เปิดขั้นตอนทวงหนี้ ‘ทพญ.’ หนีทุน จากปากคำ ‘นักกม.-อดีตขรก.’ ชี้ช่องตาม ‘เงินแผ่นดิน’ คืน!!

กรณี ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีต้องชดใช้เงินค้ำประกันราว 2 ล้านบาท แทน ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ที่ขอทุนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 9 ปี 4 เดือน 14 วัน (นับจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2537-15 พฤศจิกายน 2547) ใช้เงินทุนไปเกือบ 10 ล้านบาท (ดูเอกสารประกอบ) แล้วไม่กลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญา ทำให้ผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายต้องชดใช้เงินค้ำประกันแทนรวม 31 ล้านบาทเศษ ต่อมาขอผ่อนผันศาลจนเหลือชดใช้ตามจำนวนเงินทุนที่ได้รับจริง 8 ล้านบาท

มติชน จึงสัมภาษณ์ หมวดภาพิมพ์ (สงวนนามสกุล) นักเรียน Occupational Therapy ณ USA อดีตข้าราชการไทยที่เคยติดตามนักเรียนหนีทุน และ นายภัทรภาส ทัดศรี อดีตอาจารย์วิชากฎหมายแพ่งพาณิชย์และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อแนวทางในการติดตามเงินคืน รวมถึงมาตรการในการสกัดปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

หมวดภาพิมพ์

“จากประสบการณ์การติดตามนักเรียนทุน ไม่ว่าคนค้ำจะเป็นใคร ผู้รับทุนก็สามารถหนีทุนรัฐบาลได้ โดย 1.กรณีคนค้ำเป็นคนในครอบครัว มองว่ายิ่งเอื้อต่อผู้รับทุน เพราะพอผู้รับทุนมาใช้ชีวิตหรือเรียนในต่างแดน รู้ดีว่าทำรายได้มากกว่าที่ไทยมาก ก็ตัดสินใจไม่กลับไทย และแจ้งครอบครัวหรือพ่อแม่ที่ค้ำประกันให้ถ่ายเทย้ายสมบัติหมด พอศาลฟ้องบังคับคดี เมื่อบังคับกับคนกู้ไม่ได้ ก็จะไปบังคับกับคนค้ำ แต่เมื่อคนค้ำไม่มีรายได้ ไม่มีเงิน สมบัติ ทรัพย์สิน ต่อให้ฟ้องล้มละลายพวกนี้ก็ไม่สน หนี้จึงเป็นศูนย์ เพราะไม่สามารถบังคับอะไรได้ 2.กรณีคนค้ำเป็นคนนอก หน่วยงานต้นสังกัดควรติดตามลูกหนี้ให้ถึงที่สุดก่อนที่จะไปบังคับกับคนค้ำประกัน หากทราบที่อยู่ของลูกหนี้ ควรติดต่อประสานงานเพื่อนำตัวมาชดใช้หนี้ ก่อนที่จะไปบังคับกับคนค้ำประกัน

“ส่วนแนวทางที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องพิจารณา 1.ตามสัญญาลาศึกษาต่อ มีระบุห้วงเวลาการเรียนไว้ชัดเจน เมื่อทราบว่านักเรียนทุนหนีทุน ไม่กลับมาชดใช้แน่นอน ให้หน่วยงานต้นสังกัด ส่งฟ้องศาลทันที เมื่อฟ้องแล้วได้หมายศาล ให้ส่งกรมบังคับคดี และยื่นเรื่องเข้ากรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อให้ติดแบล๊กลิสต์ เนื่องจากมีคดีและไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศ ส่งผลให้ กต.ไม่สามารถต่อหนังสือเดินทางได้ ทำให้นักเรียนหนีทุนไม่สามารถทำหนังสือเดินทางและทำกรีนการ์ด ได้ เพราะกรีนการ์ดต้องใช้หนังสือเดินทางประกอบ เมื่อไม่สามารถต่อหนังสือเดินทางได้ ก็ไม่สามารถทำกรีนการ์ดหรือต่อกรีนการ์ดใหม่ได้ ทำให้สถานะการอยู่อย่างถูกกฎหมายที่ต่างแดนไม่สามารถทำได้ ท้ายที่สุดเขาก็จำเป็นต้องกลับไทยโดยปริยาย กรณีที่ไม่กลับไทยแต่เลือกที่จะอยู่แบบผิดกฎหมาย หากมีคนแจ้ง ตม. ก็สามารถถูกเนรเทศกลับไทยได้

Advertisement

“2.หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ต้องกำหนดให้นักศึกษาทุนได้วีซ่า J1 ประเภทติดกฎเงื่อนไข 2 ปี ต้องทำการ waiver (ยื่นอุทธรณ์) แต่วีซ่านักเรียนทุนจะเป็น J1 แบบมีเงื่อนไข และไม่มีเงื่อนไข ต้องเลือกแบบมีเงื่อนไข ยกเว้น กรณีของนักเรียนแพทย์จะมีช่องโหว่ในการทำ waiver ในสาขาที่ขาดแคลนได้ โดยไม่ผ่านสถานกงสุลไทย ซึ่งสามารถทำได้ หรือหนีไปแต่งงานกับซิติเซ่น ก็สามารถเปลี่ยนสถานะให้เป็นถือวีซ่าอย่างอื่น กรณีอย่างนี้สามารถกระทำได้ หากมีทนายความที่เก่ง ก็จะได้กรีนการ์ด แต่อย่างที่บอกเมื่อหน่วยงานทราบแน่นอนว่าหนี ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ 1 ได้ทันที แม้เขาจะแต่งงานกับซิติเซ่น ยื่นกรีนการ์ด ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะโดนแบล๊กลิสต์ อีกทั้งการแต่งงานกับซิติเซ่นในอเมริกา หากแต่งงานไม่เกิน 2 ปี ก็จะได้กรีนการ์ดแค่ 2 ปี เมื่อครบ 2 ปี ก็ต้องต่อ 10 ปี ก่อนที่จะสมัครสอบเป็นซิติเซ่นได้ แต่หากติดแบล๊กลิสต์ ต่อหนังสือเดินทางไม่ได้ ก็จะไปต่อไม่ได้อยู่ดี ทั้งนี้ สาเหตุที่คนหนีทุนเยอะเพราะหน่วยงานไม่จริงจังติดตาม อีกทั้งคนรับผิดชอบไม่อยากทำ ถ้าจ้างเอกชนมาจัดการ ก็จะได้ผลมากกว่านี้ แต่เข้าใจว่าราชการคงไม่มีงบ ฉะนั้นคงทำอะไรไม่มากนัก?

นายภัทรภาส ทัดศรี

อดีตอาจารย์วิชากฎหมายแพ่งพาณิชย์และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะมีช่องทางไหนในการฟ้องร้องเรียกเงินคืนหรือบังคับคดีต่อ ทพญ.ดลฤดี ซึ่งขณะนี้อยู่สหรัฐอเมริกา?

“ทพญ.ดลฤดี อาศัยและถือครองทรัพย์สินอยู่ที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มม.ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ควรจะไปขอบังคับคดีโดยการนำคำพิพากษาจากศาลไทยไปยื่นขอบังคับคดีต่อศาลมลรัฐแมสซาชูเซตส์ตามกฎหมายการบังคับคดีคำพิพากษาศาลต่างประเทศของมลรัฐ ซึ่งในเขตมลรัฐแมสซาชูเซตส์นี้ กฎหมายจะสันนิษฐานว่าชำระหนี้แล้วเมื่อครบ 20 ปี หลังจากมีคำพิพากษา โดยเป็นข้อสันนิษฐานที่พิสูจน์หักล้างได้ แต่ในปีที่แล้วทางสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้ประชุมร่างแก้ไขให้เป็นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีเท่ากับระยะเวลาการบังคับคดีของศาลซึ่งพิพากษาคดี แต่ไม่เกิน 15 ปี ดังนั้นหากเป็นคำพิพากษาจากศาลไทย ก็จะบังคับได้ไม่เกิน 10 ปีเช่นเดียวกับการบังคับคดีในประเทศไทย อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีการบังคับใช้ร่างกฎหมายใหม่นี้ ทำให้ยังคงใช้ข้อสันนิษฐานแบบเดิมที่ 20 ปี มม.จึงมีโอกาสขอบังคับคดีได้จนกว่ากฎหมายใหม่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

Advertisement

“เมื่อศาลมลรัฐพิจารณาบังคับคดีแล้ว ถ้าหาก ทพญ.ดลฤดี ยังยืนยันไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะสามารถขอให้ศาลมลรัฐมีคำสั่งยึดทรัพย์ หรือให้นายจ้างหักเงินเดือนมาชำระหนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องคดีล้มละลาย ส่วนช่องทางในการร้องขอต่อศาลแมสซาชูเซตส์เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลไทยก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการบังคับคดีต่อ ทพญ.ดลฤดี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็ขึ้นกับว่าทาง มม.มีความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากรในการดำเนินคดีที่ต่างประเทศได้มากน้อยเพียงใดในเวลาที่กระชั้นชิดแบบนี้ และระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเปิดช่องให้กระทำได้หรือไม่ ซึ่งถ้าทำได้ก็นับว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะเป็นคดีตัวอย่างแก่ผู้รับทุนรัฐบาลที่เลือกไม่เดินทางกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยหลังจบการศึกษา”

การฟ้องล้มละลายเพื่อหวังยึดทรัพย์ ทพญ.ดลฤดี ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี หรือว่าไม่มีผลใดๆ เพราะมีข่าวว่ามีการถ่ายเททรัพย์เรียบร้อยแล้ว?

“การฟ้องล้มละลายในประเทศไทยนั้น สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อทรัพย์สินของ ทพญ.ดลฤดีในสหรัฐอเมริกา หากประสงค์จะไปยึดทรัพย์สินในประเทศสหรัฐอเมริกา ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จากประเทศไทย จะต้องไปทำเรื่องขอดำเนินคดีควบคู่ตามกฎหมายของสหรัฐอีกครั้ง ซึ่งกฎหมายปัจจุบันของสหรัฐเกี่ยวกับการดำเนินคดีควบคู่นี้ เปิดโอกาสให้ศาลสหรัฐใช้ดุลพินิจได้ค่อนข้างมาก และที่สำคัญการดำเนินคดีล้มละลายเช่นนี้นั้นโดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลายาวนาน มีความสลับซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก”

เมื่อผู้ค้ำฯขอผ่อนผันจนเหลือ 8 ล้าน และชดใช้ไปหมดแล้ว มม.ยังสามารถฟ้องร้องต่อ ทพญ.ดลฤดีได้หรือไม่ ถ้าได้จะอาศัยช่องทางไหน?

“การขอผ่อนผันที่กล่าวถึง น่าจะเป็นการผ่อนผันให้เฉพาะกับผู้ค้ำประกันที่ไม่ใช่ญาติตามระเบียบกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลาง ซึ่งไม่ส่งผลระงับหนี้ที่ค้างชำระที่เหลือทั้งหมดจาก ทพญ.ดลฤดี ครับ”

มม.แถลงว่า ทพญ.ดลฤดี ยังต้องชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 30 ล้านบาท แม้ผู้ค้ำฯ จะชดใช้เงินแทนแล้ว?

“ตามความเข้าใจผม มม.ลดหย่อนให้กับผู้ค้ำฯ เท่านั้น ไม่ได้ลดให้กับ ทพญ.ดลฤดี ที่ท่านรองอธิการบดี มม. พูดถึงตัวเลข 30 ล้านบาท หมายความว่า 1.ทพญ.ดลฤดี ยังค้างชำระหนี้ให้กับมหิดล 22 ล้านบาท และ 2.ทพญ.ดลฤดี ต้องชดเชยให้กับผู้ค้ำประกัน 8 ล้านครับ”

ถ้าสมมุติ ทพญ.ดลฤดี ติดต่อชำระหนี้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ตัวเลขที่ต้องชำระให้กับ มม. ยังเป็น 31 ล้านบาทตามที่ระบุในสัญญาทุนหรือไม่?

“ที่ ทพญ.ดลฤดีต้องชำระคือตัวเลขตามคำพิพากษาในปี 2549 พร้อมดอกเบี้ยตามที่ศาลกำหนดครับ โดย 31 ล้านบาทนี่รวมเบี้ยปรับทุกอย่างแล้วครับ ที่เกินกว่านั้นก็เป็นดอกเบี้ยระหว่างปี 2549-2559 ส่วนยอดดอกเบี้ย เป็นเท่าไหร่ ต้องลองสอบถามกรมบัญชีกลาง หรือทาง มม.ดูครับ”

เอกสารทันตแพทย์หนีทุน

การบังคับคดียึดทรัพย์ มีอายุความหรือไม่คะ?

“เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีชำระหนี้ครับ ครบที่ 10 ปี”

มม.น่าจะบังคับชำระหนี้ไม่ทันแล้วหรือเปล่าคะเพราะเหลือเวลาแค่สัปดาห์เดียวก่อนจะหมดอายุความในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้?

“ต้องอ่านคำพิพากษาที่ศาลยกฟ้องเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 กรณีที่ มม.ขอขยายเวลาบังคับคดี 10 ปี ซึ่งศาลยกคำร้องและบอกให้ไปปฏิบัติตามคำสั่งของศาลก่อน คำถามคือ มม. ทำตามขั้นตอนที่ศาลว่าครบถ้วนหรือยัง?

(ศาลปกครองกลาง วันที่ 6 มกราคม 2559 มีคำพิพากษาว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของผู้ฟ้องคดีฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2558 แล้วเห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 72 วรรค 4 บัญญัติว่า กรณีที่ศาลมีคำบังคับให้ผู้ใดชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามคำพิพากษา ถ้าผู้นั้นไม่ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน ศาลอาจมีคำสั่งให้มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของบุคคลนั้นได้ วรรค 5 บัญญัติว่าในกรณีที่ศาลมีคำบังคับตามวรรคหนึ่ง (5) หรือตามวรรค 4 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาซึ่งการร้องขอให้บังคับคดีนั้น ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ขั้นแรกต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นต่อไป ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากดำเนินการแล้ว ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีแล้ว ส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดี จะไปยึดทรัพย์เมื่อใดนั้น เป็นขั้นตอนดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่หากเจ้าหนี้ดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนภายในกำหนดเวลา ก็ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีและลูกหนี้ก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด สำหรับระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปีนั้น ถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดี ก็จะทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับคดีได้เกิน 10 ปีและจะมีผลให้ระยะเวลาที่ลูกหนี้ต้องรับผิดขยายออกไป ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง)

คำพิพากษาศาลที่ให้ผู้ถูกฟ้องร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องพร้อมดอกเบี้ย จะหมดอายุความในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 จะมีผลอะไรกับ ทพญ.ดลฤดีในกรณีที่ผู้ค้ำฯ ได้ชำระหนี้แทนแล้ว?

“การชำระหนี้ของผู้ค้ำฯ จะมีผลปลดหนี้ที่ ทพญ.ดลฤดีมีต่อเจ้าหนี้ตามจำนวนที่ได้ชำระไปครับ และในขณะเดียวกันผู้ค้ำฯ จะได้แทนสิทธิของเจ้าหนี้ ดังนั้นหากมีหนี้ 30 ล้านบาท เมื่อผู้ค้ำฯ ชำระแก่เจ้าหนี้ไป 8 ล้านบาท ทพญ.ดลฤดีจะเหลือหนี้ค้างชำระแก่เจ้าหนี้จำนวน 22 ล้านบาท และ ทพญ.ดลฤดีมีหนี้ค้างชำระ 8 ล้านบาทแก่ผู้ค้ำฯ ตามที่ได้รับแทนสิทธิจากเจ้าหนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image