อนุทิน ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย อ.ปากช่อง ยันพร้อมช่วยประชาชนทุกพื้นที่

อนุทิน ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย อ.ปากช่อง ยันพร้อมช่วยประชาชนทุกพื้นที่

วันนี้ (11 ตุลาคม 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 9 และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมมอบเวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภคที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขนงพระใต้, บริษัท ทีโอที จำกัด สาขาปากช่อง และศาลาวัดท่ามะนาว ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง

นายอนุทิน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยพื้นที่ อ.ปากช่อง ได้รับทราบความเสียหายที่เกิดขึ้น และกำชับให้ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทีมแพทย์และสาธารณสุขให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเต็มที่ รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทุกด้านให้มากที่สุด

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้กำลังใจประชาชน และยืนยันว่า สธ.มีความพร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งในพื้นที่ อ.ปากช่อง และทุกภาคของประเทศในการให้บริการดูแลสุขภาพอนามัยและรักษาพยาบาล โดยเฉพาะช่วงภายหลังน้ำลด มักมีโรคที่ตามมากับน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู ต้องรักษาร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ
และต้องระวังอันตรายจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ ที่อาจเกิดขึ้นได้” นายอนุทิน กล่าว

สำหรับ อ.ปากช่อง มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล ได้แก่ ต.หมูสี ต.ขนงพระใต้ ต.หนองสาหร่าย
ต.จันทึก ต.ปากช่อง และเทศบาลเมืองปากช่อง มีสถานบริการที่ได้รับผลกระทบ คือ คลินิกหมอครอบครัวประปา ต.ประปา ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมพื้นอาคาร ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ทีมแพทย์และสาธารณสุขได้จัดหน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ โดยมีทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ จากโรงพยาบาล (รพ.) ปากช่องนานา ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ดูแลประชาชน โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง ให้ได้รับยาต่อเนื่อง พร้อมทีมสุขภาพจิต จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 นครราชสีมา รพ.จิตเวชนครราชสีมา เยียวยา ฟื้นฟูจิตใจและประเมินความเครียดเบื้องต้น แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 2 จุด ได้แก่ รพ.สต.ขนงพระใต้ และศาลาวัดท่ามะนาว ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง

Advertisement

วันเดียวกัน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.ปากช่อง ว่า กรมอนามัยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดภัยในช่วงนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนสิ่งของและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดการขยะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคที่จะตามมา เบื้องต้นได้จัดส่ง “ชุดนายสะอาด” ซึ่งภายในประกอบด้วย ถุงดำขนาดเล็ก ถุงดำขนาดใหญ่ หยดทิพย์ เจลล้างมือ สารส้มก้อน น้ำยาล้างจาน ถุงซิปล็อก และเอกสารคำแนะนำต่างๆ จำนวนกว่า 200 ชุด พร้อมสาธิตวิธีการใช้ให้กับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์อนามัยส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณจุดอพยพหรือศูนย์พักพิงให้เข้าใจวิธีการจัดการสุขาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาด ดังนี้ 1.ที่นอนหรือที่พัก ควรมีลักษณะพื้นเรียบ การระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอ และกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด 2.การทิ้งขยะ ต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุ ไม่รั่วซึม เช่น พลาสติกที่มีฝาปิด และควรแยกขยะเป็น 2 ถัง คือ ถังขยะเปียก และถังขยะแห้ง เพื่อง่ายต่อการกำจัด โดยรวบรวมขยะมูลฝอยใส่ในถุงดำและมัด ปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งในจุดที่กำหนดไว้ 3.สถานที่ปรุงประกอบอาหารหรือครัวควรระบายอากาศได้ดี แยกห่างจากที่นอนหรือที่พัก เพื่อป้องกันกลิ่น แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค มีโต๊ะหรือชั้นสำหรับเตรียม ปรุงอาหาร ไม่วางไว้กับพื้น อาหารต้องมีฝาปิดให้มิดชิด เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ เป็นต้น 4.สถานที่รับประทานอาหาร ควรอยู่ใกล้กับที่ปรุงอาหาร เพื่อความสะดวก สะอาด และถูกสุขลักษณะ และ 5.ห้องส้วม ควรแยกชาย-หญิง และให้ขับถ่ายในส้วมที่ยังใช้งานได้ ห้ามขับถ่ายลงแหล่งน้ำเด็ดขาด

“ทั้งนี้ ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ควรถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย และให้จอดรถห่างจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ แต่หากอยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างทุกบานและอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพื่อลดอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image