บทนำ : ต่างชาติห่วงใย

บทนำ : ต่างชาติห่วงใย ไม่ใช่ประสบการณ์ใหม่ของคนไทยที่รัฐบาล องค์กร

บทนำ : ต่างชาติห่วงใย

ไม่ใช่ประสบการณ์ใหม่ของคนไทยที่รัฐบาล องค์กรต่างประเทศ แสดงทรรศนะ ต่อสถานการณ์ในประเทศ หลัง 6 ตุลาฯ 2519 รัฐบาลส่งรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อชี้แจงความรุนแรงที่ธรรมศาสตร์ การปฏิวัติรัฐประหารแต่ละครั้ง หลังจากนั้นมีนานาชาติแสดงท่าทีและสอบถาม เช่นเดียวกับการรัฐประหารครั้งหลังสุดเมื่อปี 2557 การคืนอำนาจในปี 2562 ไม่เพียงเป็นผลจากเสียงเรียกร้องในประเทศ แต่ยังมีแรงกดดันจากนานาประเทศ ที่ต้องการให้ประเทศกลับคืนสู่การเมืองปกติ

การชุมนุมของเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนในชื่อราษฎร 2563 ก็เช่นกัน สมาชิกรัฐสภาสวีเดน ยื่นคำถามต่อ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน ว่า สวีเดน และสหภาพยุโรป จะมีส่วนในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย ได้อย่างไร ต่อมาเว็บไซต์รัฐสภาสวีเดน ได้เผยแพร่จดหมายตอบระบุว่า ผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวรัฐไทยต้องสร้างหลักประกัน และเปิดให้มีการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรีตามพันธกรณีของหลักสิทธิมนุษยชนสากล

จดหมายตอบระบุอีกว่า สวีเดนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทุกฝ่ายต้องอดทน อดกลั้น หลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม การหันหน้าเข้าหากัน และเปิดเจรจาระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถือเป็นหัวใจหลักในการแก้ปัญหา สวีเดน และสหภาพยุโรปได้เสนอแนะไปทั้งที่กรุงสตอกโฮล์ม และที่กรุงเทพฯ สถานทูตสวีเดนในกรุงเทพฯสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ และร่วมกับสหภาพยุโรปเฝ้าติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางความคิด

Advertisement

การชุมนุมของกลุ่มราษฎร ในสายตาของประเทศประชาธิปไตย เห็นว่าเป็นเสรีภาพ ซึ่งรัฐไทยต้องให้หลักประกัน และยังห่วงใยว่าจะเกิดการลุกลาม ดังนั้น รัฐบาลไทยควรรับภาระในการดูแล มิให้เกิดการใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว การให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เป็นพันธะที่ประเทศไทยมีต่อนานาชาติ ข้อเสนอแนะจากต่างประเทศ จึงไม่ควรมองเป็นการแทรกแซง โดยเฉพาะการเจรจาหาข้อยุติ ซึ่งควรจะเกิดขึ้นได้แล้ว แต่ยังไร้วี่แววจนกระทั่งบัดนี้ อาจถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาถึงเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image