คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : มหันตภัยโควิดระลอก2 บทเรียนจากยุโรป

AP Photo/Antonio Calanni

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : มหันตภัยโควิดระลอก2 บทเรียนจากยุโรป

การแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ระลอกแรกในภาคพื้นยุโรป ถึงจุดสูงสุดในราวเดือนเมษายนที่ผ่านมา แล้วจึงค่อยๆ ลดระดับลง จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลลดจำนวนลง จำนวนผู้เสียชีวิต ลดน้อยลง บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและรัฐบาลที่รับผิดชอบ หายใจได้คล่องมากขึ้นกว่าเดิม

ถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขของหลายๆ ประเทศในยุโรป เริ่มยันตัวลุกขึ้นยืนได้เป็นครั้งแรก หลังตกอยู่ในสภาพใกล้ที่จะพังพาบเต็มทีเมื่อหลายเดือนก่อนหน้า

ทุกคนในยุโรป เหลียวมองไปที่สหรัฐอเมริกาอย่างเห็นอกเห็นใจ จำนวนผู้ป่วยโควิดที่นั่นและในอีกหลายภูมิภาคเริ่มทวีเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีมากจนล้นโรงพยาบาล

อากาศในยุโรปอบอุ่นขึ้น เคสผู้ติดเชื้อลดจำนวนลง เชิญชวนเหลือหลายให้ สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มควานหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อเปิดพรมแดนชาติสมาชิก ให้ไปมาหาสู่กันอีกครั้ง

เช่นเดียวกับผู้คนที่อึดอัด คับข้องใจแทบเป็นแทบตาย ในช่วงที่ต้องถูกบังคับให้อยู่แต่กับบ้าน และการล็อกดาวน์ทั้งเมือง หรือทั่วประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พากันกระวนกระวาย โหยหา หาดทราย สายลมและแสงแดดอุ่น มากขึ้นทุกที

Advertisement

นั่นคือพื้นฐานอันเป็นที่มาของสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเรียกว่า “เชกันด์ เวฟ” หรือการแพร่ระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 ในภาคพื้นยุโรป

ซึ่งไม่เพียงกดดันจนหลายๆ รัฐบาลต้องหันไปหามาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดอีกครั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัววูบลงอีกครา ความกระหาย ตื่นเต้นยินดีต่อแดดจ้าหน้าร้อนจางหายไป แทนที่ด้วยความเศร้าสลดต่อบรรดาผู้ที่สังเวยชีวิตระลอกใหม่ให้กับ โรคระบาดร้ายแรงอย่าง โควิด-19

รุ่มร้อนกระวนกระวายต่อการมาถึงของ วัคซีนป้องกันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

Advertisement

ตามข้อมูลของ นิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า ถึงขณะนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าภาวะผ่อนคลาย สนุกสนานในหน้าใบไม้ผลิและฤดูร้อนตามแบบฉบับของชาวยุโรป ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แลกมาด้วยมหันตภัยที่ร้ายแรงกว่าระลอกแรกมากนัก

ข้อมูลของศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (อีซีดีซี) แสดงให้เห็นว่าจำนวนของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19ในยุโรป ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาสูงถึงเกือบ 105,000 คน สูงกว่ายอดเสียชีวิตเมื่อครั้งที่โควิด-19 ระบาดถึงจุดสูงสุดเมื่อเดือนเมษายนมากมายนัก

ความผิดพลาดในเชิงนโยบาย เมื่อบวกกับการไร้วินัยในการใช้ชีวิตแบบ “นิว นอร์มอล” ของผู้คนที่นั่น กับความลังเลต่อการล็อกดาวน์รอบใหม่ในหลายๆ ชาติ

ได้รับการตอบแทนด้วยมหันตภัยที่ร้ายแรงกว่าเดิม ถึงตายมากขึ้นกว่าเดิมในที่สุด!

ประเทศในยุโรปตะวันตก อย่างเช่น อิตาลี และเบลเยียม ซึ่งเคยเกิดการระบาดอย่างหนักในระลอกแรก กำลังตกอยู่ในสภาวะเลวร้ายในทำนองเดียวกันอีกครั้งในระลอกที่สองนี้ โปรตุเกส ยิ่งย่ำแย่ไปกว่าเมื่อครั้งที่แล้ว

บางประเทศ อย่างเช่น เยอรมนี ยังสามารถประคองตัวได้แบบเดียวกับเมื่อระลอกที่ผ่านมา แต่บางประเทศอย่างเช่น อังกฤษ กลับสรุปบทเรียนจากระลอกแรกได้ดี และอยู่ในสภาพดีกว่าในการระบาดรอบนี้ ส่วน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และฟินแลนด์ อยู่ในสภาพดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ที่ย่ำแย่ก็คือ ประเทศในกลุ่มยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ค่อนข้างปลอดภัยในการระบาดระลอกแรก ตอนนี้อัตราการเสียชีวิตและการติดเชื้อพุ่งสูงอย่างน่าตกใจ

ภาพผู้ป่วยเรียงรายกันนอนแบบอยู่บนรถเข็นรอคิวเข้ารับการรักษาที่ยาวเหยียดออกมาจนถึงภายนอกโรงพยาบาล กลายเป็นภาพเจนตาในประเทศอย่างบัลแกเรีย และอีกหลายชาติในยุโรปตะวันออก

ยุโรปตกอยู่ในสภาพเช่นนี้อีกครั้งได้อย่างไร?

คำตอบบางส่วนต้องย้อนกลับไปที่ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ออกมาประกาศความกังวลเมื่อ 14 เมษายนที่ผ่านมา เตือนทั่วยุโรปว่า อาจต้องใช้เวลา “ซัมเมอร์ ฮอลิเดย์” อยู่กับบ้านและการล็อกดาวน์ ก่อนที่จะพลิกกลับแบบ 180 องศา ในอีกเพียงสัปดาห์เดียว อ้างว่า มี “ทางแก้อัจฉริยะ” ที่อาจทำให้ทุกคนสามารถใช้เวลาวันหยุดหน้าร้อนนอกบ้านได้

คณะกรรมาธิการยุโรป องค์กรบริหารสูงสุดของอียู 27 ชาติ ประกาศ “โรดแมป ทู รีโอเพนนิง” ตามมาในอีกไม่นาน เสนอให้แต่ละชาติผ่อนปรนมาตรการเข้มงวด “อย่างช้าๆ” พร้อมๆ ไปกับการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ค่อยๆ เปิดการเรียนการสอน เปิดห้างค้าปลีกทั้งหลาย ควบคู่ไปกับมาตรการตรวจหาเชื้อและแกะรอยคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

เมื่อบวกกับการรักษาระยะห่าง และการสวมหน้ากากป้องกันตลอดเวลา คณะกรรมาธิการหวังว่า จะสามารถรับมือกับการระบาดใหม่ได้ในที่สุด

การณ์กลับกลายเป็นว่า บรรดารัฐบาลของประเทศในยุโรป ผ่อนมาตรการเร็วกว่าและมากกว่าที่ทางผู้บริหารอียูคาดคิดเอาไว้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาประเทศตอนใต้ของยุโรป ที่ตัดสินใจเสี่ยงรับ “นักท่องเที่ยว” อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม แม้จะจำกัดอยู่เฉพาะในชาติอียูด้วยกันเองก็ตามที

สเปน หนึ่งในชาติยุโรปที่ถูกโควิด-19 ถล่มหนักที่สุดในการระบาดระลอกแรก เปิดรับนักท่องเที่ยวจากชาติอียูด้วยกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พอถึงเดือนสิงหาคม สถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกสเปนก็เพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคน ในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว

ส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวเหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ ไม่จำเป็นต้องผ่านมาตรการกักตัวเพื่อดูอาการของโรค ใดๆ ทั้งสิ้น

นักท่องเที่ยวเหล่านั้นเลี่ยงกฎเกณฑ์รักษาระยะห่างและการสวมหน้ากากป้องกันด้วยการจัด “ไพรเวท ปาร์ตี” ขึ้นในที่พักของตนเอง แทนที่จะเป็นตามภัตตาคารหรือโรงแรมต่างๆ

สุดท้าย นักวิจัยด้านระบาดวิทยาก็สรุปได้ว่า การ “รีโอเพน” โดยที่มีมาตรการป้องกันเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย และการเดินทางข้ามพรมแดนประเทศ ก็คือที่มาของการระบาดระลอก 2 ของยุโรปในเวลานี้!

เบลเยียม ไม่เคยตรวจหาเชื้อในบรรดาผู้คนของตนเองที่กลับจากพักผ่อนวันหยุด ไม่เคยกำหนดมาตรการกักตัว ผลก็คือ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา

เอ็มมานุเอล อ็องเดร หัวหน้าทีมเฉพาะกิจรับมือโควิด-19 ของเบลเยียม บอกเอาไว้ตั้งแต่ในตอนปลายการระบาดระลอกแรกว่า บรรดาชาวเบลเยียมเรือนล้านที่เดินทางไปพักผ่อนวันหยุดในสถานที่อย่างสเปน กลายเป็นเครื่อง “เพาะเชื้อแอบแฝง” ชั้นดี สำหรับชาวเบลเยียมที่เหลือทั้งหมด

งานวิจัยเชิงพันธุกรรมต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 สนับสนุนข้อสรุปดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แพทย์หญิง เอ็มมา ฮอดครอฟท์ นักระบาดวิทยาระดับโมเลกุล ประจำมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นำทีมวิจัยเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ แล้วพบว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นสายพันธุ์ย่อยเดียวกันกับที่เคยระบาดอย่างหนักในสเปนที่ผ่านมา

สายพันธุ์จากสเปนดังกล่าว ระบาดอย่างหนักในยุโรปในระลอกใหม่นี้ คิดสัดส่วนสูงถึงระหว่าง 60-80 เปอร์เซ็นต์ ของเชื้อที่ระบาดอยู่ทั้งหมดในประเทศอังกฤษ, 40 เปอร์เซ็นต์ ในสวิส และมีสัดส่วนสูงมากในการระบาดในประเทศอื่นๆ รวมทั้งเบลเยียม

ไม่ต้องสงสัยว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปพักผ่อนในสเปน ไปติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้ แล้วนำติดตัวกลับประเทศมาด้วยหลายร้อยหลายพันคน แล้วเริ่มก่อให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในแต่ละประเทศ

ศาสตราจาย์ เทวี ศรีธาร จากสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยเอดินบะระ สรุปบทเรียนสำคัญประการหนึ่งเอาไว้ จากกรณีที่เกิดขึ้นในยามนี้ว่า ข้อถกเถียงที่ว่า ควรให้การป้องกันคนก่อนหรือเศรษฐกิจก่อนดี? ไม่เป็นที่กังขาอีกต่อไป

ข้อเท็จจริงจากยุโรปก็คือ การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจของยุโรป แสดงให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยระหว่างหน้าร้อนที่ผ่านมา ถูกลบเลือนหายไปแล้วจากมาตรการรับมือกับการระบาดใหม่ในระลอกที่สอง กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศในยุโรป ดิ่งลงเหวอีกครั้ง โดยรวมแล้วคาดกันว่าจีดีพีของ อียู จะลดลงฮวบฮาบถึงติดลบ 7 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงยอมรับความผิดพลาดเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เธอยอมรับว่า ยุทธศาสตร์เพื่อหลุดพ้นจากโควิด-19 ทำให้เกิดการผ่อนคลายเร็วเกินไป และมากจนเกินไปจนเป็นผลลบในที่สุด

นายแพทย์ พาเวล เพลฟกา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัย แมซาริก ในสาธารณรัฐเช็ก ชี้ให้เห็นว่า การเมือง มีส่วนทำให้สัญญาณเตือนภัยต่อการระบาดระลอกสอง ที่มีให้เห็นชัดเจนในหลายประเทศรวมทั้งที่สาธารณรัฐเช็ก กลายเป็นเรื่องไร้ความหมาย

เพลฟกาชี้ว่า ครึ่งหลังของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระบบติดตามร่องรอยคนกลุ่มเสี่ยงของประเทศ เริ่มมีงานล้นมือ ทำไม่ทัน พอถึงเดือนตุลาคม การสุ่มตรวจหาเชื้อพบว่า ทุกๆ 3 คน จะมีผลเป็นบวกคือติดเชื้อ 1 คน ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ชัดเจนอย่างยิ่ง

แต่ชีวิตในสาธารณรัฐเช็ก ยังคงดำเนินไปเหมือนปกติธรรมดา ไม่มีอะไรเกิดขึ้น รัฐบาลเป็นกังวลกับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งวันที่ 3 ตุลาคมมากจนเกินไป และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามเดิมในรูปแบบเดิมๆ จนกระทั่งเมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จเท่านั้น จึงหันมาพิจารณาประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง

ผลก็คือ สาธารณรัฐเช็ก ที่เคยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพียง ไม่ถึง 500 คน ในการระบาดระลอกแรก กลับมีผู้เสียชีวิตมากถึงกว่า 8,000 คน ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

กลายเป็นชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเลวร้ายที่สุดในโลกชาติหนึ่ง เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเพียง 11 ล้านคน

สถานการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนภัย แต่นักการเมืองกลับใช้วาทกรรมทำให้เข้าใจไขว้เขวไปในอีกทางหนึ่ง

มัทเทอุซ โมราเวียซกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ออกมากระตุ้นให้ทุกคนออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ด้วยการประกาศว่า

“ผมดีใจที่เรากลัวการระบาดนี้น้อยลงและน้อยลงทุกที พวกคุณไม่ต้องกลัวมันอีกต่อไป ทุกๆ คน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ไม่ต้องกลัว ออกมาลงคะแนนเถอะ”

ทุกวันนี้ ระบบสาธารณสุขของโปแลนด์ งานล้นมือจนแทบถึงจุดล่มสลายแล้ว

ในการระบาดระลอกแรก ผู้ป่วยในประเทศแถบยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยมาก ที่สัดส่วน 1 คนในทุกๆ 100,000 คนเท่านั้น

แต่สถิติเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่บัลแกเรีย คือ 1 คนในทุกๆ 1,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ในขณะที่เห็นได้ชัดว่า ประเทศที่ตัดสินใจล็อกดาวน์เร็วกว่าและเด็ดขาดกว่า อย่าง เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ หรือแม้แต่ไอร์แลนด์ ตกอยู่ในสภาพดีกว่าอย่างมาก

การล็อกดาวน์ล่าช้า การเผยแพร่วาทกรรมที่ทำให้สาธารณชน เคลือบแคลงสงสัยในความร้ายกาจของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลต่อการแพร่ระบาดระลอก 2 อย่างเดียวเท่านั้น

นักวิชาการด้านระบาดวิทยากำลังหวั่นเกรงว่า สถานการณ์ทำนองเดียวกันอาจส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกต่อๆ ไปขึ้นตามมาอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image