‘สุพัฒนพงษ์’ โชว์ ‘ฟื้น ศก.’ ‘วิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ’

‘สุพัฒนพงษ์’โชว์‘ฟื้นศก.’ ‘วิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ’

‘สุพัฒนพงษ์’ โชว์ ‘ฟื้น ศก.’
‘วิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ’

หมายเหตุ – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ
ครั้งที่ 38 : ไทยช่วยไทย คือไทยเท่ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


อยากให้ย้อนไปนึกถึงเดือนเมษายนของปีนี้อีกครั้ง ขอให้คิดถึงเวลานั้น จดจำเวลานั้น ให้จำไว้อยู่เสมอว่าเรารู้สึกอย่างไร เราต้องจดจำเวลานั้นให้ดีเพื่อเราจะได้จำและภูมิใจว่าเรามีส่วนร่วมทำให้ประเทศผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ ที่เราเรียกว่าความหมดหวัง ความหดหู่ ความที่เราไม่รู้ว่าทางออกของประเทศไทยคืออะไร ผมเชื่อว่าคนไทยเกือบทุกคนหรือส่วนใหญ่รู้สึกแบบเดียวกัน รู้สึกว่ามันเกิดแล้วมันจะจบอย่างไร และเราจะทำอย่างไร จะอยู่อย่างไร มันมียารักษาหรือไม่ เราต้องอยู่อย่างนี้ที่บ้านต่อไปหรืออย่างไร ทุกคนตกใจ ทุกคนผวา ไม่กล้าออกจากบ้าน ทุกคนถูกบังคับให้เรียกว่า ระยะห่างคือความรัก เรากอดกันกับผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะเน้นกลุ่มเป้าหมายละเอียดอ่อน ต้องดูแลเป็นพิเศษ นั่นคือเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน เราใช้เวลา 3 เดือน ในการล็อกดาวน์หรือควบคุมการระบาด ซึ่งได้ผลดีออกมา จนกระทั่งเรามีวันนี้ เรามีวันที่พวกเรานั่งใกล้ชิดกันได้ มีวันที่เราไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เราต้องไม่ลืมเวลาเหล่านั้นที่เกิดขึ้น เราทำจนน่าภูมิใจ ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ และประเทศไทยค่อยๆ ผ่อนคลายการดำเนินธุรกิจในประเทศ เรียกว่าผ่อนคลายเกือบจะเป็นปกติ

แต่แน่นอนมีบางธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบอันเนื่องจากการที่เรายังเปิดประเทศได้ไม่หมด ธุรกิจท่องเที่ยว 40 ล้านคนเข้ามาประเทศไทย รายได้ 2 ล้านล้านบาทหายไป แต่ถ้ามานั่งคิดต่อหัวก็ 5 หมื่นบาท และธุรกิจส่งออกในยามนั้นเรารู้สึกว่าถดถอยแน่นอน เพราะสินค้าที่เราทำเป็นสินค้า community ย่อมถดถอยตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยเกิดขึ้น ไตรมาสสองประเทศไทย -12% แต่มีคนที่ติดลบมากกว่าเรา เราเคยได้ยินเมื่อต้นปีนี้เดือนมกราคม ทุกคนจำได้ บรรดานักวิเคราะห์ยังวิเคราะห์ว่าประเทศไทยน่าจะเติบโตน้อยที่สุด แย่ที่สุดในอาเซียนในปีนี้ แต่วันนี้พวกเราประคับประคอง ยามลำบากพวกเราช่วยกัน ไตรมาสสามดีขึ้น ทั้งปีคาดว่าจะติดลบประมาณ 6% ถ้าเราช่วยกันอีกทั้งปีคาดจะติดลบต่ำกว่า 6% วันนี้หลายประเทศในอาเซียนที่เรียกว่าแถวๆ หน้าก็ลงมาใกล้ๆ -6% -5% พอๆ กับเรา และมีหลายประเทศไปขนาด -8% -9% แล้ว ประเทศไทยไม่ใช่ที่โหล่ของอาเซียนอีกต่อไป

Advertisement

ภารกิจเรื่องการประคับประคองเราเดินกันมาได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือของทุกๆ คน ไม่ใช่แค่เพียงรัฐบาล เพียงแต่มาตรการของรัฐบาลที่กำหนดขึ้นมาในการประคับประคองเศรษฐกิจ ยกเว้นช่วงล็อกดาวน์ที่เราให้อย่างเดียว แต่หลังจากนั้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นต้นมา เราใช้ระบบของการร่วมใจสร้างชาติ หรือร่วมกันจ่าย เรียกว่า Co-Pay มาตรการเที่ยวด้วยกัน แรกๆ อาจไม่ชิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพราะเข้าลงทะเบียนยากนิดหน่อย แต่เด็กรุ่นใหม่ใช้กัน หลังจากนั้นในไตรมาสสี่ รัฐบาลยิงมาตรการออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง และได้เพิ่มประโยชน์ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรียงกันออกมา ความต้องการของ segment ต่างๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็คือคนที่ด้อยโอกาส คนที่มีรายได้น้อยเราให้เปล่าๆ ไปเลย คนละครึ่งคือมาร่วมกันใช้ร่วมกันจ่าย มาช่วยกันร่วมผลักดันเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของคนตัวเล็กให้อยู่ในวงช่วยคนตัวเล็กด้วยกัน ช้อปดีมีคืนเป็นเรื่องของคนตัวใหญ่ว่ากันไป

แต่คนละครึ่งได้ 3 อย่าง ได้เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้เรื่องการลดค่าใช้จ่าย และอีกสิ่งที่ได้คือทำให้การแข่งขันยุติธรรมมากขึ้น แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ร้านค้าเล็กใช้ได้ คอนวีเนียนสโตร์ ซุปเปอร์สโตร์ใช้ไม่ได้ จัดเวทีให้ถูกต้องของการแข่งขัน เกิดการหมุนเวียนในระดับรากหญ้าเกิดขึ้น ช้อปดีมีคืนเป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งคอนวีเนียนสโตร์ที่จะทำ นี่คือทำจนสภาพเศรษฐกิจเราหมุนเวียนดีขึ้น จนประเทศอื่นดูเป็นตัวอย่าง เขาไม่ได้ดูเป็นตัวอย่างเพียงแค่ประเทศไทยเราดีขึ้นในการร่วมมือกันเท่านั้น แต่ดูเป็นตัวอย่างเรื่องของการควบคุมการระบาดของโรคโควิด เขาอิจฉาประเทศไทย

ผมถึงบอกว่าบางครั้งพวกเรากันเองอาจจะรู้สึกว่าลำบาก รู้สึกว่ามันแย่กว่าปีที่แล้ว จริงทุกประเทศทั่วโลก คนทุกประเทศทั่วโลกรู้สึกแบบนี้ทุกคน แต่บรรดาประเทศต่างๆ ที่คิดถึง เขามองประเทศไทย อิจฉาประเทศไทย วันนี้คนอังกฤษยังต้องล็อกดาวน์ Rule of sick ในบ้านเมื่ออยู่กัน คุยกันต้องไม่เกิน 6 คน ที่ร้านอาหาร โต๊ะหนึ่งต้องไม่เกิน 6 คน มีระยะห่าง ทุกคนยังอยู่ในโซนของการสาละวนแก้ปัญหาโควิด ขณะเดียวกัน ของเราออกมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ เศรษฐกิจก็ดีขึ้น นี่คือปี 63

Advertisement

ในเรื่องทางการเงินไม่ใช่ว่าเราไม่ได้เยียวยา ก็พยายาม สิ่งสำคัญที่อยากให้เห็นภาพคือมาตรการการพักหนี้ มาตรการพักหนี้ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ให้พักได้ถึง 6 เดือน จนถึงเดือนตุลาคมเป็นยอดเงินสูงถึง 6.8 ล้านล้านบาท มีผู้เกี่ยวข้องถึง 12.5 ล้านราย เราให้ผ่านธนาคารออมสิน และโครงการซอฟต์โลนต่างๆ ทั้งหมดรวมๆ กันอีก 2 แสนกว่าล้านบาท ไม่น้อย แต่เป็นเรื่องที่น่าดีใจว่า ตุลาคมที่ผ่านมา หลายเกจิมีความเป็นห่วงว่าหนี้ที่พัก 6.8 ล้านล้าน จะเป็นหนี้เสียจนกระทั่งธนาคารแย่หรือประกอบกิจการต่อไปไม่ได้เหมือนปี 2540 หรือไม่ ผลลัพธ์ออกมาไม่ได้แย่อย่างที่คิด โดยรวมๆ คือคนที่ไปได้ และพอไปได้ประมาณ 69% ที่เดินออกไปได้ของเอสเอ็มอี 1 ล้านราย ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท มีเพียงประมาณ 6% ที่ยังหาตัวไม่เจอ ติดต่อไม่ได้ พยายามสอบถามหาข้อมูลกันอยู่ ผมคิดว่าอย่างน้อยโครงสร้างพื้นฐาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจของเรายังพอไปได้ มีปัญหาอยู่บ้าง แต่เป็นปัญหาที่จัดการได้

ถามว่าทำไมเราต้องประคับประคองให้ดีก็เพื่อที่ว่าเราจะกลับไปสู่จุดเดิมให้เร็วที่สุด ปีนี้ถ้าเราไม่ -8% หรือ -9% ตามที่ถูกพยากรณ์ตั้งแต่เดือนเมษายน การเจริญเติบโตของประเทศไทย (จีดีพี) เติบโต 3-4% มาโดยตลอดในอดีต ถ้าทิ้งไว้อย่างนี้ใช้เวลา 3-4 ปีถึงฟื้น และ 3-4 ปีแล้วเราค่อยกลับมาเหมือนเดิมจะมีปัญหาพะรุงพะรังตามมาอีกเยอะ การว่างงานจะตามมาอีกมากมาย ถ้าเราประคับประคองไว้ได้ ติดลบประมาณ 5-6% อย่างน้อยสัก 8 เดือน ก็พอจะกลับมาฟื้นคืนได้ นี่คือสิ่งที่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เป็นความงดงาม เป็นความร่วมไม้ร่วมมือของคนทั้งประเทศช่วยกัน ถ้าเราควบคุมการระบาดไม่ดี มันก็เสียหาย แต่เราควบคุมการระบาดดี การฟื้นฟูไม่ดีก็มีปัญหาอีก เราทำสองเรื่องจนตอนนี้กำลังจะเข้าสู่เดือนธันวาคม

ผมถือว่าเราทำกันได้ดีมาก ไม่ใช่ผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นผลงานของพวกเราทุกคนและร่วมมือกับรัฐบาล จึงอยากให้พวกเราจดจำว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาและเราทำมาได้ถึงตรงนี้ เราจดจำกันให้ได้ว่ายากลำบาก ในชีวิตตั้งแต่เกิดมา เคยมีใครเกิดเหตุการณ์กันมาจนกระทั่งผ่านเหตุการณ์นี้มาได้ เราทำอะไรบ้าง เราได้ช่วยประเทศอะไรบ้าง เราจะได้เก็บความรู้สึกนี้ไว้เป็นความภาคภูมิใจเหล่านี้ไว้กับตัวเราเอง เพราะยังมีภารกิจสำคัญอีกในปี 2564 อย่างที่ประธานสภาหอการค้ากล่าวมา ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการผลิต การบริโภคในประเทศ การลงทุนของภาครัฐ การลงทุนและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่จะต้องดำเนินต่อไประยะเวลาหนึ่ง

ถึงแม้กระนั้นประเทศไทยก็ยังอยู่ในจุดที่ยังอ่อนไหวมีหน้าที่ปรับปรุงตัวของเราเช่นกัน เราอยู่สภาพเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป สภาพที่คอยนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนเพื่อให้ได้เงิน 2 ล้านล้าน โดยมีเงินต่อหัว 5 หมื่นบาท เราอยู่ในสถานะอย่างนี้ไม่ได้ต่อไป เราเสียทรัพยากรในการดูแลนักท่องเที่ยว วันนี้คนเริ่มเข้าใจและรู้จักประเทศไทยในเรื่องของความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง เราควรใช้โอกาสนี้สร้างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ต้องช่วยกัน แทนที่จะเป็น 5 หมื่นบาทต่อหัว ก็เป็นแสนบาทต่อหัว ต่อนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน น้อยลงไปครึ่งหนึ่ง แต่เมืองไทยน่าอยู่สำหรับนักท่องเที่ยว

ถ้าอยากเห็นงดงามแค่ไหน ประเทศไทยเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปไกล เวลา 08.30 น. ไปเข้าคิวไปวัดพระแก้ว แล้วไปสัมผัสวัดพระแก้ว ยามที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากจะรู้ว่าประเทศไทยงดงามแค่ไหน น่าท่องเที่ยวแค่ไหน

นี่คือสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ อุตสาหกรรมเดิมที่เราพึ่งพิง และการส่งออกแบบเดิมๆ ต้องปรับตัว เห็นรายงานผลการศึกษาของอาจารย์ต่างๆ บอกว่าอุตสาหกรรมขนาดเล็กยังไม่ได้ปรับตัว ก็ต้องปรับตัว แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน การอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นกำลังสำคัญโดยใช้วิถีแบบเดิมๆ โดยใช้ต้นทุนถูกๆ มันก็สร้างปัญหาเช่นกัน พอมีเวียดนามก็ตกใจกับเวียดนามเพราะเราไปอยู่ในเวทีเดียวและแข่งขันกับเวียดนาม ซึ่งมือระดับประเทศไทยไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับเขา เพราะเขายังมีแรงงานราคาถูก

เราควรพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ วันนี้มีผู้แสดงความสนใจพบและพูดคุยกับนักลงทุน นักธุรกิจสหรัฐให้ความสนใจประเทศไทยเป็นพิเศษ และหลายๆ ประเทศด้วย แม้กระทั่งไต้หวัน ผมมีโอกาสได้พูดคุยทิศทางการลงทุนของนักธุรกิจขนาดใหญ่ในโลกนี้จะเปลี่ยนไป การผลิตในจีนเดิมจะผลิตเป็นอีโคโนมิก สเกล เหลือค่อยส่งออก วันนี้บริษัทมีกำลังเรื่องเทรดวอร์ของสองมหาอำนาจ ทิศทางที่เขาจะทำกันก็คือผลิตให้เพียงพอกับการจำหน่ายในประเทศจีน ส่วนฐานการส่งออกจะย้ายไปประเทศอื่น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นกลุ่มประเทศเป้าหมาย และเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และหลายๆ อย่างเราก็ต้องปรับตัว

เราต้องเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งทุกประเทศสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือคาร์บอนนิวทัล คือไม่ผลิตคาร์บอนออกมากระทบต่อโลกร้อน ซึ่งหลายประเทศสะท้อนออกมาเป็นมาตรการต่างๆ ซึ่งรถไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น สมมุติเกิดรถไฟฟ้าในประเทศไทย เราจริงจัง รถยนต์ไฟฟ้า 1 คันใช้ไฟฟ้าประมาณ 55 กิโลวัตต์ หากรถยนต์ไฟฟ้าใช้พร้อมกัน 1 ล้านคัน ก็จะเกินกำลังผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ดังนั้น เราต้องมีระบบจัดการที่ดี ซึ่งจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามกันมา แต่ขณะเดียวกันจะเกิดผลกระทบทางลบกับบางอุตสาหกรรม ก็จะเกิดกิจกรรมบางอุตสาหกรรมที่เราต้องแก้ไข เรื่อง เอทานอล เรื่องปาล์ม ก็จะได้รับผล
กระทบ แต่ถ้าเพิ่มโปรดักทิวิตี้ ให้มีการผลิตที่ต้นทุนต่ำลงก็สามารถมีที่ยืนให้กับพลังงานทดแทนเหล่านี้ได้ นำไปสู่การที่เราต้องมีน้ำ ซึ่งเรื่องน้ำก็จะเป็นเรื่องจำเป็น ไตรมาสแรกของปีหน้าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะหาข้อสรุปเรื่องนี้ทั้งหมดที่เคยประกาศไว้ในอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ว่าเราจะมี 7 อุตสาหกรรมใหม่ รูปร่างหน้าตาต้องคิดให้ครบถ้วนที่ต้องทำออกมา ถ้าเราทำกันเองได้เราจะทำ ถ้าเราทำกันเองไม่ได้เราจะมีทีมเชิญชวนดึงดูดให้นักลงทุนมาลงทุนไทยเพื่อดึงเทคโนโลยี ตลาดมาเสริม เรื่องนี้เริ่มพูดคุยกับนักธุรกิจแล้ว เขาก็สนใจ 7 อุตสาหกรรมใหม่ก็จะเกิดได้จริง ซึ่งนี่คือวิถีที่เราจะทำจริงๆ ในปี 2564 เป็นปีที่เราจะต้องเหนื่อยกันอีก เป็นปีที่เราอาจจะต้องมาจดจำว่าเราจะเปลี่ยนประเทศไทยร่วมกันอย่างไร ทั้งรัฐและเอกชน

เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจกระทบเหมือนอย่างปีนี้ที่โดนโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image