สถานีคิดเลขที่ 12 : โควิดทิ้งทวน

สถานีคิดเลขที่ 12 : โควิดทิ้งทวน ตอนนี้สถานการณ์เหมือนจะฟ้องว่า

สถานีคิดเลขที่ 12 : โควิดทิ้งทวน

ตอนนี้สถานการณ์เหมือนจะฟ้องว่า นอกจากฝรั่งทางซีกโลกเหนือไม่ได้ฉลองคริสต์มาสแล้ว บรรดาเราๆ ท่านๆ ก็คงจะไม่ได้ชื่นมื่นกับการฉลองต้อนรับปีใหม่ให้อะเมซิ่งไทยแลนด์ เพราะโควิด-19 กลับมาระบาดในวงกว้างอีก

เที่ยวนี้สถานการณ์ดูจะตึงเครียดไม่ธรรมดา เพราะจุดเริ่มต้นของการระบาดมาจากตลาดอาหารทะเล
ความเป็นตลาดที่มีผู้ติดต่อค้าขายนี่เอง ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากมาย ลามไปแล้วเกิน 22 จังหวัด

หากตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศขยับเป็นหลักหมื่นก็คงไม่ได้เป็นเรื่องประเมินเกินจริง

Advertisement

สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้มีใครอยากให้เกิด แต่ก็ไม่ถึงกับเกินความคาดหมาย หากดูประเทศอื่นๆ ที่จัดการโควิดได้ดี ไม่ใช่ว่าจะราบรื่นไปตลอดรอดฝั่ง

อย่าง สิงคโปร์ เมื่อต้นปีขึ้นแท่นเป็นประเทศตัวอย่างที่รับมือโควิดได้ดีเยี่ยม แต่ไปๆ มาๆ เดือนเมษาฯ เชื้อไปโผล่ที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวจนระบาดเป็นวงกว้างและต้องทุ่มสรรพกำลังไปควบคุม กระทั่งตอนนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาเอาอยู่ และได้เสียงชื่นชมอีกครั้ง

ด้าน นิวซีแลนด์ ช่วงเดือนสิงหาคมเมื่อนายกรัฐมนตรีหญิง จาซินดา อาร์เดิร์น แถลงยินดีที่ประเทศปลอดเชื้อมาครบ 100 วัน ก็ยังกำชับประชาชนว่าจะชะล่าใจไม่ได้ และหลังจากนั้นสองวันก็มีการพบเชื้อใหม่อีกครั้งจริงๆ จนต้องล็อกเมืองโอกแลนด์

Advertisement

ส่วน ไต้หวัน อีกดินแดนตัวอย่างที่มีผลงานคุมโควิดได้ดีอันดับต้นๆ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. เพิ่งแถลงว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในรอบ 253 วัน

ยังดีว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดเชื้อมาจากนักบินต่างชาติที่ทำงานให้สายการบินไต้หวัน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าจะควบคุมการระบาดได้ไม่ยากเท่ากับเคสของประเทศไทย

ขณะที่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย ชาติยักษ์ใหญ่ของเอเชีย ยังไม่เคยปลอดโควิดอย่างเด็ดขาด เพียงแต่คุมสถานการณ์อยู่เป็นระยะ เข้มบ้าง ผ่อนบ้าง และอาศัยระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเทียบกับยุโรปและอเมริกาเหนือแล้ว สถานการณ์ของชาติตะวันตกดูเหนื่อยกว่ามาก เพียงแต่เริ่มมีวัคซีนป้องกันโควิดเข้ามาเป็นตัวช่วยแล้ว ต้องอาศัยระยะเวลาอีกพักใหญ่ที่จะควบคุมเชื้อได้หมด

จะเห็นได้ว่าโจทย์การรับมือโรคระบาดโควิด-19 ของแต่ละประเทศ ต้องอาศัยข้อมูลและสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ เป็นตัวตัดสิน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว

เพียงแต่โควิด-19 เป็นโรคที่เหมือนกลืนกินเวลา และสรรพกำลังของมนุษย์ในการต่อสู้กับเชื้อโรคไปจนหมดปี 2563

นอกจากเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งควบคุมการระบาดแล้ว ยังจะส่งผลยาวนานไปถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย

จะเห็นได้ว่าการประท้วงในหลายๆ ประเทศเกี่ยวพันกับมาตรการโควิด-19 โดยตรง และเป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่ของไทยแตกต่างออกไป

การชุมนุมประท้วงในไทยได้รับแรงกระเพื่อมทางอ้อมจากสถานการณ์โควิดที่คนรุ่นใหม่มองเห็นปัญหาทางการเมืองชัดเจนขึ้น เห็นระบบและโครงสร้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อปูทางสำหรับอนาคตที่ดีขึ้น

ช่วงส่งท้ายปลายปีนี้การชุมนุมคงจะเบาบางลงไปมากหรือไม่มีเลย แต่สำหรับปีหน้าการต่อสู้นี้น่าจะกลับมาอย่างแน่นอน

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image