คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ประชาธิปไตยในเมียนมา เมื่อผู้รักษากลับบ่อนทำลาย

เมียนมา
(Photo by Ye Aung Thu / AFP)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ประชาธิปไตยในเมียนมา เมื่อผู้รักษากลับบ่อนทำลาย

เมียนมากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นตามกำหนดเดิมในวันที่ 8 พฤศจิกายน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หนักหน่วงที่สุดเท่าที่เมียนมาประสบมา

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้เป็นเพียงการเลือกตั้งครั้งที่สองเท่านั้น หลังจากสิ้นสุดการปกครองของทหารลงอย่างเป็นทางการในปี 2011

การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2015 ที่ผ่านมา พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี กวาดชัยชนะได้แบบถล่มทลาย

รัฐบาลพลเรือนปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษในเมียนมา ออง ซาน ซูจี ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” และ “รัฐมนตรีต่างประเทศ” นำเอ็นแอลดีปกครองประเทศแบบเต็มตัว

Advertisement

พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของกองทัพอย่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน

แม้ว่าองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรเมียนมาจะยังคงอิทธิพลของทหารเอาไว้ ด้วยการกำหนดให้ 25 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งจากบุคลากรในกองทัพ

แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว รอวันแตกกิ่งก้านสาขาพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยที่ให้ร่มเงาแก่ปวงชนอย่างเต็มที่

Advertisement

พัฒนาการทางการเมืองในพม่าควรดุ่มเดินไปในทิศทางนั้น หากไม่ถูกลิดรอน ตัดกิ่งก้านสาขา หรือโค่นทำลายไปเสียก่อน

น่าเสียดายที่การบ่อนทำลายต้นไม้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เกิดขึ้นได้ง่ายๆ บ่อยครั้งเกิดขึ้นในนามของประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป

เหมือนเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาอยู่ในเวลานี้

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยจากการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระนั้นรัฐบาลเอ็นแอลดีก็ยังได้รับความนิยมสูงมาก โดยเฉพาะในหมู่ชาวพม่า ชาติพันธุ์หลักที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพรรคและออง ซาน ซูจี ก็ดี ความหวาดวิตกต่ออิทธิพลของกองทัพที่ยังคงมีอยู่สูงยิ่งก็ดี ล้วนเป็นผลดีต่อเอ็นแอลดีในการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ทั้งสิ้น

ข้อเท็จจริงง่ายๆ ที่ว่า ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดของเมียนมาไม่มีพรรคใดที่มีรากเหง้าแผ่ขยายออกไปทั่วประเทศ มีแรงสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปมากเท่ากับเอ็นแอลดีอีกแล้ว

พรรคยูเอสดีพีที่มีกองทัพหนุนหลังเองยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปไม่มากนัก ส่วนพรรคการเมืองที่เหลืออีกราว 90 พรรค ส่วนใหญ่เป็นได้เพียงพรรคท้องถิ่น ได้รับการสนับสนุนจำกัดอยู่แค่ภายในรัฐแต่ละรัฐเท่านั้น

การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ที่ทำให้รัฐบาลเมียนมาถูกประณามจากทั่วโลก ชนิดที่ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าเป็น “ตัวอย่างตามตำราของการล้างเผ่าพันธุ์” ไม่เพียงไม่ทำให้การสนับสนุนของชาวพม่า ชนส่วนใหญ่ของประเทศต่อออง ซาน ซูจี และเอ็นแอลดีลดน้อยลงเท่านั้น

การแก้ต่างข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยแนวทางชาตินิยมของซูจี ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อปีที่แล้วยิ่งทำให้การสนับสนุนเพิ่มสูงขึ้นด้วยซ้ำไป

ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่จึงแทบจะเป็นการการันตีกลายๆ ว่าชัยชนะตกเป็นของเอ็นแอลดีอย่างแน่นอน

16 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (ยูอีซี) มีคำสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในหัวเมือง 9 เมืองจากทั้งหมด 17 เมืองในรัฐยะไข่ โดยอ้างเอาความไม่สงบเป็นสาเหตุ

ปัญหาก็คือ ในหัวเมืองที่ไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้ ล้วนเป็นเขตเลือกตั้งที่พรรคเอ็นแอลดีมีฐานเสียงแข็งแกร่งอยู่ทั้งสิ้น ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทางการจึงถูกมองว่าเป็นความพยายามกีดกันพรรคการเมืองท้องถิ่นอย่างพรรคแห่งชาติอาระกัน ซึ่งเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับ 3 ในสภาอย่างช่วยไม่ได้

การตัดสินใจดังกล่าวทำลายความน่าเชื่อถือของซูจี และเอ็นแอลดี ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประชาคมระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นไปอีก หลังจากยังคงยืนยันไม่ยอมให้สิทธิชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิหรือการลงสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม

และเป็นการละเมิด ทำลายหลักการสำคัญของประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงและตรงไปตรงมา

จอ มิน นักการเมืองโรฮีนจา ที่ถูกลิดรอนสิทธิจากยูอีซี ยืนยันว่า กฎหมายเลือกตั้งของเมียนมาไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ 30 ปีก่อนเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น

“เราไม่ใช่คนต่างชาติ พ่อแม่เราก็ไม่ใช่คนต่างชาติ โรฮีนจาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว” เขาบอกด้วยว่านักการเมืองเอ็นแอลดี “ไม่เคยเข้าใจว่าอะไรคือประชาธิปไตย ไม่รู้ว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร สิ่งที่พวกนั้นต้องการก็คือ ดึงอำนาจออกมาจากมือทหารเท่านั้น”

แต่การละเมิดหลักการและขนบประชาธิปไตยของเอ็นแอลดี ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกรณีของโรฮีนจาเท่านั้น

เอ็นแอลดียังสนับสนุนหรือไม่ก็วางเฉยต่อการบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตยในประเทศอีกหลายต่อหลายประการ

พรรคการเมืองอย่างน้อย 9 พรรค ซึ่งล้วนแต่เป็นพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อย หรือพรรคการเมืองขนาดเล็ก แต่ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตย ต่างพากันร้องเรียนว่าถูก “เซ็นเซอร์” แนวนโยบายของพรรคที่นำเสนอผ่านสื่อของรัฐทั้งหลาย

พรรคแห่งชาติอาระกันระบุว่า ยูอีซีบังคับให้พรรคตัดเนื้อหาส่วนที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 และความเห็นว่าด้วยสาเหตุที่ไม่มีความสนใจหรือกระตือรือร้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งในรัฐยะไข่ออกไปจากเนื้อหาเพื่อรณรงค์หาเสียงของพรรค

รัฐบาลเมียนมายังปิดกั้นเว็บไซต์หลายร้อยเว็บด้วยการกล่าวหาว่าเป็นเว็บไซต์เผยแพร่ “เฟคนิวส์” ทั้งๆ ที่จำนวนมากที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงคือเว็บไซต์ของสื่อกระแสหลัก และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่พยายามเปิดโปงการคอร์รัปชั่นในแวดวงทหารออกมาเท่านั้นเอง

การเคลื่อนไหวต่อต้านปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ในหลายๆ จุดทั่วประเทศลงเอยด้วยการถูกจับกุมคุมขัง

พรรคแห่งชาติอาระกันเคยสร้างผลงานไว้ดีในการเลือกตั้งในรัฐยะไข่เมื่อปี 2015 แต่เมื่อไม่ได้รับการขานรับจากพรรคใหญ่อย่างเอ็นแอลดี ก็ไม่สามารถทำอะไรในสภาได้

เมื่อต้นปีนี้ เอ็นแอลดีอาศัยเสียงข้างมากในสภาคว่ำร่างกฎหมายที่เสนอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติในระดับภูมิภาคสามารถลงมติเลือกมนตรีของแต่ละรัฐได้ด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่ตระหนักดีว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นก้าวย่างสำคัญของการปฏิรูประบอบการปกครองของประเทศที่เรียกร้องกันมานานอีกด้วย

สิ่งที่ทำให้นักสังเกตการณ์ถึงกับอึ้งกับการดำเนินการของเอ็นแอลดีก็คือ ความพยายามที่จะขัดขวางองค์กรเพื่อการติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เชื่อถือได้ หรือเพซ (People’s Alliance for Credible Election-PACE)

ข้อกล่าวหาที่ยูซีอีนำมาใช้เพื่อยับยั้งการทำหน้าที่ของเพซก็คือ เป็นเพราะเพซรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติที่ไม่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางการ

ความพยายามดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้นมากมาย เนื่องจากภายใต้สถานการณ์โควิด-19 องค์การสังเกตการณ์การเลือกตั้งส่วนใหญ่ รวมทั้งจากคาร์เตอร์ เซนเตอร์ ในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่จากสหภาพยุโรป ถูกจำกัดการเข้าถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ไปโดยปริยาย

แม้คำสั่งห้ามดังกล่าวจะถูกยกเลิกในที่สุด แต่ก็ส่งผลชะลอการทำงานจนทำให้เพซไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศได้ทันตามกำหนดเวลาแก้ไข

วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูว่า ทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนนี้เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด ตั้งแต่ชื่อหาย ขาดตกบกพร่อง และมีแม้แต่ชื่อคนที่ตายไปแล้ว

เพซไม่ได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก หากแต่นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่องค์กรแห่งนี้ทำหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งในเมียนมา

รวมทั้งการทำหน้าที่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ที่ส่งผลเอื้อประโยชน์มหาศาลให้กับเอ็นแอลดี

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏความเคลื่อนไหวรณรงค์ “โน โหวต” ขึ้นในเมียนมา เมื่อบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย เริ่มตระหนักถึงโฉมหน้าที่แท้จริงของเอ็นแอลดีมากขึ้นตามลำดับ

และเลิกเชื่อถือคำอธิบายซ้ำซากว่า การเลือกตั้งที่ชอบธรรมเป็นไปไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหารฉบับนี้

ขบวนการโนโหวตเริ่มสั่นคลอนเอ็นแอลดีมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากไม่เพียงขยายตัวออกไปมากขึ้นเท่านั้น ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญของประเทศเข้าร่วมอีกด้วย รวมทั้งสมาพันธ์สหภาพนักศึกษาทั่วพม่า (All Burma Federation of Student Unions)

เอ็นแอลดีเองเคยใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้เรียกความสนใจจากประชาชนทั้งประเทศด้วยการประกาศบอยคอตการเลือกตั้งที่กองทัพพม่าจัดให้มีขึ้นเมื่อปี 2010 แต่เมื่อเผชิญกับการเรียกร้องทำนองเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอ็นแอลดีกลับประณามการรณรงค์โนโหวตครั้งนี้ว่าเป็นการ “ดูถูก-หยามหมิ่น” ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมา และลงมือกำราบความเคลื่อนไหวของขบวนการดังกล่าว ข่มขู่คุกคามว่าจะจับกุมดำเนินคดีต่อผู้เคลื่อนไหวและรับผิดชอบกับการรณรงค์นี้

ประหนึ่งว่า ทั่วทั้งเมียนมามีเพียงเอ็นแอลดีเท่านั้นที่เป็นผู้พิทักษ์รักษาประชาธิปไตย ใครก็ตามที่คัดค้านต่อต้านเอ็นแอลดี คือผู้ต่อต้านประชาธิปไตย

ในขณะที่ในทางปฏิบัติ เอ็นแอลดีปฏิบัติต่อนักการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม รวมทั้งชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ไม่แตกต่างแต่อย่างใดกับที่เอ็นแอลดีเองเคยถูกกลุ่มนายทหารที่อยู่ในอำนาจกระทำต่อพวกตนเอาไว้ในอดีตที่ผ่านมา

สภาพการ “ผูกขาดประชาธิปไตย”, การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก, การกีดกันชนกลุ่มน้อยไม่ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งโดยเจตนา ส่งผลให้ โทมัส แอนดรูว์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ยืนยันกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนนี้ว่า

การเลือกตั้งในพม่า ไม่มีวันได้มาตรฐานประชาธิปไตย!

สอดคล้องกับความรู้สึกของนักวิชาการและนักสังเกตการณ์อีกหลายคนที่ชี้ให้เห็นว่า เลือกตั้งพม่าครั้งนี้มีผลสรุปแน่นอนแล้วว่า ชัยชนะจะตกเป็นของเอ็นแอลดีอีกครั้ง

แต่ไม่มีทางเรียกขานว่า เป็นการเลือกตั้งที่ “เสรี เป็นธรรม” และ “เป็นประชาธิปไตย” ได้แน่นอนเช่นกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image