ก้อนฝีและเข็มในเนื้อหมู(มาได้อย่างไร) โดย ผศ.ดร.น.สพ.ดุสิต เลาหสินณรงค์ รศ.ดร.น.สพ.กัมพล แก้วเกษ

จากกรณีการพบก้อนฝีหนองหรือเข็มในเนื้อสุกรนั้น ทำให้เกิดคำถามจากผู้บริโภคมากมายถึงคุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อสุกร เช่นที่ล่าสุดพบในร้านชาบูชื่อดัง อย่างไรก็ตาม แม้การเกิดฝีหนองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงการพบเข็มฉีดยาตกค้างในเนื้อสุกร ก็เป็นไปได้ แต่ทั้งสองกรณีนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับเนื้อสุกรที่จำหน่ายในตลาด

การเกิดฝีหนองนั้นเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ต่อสู้กับเชื้อโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกาย โดยการพยายามจำกัดพื้นที่ไม่ให้เชื้อโรคกระจายไปบริเวณอื่น และมีเม็ดเลือดขาวเข้ามาช่วยจัดการกับเชื้อโรคนั้น เม็ดเลือดขาวที่ตายไปก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ก้อนฝีนั้น สาเหตุหลักคือ การเกิดแผลและมีการติดเชื้อ หรือเกิดจากการฉีดวัคซีนบางชนิดที่ดูดซึมยาก หรือการใช้เข็มที่ไม่สะอาดทำให้ติดเชื้อบริเวณที่ฉีดยาหรือวัคซีน

สำหรับเข็มที่ตกค้างในกล้ามเนื้อสุกรนั้นอาจพบได้หากว่าผู้ปฏิบัติงานไม่ระวังขณะฉีดยาหรือวัคซีน เนื่องจากสุกรอาจเคลื่อนตัวหนีขณะแทงเข็ม ซึ่งกล้ามเนื้อสุกรนั้นมีขนาดใหญ่และแข็งแรง ร่วมกับการสะบัดหนี ทำให้เข็มหักและตกค้างในกล้ามเนื้อได้ ถ้าหากเข็มนั้นสะอาดก็จะไม่พบฝีเกิดขึ้น แต่ถ้าเข็มนั้นไม่สะอาดก็จะทำให้เกิดฝีตามมาได้

แม้ว่าทั้งสองกรณีนี้จะมีโอกาสพบได้ แต่การเลี้ยงสุกรจะมีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้หากสุกรมีก้อนฝีหนองมักถูกหักเงิน เพราะส่วนนั้นจะถูกตัดแต่งออกไปหลังการฆ่า ทำให้เสียราคา ส่วนกรณีเข็มตกค้างนั้น หากพบหลังการฆ่า พ่อค้าจะกลับมาแจ้งฟาร์มและหักเงินเช่นเดียวกัน ดังนั้น ฟาร์มจึงมักใส่ใจไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีพ่อค้าที่เห็นแก่ตัว หาซื้อสุกรราคาถูกมาจำหน่ายในราคาตลาด เพื่อหวังกำไรมากๆ พ่อค้ากลุ่มนี้ไม่มีการตรวจสอบ หรือบางครั้งมีการปกปิดหรือจำหน่ายพ่วงไปกับชิ้นส่วนอื่นในราคาถูก ร้านค้าที่หวังกำไรก็มักจะหาซื้อเนื้อสุกรและชิ้นส่วนจากตลาดเหล่านี้ ซึ่งเนื้อสุกรเป็นเนื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน

Advertisement

เนื้อสุกรคุณภาพและเนื้อสุกรปลอดภัยนั้นมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยเนื้อสุกรคุณภาพนั้นเป็นเนื้อปกติ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่มีรอยฟกช้ำ แผลหนอง สีชมพูปนเทาถึงสีชมพูเข้ม ขณะที่เนื้อสุกรปลอดภัยนั้นมุ่งเน้นไปที่การไม่มีสารตกค้าง ไม่มีสิ่งแปลกปลอมในเนื้อสุกร ไม่มีการปนเนื้อเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคมากเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งการผลิตสุกรนั้นมุ่งเน้นทั้งสองอย่างคือได้เนื้อสุกรคุณภาพและปลอดภัย

การเลี้ยงสุกรของประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค นอกจากนี้การเลี้ยงสุกรยังมีการพัฒนาด้วยการนำมาตรฐานฟาร์มมาปรับประยุกต์ ด้วยมุ่งหวังผลิตเนื้อสุกรที่ได้มาตรฐานแก่คนไทย นอกจากนี้ยังหวังการส่งออกเนื้อและผลิตภัณฑ์สุกรเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย โดยปัจจุบันสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้กำหนดมาตรฐานหรือหลักปฏิบัติที่ดีที่เกี่ยวข้องกับสุกร ได้แก่ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (มกษ.6403) การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงฆ่าสุกร (มกอช.9009) มาตรฐานเนื้อสุกร (มกอช.6000) เพื่อหวังให้เกิดการพัฒนาทั้งระบบ อย่างไรก็ตามมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ยังคงเป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้บังคับให้ต้องปฏิบัติ ทั้งนี้มาตรฐานฟาร์มสุกรกำลังจะเป็นมาตรฐานบังคับ และน่าจะมีการผลักดันให้มาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นมาตรฐานบังคับด้วยในอนาคต

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้สนับสนุนเรื่องอาหารปลอดภัย โดยผ่านพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ใช้แทนฉบับเดิมที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2535 ซึ่งปรับปรุงหลายเรื่องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสองกระทรวงคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ได้พยายามยกระดับคุณภาพของโรงฆ่าสัตว์ให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยอิงกับมาตรฐานของ มกอช. มีการผลักดันให้เกิดพนักงานตรวจเนื้อสัตว์หรือพนักงานตรวจโรคสัตว์ ซึ่งผู้ทำหน้าที่นี้ต้องได้รับการอบรมก่อน เพื่อให้เนื้อสุกรและชิ้นส่วนที่ได้นั้นสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

Advertisement

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ได้กว่าหมื่นล้านบาท เนื่องจากหลายประเทศเกิดโรคระบาดและขาดแคลนเนื้อสุกร อย่างไรก็ตามการเลือกนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยนั้นมิใช่เพียงเพราะไม่มีโรคระบาด แต่เพราะคุณภาพและความปลอดภัยของสุกรที่ผลิต ทั้งนี้หลายประเทศมีการนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พยายามลดการนำเข้า เพราะทราบถึงอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ แต่ประเทศไทยได้ผลักดันให้การเลี้ยงสุกรไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง แม้จะทำให้เนื้อสุกรมีสีที่ไม่แดงมาก แต่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

หลายท่านอาจจะคิดว่า สินค้าส่งออกย่อมมีคุณภาพมาตรฐานที่ดี แต่สินค้าที่ด้อยคุณภาพมักจะถูกนำมาขายในประเทศ สำหรับสินค้าปศุสัตว์นั้นไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการเลี้ยงและผลิตใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ฟาร์มสุกรที่ได้มาตรฐานนั้นยังเป็นภาคสมัครใจ ดังนั้น จึงมีเนื้อสุกรที่ไม่ได้มาตรฐานบ้างในตลาด ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เน้นย้ำการเลือกซื้อ โดยให้ความมั่นใจว่า ร้านที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”
จะเป็นเนื้อสุกรที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบการเลี้ยงตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงฆ่า จึงมั่นใจได้ สำหรับเนื้อสุกรที่ไม่มีตราสัญลักษณ์นั้น การซื้ออาจพิจารณาจากร้านที่จำหน่าย ควรเลือกร้านที่มีตู้แช่เย็น เพื่อให้เนื้อสุกรนั้นสดตลอดเวลาที่เปิดจำหน่าย

นอกจากนี้สถานที่จำหน่ายก็มีความสำคัญ ตลาดนั้นต้องเปิดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการขออนุญาตเป็นตลาด มีการตรวจสอบตลาดโดยสาธารณสุขหรือเทศบาลเป็นประจำ ร้านต่างๆ เปิดจำหน่ายเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถกลับมาคืนสินค้าได้ หรือติดตามได้หากสินค้ามีปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image