กรมควบคุมโรคเตือนปชช.ลอยกระทง ระวัง! เหตุจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ

กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในช่วงวันลอยกระทง

วันนี้ (29 ตุลาคม 2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันลอยกระทงปี 2563 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคมนี้ ในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณีและมีประชาชนจำนวนมากร่วมงาน โดยทุกปีมักจะมีอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ทำให้ได้รับบาดเจ็บตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หากบาดเจ็บรุนแรงอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวน 33 แห่ง พบว่า ในช่วง 5 ปี (ปี 2558-2562) มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 1,770 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบมากที่สุดในเพศชาย ร้อยละ 92.8 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 5-19 ปี ร้อยละ 35.7 ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี ส่วนใหญ่เกิดเหตุในบ้านและบริเวณบ้าน ร้อยละ 67.4 เดือนตุลาคม-มกราคม เกิดเหตุมากที่สุด ร้อยละ 55.6 เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ออกพรรษา ลอยกระทง ปีใหม่ ส่วนอวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บรุนแรงจากเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือพลุมากที่สุด คือ บริเวณมือและข้อมือ ร้อยละ 69.2 ในจำนวนนี้มีกระดูกแตกหักบริเวณมือและข้อมือ ร้อยละ 51 และบริเวณข้อมือและมือขาด ถูกตัด ร้อยละ 23 รองลงมาคือ บาดเจ็บที่ศีรษะและใบหน้า ร้อยละ 14.1 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มีการบาดเจ็บของตาและเบ้าตา ร้อยละ 77.5

“ส่วนปี 2562 มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 305 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยผู้บาดเจ็บสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 17.7 รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 15-19 ปี ร้อยละ 8.5 และ 8.2 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เกิดเหตุในบ้านและบริเวณบ้านเช่นกัน” นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับคำแนะนำเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด และดอกไม้ นพ.โอภาส กล่าวว่า 1.ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟด้วยตนเอง และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณที่จุด 2.ควรสอนให้เด็กรู้ว่าพลุ ประทัดและดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับเด็ก เช่น ถ้าสะเก็ดกระเด็นเข้าตาจะทำให้ตาบอดได้ หรืออาจทำให้นิ้วขาดกลายเป็นคนพิการ 3.ไม่เก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น เพราะอาจระเบิด โดยไม่คาดคิด และ 4.หากจำเป็นต้องจุดพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ในงานพิธีต่างๆ ควรอ่านคำแนะนำอย่างละเอียด และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน

Advertisement

“หากพบเห็นหรือเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล และพันบาดแผลให้แน่น เพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเหนือแผลเพราะจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียหายได้ และรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669” นพ.โอภาส กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในการจัดงานประเพณีวันลอยกระทงในปีนี้ กรมควบคุมโรค ขอเน้นย้ำประชาชนเที่ยวงานวันลอยกระทงให้ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 โดยผู้เข้าร่วมทุกคน ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% เมื่ออยู่ในสถานที่จัดงาน หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ส่วนผู้จัดงานควรมีเจ้าหน้าที่ในการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมงาน และให้ลงทะเบียนแอพพลิเคชั่น ไทยชนะ ทุกครั้งก่อนเข้าและออกจากสถานที่จัดงาน ควรปรับเปลี่ยนให้มีพื้นที่ที่เหมาะสม กว้างขวาง ไม่แออัด และมีจุดบริการแอลกอฮอล์อย่างทั่วถึง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image