คอลัมน์ People In Focus: มิเชล ฟลัวร์นอย หญิงเหล็กว่าที่รมต.กลาโหมสหรัฐ

คอลัมน์ People In Focus: มิเชล ฟลัวร์นอย หญิงเหล็กว่าที่รมต.กลาโหมสหรัฐ

มิเชล ฟลัวร์นอย อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม วัย 59 ปี กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ที่เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ เนื่องจากได้รับการคาดหมายว่ามีโอกาสที่โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะเลือกให้นั่งคุม “เพนตากอน” มากที่สุด

พรรคเดโมแครต พยายามทำลายกำแพงแก้วของหนึ่งในไม่กี่กระทรวงของสหรัฐที่ยังไม่เคยมีผู้หญิงนั่งเป็นรัฐมนตรีมาก่อนในประวัติศาสตร์ โดยฟลัวร์นอย เคยเป็นชื่อแรกที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหม หากฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่ คลินตัน แพ้ ทรัมป์ ในครั้งนั้น

ฟลัวร์นอย จบปริญญาตรีด้านสังคมศึกษา จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในสหรัฐ จบปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

คุณแม่ลูก 3 ผู้มีสามีเป็นนายทหารกองทัพเรือ อดีตรองประธานบริษัทไอบีเอ็ม เคยเป็นผู้ช่วยรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านกลยุทธ ในยุคประธานาธิบดี บิล คลินตัน เคยดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบาย ในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา และเคยนั่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหมอย่าง โรเบิร์ต เกตส์ และ ลีออน พาเนตตา ระหว่างปี 2452-2555 และเคยดำรงตำแหน่งเป็นบอร์ดบริหารของบริษัทบูซอัลเลนฮามิลตัน บริษัทสัญญาจ้างของกระทรวงกลาโหมด้วย

Advertisement

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาฟลัวร์นอย ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านกลาโหมและการต่างประเทศอย่างเปิดเผย โดยมีแนวคิดสนับสนุนความร่วมมือทางการทหารระดับนานาชาติให้มากขึ้น ต่างจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าฟลัวร์นอย มีโอกาสจะได้รับการรับรองจากสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งพรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากอยู่ เพราะแนวคิดทางการเมืองสายกลางของฟลัวร์นอยหลายเรื่อง

“ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์สมัยที่ 2 หรือประธานาธิบดีไบเดน ไม่ว่าจะเป็นใคร หนึ่งในวาระอันดับต้นๆที่ต้องพยายามทำก็คือการเปลี่ยนภาพลักษณ์สหรัฐอเมริกาเสียใหม่” ฟลัวร์นอย ระบุเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ฟลัวร์นอย มองว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบฉับพลันทันทีนั้นไม่ส่งผลดีใดๆ โดยเน้นย้ำว่าไม่ควรที่จะตั้งธงว่าสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้าทำทุกอย่างเป็นสิ่งที่ผิด

Advertisement

ฟลัวร์นอย มองว่า จีนจะยังคงเป็นคู่แข่งทางการทหารที่ท้าทายของสหรัฐในเวทีโลกต่อไป และเคยยอมรับว่าจีนมีเทคโนโลยีทางการทหารที่แซงหน้าสหรัฐไปแล้วในหลายเรื่อง และสหรัฐจะต้องทวงตำแหน่งการเป็นผู้นำเทคโนโลยีทางการทหารกลับคืนมา

ในตะวันออกกลาง ฟลัวร์นอย ยังคงสนับสนุนให้สหรัฐคงกำลังทหารเอาไว้ในจำนวนจำกัดและเน้นไปที่ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นหลัก

กรณีเกาหลีเหนือ ฟลัวร์นอย ยังคงมองการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเป็นเป้าหมายสูงสุดของสหรัฐ แต่ก็ยอมรับว่า ยากที่จะเห็น คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งหมด เนื่องจากนั่นคือ “ไพ่ใบสุดท้าย” ของรัฐบาลที่จะอยู่รอด

ขณะที่กรณีอิหร่าน ฟลัวร์นอย ไม่เห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยนแบบแผนต่อต้านอิหร่านด้วยการส่งทหารเข้าไปในอ่าวเปอร์เซียมากขึ้น อย่างที่ทรัมป์ เคยทำเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2552 ที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image