ภาพ 3มิติ แบบไร้แว่น ในโรงภาพยนตร์!

(ภาพ-MIT)

ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้ผู้ชมสามารถรับชมภาพยนตร์ 3 มิติ ในโรงภาพยนตร์ได้แบบไม่ต้องสวมแว่นตาหรืออุปกรณ์สวมศีรษะให้เกะกะรำคาญ ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และทีมวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ ของอิสราเอล เชื่อว่าพวกตนประสบความสำเร็จในเรื่องนี้แล้ว อย่างน้อยก็ในขั้นเริ่มต้น

การรับชมความบันเทิง 3 มิติ แบบไร้แว่นในเวลานี้นั้น ถูกจำกัดให้มีกันได้เฉพาะกับโทรทัศน์ที่ผลิตออกมาเป็นพิเศษเพื่อการนี้ อย่างไรก็ตาม แม้แต่โทรทัศน์ 3 มิติ ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากจำเป็นต้องทำให้มองเห็นภาพ 3 มิติ ได้ในมุมมองที่กว้างมากๆ (เพราะคนดูทีวีไม่เคยนั่งอยู่กับที่) ผลก็คือภาพที่ถูกนำมาทำเป็น 3 มิติ จะสูญเสียความคมชัดลงไม่ใช่น้อย

จอภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มีขนาดใหญ่กว่าจอโทรทัศน์หลายเท่า เทคโนโลยี 3 มิติ ไร้แว่นของทีวีจึงนำมา “ขยาย” ให้ใช้กับ

โรงภาพยนตร์ไม่ได้

Advertisement

ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการ “คอมพิวเตอร์ ไซนซ์ แอนด์ อาร์ทิฟิเชียล อินเทลลิเจนซ์ แล็บ” หรือ “ซีเซล” ของเอ็มไอที คิดค้นอุปกรณ์ชนิดใหม่สำหรับใช้กับโรงภาพยนตร์เพื่อให้ได้ภาพ 3 มิติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตาอีกต่อไปขึ้นมา เรียกว่า “ซีนีมา 3ดี” โดยอาศัยแนวคิดดั้งเดิมของการสร้างภาพ 3 มิติ ที่คิดค้นกันขึ้นมาก่อนหน้านี้เป็นพื้นฐาน

เทคโนโลยีเดิมดังกล่าวเรียกว่า “แพรัลแลกซ์ แบร์ริเออร์” ซึ่งอธิบายหลักการทำงานแบบง่ายๆ ได้ว่า เป็นการสร้างภาพเดียวกันขึ้นมา 2 ชุด สำหรับตาข้างซ้ายชุดหนึ่งและตาข้างขวาอีกชุดหนึ่ง โดยที่มี “แบร์ริเออร์” สำหรับปิดกั้นการเห็นภาพของตาข้างซ้ายหรือขวาสลับกันไปเพื่อให้ได้ความเป็น 3 มิติ นั่นเอง

ข้อจำกัดของ “แพรัลแลกซ์ แบร์ริเออร์” ก็คือระยะห่างจากจอจำเป็นต้องคงที่ ซึ่งหมายความว่าผู้ดูจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่ และจะเห็นเป็น 3 มิติ ได้คนเดียวเท่านั้นเอง

Advertisement

ทีมซีเซลนำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาใหม่ เป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า “มัลติเพิล แพรัลแลกซ์” หรือแพรัลแลกซ์ทวีคูณ โดยการสร้างแพรัลแลกซ์ แบร์ริเออร์ขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยให้มุมมอง 3 มิติ ของแต่ละชุดจำกัดเท่ากับความกว้างของเก้าอี้ที่นั่งชมในโรงภาพยนตร์แต่ละที่นั่นเอง

ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพิสูจน์หลักการทำงานของ “ซีนีมา 3ดี” นี้ในห้องประชุม สามารถฉายภาพยนตร์ 3 มิติ ระดับไฮเรโซลูชั่น หรือความละเอียดสูงให้ผู้เข้าชมได้เห็นกันต่อเนื่อง โดยใช้แผ่นกระจกและเลนส์ 50 ตัวเพื่อการนี้

แต่ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นกับจอที่มีขนาดเท่ากับขนาดของกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้นเอง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพิ่มอีกมากกว่าจะนำมาใช้งานในโรงภาพยนตร์จริงๆ ได้

วอยเซียค มาทูซิก หนึ่งในทีมวิจัยยอมรับว่า ยังจำเป็นต้องรอดูว่าเทคโนโลยีนี้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพียงพอต่อการพัฒนาต่อหรือไม่

แต่เท่าที่ทำมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโรงภาพยนตร์ 3 มิติ ไร้แว่นตานั้นได้ก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image