‘บัวแก้ว’ฉลองใหญ่ ‘อาเซียน’ย่างสู่ปีที่ 50 (2)

หลังจัดงานเพื่อเริ่มต้นฉลองการย่างเข้าสู่ปีที่ 50 ของอาเซียนไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติยังได้ร่วมกับสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย จัดการเสวนาภายใต้หัวข้อที่น่าสนใจคือ “ประชาคมอาเซียน : หลากหลายแต่หลอมรวม” ขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้บรรยายที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของอาเซียนอย่าง นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายธีระภาพ โลหิตกุล นักเขียนรางวัลศรีบูรพาและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และจิระนันท์ พิตรปรีชา นักกวีและนักเขียนรางวัลซีไรต์ ท่ามกลางผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน

ท่านปลัดอภินันท์กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนหรือที่รู้จักในนามอินโดจีน สุวรรณภูมิ อุษาคเนย์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มิติของความหลากหลายมีอยู่มาก แต่ก็มีความหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในความเป็นจริงภูมิภาคของเรามีรากเหง้ามายาวนานมาก ส่วน “อาเซียน” ในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงการรวมตัวในทางสมมุติ หรือ imagined community ซึ่งได้กำเนิดขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงและยั่งยืนในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเริ่มจากประเทศผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศ ก่อนที่จะขยายไปสู่เพื่อนบ้านอีก 5 ประเทศ

อาเซียนในยุคเริ่มแรกได้มีการแบ่งแยกชัดเจนระหว่าง “เรา” และ “เขา” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในทุกแง่มุมซึ่งมีโอกาสที่จะปะทุได้ตลอดเวลา โดยที่วัฒนธรรมเองก็เป็นหนึ่งในชนวนดังกล่าว เนื่องจากการแบ่งประเทศโดยพรมแดนทำให้เกิดความเข้าใจว่าวัฒนธรรมของแต่ละชาติจะต้องแบ่งแยกและแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วรากเหง้าความเป็นมาเดียวกัน วัฒนธรรมเป็นกำลังอำนาจแบบ Soft Power ที่สำคัญมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เรายังสามารถใช้มิติทางวัฒนธรรมในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 ตั้งอยู่ที่อาคารนิทรรศรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เพื่อเป็นพื้นที่องค์ความรู้ในด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน และแสดงถึงทั้งความแตกต่างและจุดร่วมทางวัฒนธรรมในอาเซียนผ่านเรื่องราวที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เสมือนให้ผู้ชมได้ไปเที่ยวไปเห็นเมืองหลวงในประเทศอาเซียน ได้รู้จักอาหารประจำชาติ ได้ลองชุดเครื่องแต่งกายของแต่ละประเทศ ให้เห็นว่าเราอยู่ร่วมกัน ผูกพันเป็นหนึ่งเดียว เรามีมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันอันเป็นความภูมิใจ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนยังได้จัดแสดงสิ่งที่จะสื่อจุดร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ข้าวที่เป็นอาหารหลักของทุกประเทศ การจัดนิทรรศการ “ต่าง คล้าย ใช่เลย” ที่จัดแสดงของเล่นในอาเซียน ซึ่งมีการจัดแสดงสิ่งเหล่านี้ตลอดทั้งปี

Advertisement

ท่านปลัดอภินันท์ได้สะท้อนให้เห็นว่า มีการถ่ายเททางวัฒนธรรมในภูมิภาค ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้คือ การจัดเทศกาลรามายณะอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวคิดในการแสดงโขนร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะเกือบทุกประเทศก็มีวัฒนธรรมการแสดงโขนที่จะช่วยสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกัน ที่จริงแล้วประเทศที่เข้าร่วมยังมีมากกว่าสมาชิกอาเซียน เพราะกระทรวงวัฒนธรรมยังได้เชิญอินเดียที่เป็นต้นฉบับของรามายณะเข้าร่วมแสดงด้วย เรียกว่ารามายณะอาเซียนพลัส

ท่านปลัดกระทรวงวัฒนธรรมให้ข้อคิดว่า การมองอาเซียนทางวัฒนธรรมมีหลายบริบท มีเรื่องอิทธิพลของภาษาและศาสนาที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมสามารถนำมาเป็นเครื่องมือช่วยให้คนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน เข้าใจรากเหง้าความเป็นมาทางวัฒนธรรมเดียวกันเพื่อการอยู่ร่วมกันในอาเซียน และที่สำคัญคืออาเซียนทั้ง 3 เสาหลักต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวประสานเพื่อสร้างความสมานฉันท์

ด้าน นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่า ในความเป็นจริงแล้วรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนเป็นสิ่งที่มีมาช้านานแล้ว ในบรรดาเสาหลักทั้ง 3 เสาของอาเซียนจะเห็นว่าเสาสังคมและวัฒนธรรมเป็นเสาที่สำคัญมาก และเป็นเสาที่สามารถทำให้เกิดเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือกันได้มาก ในขณะที่อีก 2 เสา ได้แก่ การเมืองและเศรษฐกิจ อาจนำมาซึ่งปัจจัยของความขัดแย้ง ทำให้เห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนผ่านการเป็นประเทศ ระบอบการปกครอง และระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

Advertisement

ดังนั้น เราควรกลับไปใช้วัฒนธรรมที่มีมานานและฝังรากลึกอยู่ในตัวเรามาเป็นตัวเชื่อมโยงคนในอาเซียนทั้ง 620 ล้านคน ความร่วมมือภายใต้เสาสังคมและวัฒนธรรมจึงกลายเป็นสิ่งท้าทายอันดับแรกๆ และกลายเป็นเสาที่เชื่อมโยงได้ยากที่สุด เพราะในเสาอื่นๆ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น หลักการฉันทามติ หลักการไม่แทรกแซงของเสาการเมืองและความมั่นคง รวมถึงการร่วมมือกันส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ และหลักเกณฑ์ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเสาเศรษฐกิจ แต่ในเสาสังคมและวัฒนธรรมไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ตายตัว เราจึงต้องอาศัยการเป็นประชาคมที่มีประชาชนและศูนย์กลางซึ่งจำเป็นต้องมีความเอื้ออาทร ความเข้าใจ และความสามัคคีระหว่างกันเป็นพื้นฐาน

นายธีระภาพ โลหิตกุล นักเขียนรางวัลศรีบูรพาและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจถึงความเป็นรากเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ จนกลายเป็นสาเหตุของความเกลียดชัง การรบพุ่งเพื่อแย่งความเป็นเจ้าของ การจัดรามายณะร่วมกันเป็นตัวอย่างของความหลอมรวมทางวัฒนธรรมการแสดง จึงอยากเห็นการจัดสตรีตเฟสติวัลที่มีการนำตัวเอกในวรรณคดี อาทิ หนุมาน และสีโห (สีโหเป็นตัวเอกในวรรณกรรมพื้นบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงเรื่อง “สินไซ” มีลักษณะลำตัวเป็นราชสีห์ ส่วนหัวเป็นช้าง) มาแสดงร่วมกัน

ประเด็นสำคัญคือ “เรามีตัวเราในอาเซียนอยู่นานแล้ว และเราก็มีอาเซียนอยู่ในเรา” โดยยกตัวอย่างสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยที่มีที่มาจากเพื่อนบ้าน เช่น ยาหม่อง เพลงเทียบเวลาก่อนเคารพธงชาติเป็นเพลงของคนไทย แต่ชื่อเพลง “พม่าประเทศ” หรือแม้แต่เรื่องรามายณะ ที่พม่าได้มีการชำระประวัติศาสตร์แล้วว่าการแสดงโขนหรือรามายณะในพม่า มีที่มาจากครูโขนไทยของกรุงศรีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าได้สอนให้คนพม่า แต่ต่อมาด้วยวัฒนธรรมการแต่งกายและศิลปะการรำ ทำให้ต่างไปจากของเดิม ในด้านภาษา คำว่า ล่อนจ้อน ของไทยก็มาจากภาษามาเลย์ คำว่าตะเกียบ ที่คนทั่วไปนึกว่ามาจากภาษาจีนก็มาจากภาษาขแมร์ คำว่าไม้สัก ที่เขมรก็เรียกว่าเชอไม้สัก สำหรับเรื่องเพลง เราแต่งเพลงไทยเดิมโดยให้เกียรติแก่ที่มาของเพลง เช่น เขมรไทรโยค นกเขาขแมร์ เป็นต้น

การหลอมรวมของอาเซียนผ่านวรรณกรรมเป็นตัวเชื่อม ดังตัวอย่างวรรณคดีเรื่องรามายณะที่ได้ถูกนำไปแสดงโขนใน 78 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก เช่น ฟิลิปปินส์ และประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เช่น อินโดนีเซีย สะท้อนถึงอิทธิพลของอินเดียที่เข้ามาสู่ภูมิภาคมาแต่ช้านาน

นอกจากนี้ คุณธีระภาพยังได้ยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง “สะกดรอยสินไซ” ซึ่งกล่าวถึงนิทานพื้นบ้านที่มีร่วมกันในหลายชาติในลุ่มแม่น้ำโขงเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ในขณะที่ภาษาลาวเรียกว่าสินไซ และยังปรากฏเป็นวรรณกรรมของชาติอื่นๆ อาทิ มอญ เขมร ไทยใหญ่ เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงร่องรอยจุดร่วมทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในหลายชาติ และสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีพรมแดน เลื่อนไหลถ่ายเทไปมาอย่างที่ไม่มีอะไรมาขีดคั่นได้

คุณธีระภาพย้ำว่า “เรามีอาเซียนอยู่ในตัวเรา และมีเราอยู่ในอาเซียน” มานานก่อนจะขีดเส้นแบ่งเขตประเทศ ความท้าทายสำคัญของอาเซียนในด้านสังคมและวัฒนธรรมคือความไม่รู้และความไม่เข้าใจเกี่ยวกับความหลอมรวมนี้ อันอาจนำไปซึ่งการแก่งแย่งเพื่อเป็นเจ้าของ ดังนั้น การจัดงานแสดงวัฒนธรรมร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนเพื่อให้เกิดความรับรู้ถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกันในเรื่องจุดร่วม ทำให้เกิดความตระหนักว่ามีอาเซียนอยู่ในตัวเรา และมีตัวเราอยู่ในอาเซียน

คุณธีระภาพได้ทิ้งท้ายว่า วัฒนธรรมเป็น Super Soft Power ที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนเข้มแข็งขึ้นมาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวเช่นกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งจะเป็นตัวส่งเสริมความเป็นมิตรต่อกันในอาเซียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image