น-แจ้งวัฒนะ-มาบุญครอง ท่วมอีก

หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าผู้ว่าฯกทม.ไปไหนในคืนวันที่ 2 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นวันน้ำท่วมแห่งชาติของปีนี้ (แน่นอนว่ากรุงเทพฯคือประเทศไทยในสำนึกของคนจำนวนมากอยู่แล้ว)

Advertisement

แถมยังโพสต์ความเห็นแบบนี้ ก็ทำให้เราเพิ่งรู้ว่ากรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยให้บริการประชาชนมีวันหยุด คือถามจริงๆ ว่าไม่เข้าใจภารกิจของกรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยในการปกครองรูปแบบพิเศษเอาเสียเลยเหรอ?

ขนาดโรงพักของตำรวจเอาเข้าจริงยังไม่มีวันหยุดเลยครับ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ถึงแม้ว่าเราจะไม่พอใจการทำงานของตำรวจในหลายเรื่อง แต่อย่างน้อยเราก็อุ่นใจว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการมิใช่เหรอ?

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องมีผู้ว่าฯออกมาเดินเวลาน้ำท่วม คำตอบง่ายๆ ก็คือถ้าน้ำท่วมเคยถูกนิยามว่าเป็นเรื่องของน้ำรอการระบาย

ผู้ว่าฯกทม.ก็คือผู้ที่มีภารกิจสำคัญคือ การเป็นแหล่งระบายอารมณ์ของชาวกรุงเทพมหานครนั่นแหละครับ

พัฒนาการของการบริหารจัดการกรุงเทพมหานครนั้นสะท้อนให้เห็นมาเสมอว่าคนกรุงเทพฯและคนที่มาทำมาหากินใช้ชีวิตในเขตกรุงเทพฯนั้นปากจัด

ปากจัดไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม ฮ่าๆ (สัญลักษณ์ของที่มาของสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณทรงเครื่องด้านหน้า ออกแบบโดยพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ภาพพื้นเป็นภาพลายเส้น “ก้อนเมฆ” ให้เห็นชัดว่าอยู่บนสวรรค์ มีเส้นรัศมีห่างรอบๆ ทั้งซ้ายขวาของภาพพระอินทร์ สาเหตุที่ยกกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองพระอินทร์ สันนิษฐานว่า เพราะคำว่า “รัตนโกสินทร์” คือแก้วของพระอินทร์ อันได้แก่ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ซึ่งมีสีเขียวเหมือนสีกายของพระอินทร์ เมืองของพระแก้วมรกตจึงเป็นเมืองของพระอินทร์

รูปพระอินทร์ ที่เป็นตรากรุงเทพมหานครนั้น ถือวชิราวุธหรืออาวุธที่เป็นสายฟ้า เป็นอาวุธประจำพระองค์ ทั้งนี้ เพราะพระอินทร์มีหน้าที่ขับไล่ประหารอสูร หรือฤๅษีที่ทำความมืดมัวแก่โลก กล่าวคือฤๅษีบำเพ็ญตบะจนโลกมืดมัว ฝนไม่ตกตามฤดูกาล พระอินทร์จะทรงใช้สายฟ้าหรือใช้นางอัปสรไปยั่วยวนทำลายตบะฤๅษี ฝนก็จะตก ท้องฟ้าแจ่มใส เกิดแสงสว่างและความชุ่มชื้นดังเดิม ดังนั้น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนก้อนเมฆ จึงมีความหมายในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชา เหตุผลเพราะพิจารณาเห็นว่าความหมายของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณนั้น หมายถึงการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ท้องถิ่น เป็นความหมายที่ดี เหมาะสมกับการนำมาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร- (https://hongboonyaporn.wordpress.com/ตราสัญญาลักษณ์/) – หรือว่าพระอินทร์ฟาดแรงเกินไป?

สมัยก่อนมีผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น เชาวน์วัศ สุดลาภา (2522-2524) และเทียม มกรานนท์ (2524-2527) เมื่อมีน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ประชาชนก็รวมใจเรียกโรคฮ่องกงฟุต ที่มาจากอาการคันเท้าอันเนื่องมาจากเชื้อราจากการลุยน้ำว่าเชาวน์วัศฟุต
และ เทียมฟุตตามลำดับ

ไม่แปลกหรอกครับที่เขาจะโกรธเกรี้ยวเอากับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะที่พวกเขาไม่ได้เลือกมา

เรื่องต่อมาก็คือการที่คนอย่างคุณสิระ ซึ่งเป็น ส.ส.กทม. หลักสี่ เรียกร้องให้ผู้ว่าฯกทม.ลาออก และให้มีการเลือกตั้ง กทม.อย่างรวดเร็ว ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แม้ว่าตัวคุณสิระเองจะมาจากพรรคการเมืองที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นคนเดียวที่ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง และตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯโดย
คำสั่งคณะรัฐประหาร

ปัญหา กทม. มันซับซ้อนกว่าแค่ไม่มีผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว แต่มันลามไปถึงระบบการบริหารกรุงเทพมหานครที่ยึดโยงกับประชาชนมันพังทลายทั้งระบบ

พังทลายฉิบหายวายป่วงกว่าระบบการบริหารจัดการท้องถิ่นที่เหลือทั้งประเทศ

เพราะว่า กทม. (การบริหารกรุงเทพฯ) เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เมื่อพังทลายฉิบหายวายป่วงไปแล้วก็เลยเป็นการปกครองท้องถิ่นที่ฉิบหายวายป่วงเป็นพิเศษ

เริ่มจากตัวผู้ว่าฯเองที่ถูกปลด ขณะที่นายกเทศมนตรี นายก อบจ. และนายก อบต.ทั้งประเทศไม่ได้ถูกปลด เว้นแต่กรณีพิเศษ ส่วนที่เหลือก็ทำงานต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเลือกตั้งให้เมื่อยตุ้ม

ตัวสภา กทม.ก็ถูกปลดเมื่อครบวาระ เดิมมีหกสิบกว่าคน คณะรัฐประหารตั้งข้าราชการเก่ามานั่งแทนสามสิบคน ซึ่งไม่ได้มาจากเขตใดและจากประชาชน (ตจว.ช่วงแรกทำ แต่ยกเลิกไป เอาคนเก่ามานั่งทำงานไปเรื่อยๆ)

ตัวสภาเขตซึ่งแม้ไม่มีอำนาจมากนัก ก็ปลด ปลดแล้วยุบ ยุบแล้วด่าซ้ำว่าเป็นเครื่องมือนักการเมือง

กทม. จึงไม่มีตัวแทนผู้บริหารที่ยึดโยงกับประชาชน แต่มีผู้บริหารที่ยึดโยงกับครอบครัวผู้บริหาร และยึดโยงกับกลุ่มการเมืองที่เคยล้มรัฐบาลเลือกตั้ง

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ตัวแทนประชาชนแบบคุณสิระออกมาโวยวายได้อย่างไร อย่างน้อยเขาก็เป็นปากเป็นเสียงให้คนในเขตเขา และคนอีกจำนวนมากที่เป็นอดีตนักการเมืองที่พยายามจะดูแลคนในเขตเขามาตลอด

ในเรื่องการบริหาร อยากให้ลองพิจารณาเรื่องงบประมาณสักนิด

นี่คืองบประมาณ กทม.ตั้งแต่ยุคที่ คสช.มีอำนาจจากการรัฐประหารจนถึงปีล่าสุด จะเห็นว่างบประมาณที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม คือสิ่งแวดล้อม (ขยะ) ระบายน้ำ (รวมระบบคลอง) โยธา (รวมทางเท้า) จราจรและขนส่ง (รวมการเดินเรือ)

พูดง่ายๆ งบประมาณหลักของ กทม.คือจ้างลูกจ้าง จัดการน้ำท่วม ทางเท้า และขยะ (ข้อมูลนี้ไม่ได้โจมตี คสช. แต่เป็นข้อมูลที่หาได้) จะพบว่าการบ่นกันว่า น้ำท่วมนั้นมาจากระบบระบายน้ำไม่ดี และมีขยะอุดตันในระบบคลองและท่อระบายน้ำ ก็วนอยู่ในการบริหารหลักของ กทม.นี่แหละครับ

ไม่ใช่ กทม.และผู้ว่าฯไม่รู้ แต่มันไม่สำเร็จ

เมื่อไม่เคยสำเร็จก็ไม่แปลกใจที่คนกรุงเทพฯปากจัด และทำไมผู้ว่าฯต้องออกมาลุยน้ำ เพราะต่อให้งบประมาณมหาศาลยังไงก็ทำไม่สำเร็จ

พูดอีกแง่หนึ่งคนจะมาเป็นผู้ว่าฯกทม.นั้นเอาเข้าจริงควรจะถูกสังคมกำหนดไปเลยว่า ให้มาคุยกันเรื่องการจัดการขยะและน้ำท่วม นั่นแหละครับ แต่เรื่องกำจัดขยะอาจจะไม่ต้องพูดมาก เพราะ กทม.มีอำนาจเหนือจังหวัดอื่นอยู่มากในทางเศรษฐกิจ การส่งขยะออกไปที่อื่นก็ไม่เคยถูกด่ามาก ตราบใดที่ยกขยะออกไปจากหน้าบ้านประชาชนได้

แต่เรื่องน้ำท่วมนี่แหละครับ ยังไงก็แก้ไม่ได้ แล้วแก้ไม่ได้ทั้งที่งบมหาศาล คนก็ยังไม่เชื่อว่ามีอุโมงยักษ์

หรือแม้กระทั่งเราเคยกั้นน้ำให้เข้า กทม.ได้น้อยกว่าที่อื่นเมื่อมีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่บางส่วนก็ยังท่วมอยู่ดี

ประเด็นปัญหาใหญ่เรื่องน้ำท่วม “ใน กทม.” เองนั้นก็ยังไม่เคยถูกศึกษาอย่างจริงจัง งานที่ดีที่สุดคือการศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาการเมืองนครของน้ำท่วมปี 2554 (Danny Mark. “The Urban Political Ecology of the 2011 Bangkok Flood in Bangkok: The Creation of Uneven Vulnerabilities” Pacific Affairs. September 2015: 623-651) ก็เน้นการพูดเรื่องของความขัดแย้งระหว่างตัวกรุงเทพฯกับพื้นที่โดบรอบมากกว่า โดยเฉพาะการที่กรุงเทพฯและชนชั้นนำในกรุงเทพฯนั้นมีอำนาจเหนือกว่าพื้นที่โดยรอบในการแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.โดยผลักให้พื้นที่โดยรอบนั้นรับน้ำมากกว่า แม้ว่างานของแดนนี่จะนำเสนอมิติทางทฤษฎีที่น่าสนใจ

เรายังไม่ได้ตั้งคำถามกันเลยว่า ตกลงภาพรวมของปัญหาน้ำท่วม “ใน” กรุงเทพฯนั้นเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร กระจายตัวอย่างไร

และในเชิงการตั้งข้อสังเกต เราเคยสำรวจจริงไหมว่าปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯนั้นคนที่เดือดร้อนจริงคือใคร จริงไหมคนที่เดือดร้อนคือคนที่นั่งในรถติดแอร์กลางถนนในเมืองแล้วโพสต์เฟซบุ๊กรัวๆ ในคืนวันน้ำท่วมรถติดและกลับจากที่ทำงานในเมืองไปที่บ้านไม่ได้

คนพวกนี้ไม่ได้เปียกด้วยซ้ำ และสิ่งที่เขาพบอาจจะเป็นปัญหารถติดมากกว่าปกติ ไม่ใช่ปัญหาน้ำท่วมจริงประเภทที่เจอในปี 2554 ที่บ้านจมลงไปในน้ำ แต่เขตชั้นในไม่ท่วม

มีคนจนคนเปราะบางอีกแค่ไหนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม และจากการถูกไล่รื้อจากโครงการจัดการน้ำท่วมที่ชี้ว่าคนที่อยู่อาศัยริมน้ำนั้นเป็นคนที่ทำให้การจัดการน้ำท่วมนั้นล่าช้า (แต่การชดเชยหรือไล่รื้อนั้นก็ไม่ได้มีคนสนใจมากนัก)

มีคนที่ป้ายรถเมล์ที่ต้องยืนในน้ำท่วมรอรถเมล์กลับบ้านอีกเท่าไหร่ มีรถมอเตอร์ไซค์ที่เปียกน้ำกระเด็นจากรถใหญ่ และน้ำเข้าหัวเทียนขี่ไม่ได้อีกเท่าไหร่ คนเร่ร่อน และที่อยู่ในสภาพบ้านที่ไม่มั่นคงอีกเท่าไหร่ที่เดือดร้อนกับน้ำท่วม

เรายังไม่มีภาพรวมอะไรเหล่านี้เลย แต่เรื่องพิเศษยิ่งของน้ำท่วมกรุงเทพฯนอกจากผู้บริหารไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน โครงการของ กทม.เองก็มุ่งเน้นการแก้น้ำท่วมเป็นหลักแต่ไม่เคยสำเร็จ เรายังไม่เคยรู้ภาพรวมเรื่องทุกข์ ความเปราะบาง และความผันผวนของชีวิตจากน้ำท่วมกันมากนัก

ทั้งที่เรามีความโดดเด่นอย่างมากที่น้ำท่วมจากฝนตกหนัก หรือที่พยายามจะอ้างว่าน้ำรอการระบายนั้น มักจะท่วมในเขตย่านธุรกิจและย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่น

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือเราไม่เห็นความสอดคล้องของการวางผังเมืองกับระบบคูคลองซึ่งเป็นหัวใจของการระบายน้ำในกรุงเทพฯ แผนที่ที่ทุกคนเห็นคือแผนที่ถนน การจราจร และการใช้ที่ดิน แต่ไม่มีแผนที่ที่สัมพันธ์กับคลองและความเปราะบางต่อน้ำท่วม

คนที่อยู่ในกรุงเทพฯมีแต่ความเข้าใจว่าที่พักของเขาอยู่ติดกับสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบการคมนาคมแบบไหน แต่สิ่งที่คนกรุงเทพฯไม่เคยเข้าใจคือเขาอยู่ในระบบนิเวศวิทยาแบบไหน ที่พัก การเดินทางและการทำงานสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบระบายน้ำอย่างไร

เราเข้าใจแต่ว่าถนนมีลำดับศักดิ์อะไร แต่เราไม่เคยเข้าใจลำดับศักดิ์ของคลองและระบบระบายน้ำเลยว่าเพียงพอในพื้นที่ของเราและละแวกบ้านของเราไหม ถ้าถนนมีสองเลน สี่เลย แปดเลน ทางด่วน ระบบราง เราไม่เคยรู้ว่าในพื้นที่แบบที่อยู่นั้นจะต้องมีระบบระบายน้ำในระดับไหน

เราจึงสร้างบ้านง่ายๆ คือทำรางระบายน้ำออกจากหลังคาบ้านไปที่ถนน และใช้ระบบสูบน้ำออกจากบ้านเราไปที่ถนนโดยกั้นกระสอบทราย ไม่ต่างจากเมืองที่ตั้งประตูกั้นน้ำแล้วสูบน้ำออกจากเมือง

เราคิดกันแต่วางท่อ ทำหลุมแนะระบบพักน้ำที่สร้างจากมนุษย์ วางแก้มลิงที่ทำให้คนอีกกลุ่มเดือดร้อน คิดแต่พื้นที่สีเขียว แต่เราไม่คิดถึงพื้นที่สีฟ้าหรือบริเวณรอยต่อจากระบบคลองก่อนถึงที่พักอาศัยที่จะต้องรอน้ำเอ่อเพื่อไม่ให้น้ำท่วมมาถึงที่พักและอาคาร และเราสร้างระบบเมืองด้วยการทำให้ทุกอย่างเป็นคอนกรีตที่น้ำผ่านไม่ได้ (อาจารย์แดนนี่ใช้คำว่า concretization)

วาทกรรมที่ฝ่ายบริหารมักใช้ก็คือเรื่องของการอธิบายว่าเราอยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะฝนมันตกหนักเกินกำลังการระบายทำให้เรามองไม่เห็นกระบวนการทางสังคม เศรษฐกิจและความไร้ประสิทธิภาพทางการบริหารเบื้องหลังเรื่องน้ำท่วม และทำให้เรามองภัยพิบัติโดยไม่สนใจมิติทางเศรษฐกิจการเมืองเบื้องหลังน้ำท่วม นอกจากนั้น เรายังถูกนักบริหารเมืองหลอกเราให้เชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยแบบปลอมๆ ที่พึ่งพาระบบการระบายน้ำด้วยเครื่องจักรที่ถูกกำหนดจากการคาดการณ์ในการออกแบบแต่แรกว่ารับน้ำและระบายน้ำได้เท่าไหร่ โดยไม่สนใจการปรับผังเมือง การรักษาระบบนิเวศ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกับน้ำท่วมที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเพิ่มขนาดโครงการขนาดใหญ่ (Mark, 625-626) และเราก็ยอมจำนนกับเครื่องจักรและสมรรถนะของเครื่องจักรเหล่านั้น และยอมจำนนกับโครงการขนาดใหญ่แบบที่เชื่อว่าถ้าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ต้องเพิ่มเงินลงไปในงบแก้น้ำท่วมไปทุกๆ ปี แต่ไม่อาจสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการขนาดใหญ่เหล่านั้นเอาเข้าจริงแล้วจะแก้ปัญหาน้ำท่วมใน กทม.ได้ และอาจเข้าข่ายเป็น catastrophic money หรือโครงการใช้จ่ายในระดับหายนะ คือยิ่งมีโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบย่อย ก็ยิ่งต้องใช้งบมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำก็เกิดขึ้นตามมาทั้งเอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ต้องมาถมลงไปเรื่อยๆ คนทุกคนก็ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการเหล่านั้น

เพราะเราอาจจะยังไม่เคยรู้ว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่แค่รอการระบายด้วยโครงการขนาดใหญ่ ดูแลคูคลองย่อย หรือพูดแบบง่ายๆ ว่าต้องอยู่กับมันแบบการซื้อแนวคิดเรื่องการฟื้นสภาพ (resilience) แบบง่ายๆ ที่มองว่าการฟื้นสภาพคือทนอยู่กับความฉิบหายและภัยพิบัติให้รอดจากการแก้ปัญหาที่ตัวเรา เช่น รณรงค์ให้สร้างบ้านเรือนแบบยกสูง สิ่งที่ต้องเริ่มเข้าใจให้มากขึ้นก็คือในตัวเมืองของเราใครเปราะบางกว่ากัน และแต่ละกลุ่มชั้นทางเศรษฐกิจสังคมนั้นรับมือเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร การรับมือน้ำท่วมแบบไหนทำให้ใครเปียก ทำให้ใครแห้ง ระบบบริหารเมืองนั้นป้องกันพื้นที่ไหนมากกว่าพื้นที่ไหน เรามีกลุ่มพลเมืองที่สนใจติดตามการทำงานเรื่องการระบายน้ำใน กทม.มากแค่ไหน และมีความเข้าใจกระบวนการเชิงพื้นที่เมือง (urban spatial process) ที่ใครได้และใครเสียประโยชน์จากเรื่องการจัดการน้ำท่วมที่ผ่านมา

และทำให้ใครเป็นอัศวินฟุต!!!

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image