ฟังเลคเชอร์ ดร.พัชร์ นิยมศิลป ‘เสรีภาพการชุมนุมคืออาวุธที่ผู้มีอำนาจเกรงกลัว’

“หากการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร่วมชุมนุมก็อาจมีความผิดไปด้วย แต่ทุกวันนี้การตั้งข้อหาส่วนใหญ่เล็งไปที่ผู้จัดการชุมนุม ซึ่งใน พ.ร.บ.การชุมนุมนิยาม ผู้จัดการชุมนุม ให้ตีความได้กว้างมาก

เพราะรวมถึงผู้เชื้อเชิญให้เข้าร่วมการชุมนุม คนโพสต์ทางออนไลน์ให้คนมาร่วมก็กลายเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งที่ธรรมชาติการชุมนุมเป็นการระดมพลแบบบอกกันปากต่อปาก การจะดูว่าใครเป็นแกนนำต้องดูว่าเขามีอำนาจจัดการการชุมนุมหรือไม่ ซึ่งเวลาเราให้อำนาจการใช้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่แล้วไม่มีกลไกตรวจสอบภายหลังจะทำให้ระบบบิดเบี้ยวไปตามอัตวิสัยของผู้ใช้อำนาจ”

คือคำกล่าวตอนหนึ่งของ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน “ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์ : มาตรฐานสากล (International Standard) กับเสรีภาพในการชุมนุม” จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

เป็นวงสนทนาน่าฟังที่ประกอบด้วย เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ต่อสถานการณ์การชุมนุมที่ผุดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเหตุการณ์สลายชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งสร้างเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยยืนยันว่าเป็นไปตาม “หลักสากล”

Advertisement

นอกเหนือจากความรู้สึก “ค้านสายตา” ของความเป็นสากลที่ปรากฏใน “คอมเมนต์” บนโลกออนไลน์ ในแง่มุมวิชาการเป็นเช่นไร คือสิ่งที่น่าพิจารณา

ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของความคิดความเห็นจากมุมมอง ดร.พัชร์ จากวงสนทนาข้างต้น ที่เข้มข้นด้วยข้อมูลหนักแน่น

Advertisement

กฎหมายระดับสากลรับรอง

เฉพาะการชุมนุมสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ

กฎหมายระดับสากลรับรองเฉพาะการชุมนุมสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ เพราะสหประชาชาติรับรองเรื่องสังคมประชาธิปไตย เพราะสังคมเสรีประชาธิปไตยมีการรับรองว่าประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ และสามารถสื่อสารแสดงความประสงค์เพื่อกดดันให้รัฐตอบสนองทางการเมืองได้ นั่นคือการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งการมีส่วนร่วมต้องไม่กระทบผู้อื่น คือต้องกระทำอย่างสันติ เกณฑ์สากลจึงรับรองเฉพาะการชุมนุมโดยสันติ เพราะกลไกนี้สอดคล้องการปกครองแบบประชาธิปไตย

ในระบอบประชาธิปไตย ผู้แทนอยู่ได้ด้วยระบบการเลือกตั้งจึงต้องฟังเสียงประชาชนและตอบสนองให้ดีที่สุด เพื่อการันตีว่ารอบหน้าจะได้รับเลือกอีก ถ้าทุกคนชุมนุมโดยสงบและสันติ เสียงประชาชนส่งไปถึงผู้แทน กลไกจะทำงานได้ แต่หากมีการกระทำที่ไม่สันติหรือก่อการร้าย รัฐต้องเข้ามาควบคุมเพื่อไม่ให้มีการใช้กำลังที่ไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมายเข้ามาได้ ไม่อย่างนั้นคนที่ใช้สันติวิธีจะไม่มีอำนาจในสังคมนั้น แต่รัฐต้องอยู่ภายใต้กติกาบางอย่าง คือหลักสากล อำนาจรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพ และกฎหมายที่จำกัดอำนาจไม่ให้ใช้กำลังเกินสัดส่วน

“มีนักวิชาการต่างชาติบอกว่า

หากมีเสรีภาพในการพูด แล้วพูดได้แต่คำสุภาพ

ก็ไม่ถือว่ามีเสรีภาพ เรื่องการพูดหยาบเกี่ยวข้องกับมารยาท

คุณหยาบได้ แต่ก็สามารถให้เกียรติกันได้เช่นกัน

ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องมี…”

หยาบได้ ให้เกียรติได้

สังคมประชาธิปไตยต้องมี

สิ่งที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในวันนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือการใช้คำหยาบคาย มีนักวิชาการต่างชาติบอกว่า หากมีเสรีภาพในการพูด แล้วพูดได้แต่คำสุภาพ ก็ไม่ถือว่ามีเสรีภาพ เรื่องการพูดหยาบเกี่ยวข้องกับมารยาท คุณหยาบได้ แต่ก็สามารถให้เกียรติกันได้เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องมี เรื่องคำหยาบเป็นเรื่องมารยาทในแต่ละสังคม แต่รัฐไม่ควรจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยอาศัยเนื้อหานี้ เพราะเมื่อไหร่ที่รัฐเป็นผู้พิจารณาว่าเนื้อหาแบบไหนชุมนุมได้หรือแบบไหนชุมนุมไม่ได้ จะเหลือแค่การชุมนุมของผู้สนับสนุนรัฐ แต่มีข้อยกเว้นว่าสามารถจำกัดได้หากการชุมนุมนั้นมีการใช้คำพูดยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง เร้าให้เกิดสงคราม คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

จากซ้าย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล, พัชร์ นิยมศิลป

เสรีภาพชุมนุม เสรีภาพเดินทาง

‘ศักดิ์เท่ากัน’

ข้อถกเถียงหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมปิดถนน คือผู้ชุมนุมกำลังละเมิดผู้ที่กำลังใช้เสรีภาพในการเดินทางหรือไม่ ตามหลักการแล้วเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการเดินทางมีศักดิ์เท่ากัน เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับการบริหารของรัฐ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่อ้างเรื่องการจัดการจราจรโดยไม่ให้ชุมนุม เสรีภาพในการชุมนุมก็จะหายไป เวลามีการชุมนุมการเดินทางอาจไม่สะดวกเหมือนเวลาปกติ แต่สามารถเจรจาที่จะใช้ถนนร่วมกันได้ เช่น การปิดถนนเพื่อชุมนุมแค่บางเลนแล้วปล่อยให้รถวิ่ง เป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้คนใช้เสรีภาพที่มีอยู่ได้

WUNC 4 คุณค่าที่ต้องสร้าง

การชุมนุมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เพื่อกดดันรัฐบาล ในสังคมประชาธิปไตย คุณค่าของการชุมนุมขึ้นกับ Worthiness คือความควรค่าแก่การชุมนุม Unity คือการแสดงออกร่วมกันถึงความสามัคคี Numbers คือปริมาณคน ซึ่งตอนนี้การชุมนุมของนักศึกษาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และถี่ขึ้น สุดท้าย Commitment คือการออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องบางอย่างที่ไม่ใช่เพียงอยู่บนโลกออนไลน์จะสร้างการให้คำมั่นระหว่างผู้ชุมนุมได้มากกว่า

สี่คุณค่านี้เป็นสิ่งที่ผู้จัดการชุมนุมในประเทศเสรีประชาธิปไตยพยายามสร้างให้ได้และจะสร้างแนวร่วมให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นองค์กรผลักดันเป้าหมายที่ตัวเองเรียกร้อง นำไปสู่การถกเถียงในสภา กดดันรัฐบาล นำไปสู่การออกนโยบาย เมื่อกลับมาสร้างปัญหา พลเมืองก็ออกมาชุมนุมใหม่ วัฏจักรเป็นอย่างนี้ แต่ในประเทศที่ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยจะเป็นวงจรอุบาทว์ เมื่อกลไกผู้แทนไม่เวิร์ก การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป้าหมายของผู้ชุมนุมจะไม่ใช่การผลักดันนโยบายไปสู่ผู้แทน เพราะรัฐบาลไม่แคร์ ผู้ชุมนุมจึงชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยมุ่งไปที่ตัวรัฐบาล ในบางประเทศมุ่งไปที่เจ้าหน้าที่ เช่น จีนที่ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยแต่อนุญาตให้มีการชุมนุมได้หากพูดถึงความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แล้วรัฐบาลจะมาจัดการ ถ้าชุมนุมต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะโดนแบบที่ฮ่องกงโดน

ถ้ายังชุมนุมอย่างสงบ

รัฐต้องละเว้นการแทรกแซง

การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม ตามหลักสากลถ้าผู้ชุมนุมยังชุมนุมอย่างสงบ รัฐต้องละเว้นจากการเข้าไปแทรกแซง คือเข้าไปใช้กำลังไม่ได้ เช่น หากมีการดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม แล้วอยู่ๆ ผู้ชุมนุมนั่ง เจ้าหน้าที่ก็จะดันต่อไม่ได้ วิธีการสลายคือต้องยกออกทีละคน นั่นจึงจะเป็นการใช้กำลังอย่างได้สัดส่วนและจำเป็น ไม่ใช่การใช้รถน้ำฉีดเลย เพราะเป้าหมายการสลายการชุมนุมคือให้คนออกจากบริเวณนั้นและควบคุมบริเวณนั้นได้ ไม่ใช่มุ่งล้อมจับ การสลายการชุมนุมต้องมีเหตุผล ตรวจสอบได้โดยศาล การใช้กำลังต้องจำเป็นและได้สัดส่วน

หากมีการก่อจลาจล จึงจะใช้การฉีดน้ำหรือแก๊สน้ำตาได้ แต่การใช้กำลังของรัฐต้องทำกับคนที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และเป้าหมายคนนั้นเท่านั้น แต่การใช้น้ำผสมสารเคมีไล่ฉีดไปทั่วโดยที่ไม่เลือกปฏิบัติเลย ไม่เลือกว่าคนไหนใช้กำลัง คนไหนไม่ใช้กำลังโดนกันหมด ลูกเล็กเด็กแดง นักข่าว คนที่เป็นผู้สังเกตการณ์ อย่างนี้ไม่ได้สัดส่วน มันขัดหลักความได้สัดส่วนโดยสภาพ

หลักความไล่สัดส่วนคือต้องใช้กำลังน้อยที่สุดเท่าที่ปฏิบัติการจะสำเร็จและต้องเตือนก่อนไม่ใช่ว่าฉีดเลย ปัญหาของวันที่ 16 คือไม่เตือน แม้แต่กระทั่งตำรวจด้วยกันเองก็ไม่รู้ว่าน้ำผสมสารเคมี การเตือนต้องเตือนในระยะเวลาพอที่เขาจะสามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้

การเตือน 5 นาทีแล้วฉีดเลยสำหรับการชุมนุมคนเป็นพันคน ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้สัดส่วน กล่าวคือต้องเตือนแล้วปล่อยระยะเวลาพอสมควร ไม่ใช่เตือนแล้วฉีดเลยอย่างวันที่ 16 ตุลาคม และหากไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การจะสลายการชุมนุมนั้น ตำรวจต้องไปขอหมายจากศาลก่อน แล้วนำหมายมาติดให้คนรู้ ถ้าผู้ชุมนุมอุทธรณ์ก็ยังสลายไม่ได้

พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นกฎหมายที่อันตราย ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องเกิดความวุ่นวายมากจนกลไกปกติเอาไม่อยู่และต้องการอำนาจพิเศษ เช่นมีการก่อการร้ายหรือสงคราม กฎหมายนี้ให้อำนาจฝ่ายทหารเข้ามาร่วมด้วย และตัดอำนาจ ครม.โยงเข้าสู่ตัวนายกฯ เราจึงต้องดูเงื่อนไขว่ามีเหตุฉุกเฉินไหมและกฎหมายที่มีอยู่สามารถใช้จัดการได้หรือไม่ ซึ่งขณะที่มีการประกาศใช้กฎหมายนี้ล่าสุดเป็นสถานการณ์ที่มีจำนวนตำรวจมากกว่าผู้ชุมนุมและสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการได้

หลักการใช้กำลังตามหลัก UN คือ แรงที่ใส่ลงไปต้องได้สัดส่วนและจำเป็น โดยต้องดูจากแรงหรือปัญหาที่มีเฉพาะหน้าว่ามีปัญหาแค่ไหนแล้วใช้แรงแค่นั้น ถามว่าเป้าหมายการสลายการชุมนุมคืออะไร คือทำให้คนออกจากบริเวณนั้นและสามารถควบคุมบริเวณนั้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์แค่นั้นเอง การเข้าสลายการชุมนุมทำเพียงเท่าที่จำเป็นและปล่อยให้ผู้ชุมนุมสามารถหนีออกไปจากบริเวณนั้นได้ ไม่ใช่จับอย่างเดียว แต่บางประเทศก็ทำแบบนี้จริงๆ คือต่อให้ 100 คนก็จะจับหรือกรณีตากใบมีกี่คนก็จะจับ

protocol 1

กลไกที่ไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มีกลไกหนึ่งคือ protocol 1

สำหรับปัจเจกชนที่ถูกละเมิดสิทธิ เมื่อต่อสู้ทางกฎหมายจนถึงที่สุดในรัฐนั้นแล้วสามารถส่งเรื่องต่อไปคณะกรรมการ ICCPR ได้ เช่น ประเทศเบลารุสและรัสเซียก็รับรองกลไกนี้ ทำให้ปัจเจกชนสามารถยื่นเรื่องไปได้ แต่ไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกนี้ จึงเป็นเรื่องที่องค์กรสิทธิมนุษยชนในไทยควรผลักดันต่อ เพื่อมีการเชื่อมกันระหว่างหลักสากลและกฎหมายในประเทศ

เสรีภาพการชุมนุมเป็นบททดสอบว่าสังคมนั้นรับรองเสรี

ภาพอื่นๆ ดีแค่ไหน เพราะการมาชุมนุมคุณต้องใช้เสรีภาพหลายอย่าง เช่น เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพการเดินทาง ซึ่งเสรีภาพการชุมนุมคืออาวุธของคนจนและคนอ่อนแอ เมื่อรวมตัวกันทำให้ผู้มีอำนาจเกรงกลัว เมื่อเกรงกลัวแล้วจะเปิดช่องให้เกิดการเจรจาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่าง

เวลาชุมนุมจึงขอให้สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ


 รัฐมีหน้าที่ลดความรุนแรง

แต่กลับเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเสียเอง

ยังคงประเด็นที่ถูกพูดถึงในทุกการชุมนุมหลังวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา นับแต่การสลายม็อบของคณะราษฎร 2563 สร้างความปวดร้าว สะเทือนใจ ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้โดน “น้ำสีฟ้า”

เช่นเดียวกับสังคมไทยที่ตั้งคำถามอย่างหนักว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ ?

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่าเหตุการณ์วันนั้นไม่ควรมีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หากเป็นการชุมนุมที่สงบ ไม่มีความรุนแรง ไม่ติดอาวุธ ไม่มีการสร้างความเกลียดชัง หรือหากมีการใช้ความรุนแรงก็เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องเข้าไปหาคนที่ใช้ความรุนแรงและจัดการคนนั้น ไม่ใช้จัดการโดยรวม

“วันที่ 16 ตุลาคม รัฐบอกว่าใช้มาตรฐานสากลแล้ว แต่มันเป็นวิธีการที่ต้องใช้หลังจากมีความรุนแรงแล้ว จึงไม่จำเป็น เพราะไม่ได้เกิดความรุนแรงใด ไม่ควรมีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสีและสารระคายเคือง นี่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ผู้ชุมนุมสามารถชุมนุมอย่างสงบได้”

ส่วนประเด็นการแจ้งการชุมนุมนั้น ตามความเห็นของสหประชาชาติ โดยทั่วไปแล้วการชุมนุมต้องแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกได้ แต่หากไม่แจ้งก็ไม่ใช่เรื่องผิด สำหรับการชุมนุมในไทยที่เกิดขึ้นอยู่นี้ เพชรรัตน์ ระบุว่า ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ความรุนแรงต้องหมายถึงมีการบาดเจ็บหรือส่งผลถึงชีวิต ซึ่งครั้งเดียวที่มีความรุนแรงก็เริ่มต้นจากรัฐบาล ทั้งที่รัฐบาลมีหน้าที่ลดความรุนแรง แต่รัฐกลับเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเสียเอง ตั้งแต่การใช้เจ้าหน้าที่มากเกินจำเป็น การสร้างความรู้สึกหวาดกลัวแก่ผู้ชุมนุม เช่น การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงหรือนำรถเมล์เข้ามาทำให้พื้นที่แคบลง

ทางกลับกัน เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องปกป้องเสรีภาพการชุมนุม รัฐต้องบริหารจัดการให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรและการใช้พื้นที่ต่างๆ

“การชุมนุมเป็นการเข้าไปรบกวนชีวิตประจำวัน การลงถนนคือความพยายามบอกว่าเกิดเรื่องบางอย่างขึ้น คนใช้ถนนอาจคิดว่าถูกลิดรอนสิทธิ แต่ถ้าสิทธิการแสดงออกและการชุมนุมขาดหายไปสังคมจะอยู่ได้อย่างไร การจราจรอาจต้องจัดให้หลีกเลี่ยงไปอีกเส้นทาง รัฐต้องเจรจาให้จัดการได้

เป็นหน้าที่ของรัฐให้การปกป้องเสรีภาพในการชุมนุมและบริหารพื้นที่สาธารณะให้ใช้ร่วมกัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image