การเมืองเรื่องวัคซีน

การเมืองเรื่องวัคซีนนั้นกำลังเริ่มเป็นที่สนใจอย่างมากทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

ในประเทศไทย ขณะนี้มีประเด็นอยู่มากมายที่เริ่มมีการพูดคุยอภิปรายกันแล้ว แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยเอง และอีกหลายประเทศในโลก การเมืองเรื่องวัคซีนมีส่วนทั้งที่เป็นส่วนของความคล้ายคลึงกัน และส่วนที่แต่ละประเทศมีความต่างกัน ซึ่งสะท้อนถึงพลวัตและรากฐานของความเป็นการเมือง และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสังคมของประเทศนั้นๆ

ผมจะขอแบ่งประเด็นในการพูดเรื่องการเมืองเรื่องวัคซีนออกมาเป็นสามส่วน คือส่วนของความเป็นมาของการเมืองเรื่องวัคซีนในโลก ประเด็นเรื่องการเมืองเรื่องวัคซีนในสหรัฐอเมริกา และข้อสังเกตต่อการเมืองเรื่องวัคซีนในประเทศไทย

ความเป็นมาของการเมืองเรื่องวัคซีนในระดับโลกนั้น เป็นเรื่องที่เกิดมาไม่นานมาก กล่าวคือแม้ว่าจะมีการคิดค้นเรื่องวัคซีน (vaccine) ออกมาได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า การคิดค้นวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องทั้งหมดของมิติด้านสาธารณสุข เพราะวัคซีนหมายถึงการค้นพบจากการทดลอง หัวใจสำคัญของวัคซีนคือการลดความเสี่ยงของการเป็นหรือติดโรค โดยการเข้าไปทำงานร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย  (มาถึงตรงนี้จึงมีทั้งสองประเด็นคือ การฉีดวัคซีนและการปล่อยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันพัฒนาขึ้นมาเองหลังจากติดเชื้อนั้นๆ มาก่อน)

Advertisement

แน่นอนว่าคนเราจะมีภูมิคุ้มกันจากเชื้อโรคที่สร้างโรคภัยไข้เจ็บจากเรานั้นอาจจะทำได้โดยการฉีดวัคซีน แต่เรื่องที่มันมาเกี่ยวกับการเมืองก็คือ การฉีดวัคซีนมันหมายถึงการต้องฉีดและบริหารจัดการคนหมู่มาก เพื่อให้สังคมปราศจากโรคภัยที่มาจากเชื้อโรคตัว หรืออธิบายด้วยศัพท์อีกคำก็คือ vaccination ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ให้เป็นไปตามหลักการ เช่นต้องครอบคลุมคนจำนวนเท่าไหร่ จึงจะเกิดภูมิต้านทานในระดับสังคม (อาทิ กรณีโควิด การจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ อาจใช้หลักการสองอย่างคือ ต้องมีคนฉีดวัคซีน หรือเป็นแล้วหาย เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันถึงร้อยละ 70)

ทำไมเรื่องการฉีดวัคซีนให้ทั้งสังคม/ประเทศมันถึงไม่ง่าย? เราอาจจะต้องพิจารณาอีกหลายเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังการคิดค้นวัคซีนมาแล้ว นั่นก็คือ ในหลายประเทศ รัฐไม่สามารถบังคับประชาชนได้ในทุกเรื่อง แต่เป็นเรื่องของการสร้างความร่วมมือร่วมใจกันเสียมากกว่า ขณะที่บางประเทศก็ทำเป็นเรื่องบังคับ แต่ในการบังคับก็ต้องรวมไปถึงเรื่องของการสร้างแรงจูงใจในการนำเอาผู้คนออกมารับวัคซีนด้วย เรื่องต่อมาก็คือ ในการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ ซึ่งการบังคับฉีด การลงโทษ และการบริหารจัดการ ในหลายๆ ประเทศอาจจะมีคนออกมาประท้วง ทั้งจากการบังคับและทั้งจากการลงโทษ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงเรื่องของการเข้าถึง

ซึ่งไม่ได้มีแค่การเข้าถึงในประเทศเท่านั้น ยังหมายถึงการเข้าถึงของคนที่ไม่ถูกนับเป็นพลเมืองในประเทศ และประเทศที่ติดกัน และในระดับโลก เนื่องจากการเคลื่อนที่ข้ามพรมแดนก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการระบาดได้

Advertisement

เรื่องของการค้นพบวัคซีน และการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน เป็นเรื่องใหม่ในวงการแพทย์และสาธารณสุข คือประมาณไม่เกินสองร้อยปี เริ่มจากปลายศตวรรษที่ 18 คือมีการค้นพบวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคฝีดาษ (smallpox) ขอย้ำก็คือ ค้นพบวัคซีน กับป้องกันการระบาด (จะป้องกันการระบาดได้ต้องบริหารจัดการสังคมให้ได้) ซึ่งก็เหมือนที่เรียนตอนเด็กๆ ว่าต้องย้อนกลับไปอีกร้อยปีที่หลุยส์ ปาสเตอร์ ค้นพบวิธีทางจุลชีววิทยา ที่พัฒนาต่อมาให้ได้วัคซีน ที่สามารถต่อสู้กับโรคแอนแทร็กซ์ และพิษสุนัขบ้า

การค้นพบวัคซีน และบริหารจัดการการฉีดวัคซีนนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญ และสุดท้ายเป็นที่ยอมรับว่าเราสามารถเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของการรักษาโรคระบาด และกลายเป็นทั้งนโยบายและโครงการของรัฐบาล ที่ต่อเนื่องมาจากยุคก่อนมีวัคซีน ซึ่งรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขในแบบของการวางมาตรการด้านสุขอนามัย (sanitary measures) การห้ามเคลื่อนย้าย และการกักกัน (quarantine) เมื่อเจอกับโรคติดต่อหรือโรคระบาด ซึ่งยุคก่อนมีวัคซีนนี้ไม่ใช่รัฐบาลจะเจอปัญหากับประชาชนเท่านั้น แต่ยังต้องเจอปัญหากับบรรดาธุรกิจและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่กำลังติดต่อกันอยู่โดยเฉพาะทางด้านการค้า แม้ว่าเทคโนโลยีการตรวจเชื้อจะเริ่มมีการพัฒนาขึ้น

แต่ก็ยังไม่เหมือนกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการค้นพบวัคซีน และการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน นับตั้งแต่ ค.ศ.1853 กับการแก้ปัญหาฝีดาษในอังกฤษ (S.Blume. The Politics of Global Vaccination Policies. In C.McInnes. Eds. The Oxford Hanbook of Global Health Politics. Oxford: Oxford University Press. 2020)

อีกมิติที่มีความสำคัญที่ทำให้การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและฉีดวัคซีนแพร่กระจายมากขึ้นก็คือการมีสงคราม เพราะกองทัพจะต้องมั่นใจว่ากำลังพลของตนนั้นแข็งแกร่ง และในการบริหารจัดการนั้นรัฐบาลและกองทัพก็สั่งการได้ และในอีกมุมหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าสงครามก็พาเอาการระบาดของโรคจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้เช่นกัน (อ้างแล้ว) จึงไม่น่าแปลกใจว่า เวลาที่เราพูดถึงการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน มันมีหลายเรื่องรวมกันอยู่ ทั้งเรื่องของวิทยาศาสตร์การแพทย์ การกำหนดนโยบาย และโครงการ แรงกดดันทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมนั้นด้วย

อย่าลืมว่าเมื่อพูดเรื่องวัคซีน สิ่งที่เป็นความจริงที่ไม่ค่อยน่ารื่นรมย์นักก็คือ วัคซีนมันก็มีทั้งประสิทธิภาพและผลข้างเคียง ดังนั้นประชาชนบางครั้งก็อาจไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนในตอนแรก เพราะวัคซีนมันก็มากับโรคอุบัติใหม่ มันก็ไม่ง่ายนักที่ทุกคนจะยอมรับและให้ความร่วมมือกับรัฐ มีอีกกรณีที่น่าสนใจก็คือเรื่องของการฉีดวัคซีนวัณโรคเมื่อ 1949 ในอังกฤษ ที่ตอนแรก ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่แน่ใจ และบุคลากรทางการแพทย์ก็เสี่ยงที่จะติดโรคจากคนไข้ และหาคนเข้ามาทำงานได้ยาก แต่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การฉีดวัคซีนเป็นจริง โดยเริ่มฉีดจากพยาบาล และใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลแล้วก็ขยายไปสู่เด็กนักเรียน และต่อมาสิ่งนี้ก็เป็นหนึ่งในรากฐานของการสร้างระบบสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษมาจนถึงวันนี้

ต่อมาระบบการสาธารณสุขจากแต่ละประเทศบริหารกันเอง ก็พัฒนามาเป็นความร่วมมือกันระดับนานาชาติ โดยมีองค์กรโลกบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ UNICEF มาถึงองค์การอนามัยโลก ซึ่งก็มีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่เกิดใหม่มากมายหลังสงครามโลกครั้งที่สองให้มีระบบสาธารณสุขที่ดี

ในยุคปัจจุบัน เรื่องที่อาจจะซับซ้อนเพิ่มขึ้นจากความเป็นมาในอดีตก็คือตัวแปรด้านธุรกิจการแพทย์ โดยเฉพาะบริษัทที่ผลิตยาและวัคซีน ที่มีการลงทุนมหาศาล มีลักษณะ ข้ามชาติและมีอิทธิพลมาก และมีส่วนในการเข้ามาต่อรองและล็อบบี้รัฐบาลต่างๆ ให้ใช้ยาและวัคซีนของตน (ในยุคแรกการพัฒนาวัคซีนไม่เป็นที่สนใจมากนักของบริษัทเหล่านี้ เมื่อเทียบกับยา แต่ในวันนี้กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล) ขณะที่การเข้าถึงของวัคซีนต่อประชากรในปัจจุบันอาจจะต้องมาซ้อนทับกับเรื่องของความเป็นพลเมืองว่ามีใครถูกนับและไม่ถูกนับบ้างในการใช้สิทธิ เช่น แรงงานอพยพ และแรงงานหลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย นอกเหนือไปจากเรื่องการเรียงลำดับความสำคัญว่าใครจะได้รับวัคซีนก่อน/หลัง

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากมิติของนโยบายสาธารณะแล้ว การพูดถึงการบริหารจัดการวัคซีนก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะในการตัดสินใจกำหนดนโยบาย วางแผน และออกแบบโครงการเราก็มักจะเชื่อว่ามันจะต้องมีพื้นฐานมาจากการที่เรามีข้อมูลที่ครบถ้วน และปราศจากการแทรกแซงของผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็เป็นที่ยอมรับจากงานวิจัยว่าข้อมูลในการตัดสินใจโดยเฉพาะระดับชาตินั้นก็ไม่ได้จะมีกันอย่างครบถ้วน อีกทั้งความละเอียดอ่อนในเรื่องของความเฉพาะถิ่นและการกลายพันธุ์ ประเทศยากจนอาจจะมีข้อมูลน้อย และยังต้องพึ่งข้อมูลที่มาจากพื้นฐานของประเทศที่พัฒนากว่า ซึ่งยาอาจจะได้ผลไม่เท่ากัน

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา ประเด็นที่เป็นที่สนใจในเรื่องของวัคซีนและการฉีดวัคซีนก็คือ การระดมสรรพกำลังต่างๆ ในการพัฒนาวัคซีนได้ในเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายก็คือการมีผู้นำประเทศที่เล่นการเมืองบนความแตกแยกของประชาชน และในช่วงต้นก็มีการพยายามจะสื่อกับประชาชนว่าไวรัสนี้ไม่น่ากลัวมาก หรือไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดา สิ่งนี้นำไปสู่ทรรศนะของประชาชนที่สนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนนี้คือทรัมป์ ถึงขนาดที่ไม่เชื่อว่าจะต้องมีการดูแลป้องกันเป็นพิเศษ ต่อมามีการค้นพบว่า การติดเชื้อ (และการเสียชีวิต) มักจะมีมากในหมู่ประชาชนที่มีฐานทางลักษณะประชากรศาสตร์แบบที่อยู่ในรัฐที่สนับสนุนทรัมป์ และรีพับลิกัน มากกว่ารัฐที่เป็นเดโมแครต (M.Parks. The Challenge of selling the Covid-19 vaccine amid divisive politics. Abcnews.go.com. 10 Dec 20.) เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าหนักใจในการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากทรัมป์และรีพับลิกัน มาสู่ประธานาธิบดีไบเดน และเดโมแครต ซึ่งจะต้องให้ความรู้และความมั่นใจกับประชาชนในการยอมไปฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งเพราะตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ทรัมป์ไปลดบทบาทขององค์กรที่ให้ความรู้ด้านสาธารณสุขกับประชาชน

นอกจากนี้ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐจากทั้งสองพรรคก็ประกาศเข้าร่วมการรณรงค์ที่จะฉีดวัคซีนต่อสาธารณะเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนของเขา และมีการพยายามใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อให้ประชาชนยอมที่จะเข้าร่วมกับการป้องกันโควิดผ่านการฉีดวัคซีนด้วย

ส่วนในกรณีของประเทศไทยนั้น อาจจะไม่เหมือนกับสหรัฐอเมริกานัก เพราะระบบสาธารณสุขของเรานั้นมีความแข็งแกร่ง และประชาชนก็ตื่นตัวกับเรื่องการป้องกัน และการรอการฉีดวัคซีน แต่ปัญหาไปอยู่ที่ความยังไม่ชัดเจนในเรื่องของตารางเวลาในการฉีด ลำดับความสำคัญในการฉีด จำนวนที่เหมาะสมในการฉีดว่าจะต้องเป็นร้อยละเท่าไหร่ของประชากรจึงจะเกิดผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ การเปิดเผยข้อมูลสาธารณสุขให้กับประชาชน การเลือกชนิดของวัคซีนว่าโปร่งใสไหม เพราะเราเองก็ไม่ได้ผลิตได้เองในช่วงแรก และความเป็นธรรมในการเข้าถึง

อย่างกรณีของการที่ท้องถิ่นนั้นประกาศพร้อมรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีด แม้ว่าอาจจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการหาเสียงไหม แต่ในอีกด้านมันก็สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของท้องถิ่นว่าพวกเขาอาจจะเข้าไม่ถึงการจัดสรรวัคซีนให้กับพวกเขาไหม หากเรายังเป็นประเทศที่มีข้าราชการและกรุงเทพฯเป็นใหญ่และเป็นศูนย์กลางในทุกๆ เรื่องอย่างที่เป็นอยู่

ในส่วนของที่มาและคุณภาพของวัคซีนนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ทั้งประสิทธิภาพ ทั้งข้อมูลที่มีกับความเฉพาะถิ่น และการแบกความเสี่ยงของการพึ่งพาวัคซีนจากแหล่งเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คงต้องอาศัยการหารือและการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจกันภายหลังการถกแถลงกันจากหลายฝ่าย เพราะวิกฤตด้านสุขภาวะในรอบนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

มิพักต้องกล่าวถึงความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและแรงงานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ที่เขาก็มาสร้างความมั่งคั่งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของเรา และควรจะถูกนับให้เป็นพลเมืองทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างน้อย

การทำความเข้าใจกับการเมืองเรื่องวัคซีนนั้นอย่างน้อยน่าจะทำให้เราเห็นคุณค่าเรื่องประชาธิปไตย และเรื่องของความมั่นคงทางสาธารณสุขที่อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกับความมั่นคงแห่งชาติแบบที่เราเคยผ่านกันมา และนี่คือโอกาสที่ดีที่เราจะเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image