เอกชัย เอื้อครองธรรม จากผู้กำกับละครเวทีระดับโลก สู่ผู้กุมบังเหียน จีเอ็มเอ็ม บราโว่!

“ชอบภาพยนตร์ เพราะคิดว่ามันทำให้ผมอยากเป็นคนดีขึ้น ไม่รู้ทำไม เหมือนมีสิ่งดีๆ อยู่ในนั้นและรู้สึกว่าแต่ละเรื่องสามารถบอกอะไรบางอย่าง… นอกจากความบันเทิงมันยังมีสิ่งดีๆ ที่บอกคนได้”

เหตุผลและความในใจของ เอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้กำกับชาวไทยฝีมือระดับโลก ที่สร้างผลงานมาแล้วทั้งละครเวทีและภาพยนตร์

สำหรับคอหนัง อาจคุ้นเคยกับผลงานของเขา ทั้ง Beautiful Boxer ภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริงของน้องตุ้ม นักมวย LGBT, Pleasure Factory ที่ได้รับคัดเลือกไปฉายที่เมืองคานส์, The Wedding Game ภาพยนตร์สัญชาติสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ตลกนานาชาติ และ Skin Trade ภาพยนตร์ไทยที่บุกฮอลลีวู้ดเต็มรูปแบบ

“ถูกบันดาลใจโดยภาพยนตร์มาตลอดตั้งแต่จำความได้” เอกชัยเกริ่นสั้นๆ ก่อนอธิบายว่า

Advertisement

“สมัยพ่อหนุ่มๆ ท่านทำงานที่โรงหนังแคปิตอล แปลซับอังกฤษเป็นภาษาไทยและจีน ตอนเด็กๆ ผมจึงได้ดูหนังทุกอาทิตย์ 3 คนพี่น้องนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกัน คิดในใจว่าเมื่อไหร่จะโต จะได้มีเก้าอี้เป็นของตัวเองเสียที”

ขณะศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก เอกชัยได้เป็นส่วนหนึ่งของละครเวที “เป็นนักแสดงที่แย่มาก (หัวเราะ) ตอนนั้นเชิญ รัชนู บุญชูดวง และ จันทรา ชัยนาม นักแสดงชื่อดังสมัยนั้นมาเป็นแขกรับเชิญ เขาก็อุตส่าห์มาแสดง มากำกับให้”

เมื่อจบมัธยมแล้วจึงมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ เพื่อศึกษาด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ถึงอย่างนั้น ระหว่างนั้นก็พยายามออดิชั่นละคร – “ไม่ได้สักเรื่อง” เอกชัยตอบพร้อมหัวเราะ

Advertisement

หลังจากเรียนจบ เขาเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าทำงานในตำแหน่ง marketing executive (ผู้บริหารฝ่ายการตลาด) ในองค์กรที่มีการแข่งขันสูงอย่างอเมริกันเอ็กเพรส สถานที่ซึ่งเขาได้ทำละครเวทีครั้งแรก ฝีมือของเขาไปเข้าตาธนาคาร “ดีบีเอส” ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ กระทั่งได้ทำละครเวทีที่เปิดขายตั๋วให้คนซื้อเข้าชมเป็นครั้งแรก

“คำสารภาพของสาวโสด 3 คน” คนแย่งกันมาดูเต็มโรง นั่นเป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นก็ทำละครเวทีเป็นงานอดิเรก… สะสมวันลาเพื่อไปทำละคร ทำให้ปีหนึ่งมีผลงานออกมาไม่กี่เรื่อง”

ขณะที่การงานในอเมริกันเอ็กเพรส “รุ่งสุดสุด” ก็ตรงกับช่วงที่บริษัทของโปรดิวเซอร์ใหญ่ เซอร์ คาเมรอน แมคอินทอช ซึ่งมีผลงานชื่อดังอย่าง มิสไซ่ง่อน,

เล มิเซราบ และแฟนทอม ออฟดิ โอเปรา เปิดสำนักงานที่สิงคโปร์ เขาก็ลาออกเพื่อไปทำหน้าที่ผู้จัดการทั่วไป ให้ จากที่เคยมีเลขาฯ 4 คน ต้องเริ่มงานใหม่กับผู้ช่วย 1 คน

ตลอด 3 ปีกับการทำงานกับเซอร์แมคอินทอช เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ล้ำค่า ก่อนตัดสินใจกลับสิงคโปร์และสร้าง ACTION Theater ขึ้นโรงละครเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ผลงานเรื่องที่โด่งดังเป็นอมตะตลอดกาลคือ “อินกับจัน เดอะมิวสิคัล” นอกจากเป็นตั๋วทัวร์เอเชีย ยังเป็นตั๋วกลับบ้านอีกด้วย

เพราะขณะการแสดงรอบเอเชี่ยนทัวร์ เวียนมาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้พบกับ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้ชวนให้เขามาร่วมงานกับแกรมมี่ในตำแหน่ง Head of creative and development ของจีเอ็มเอ็มพิคเจอร์ ด้วยความอยากทำหนังที่มีเป็นทุนเดิม – เอกชัยบอกว่า เหมือนฟ้าประทาน

ผลงานที่เอกชัยสร้างขึ้นด้วยใจรัก กลายเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์เรื่อง Halfworlds ของช่อง HBO

“ผมไปเป็น CO-EP ทำตั้งแต่พัฒนาบทกับทีมเขียน เลือกผู้กำกับ บรีฟผู้กำกับ ผู้กำกับต้องเสนอดาราว่าจะเลือกใคร มีรายละเอียดของงานที่ทำค่อนข้างเยอะ”

“มองว่าเขาอยากได้เรา ได้งานต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นคนที่ทำพวก Emotional ได้ หวังว่าจะสร้างความสำเร็จให้เขาได้ ดูเขาจะภูมิใจกับนักแสดงและทีมงานไทยที่พาไปร่วมงานด้วย”

ปัจจุบัน เอกชัย เอื้อครองธรรม คือผู้กุมบังเหียนจีเอ็มเอ็ม บราโว! (GMM BRAVO!) คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ Executive Producer ผู้ควบคุมการสร้างซีรีส์ 9 เรื่อง 9 รส เพื่อออกอากาศในช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

สนใจภาพยนตร์ แต่เรียนบริหารธุรกิจ?

เหมือนมี พันธะบางอย่างที่ต้องทำเพราะเป็นครอบครัวธุรกิจ เรียนจบแล้วอยากเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์มากๆ สมัครทุกเอเยนซี่แต่ก็ปฏิเสธทุกที่เช่นกัน (หัวเราะ) บริษัทหนึ่งคือโอกิลวี่ซึ่งถือว่าใหญ่มากที่สิงคโปร์ แต่พอได้งานที่อเมริกันเอ็กเพรส ผมกลายเป็นลูกค้าของโอกิลวี่ เลยบอกเอ็มดีของเขาว่าผมเคยสมัครกับบริษัทคุณด้วยนะ แต่คุณปฏิเสธ เขาบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่พลาดมากการตลาดมันเป็นงานครีเอทีฟ อย่างเราทำก็มีคิดโฆษณา คิดแคมเปญต่างๆ สนุกดี

ละครเวทีเรื่องแรก

อเมริกันเอ็กเพรสที่สิงคโปร์เป็นสำนักงานระดับภูมิภาค ตอนนั้นดูแล 3 แผนก ช่วงนั้นมีการจัดประชุมระดับภูมิภาคเยอะ ซึ่งมันต้องมีงาน มีการแสดง ผมก็ได้เป็นผู้กำกับทุกงาน เป็นละครเวทีสั้นๆ บ้างก็หนังสั้น ระหว่างนั้นก็ทำละครเวทีเป็นงานอดิเรก

เมื่อคนของดีบีเอส ธนาคารใหญ่ของสิงคโปร์เห็นเข้า ก็เรียกผมไปทำละครเวทีเพราะองค์กรเขามีโรงละครได้ทำ “คำสารภาพของสาวโสด 3 คน” เป็นเรื่องแรก คนมาดูเต็มไปหมด ทุกวันนี้ยังมีการรีเมคโดยใส่มุขใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้าไป ทำกี่รอบตั๋วก็ขายเกลี้ยง

จุดเปลี่ยนสำคัญ

เมื่อทำงานที่อเมริกันเอ็กเพรสได้ 8 ปี ตอนนั้น เซอร์ แมคอินทอช มาตั้งออฟฟิศที่สิงคโปร์เพื่อเอาเล มิเซราบล์ เดอะมิวสิคัล มาแสดง เมื่อเข้ามาคุยกับผม จึงตัดสินใจรับแล้วลาออกจากอเมริกันเอ็กเพรส ตอนนั้นเป็นผู้จัดการทั่วไปดูแลด้านการตลาด ได้พา เล มิเซราบล์ ทัวร์ทั่วเอเชียรวมถึงเมืองไทยด้วย แล้วก็ไปทำงานที่บริษัทแม่ที่ซิดนีย์กับลอนดอน ซึ่งสนุกมาก

รู้สึกว่าเขาจ้างเรามาเรียน เพราะได้อยู่ในวงจรของการทำละครเวทีระดับโลก พอทำงานของตัวเองเสร็จก็วิ่งไปดูการซ้อมละคร การออดิชั่นนักแสดง เรียกว่าเห็นมิสไซ่ง่อนจากทุกมุม ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องข้าง ใต้ดินก็ไปดู

ทำได้ประมาณ 3 ปี ได้รับแรงบันดาลใจสุดสุด จึงลาออกจากทุกอย่างแล้วตั้งบริษัทซึ่งเดิมเปิดแสดงแบบสมัครเล่นให้เป็นการแสดงเต็มเวลา ชื่อบริษัท ACTION Theater ทำ “อินกับจัน เดอะมิวสิคัล” ประสบความสำเร็จจนเราช็อก คนซื้อตั๋วกัน ทำกี่ครั้งก็หมด ก็เลยทำละครเวทีเต็มตัว ตั้งหลายปี ผลิตละครเดือนละเรื่อง ไปทัวร์ต่างประเทศ เป็นมิวสิคัลภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่ได้แสดงในจีน

กลับบ้านเกิดอีกครั้ง เพื่อร่วมงานกับแกรมมี่

ปีนั้นพาอินกับจันฯ มาแสดงที่กรุงเทพฯ พี่บูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) เล่าให้ฟังว่าเขาได้ยินว่าเป็นละครดี เลยให้พี่เล็กไปดู เขาดูได้ครึ่งหนึ่งแล้วรีบออกมาโทรหาพี่บูลย์ว่า “พี่ คนนี้แหละใช่เลย จะเอามาช่วยทำจีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์” พี่เล็กบอกว่าผมเล่าเรื่องเก่ง จึงชวนมาคุย

ตอนนั้นมี 2-3 บริษัทติดต่อมา แต่เมื่อคุยกับคุณไพบูลย์แล้วรู้สึกว่าเขามีวิสัยทัศน์ กล้าคิด ผมชอบบอกว่า เขาชอบคิดครองโลก (หัวเราะ) แล้วเรารู้สึกว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่มันยากมากๆ แบบนี้

เอกชัย เอื้อครองธรรม02

จาก “จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์” ถึง “จีเอ็มเอ็ม บราโว่!”

หลังจากจีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์เปลี่ยนเป็นจีทีเอช ได้เป็นที่ปรึกษาให้คุณไพบูลย์ หลังจากนั้นแกก็เริ่มให้งานเยอะมาก อย่างปีก่อนได้เป็นที่ปรึกษาให้คุณบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ กับพี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ในด้านครีเอทีฟของช่องวันและช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ได้คลุกคลีกับช่องและเรียนรู้จากพี่ๆ กระทั่งต้นปีที่ผ่านมา คุณไพบูลย์บอกว่าต้องทำเต็มตัวแล้ว (ยิ้ม) แต่ห้ามกำกับ ให้ดูภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่คิดเรื่อง พัฒนาบท

ตอนนั้นคุณฟ้าใหม่ (ดำรงชัยธรรม) ให้คิดชื่อ ผมก็เสนอไปหลายอันจนจบที่ “บราโว่!”

ผมมาจากละครเวที หากการแสดงดีเยี่ยมประทับใจคนดู เราจะตะโกนว่า “บราโว่!” เป็นคำที่มีพลังอยู่ข้างใน สื่อถึงความเฉลิมฉลอง และสะท้อนความสดใหม่บางอย่าง คิดว่า 3 สิ่งนี้รวมกันสามารถจับแกนความเป็นจีเอ็มเอ็ม บราโว่! ได้

โปรเจ็กต์แรกกับการแปลงเพลงฮิตสู่ซีรีส์ 3 ชุด คือ Melodies of life จากเพลงในดวงใจสู่ซีรีส์ของคนรุ่นใหม่, Encore 100 Million Views จากเอ็มวี 100 ล้านวิวสู่ซีรีส์ร้อยหลากอารมณ์ และ Love Rhythms ซีรีส์ใสๆ หัวใจดนตรี ที่มี โน้ส-อุดม แต้พานิช มารับบทคุณพ่อจำเป็นในซีรีส์ที่รีเมคจากภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง “Speed scandal ลูกหลานใครหว่า? ป่วนซ่าท้านายเจี๋ยวเจี้ยม”

ยากไหมกว่าจะได้ “โน้ส อุดม” มาร่วมแสดง

ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มาก คิดอยู่นานว่าใครจะเล่นบทนี้… ต้องยกความดีความชอบให้พี่ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ ทองสังฆ์ เขาบอกให้ส่งแผ่นไปให้โน้สเลย แป๊บเดียวเขาตอบกลับมาว่าตกลง เพราะชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกัน

พี่โน้สเป็นครีเอทีฟเหมือนกัน พอคุยแล้วคลิกกันเขาจึงเทคิวให้เราทุกวัน เลยต้องมาสลับคิวให้ทุกคนว่างทุกวันเพื่อจะได้ถ่ายกับโน้ส (หัวเราะ) ตอนนี้กำลังจ้าละหวั่นหาเด็กมาเล่นบทลูก เลยใช้ภาพโน้สตอนเด็กๆ แล้วให้ฝ่ายโปรดักชั่นหาเด็กที่หน้าเหมือนโน้ส ซึ่งโน้สบอกว่า ถ้าเด็กหน้าเหมือนเขาจะอาภัพมาก (หัวเราะ) เลยคิดว่าให้เด็กหน้าเหมือนแม่ก็ได้ ตลกดี

ที่โน้สชอบเรื่องนี้อาจเป็นเหตุผลเดียวกับผมนะ เพราะเกี่ยวกับครอบครัว เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่รู้จักโต ไม่มีความรับผิดชอบ พอมีลูกกับหลานเข้ามาในชีวิตแล้วทำให้โตขึ้น เข้าใจความสำคัญของครอบครัว ซึ่งอะไรที่เกี่ยวกับครอบครัว

คาดหวังอย่างไรกับซีรีส์ 9 เรื่อง 9 รส นี้

หวังว่าอย่าดึงช่องเสียเรตติ้งแล้วกัน… ในฐานะคนทำ เราทำสุดหัวใจ พอออกอากาศแล้วต้องได้อยู่ในอ้อมอกของคนดู เขารับแล้วจะประคับประคองไปไหนก็ขึ้นอยู่กับเขา แน่นอนว่าเราคาดหวัง แต่คงกำหนดอะไรไม่ได้ เหมือนตอนทำละครเวที จะมีความรู้สึกที่บอกกับเพื่อนว่า “คนดูเอาไปแล้ว” ก็หวังว่าคนดูละครจะเอาไปเป็นของเขาด้วย

เพื่อนผมซึ่งเป็นนักเขียนที่สิงคโปร์บอกกับผมเสมอว่า เวลามันสนุกและตลก มันจะบอกอะไรบางอย่างกับคนดูโดยที่เขาไม่รู้ตัว

ตลาดโลก ตลาดสิงคโปร์ ตลาดไทย มีความแตกต่างกันไหม

จริงๆ คนให้ความเคารพงานคนไทยนะ เนื่องจากมีงานค่อนข้างเยอะ เพียงแต่ผลงานของเราอาจมีความเป็นท้องถิ่นมากๆ แต่ถ้าเราอยากทำงานที่ออกตลาดโลกได้ อาจต้องคิดอีกแบบ อย่างเอชบีโอเขาจะรู้เลยว่าตลาดไหนสำคัญ ตลาดไหนไม่สำคัญ วางหมากอย่างไรในแต่ละประเทศ จึงจะเวิร์กตั้งแต่ต้น เป็นการคิดแบบการตลาด

มองว่าเมืองไทยมีศักยภาพสูงมาก เพราะเรามีบุคลากรเก่งๆ จำนวนมาก อย่างของบราโว่! ผมตั้งใจใช้คนรุ่นใหม่ คุณไพบูลย์กับพี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง จะบอกเสมอว่า สิ่งที่เราทำทุกครั้งต้องสร้างคนใหม่ให้กับวงการด้วย ซึ่งอันนี้ปลูกฝังให้ผมมานาน

อย่างผู้กำกับทั้งหมดของโปรเจ็กต์นี้อาจยังไม่มีคนได้ยินชื่อ แต่มีผลงานทั้งเอ็มวี หนังสั้น โฆษณา ซึ่งผมเลือกด้วยความยากลำบาก อย่างละเอียด ว่าต้องเป็นคนนี้ เช่น ผู้กำกับอยากจะร้องดังๆ “ต้น” เอกภณ เศรษฐสุข ถ้าไปดูผลงานเขา ทุกเรื่องเกี่ยวกับ Loser เขาทำเรื่องแนวนี้เก่งมาก ทำอะไรที่เป็น underdog เก่ง

อยากให้บราโว่! มีความสดใหม่อย่างนักแสดงก็เป็นนักแสดงหน้าใหม่ “คนไม่มีแฟน” ได้ ติช่า-กันติชา ชุมมะ ประกบคู่ เต๋อ-รัฐนันท์ จรรยาจิรวงศ์ “ภาพลวงตา” มี มาช่า วัฒนพานิช เล่นกับ แอม เสาวลักษณ์ ที่เล่นละครครั้งแรกในบทเลสเบี้ยน

คิดว่าสิ่งที่บราโว่! ทำเป็น ป๊อป คัลเจอร์ ต้องสามารถสะท้อน (reflect) และส่องประกาย (illuminate) ให้สังคมได้ มันก็จะสนุก

มองตัวเองว่าอย่างไร

เป็นคนชอบคิดคอนเซ็ปต์ ฝรั่งจะเรียก Creator อย่างช่วงที่ทำละครเวทีเรื่องสาวโสด 3 คน ตรงกับช่วงที่ ลี กวน ยิว นายกฯสิงคโปร์ออกมาเชิญชวนให้ผู้หญิงแต่งงานคนมีลูกน้อยมาก หากมีลูกรัฐจะให้ของขวัญ ตอนนั้นผู้หญิงในสิงคโปร์ต่างแอนตี้ ว่านี่ชีวิตฉันนะ จึงจับประเด็นนี้มาเป็นละครเวที เป็นเรื่องของสาวโสด 4 คน แต่แต่งงานไปคนหนึ่ง แล้ว 3 คนที่ยังโสดก็มีเหตุผลที่จะไม่แต่งงาน ละครเรื่องนี้ทำไม่รู้กี่ครั้ง แต่ทำเมื่อไหร่ก็เต็มแน่นอน มีการปรับทุกยุคทุกสมัย มีมุขใหม่ๆ เสียบเข้าไป มุขสุดท้ายคือผู้ชายก็เหมือนทุเรียน คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าข้างในมันเป็นยังไง ดมๆ จับๆ คิดว่าพอใช้ได้ก็เอากลับบ้าน ไม่รู้หรอกว่าเปิดมาแล้ว จะเน่าหรือไม่เน่า เปรียบแบบนี้เพราะมันเลือกยากมาก กลายเป็นมุขที่พูดกันทั่วเมือง

ผมชอบจับประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม มีบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์วิเคราะห์งานผม เขาเขียนว่าคนนี้ประสบความสำเร็จ เพราะนำประเด็นสังคมมาส่องประกาย ซึ่งงานผมคล้ายๆ อย่างนั้น อย่างของบราโว่ทั้งหมด ผมเล่นประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม จับต้องได้ และน่าสนใจ เช่น ประเด็นคนโสด ที่ตอนนี้เป็นยุคของ “โสดแต่ไม่เศร้า”

ขณะทำละครเวทีที่สิงคโปร์ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างมาก

สิงคโปร์อาจมีความจำเป็นต้องทำเพราะปล่อยให้มันโตตามธรรมชาติไม่ได้ เพราะรากเหง้าด้านศิลปะไม่ได้หยั่งลึกมาก จึงต้องมีตัวช่วยจากรัฐ เขารู้ว่าการจะเป็นประเทศโลกที่ 1 ได้ ศิลปะต้องมา ประชากรเขาต้องสร้างผลงานได้ สมัยที่ผมอยู่นั้นเขามอบรางวัลให้เต็มไปหมด แต่ประเทศไทยไม่เคยให้รางวัลอะไรผมเลย (หัวเราะ)

สำหรับไทย เรามีรากเหง้าของวัฒนธรรมที่หยั่งลึกอยู่ในสายเลือด แม้ภาครัฐไม่อัดฉีดก็สามารถโตได้ตามธรรมชาติ… มองว่าศิลปะในไทยมี 2 แบบ คือ ศิลปะของการอนุรักษ์ ซึ่งรัฐช่วยตรงนี้มาก แต่รัฐต้องให้ความสนใจกับศิลปะร่วมสมัย ซึ่งอาจดูอันตรายในการสนับสนุนเพราะไม่รู้ว่าจะออกมารูปแบบไหน แต่ผมว่านั่นคือศิลปะ ไม่มีผิด ไม่มีถูก มีแต่โดนใจและสะท้อนสังคมได้ดีไหม

เนื่องจากเรามีรากเหง้าที่ดี หากมีการสนับสนุนเพิ่มขึ้น คิดว่าเราไปไกลมาก ที่สำคัญคนไทยที่มีฝีมือมีจำนวนมาก อย่างไปทำที่เอชบีโอ ผมพาโปรดักชั่นดีไซเนอร์, ผู้กำกับภาพ, สตั๊นดีไซน์ คนไทยทั้งหมดไป แล้วเขาชื่นชมออกนอกหน้า… นี่ขนาดเราไม่ค่อยมีคนช่วยเหลือมากเท่าไหร่นะ

ชีวิตเหมือนอะไร

ผมรู้สึกว่าชีวิตผมเหมือนเล่นวิดีโอเกม ตอนเด็กจะมีเกมยูเอฟโอที่เราต้องยิงให้ตายให้หมด ปัญหาเข้ามาเลย เดี๋ยวจะยิงไปจนถึงยานแม่ให้ชนะให้ได้ ชอบคิดแบบนี้ สังเกตมั้ยว่าตอนที่เราเล่นถึงขั้นสูงๆ พวกผู้ร้ายจะมาเยอะมาก

เราก็ต้องพยายามเอาชนะให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image