‘สันติธาร’ ชี้ อาเซียนเป็นตลาดเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีศักยภาพเทียบจีน

‘สันติธาร’ ชี้ อาเซียนเป็นตลาดเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีศักยภาพเทียบจีน

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นายสันติธาร เสถียรไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เผยมุมมองเศรษฐกิจเอเชีย ว่า 2020 เมื่อโลกพลิก เอเชียผงาด ไว้ว่า หนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ถูกเร่งขึ้นด้วยวิกฤตโควิด-19 คือการที่ขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกขยับมาทางเอเชียมากขึ้น การผงาดขึ้นเศรษฐกิจเอเชียนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนไวรัสจะมาถึง

นายสันติธารกล่าวว่า หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชี่ยลไทม์เขียนไว้ในปี 2019 ว่า นอกจากประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะอยู่ในเอเชียแล้ว 21 จาก 30 เมืองใหญ่ในโลกล้วนอยู่ในภูมิภาคนี้ และในปีนี้เศรษฐกิจเอเชียโดยรวมจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจอื่นๆในโลกรวมกันหากปรับค่าครองชีพที่แตกต่างกันแล้ว (PPP terms) และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเพราะในอดีตเอเชียเคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมาแล้วก่อนจะเสื่อมถอยลงและถูกประเทศทางตะวันตกแซงหน้าหลังศตวรรษที่ 18 จึงต้องใช้คำว่าเป็นการผงาดขึ้น “อีกครั้ง”ของภูมิภาคนี้ แต่โควิดเป็นตัวเร่งให้ปรากฎการณ์นี้มาเร็วยิ่งขึ้น พิษโควิดต่อเศรษฐกิจสองซีกโลก

นายสันติธารกล่าวว่า โควิดเปิดแผลทำให้เศรษฐกิจอเมริกาและยุโรปอ่อนแอลงมาก หลายประเทศในยุโรปกำลังโดนคลื่นการระบาดระลอก2 ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญระลอก3 ทำให้ต้องมีการกลับปิดประเทศบางส่วนแม้จะไม่รุนแรงเท่าเดิม ในขณะเดียวกันหนี้สาธารณะของรัฐบาลก็สูงขึ้นมากจากนโยบาย“ต่อท่อหายใจ”ช่วยเหลือเศรษฐกิจและคงหยุดไม่ได้ในเร็วๆ นี้ คาดกันว่าปีนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจะกระโดดขึ้นไปสูงพอๆกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว แม้หนี้เหล่านี้คงไม่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินแต่อย่างน้อยมันก็จะจำกัดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและเพิ่มการพึ่งพานักลงทุนจากต่างประเทศมาถือพันธบัตรรัฐบาลของตน (ส่วนใหญ่มาจากเอเชีย) ในทางกลับกันแม้เอเชียจะโดนพิษโควิดหนักเช่นกันแต่โดยรวมน่าจะลุกขึ้นยืนได้ก่อน

Advertisement

“หากดูเศรษฐกิจที่คุมโรคระบาดได้ค่อนข้างดีหลายประเทศอยู่ในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยเอง ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม ที่สำคัญคือ จีน เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้เร็วมาก จีดีพีของจีนได้ฟื้นตัวจนกลับมามีขนาดใหญ่กว่าช่วงก่อนจะ ‘ติดไวรัส’ แล้ว และเป็นน้อยแห่งในโลกที่เศรษฐกิจจะไม่ติดลบปีนี้ แม้แต่อินเดียที่ยังอาการหนักจากวิกฤติโควิดแต่ในระยะยาวนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อในศักยภาพว่าเศรษฐกิจนี้มีพื้นฐานแกร่งและน่าจะโตได้อย่างน้อยเฉลี่ยปีละ 6% และกลายเป็นตลาดสำคัญในอนาคต

“ที่สำคัญนอกจากโควิดแล้ว ปี 2020 ยังมีอีก 3 เหตุการณ์สำคัญที่จะทำให้ขั้วเศรษฐกิจโลกขยับมาทางเอเชียมากขึ้น ยุทธศาสตร์ของจีน ข้อแรกคือ ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจของจีนล่าสุดที่เน้นประเด็นเรื่อง Dual Circulation หรือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน ที่อาจพลิกบทบาทของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลก หากมองเผินๆแผนนี้อาจเหมือนคล้าย Dual track policy ที่ประเทศไทยก็เคยพูดถึงที่เน้นอุปสงค์ในประเทศมากขึ้นไม่ใช่การส่งออกอย่างเดียวในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่Dual Circulation ของจีนอาจมีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นเพราะหมายถึงการซื้อของจากทั่วโลกมากขึ้นไม่ใช่แค่ในจีนเอง ยุทธศาสตร์นี้อาจพลิกโฉมจีนจากการเป็นโรงงานผลิตของโลก (Factory of the World) ไปเป็น ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของโลก (Consumer market of the World) คล้ายกับที่อเมริกาเป็นอยู่ในปัจจุบัน

“เมื่อกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของโลกจีนย่อมมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในหลายๆด้านเกี่ยวกับกฎกติกาการค้าการลงทุน รวมไปถึงการชำระเงินใช้เงินสกุลใด หนึ่งในปัญหาที่จีนเผชิญในปัจจุบันคือการพึ่งพาเงินดอลลาร์และระบบชำระเงินระหว่างประเทศที่มาด้วยกันแม้จะเป็นการค้าที่ไม่ได้มีอเมริกามาเป็นคู่ค้าด้วยเลย โดยสัดส่วนของการชำระเงินระหว่างประเทศโดยใช้ดอลลาร์สหรัฐสูงถึง 40% และยังขยายตัวขึ้นในขณะที่สัดส่วนของเงินหยวนนั้นยังเล็กมากแม่จีนจะมีบทบาทในการค้าโลกสูงขึ้นมาก (ข้อมูลจาก Swift) ในอนาคตจึงเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดยักษ์ของโลกจะมาพร้อมกับการให้ใช้เงินหยวนในการค้าโลกและชำระเงินระหว่างประเทศมากขึ้น ทำให้เงินหยวนเป็นที่ใช้อย่างแพร่หลายในเวทีโลกมากขึ้น นอกจากนี้โมเดลDual Circulation นี้จะเสริมเทรนด์ที่ในหมู่บริษัทข้ามชาติเรียกกันว่า China +1 หรือการที่บริษัทข้ามชาติเก็บโรงงานส่วนที่ผลิตของให้ตลาดจีนไว้และย้ายการผลิตที่ใช้ทักษะไม่สูงนักมาที่อาเซียน โดยเวียดนามน่าจะประเทศที่ได้นับประโยชน์จากตรงนี้มากที่สุด” นายสันติธารกล่าว

Advertisement

นายสันติธารกล่าวว่า RCEP ตีระฆังกังวาล ข้อสอง ข้อตกลงการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่เพิ่งเซ็นลงนามกันไปเป็นอีกหนึ่งในการ “ตีระฆัง” เสียงดังให้โลกรู้ว่าเอเชียจะมาบทบาทสำคัญมากขึ้นในระเบียบเศรษฐกิจโลกในอนาคต แน่นอน RCEP ไม่ได้จะพลิกเศรษฐกิจเอเชียในระยะเวลาอันสั้นเพราะจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อ 6 จาก 10 ประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียนให้สัตยาบัน และ 3 จาก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนให้สัตยาบัน แต่ทางภูมิเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ข้อตกลงครั้งนี้มีความหมายมากเพราะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก 15 ประเทศมีจีดีพีรวมประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งโลก และครอบคลุมประชากรมากกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก ที่เกิดขึ้นในยามที่โลกาภิวัตน์กำลังเป๋เพราะสงครามการค้าและกระแสชาตินิยมสุดโต่งในหลายประเทศ

นายสันติธารกล่าวว่า นอกจากนี้ RCEP น่าจะช่วยเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคสูงขึ้นสอดคล้องกับเทรนด์ China +1 เพราะภายใต้กติกาใหม่สินค้าใดก็ตามที่มีสัดส่วนการผลิตใน “ภูมิภาคRCEP”เกิน 40% ถือว่ามี “สัญชาติRCEP” และได้รับสิทีประโยชน์ทางภาษีต่างๆตามข้อตกลง การตั้งโรงงานผลิตในภูมิภาคนี้จึงมีสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่แห่งนี้

เศรษฐกิจดิจิทัลแห่งเอเชีย ข้อสุดท้าย เอเชียจะกลายเป็นแกนเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ของโลกเมื่อได้รับแรงกระตุ้นให้เข้าสู่โลกดิจิทัลเร็วยิ่งขึ้นในปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าจีนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของโลก จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 900ล้านคน สูงกว่าอเมริกา3เท่าแต่ยังอยากที่แต่63%ของประชากรทั้งหมดมีช่องให้โตได้อีก มีคนใช้การชำระเงินผ่านมือถือ 765 ล้านคน กว่า 10 เท่าของอเมริกา มีบัญชีคนใช้อินเตอร์เน็ต 5G แล้ว 160-175 ล้าน โตอย่างก้าวกระโดดอย่างมหัศจรรย์จากเพียง 9 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว! ทั้งยังเป็นผู้นำเทรนด์ทางด้านดิจิทัลในหลายวงการทั้ง ฟินเทค อีคอมเมิร์ซ เกม โซเชี่ยล ไลฟ์สตรีม ปัญญาประดิษฐ์ จนหลายครั้งอเมริกากลับกลายเป็นผู้ทำตาม อาเซียนดิจิทัลเนื้อหอม แต่เอเชียไม่ได้มีแต่จีน อาเซียนเองก็กลายตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีศักยภาพมหาศาลเช่นกัน” นายสันติธารกล่าว

นายสันติธารกล่าวว่า รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลของกูเกิลและเทมาเส็กล่าสุดชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคมีสูงถึง 400ล้านคนโดยปีนี้ปีเดียวเพิ่มมา 40ล้านคนส่วนหนึ่งมาจากการถูกกระตุ้นด้วยโควิด โดยกว่า90%ของผู้ใช้ใหม่นี้ต่างบอกว่าจะใช้ดิจิทัลต่อไปแม้โควิดจบแล้ว ทางรายงานยังมองด้วยว่าใน5ปีข้างหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนน่าจะโตได้เฉลี่ยปีละ24%จนมีขนาดใหญ่ถึง 3แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ เกือบ 10 ล้านล้านบาท โดยหลายเซ็คเตอร์ที่จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตเช่น อีคอมเมิร์ซ นั้นปัจจุบันสัดส่วนของยอดขายออนไลน์เทียบกับยอดค้าปลีกทั้งหมดยังอยู่ที่ประมาณ 6-7% ซึ่งน้อยมากเทียบกับ 30%กว่าในจีน ชี้ให้เห็นถึงช่องทางการเติบโตอีกมากโดยเฉพาะในจังหวัดนอกเมืองหลวงที่ยังมีการใช้อินเทอร์เเน็ตไม่เข้มข้นนัก

นายสันติธารกล่าวว่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองอาเซียนจึง “เนื้อหอม” เป็นที่สนใจของนักลงทุนสายเทคโนโลยีอย่างมากและปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์น (มีมูลค่ามากกว่า 1พันล้านเหรียญสหรัฐ) อยู่ถึง 12 แห่ง หาโอกาสใน “โลกาภิวัตน์ลายคราม” ในอนาคตเราอาจมองย้อนกลับมาปี 2020 ว่าเป็นปีสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เร่งให้ขั้วอำนาจเศรษฐกิจขยับมาทางเอเชียเร็วขึ้น การคิดยุทธศาสตร์รับมือจากมุมของนโยบายต่างประเทศแบบดั้งเดิมอย่างเดียวอาจไม่พอเพราะเปลี่ยนแปลงภูมิเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลกเกิดขึ้นในหลายมิติพร้อมๆกันอย่างซับซ้อนและเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ตลาดส่งออกสำคัญเราอาจเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวที่มาบ้านเราอาจเปลี่ยนไป บริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศเราอาจเปลี่ยนไป เช่นเดียวกันกับตลาดที่เราควรเข้าไปลงทุนก็คงเปลี่ยนด้วย สกุลเงินที่เราใช้ในการค้าบางส่วนอาจเปลี่ยนไป

นายสันติธารกล่าวว่า หนังสือที่เราต้องอ่านคนที่เราต้องฟัง ภาษาที่เราต้องพูดได้ ประเทศที่จะส่งลูกไปเรียน สถานที่ที่เราอยากไปทำงานสะสมประสบการณ์ล้วนแล้วอาจเปลี่ยนแปลง ในวันที่คนเขียนกฎกติกาแห่งโลกาภิวัตน์และระเบียบเศรษฐกิจโลกอาจไม่เหมือนเดิม โลกาภิวัตน์ในอนาคตอาจเป็น “โลกาภิวัตน์ลายคราม” ที่มีผสมผสานแนวคิดและปรัชญาแบบเอเชียมากขึ้น และไม่ใช่แค่ถูกกำหนดโดยจีน หน้าตามันจะเป็นอย่างไร? ประเทศไทยเราควรมีบทบาทอะไรและยุทธศาสตร์อย่างไร?

“เราควรมาช่วยกันคิดโดยมีคนจากหลากหลายวงการทั้ง รัฐ เอกชน วิชาการ สังคม หลายภาคเศรษฐกิจ ทั้งดั้งเดิมและNew Economy และหลายรุ่น ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ มามองหาโอกาสให้ประเทศไทยในวันที่ขั้วอำนาจเศรษฐกิจอาจกลับมาอยู่ใกล้บ้านเรามากขึ้น” นายสันติธารกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image