“วิญญัติ”เผยศาลยกคำสั่งปิดสื่อ เพจข่าวดัง ชี้เสรีภาพของสื่อเป็นไปตามรธน.และสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เปิดเผยภายหลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปิดข้อมูลสื่อของกระทรวงดิจิทัล ว่า ผลคำสั่งวันนี้ศาลได้มีการยกคำร้อง โดยคำร้องขอเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีดังกล่าวระบุไว้เพื่อระงับการแพร่หลายสื่อออนไลน์ตามที่เป็นข่าว และมีเพจของเยาวชน Free Youth ด้วย แต่เนื่องหาทั้งหมดที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว เป็นการหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีข่าวออกไปทางวสื่อมวลชนว่าศาลมีคำสั่งปิดวอยท์ทีวีไปแล้วนั้น คาดว่าน่าจะมาจากความคลาดเคลื่อนจึงมีคำสั่งจากอธิบดีศาลอาญา เรื่องนี้จะต้องมีการไต่สวน ในฐานะผู้ได้ผลกระทบจึงยื่นคำร้องขอคัดค้านเมื่อเช้า ศาลได้ให้โอกาสเข้าไปซักถามพยานทั้ง2ฝ่าย ผลสรุปแล้ว ศาลเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนการสื่อสารในช่องทางใดๆควรได้รับการการคุ้มครองตามมาตรา 36 (1) และได้ระบุว่าไม่สามารถปิดกั้นสื่อมวลชนได้และเสรีภาพของสื่อเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งนี้กระบวนการยื่นคำร้องไม่มีการระบุเป็นการฌแพาะเจาะจงว่า เนื้อหาหรือข้อความใดที่เป็นการผิดกฎหมาย เพราะศาลมองว่าที่จะปิดได้แค่ในส่วนเนื้อหา แต่จะปิดช่องทางทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นการปิดสถานี ปิดเพจ หรือปิดURLใดก็ตาม ถือว่าเป็นที่เกินกว่ากฎหมายคุ้มครองไว้ สรุปง่ายๆคือรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ระบุไว้เช่นนั้น ที่สำคัญศาลได้วินิจฉัยถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 (3) ว่า แม้จะห้ามในการนำเสนอข่าว แต่การห้ามเสนอข่าวต้องเป็นแบบเฉพาะเจาะจงเท่านั้น หมายความว่าผู้ใด นำเสนอข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็ปิดเฉพาะข้อความนั้น ไม่ใช้ปิดทั้งสื่อ

เมื่อถามถึงว่าศาลให้เสรีภาพนำเสนอของสื่อ และเสรีภาพของประชาชนนั้น นายวิญญัติ กล่าวว่า แน่นอนว่าเสรีภาพของสื่อเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และเป็นตามสิทธิมนุษยชน ในคำวินิจฉัยยังระบุไปถึงสื่อมวลชนโดยทั่วไป ไม่เฉพาะเพียงวอยซ์ทีวี, สำนักพิมพ์ประชาไท, The Reporters, The STANDARD หรือของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ศาลมุ่งหมายจะคุ้มครอง อย่างไรก็ตามแม้จะเพจหรือสื่อจะกลับมาเปิดใช้ได้ตามปกติแต่ต้องระมัดระวังเรื่องข้อความที่จะกระทบต่อความมั่นคง ก็อาจจะมีการดำเนินการโดยกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่องนี้ต้องพึงระวังไว้ด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงที่เพจสื่อชื่อดังลงข่าวผิดพลาดไปจะถือว่าเป็นการบิดเบือนคำสั่งของศาลหรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้มองเช่นนั้น อาจจะเป็นความเข้าใจในการดำเนินการ แต่คำสั่งศาลครั้งนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ที่มีการระงับคำสั่งให้ปิดกั้นนั้นไม่ถูกต้อง คำสั่งก่อนหน้านี้ที่เป็นข่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องศาลจึงยกเลิกคำสั่ง และให้ยกคำร้องด้วย หมายความว่าคำร้องที่มีในลักษณะนี้ในอนาคตอาจจะถูกยกคำร้องอีกเพราะถือว่าเป็นการปิดกั้นสื่อ โดยศาลได้รวบรวมข้อมูลจากURLที่มีการขอให้ปิดกั้น แต่ว่า URL ก็เป็นช่องทางในการสื่อสาร ดังนั้นการจะปิดกั้นทั้ง URL ไม่ได้ ตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกินสมควรแก่เหตุ การจะปิดช่องทางการสื่อสารของประชาชนเป็นเรื่องที่อยู่ในความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

เมื่อถามว่ามีการอ้างเรื่องเทคนิคว่าไปขอผู้ให้บริการแพลตฟอร์มปิดไม่ได้ก็เลยต้องขอคำสั่งให้เจ้าของช่องปิดเอง เรื่องนี้ศาลให้ความเห็นอย่างไร นายวิญญัติ กล่าวว่า คำว่าเทคนิคหรือช่องทางที่ผู้ให้บริการปิดไม่ได้นั้น ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในมาตรา 20 นั้น บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการจะปิดกั้นการเผยแพร่ หรือให้ลบจะต้องมีคำสั่งศาลหรือขอศาล แต่กระบวนการก่อนมาถึงศาลนั้นมีสิ่งหนุ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯไม่ได้ทำ ว่ายังไม่มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยคณะดังกล่าวต้องแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เมื่อถามพยานว่ามีการแต่งตั้งหรือยัง ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการแต่งตั้ง บอกว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่กฎหมายบัญญัติไว้ กระทรวง หรือรัฐมนตรีกล้าทำข้ามขั้นตอนได้อย่างไร ดังนั้นขอให้ระวังด้วยการที่จะออกมาให้ข่าว หรือข่มขู่ประชาชน สื่อมวลชนว่าจะปิดตรงนั้นตรงนี้ ไม่เป็นไรท่านใช้อำนาจรัฐ แต่การใช้อำนาจต้องเหมาะสมให้สมควรแก่เหตุ ต้องไม่ทำตามอำเภอใจ ตรงนี้ศาลให้ความคุ้มครองแล้ว สื่อมวลชนมีเสรีภาพ และสื่อมวลชนเมื่อประกอบตามวิชาชีพตามหลักจรรยาบรรณต้องได้รับความคุ้มครอง การแถลงข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็ต้องระวังไม่ให้สาธารณะชนเข้าใจผิดหรือเกิดความหวาดกลัว กฎหมายไม่ได้บังคับประชาชนอย่างเดียวแต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย

Advertisement

เมื่อถามว่า กรอ.ฉ.จะสั่งปิดกั้นสื่อภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องผ่านศาลหรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า คำสั่งที่ผ่านมาตนเห็นว่าเป็นการสั่งการภายใน เป็นการสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแต่การจะขอปิดหรือดำเนินการใดต้องสั่งผู้ให้บริการ หรือผู้ประกอบการ แต่การจะให้ผู้ให้บริการทำตามได้นั้นต้องขอผ่านทางศาล ดังนั้นวันนี้ศาลได้ให้โอกาสแก่ผู้ได้รับผลกระทบหรือสื่อมวลชน อาทิ วอยซ์ทีวีที่ยืนยันในการทำวิชาชีพสื่อมาตลอด เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดก็ตามไม่ควรข้ามขั้นตอนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวิญญัติกล่าวทิ้งท้ายว่า หากมีเจ้าหน้าที่ทำผิด ผู้ได้รับความเสียหายก็สามารถฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ได้ อย่างเช่นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องตรวจสอบว่าการประกาศนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีเหตุจำเป็น แล้วมีรายงานจากหน่วยความมั่นคง สันติบาล หรือกระบวนจะขอออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คณะรัฐมนตรีทำหรือยัง มีหลักฐานอยู่หรือไม่ เรื่องนี้ต้องตรวจสอบในอนาคต ส่วนเรื่องที่มีการไปร้องศาลแพ่งขอให้ยกเลิกหรือคุ้มครองก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ เป็นเรื่องที่ศาลต้องไต่สวน.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image