เพื่อนต้าร์-แอมเนสตี้ฯ ลุยสถานทูตกัมพูชา ทวงความคืบหน้าอุ้มหาย ‘วันเฉลิม’ ยัน 6 เดือนเราไม่ลืม

‘วันเฉลิม’ โผล่ ‘สถานทูตกัมพูชา’ แอมเนสตี้-เพื่อนต้าร์ ทวงความคืบหน้า ‘อุ้มหาย’ ยัน ‘6 เดือนเราไม่ลืม’

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ซอยรามคำแหง 39 ถนนประชาอุทิศ กรุงเทพฯ กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมและนักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมรำลึก #หกเดือนเราไม่ลืม (วันเฉลิม) ในวาระครบรอบ 6 เดือนการหายตัวไปของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ นักกิจกรรมทางการเมือง ภายในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย ได้ยืนประจำการณ์บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา

จากนั้น เวลา 14.00 น. กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมและนักกิจกรรม ได้สวมเสื้อฮาวายหลากสีสัน เนื่องจากเป็นเสื้อที่นายวันเฉลิมใส่เป็นประจำ ทั้งนี้ มีการแจกหน้ากากรูปใบหน้านายวันเฉลิม เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ พร้อมชูป้ายระบุข้อความ #หกเดือนเราไม่ลืม และโปสเตอร์ภาพนายวันเฉลิม ที่มีข้อความภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ว่า “พี่สาวของเฉลิมกำลังเตรียมตัวเดินทางไปประเทศกัมพูชา เพื่อให้ปากคำต่อศาลแขวงกรุงพนมเปญที่ออกหมายเรียก และผลักดันให้มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง” โดยมุ่งหน้าไปยังบริเวณสถานทูตกัมพูชา

Advertisement

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วังทองหลาง ได้เข้าเจรจาโดยแนะนำว่า ให้จัดกิจกรรมฝั่งตรงข้ามสถานทูต เนื่องจากแดดร้อน

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางครอบครัวของนายวันเฉลิมและแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้เดินทางไปสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยแล้ว 1 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานว่าทางสถานทูตกัมพูชาปฏิเสธการออกมาพูดคุย โดยรับข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ และกล่าวว่าให้ส่งมอบเอกสารดังกล่าวกับผู้กำกับการ สน.วังทองหลางแทน โดยทางตำรวจจะจัดส่งให้กับกรมพิธีการทูต ซึ่งจะพิจารณาส่งต่อให้สถานทูตต่อไป ทั้งนี้ ทางครอบครัวและแอมเนสตี้จึงตัดสินใจไม่มอบรายชื่อและข้อเรียกร้องดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจะกลับมาส่งใหม่ในวันนี้

โดยกลุ่มเพื่อนต้าร์และนักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จะขอเข้าพบนายอูก ซอร์พวน (H.E. Mr.Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อพูดคุยและสอบถามความคืบหน้ากรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พร้อมทั้งร่วมยื่น 14,157 รายชื่อ จากผู้สนับสนุนที่ส่งข้อเรียกร้องถึงทางการกัมพูชา เพื่อเรียกร้องให้มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เร่งด่วน รอบด้าน และโปร่งใส เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วังทองหลาง ได้ประสานงานว่าจะรับเอกสารไว้ และจะดำเนินการส่งต่อให้สถานทูตกัมพูชาต่อไป โดยทางแอมเนสตี้ฯ จึงตัดสินใจนำ 14,157 รายชื่อกลับไป โดยเตรียมให้ น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 1 ชุด

นางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  ประเทศไทย กล่าวว่า เราไม่สามารถยอมรับได้กับการที่ใครสักคนที่ต้องการใช้สิทธิในการแสดงออก แล้วโดนปิดปาก การเรียกร้องครั้งนี้จะเห็นได้ว่า เพียงไม่กี่เดือนมีผู้สนับสนุนจำนวนมากให้มีการดำเนินการสืบสวน จึงอยากให้ทางการกัมพูชาดำเนินสืบสวนอย่างเร่งด่วน

นางสาวปิยนุชกล่าวว่า เรามี 14,157 รายชื่อ แม้สถานทูตกัมพูชาจะไม่ส่งตัวแทนออกมา ไม่ว่าครั้งไหน ที่มาตรงนี้ แต่เราจะไม่หยุดทวงคืนความยุติธรรม เราจะทวงความยุติธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ยอมรับกับการใช้วิธีสามานย์อุ้มนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีกระแสสังคมเรื่องการอุ้มหายเกิดขึ้น ทำให้เกิดการตระหนักว่ากรณีเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้ ทุกคนไม่โอเคให้มีเรื่องแบบนี้ต่อไป จึงต้องการสืบหาความจริง ซึ่งที่ผ่านมาทางการไทยได้ตอบรับบ้าง แต่กระบวนการยังล่าช้ามาก


“กระบวนการนี้เป็นครั้งแรกที่จะได้มีการซักถามข้อเท็จจริง เป็นจุดเริ่มต้นในการสืบหาข้อเท็จจริง เป็นสัญญาณที่ดี แต่หวังว่าทางการและคณะจะได้รับการอำนวยในการสืบหาความจริง ไม่ใช่เพียงการบอกว่าได้ทำแล้วนะ เพราะยังไม่เสร็จ และจะมีคำอ้างในเรื่องข้อจำกัด เช่น เรื่องโควิด-19 แต่การตอบรับยังช้าอยู่มาก และกระบวนการที่ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างล่าช้า แม้จะได้รับความร่วมมือก็ตาม เพราะกรณีนี้ผ่านไปแล้ว 6 เดือน แต่การรวมข้อมูลยังไม่มีประสิทธิผลและทันท่วงที ยังถือว่าช้ามาก แต่เมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ ถือว่าเป็นเรื่องมากที่สุดแล้ว แต่ก็ยังน้อยอยู่

“อย่างไรก็ดี ถึงคนไม่ออกมาทวงถาม เราก็ขอให้มีการดำเนินสืบสวนอย่างรอบด้านมากที่สุด และประสานงานทางการไทยในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ที่เราต้องการคือการรายงานให้ทราบว่าสิ่งที่ได้รับเรื่องนั้นเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะประเทศกัมพูชามีพันธสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภูมิภาคอาเซียนต้องตอบเรื่องนี้ว่าเหตุใดปล่อยให้เกิดขึ้น โดยไม่ทำอะไร กระบวนการล่าช้า ต่อให้เป็นรัฐบาลไหน ถ้าล่าช้าก็ไม่โอเค ความจริงไม่ควรเกิดการอุ้มหายตั้งแต่แรก วันเฉลิมไม่ควรลี้ภัยตั้งแต่แรก เพราะขอเรียกร้องของเขาคือการท้าทายผู้มีอำนาจ เขาจึงหายตัวไป ทางการควรแข็งขันในการสืบสวน ไม่ควรดึงเกม หรือใช้ข้ออ้าง

“ทุกข้อจำกัด เวลาประสานงานจะมีตัวละครหลายตัว สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีใครรับว่าเป็นงานของใคร เราต้องการให้ภาครัฐทั้ง 2 ประเทศประสานงานร่วมกันให้เกิดการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมักอ้างโรคระบาด แต่ความจริงทำได้ในขอบเขตประเทศตัวเอง หากมีความจริงจังจริงใจในเรื่องนี้ และไม่ว่าผ่านไป 6 เดือน 1 ปี เราไม่หยุดทวงถาม ไม่หยุดรณรงค์ ให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เราจะทวงถามไม่ให้เกิดเรื่องนี้ต่อไป ขอบคุณทุกคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แม้จะผ่านไปแล้ว 6 เดือนก็ตาม” นางสาวปิยนุชกล่าว

ด้าน น.ส.ณภัทร ปัญกาญจน์ อายุ 40 ปี บรรณาธิการอิสระ เพื่อนของนายวันเฉลิม กล่าวว่า แม้จะผ่านมา 6 เดือนแล้ว แต่เพื่อนๆ ยังคงติดตามข่าว เรายังคงหวังอยู่ว่าเพื่อนของเราจะกลับมา

จากนั้น มีการแจกแซนด์วิชให้กับผู้ร่วมกิจกรรมและสื่อมวลชน โดยด้านหน้าของกล่องมีภาพนายวันเฉลิม
พร้อมข้อความ #หกเดือนเราไม่ลืม #saveวันเฉลิม

นางสาวปิยนุชกล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนรับไว้ เพื่อแสดงความเป็นมิตรภาพ เพราะวันเฉลิมเป็นเพื่อนของทุกคน สังคมยังถามเรื่องนี้ นี่คือมิตรภาพต่อการที่ทุกคนเรียกร้องว่าไม่โอเคกับการอุ้มหาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image