7 วันรัฐประหารเมียนมา ดุลยภาค ปรีชารัชช “เสียดาย แต่ไม่เกินความคาดหมาย”

เป็นเวลา 1 สัปดาห์พอดี นับแต่เกิดรัฐประหารในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ก่อนหน้านั้นไม่กี่สิบชั่วโมง กองทัพยังปฏิเสธเสียงแข็ง

มีการจับกุมนักการเมือง นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย รวมถึง ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)

ตัดการสื่อสารในโลกออนไลน์ รวมถึงสื่อโทรทัศน์ นำมาซึ่งการถูกประณามจากทั่วโลก บุคลากรทางการแพทย์ในนครย่างกุ้งและพื้นที่ต่างๆ ติดโบแดงประท้วง ดาราหนุ่มสาวชาวพม่าโพสต์ภาพชู 3 นิ้ว ชาวบ้านแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเคาะหม้อสนั่น

กลุ่มชาติพันธุ์ออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน ตีตกกระแสข่าวจากบางกลุ่มในไทยว่าเห็นด้วยกับรัฐประหารเพราะไม่โอเคกับการทำงานของซูจีและพรรคเอ็นแอลดี

Advertisement

ในอีกด้านชาวเมียนมากลุ่มหนุนรัฐประหารก็ออกมาแสดงตัวบนท้องถนน

หันมาดูความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ แม้อดีตเคยกรำศึกพม่ารบไทย ทว่า ในมิติการเมืองร่วมสมัย คนไทยออกมา #Saveเมียนมา จุดเทียนไขหน้าสถานทูต บนถนนสาทร ท่ามกลางแฟลชจากมือถือ ชาวพม่าในชุดสีแดงถือภาพพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย พร้อมข้อความ “เราจะไม่ให้อภัยคุณ” ก่อนจุดไฟเผาแล้วย่ำเหยียบด้วยเท้าประชาชนหลายสิบคู่

แม้วันนี้ยังไม่มีเหตุรุนแรง แต่ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตา

Advertisement

“เสียดาย แต่ไม่เกินความคาดหมาย”

คือความรู้สึกของ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองพม่าร่วมสมัย เจ้าของผลงาน “เมียนมา การเมืองการปกครองในระยะเปลี่ยนผ่าน”

“เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.ปัจจัยสะสม คือเมียนมาปกครองด้วยระบอบทหารมายาวนาน ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยแต่ก็ยังควบคุมโดยกองทัพ เพียงแต่ในระยะหลังๆ ฝั่งพลเรือนมีอำนาจมากขึ้น จนกองทัพเริ่มไม่สามารถควบคุมภูมิทัศน์การเมืองได้ถนัดมือนัก 2.ปัจจัยกระตุ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากประชาชน จนทำให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USPD) ที่หนุนโดยกองทัพไม่สามารถสู้ได้ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นั่นทำให้กองทัพจำเป็นต้องตัดวงจรไม่ให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยสามารถสยายปีกได้ต่อไป ด้วยการสร้างรัฐทหารชั่วคราว จับกุมผู้นำ และประกาศสภาวะฉุกเฉิน”

ไม่เพียงด้วยความเป็นเพื่อนบ้านชิดใกล้ ทว่า เพราะความคล้ายคลึงกันของสถานการณ์ทางการเมืองในการต่อสู้ระหว่างปีกประชาธิปไตยกับฟากฝั่งเผด็จการ ยิ่งทำให้คนไทยหันมาให้ความสนใจเกาะสถานการณ์อย่างติดหนึบ

วินาทีแรกที่รู้ว่ารัฐประหารเกิดในเมียนมา

ตอนนั้นตื่นมา 7 โมงเช้า มีลูกศิษย์ที่เป็นคนพม่าแชตหาทางเฟซบุ๊ก ว่า อาจารย์ ข่าวร้ายมาแล้ว มิน อ่อง ลาย ยึดอำนาจ แล้วบอกว่าสัญญาณไม่ค่อยดี ส่งข่าวได้แค่นี้ เหมือนในหนังเลย หลังจากนั้น ผมก็ไปค้นข้อมูล สอบถามเครือข่ายเพิ่มเติม ได้ความชัดเจนยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง หลังจากนั้นคณะรัฐประหารก็ออกแถลงการณ์ในทีวี ในสื่อที่เขาคุม เบื้องต้นวันนั้นเลยเท่าที่ได้ยินคือ ขอเวลา 1 ปี จะดูแลทุกอย่าง แล้ว มินต์ ส่วย ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี หลังจากนั้นได้ข่าวว่ามีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน ถ่ายโอนอำนาจให้ มิน อ่อง ลาย บริหารจัดการ

แต่ถามว่าเกินความคาดหมายหรือเปล่า มีคนเคยถามเหมือนกันว่าจะมีรัฐประหารในเมียนมาไหม ผมก็บอกว่า 50/50 แต่อย่าประมาท เพราะเห็นเค้าลางการกระตุกอำนาจ การอารมณ์เสียของกองทัพอยู่เป็นระยะๆ แล้วในช่องของกฎหมายมันเปิดโอกาสให้ทำได้ด้วย เลยไม่ได้ตกใจเท่าไหร่ แต่ก็เสียดายที่ 10 ปีมาแล้วที่เมียนมามีประชาธิปไตยภิวัฒน์ สุดท้ายก็ถอยหลังเข้าคลอง

คนยั่วล้อความเป็นฝาแฝดระหว่างไทยกับพม่า ในแง่การเมือง มองความเหมือนต่างอย่างไรบ้าง

ไทยกับเมียนมาอยู่ในช่วงที่เผด็จการกับประชาธิปไตยทั้งจำเป็นต้องอยู่ด้วยกันกับทั้งประจัญหน้า ปะทะ ขับหน่วง ตีโต้กันไปมา 2 ประเทศนี้เป็นรัฐที่ทหารยังแยกออกจากการเมืองเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ ทหารต้องมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะฉะนั้นไทยกับเมียนมาเป็นฝาแฝด ที่เป็นคู่เทียบกันหลายประเด็นในการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยและถอยกลับสู่เผด็จการ

เอาง่ายๆ เลย ในปี 2010-2011 มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ ใครจะรู้ว่าประเทศที่เผด็จการครองรัฐมากว่า 50 ปี จะตัดสินใจกดปุ่มให้มีการเลือกตั้งเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยที่กองทัพยังมีมีอิทธิพล แต่ใครจะรู้อีกละว่าในปี 2015-2016 พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นคลื่นประชาธิปไตยที่สำคัญ

สำหรับในเมืองไทย ปี 2014 ไทยมีรัฐประหาร คสช.ยึดอำนาจ ถอยกลับสู่เผด็จการ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาขณะที่เมียนมาเป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตยที่มีลักษณะของประชาธิปไตยเยอะนิดหนึ่ง บ้านเรามีการจัดให้มีการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลผสมในระบอบผสมมากขึ้น แต่วันจันทร์ที่ผ่านมากลายเป็นว่าเมียนมา ถอยคืนสู่เผด็จการอย่างเด่นชัด เพราะฉะนั้นก็เป็นคู่เทียบซึ่งน่าวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง

ส่วนภูมิทัศน์เมือง การประท้วงของผู้คน ผมคิดว่าการออกแบบผังเมือง ม็อบบ้านเราเวลาประท้วงที่กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จไม่ใช่น้อยในการปิดล้อมสถานที่ราชการ ในการให้ประชาชนปิดถนน แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในเมียนมาตั้งแต่ ค.ศ.1988 แล้ว ที่มีฝูงชนจำนวนมากลุกฮือต่อต้านเผด็จการ ในช่วงนั้นภูมิทัศน์เมืองของย่างกุ้งคล้ายๆ กับกรุงเทพฯ ประชาชนจำนวนมากปิดล้อมสถานที่ราชการ รัฐบาลทหารในช่วงนั้นก็สามารถรอดพ้นจากภาวะเสี่ยงดังกล่าวได้ หลังจากนั้นมีการปรับภูมิทัศน์เมืองย่างกุ้ง เช่น แยกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยย่างกุ้งออกไปชานเมือง เพื่อไม่ให้พลังนักศึกษารวมกับพลังประชาชน มีการสร้างสะพานลอยมากขึ้นแล้วส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปยืนคุมข้างบนเพื่อดูการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่สุดท้ายเขาก็คิดว่ายังไม่พอ ทางที่ดีคือการสร้างผังเมืองใหม่ที่กรุงเนปยีดอ อะไรที่ลับ ลวง พราง จุดยุทธศาสตร์สำคัญอยู่ตรงไหน กองทัพรู้หมด ประชาชนทำร้ายกองทัพได้ยากเพราะมีศูนย์กลางอำนาจที่ห่างไกลออกไป คือฟากตะวันออกเฉียงเหนือติดเขตภูเขา มันแยกขาดกัน เพราะฉะนั้นในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นการป้องกันการลุกฮือของประชาชน กองทัพเมียนมาออกแบบตรงนี้ไว้หลายปีแล้ว

ผลกระทบต่อไทย โดยเฉพาะสถานการณ์ในตะเข็บชายแดนที่เกี่ยวพันกับกระบวนการสันติภาพ

อย่างแรกเลยคือ ดูความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ เพราะเมียนมาจะมีการเปลี่ยนรูปโฉม ครม. ซึ่งคิดว่ารัฐบาลจะมีขนาดเล็กลง ไส้ในจะเป็นชนชั้นนำทหาร ผมคิดว่าหน้าตาที่ออกมาคือรัฐบาลที่มีไส้ในเป็นชนชั้นนำทหารหรือเป็นอดีตทหารเก่า มีเทคโนแครต มีนักวิชาการ มีอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยูเอสพีดีก้าวเข้ามาเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน

ที่ผ่านมาเมียนมามีรัฐบาล 2 ระดับขึ้นไป คือรัฐบาลระดับสหภาพที่กรุงเนปยีดอ และรัฐบาลระดับมลรัฐ มีมุขมนตรี มี ครม. แต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นล่าสุด มีการจับกุมบุคคลพวกนี้ เลยไม่แน่ใจว่าช่วงชั้นของรัฐบาลใหม่จะมีชั้นระดับมลรัฐหรือเปล่า หรือถ้ามีก็ต้องเป็นคนของกองทัพที่ส่งเข้าไปควมคุมสั่งการ นี่คือจุดเปลี่ยน

จากประเด็นข้างต้น รัฐบาลไทยต้องเตรียมการหรือระมัดระวังจุดไหนเป็นพิเศษหรือไม่

การกระชับหรือสานต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระดับรัฐต่อรัฐ ตัวรัฐบาลมีความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นฝ่ายไทยก็ต้องปรับนโยบาย สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับผู้นำหน้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แต่คนที่เป็นหัวใจคือสุดยอดผู้นำในการรัฐประหาร คือ นายพลมิน อ่อง ลาย นี่คือผลกระทบในแง่ความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล

ส่วนความสัมพันธ์ระดับแนวตะเข็บชายแดน คิดว่ามีภาวะเสี่ยงอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมา เมียนมามีข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติ มีการคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมุ่งสู่การพัฒนาสหพันธรัฐประชาธิปไตย แต่ตอนนี้กลุ่มชาติพันธุ์เริ่มลังเลแล้วว่าเส้นทางสันติภาพจะไปอย่างไร แล้วกองทัพซึ่งในอดีตมีโลกทัศน์ที่หวาดระแวง กลัวกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธว่าสัมพันธ์กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน หวาดกลัวสหพันธรัฐว่าถ้าให้อำนาจกับดินแดนต่างๆ มากเกินไป เดี๋ยวเมียนมาจะเป็นแบบอดีตสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวีย เพราะฉะนั้นในโลกทัศน์ชนชั้นนำทหาร

เมียนมา ต้องการรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ ผมคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็อาจจะกระอักกระอ่วนใจ และในสภาวะฉุกเฉินแบบนี้ หากกลุ่มรัฐบาลใหม่กองทัพเมียนมากับชาติพันธุ์บางกลุ่มคุยกันไม่ลงตัว การปะทุของเกมสงครามเกิดขึ้นง่ายๆ อยู่แล้ว

นี่คือผลกระทบเหมือนกันว่าตามแนวตะเข็บชายแดนไทย เราต้องรองรับกับฉากทัศน์แบบนี้ด้วย เพราะรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา ก็ยังมีกองกำลังติดอาวุธที่เจรจาหยุดยิงกับกองทัพและรัฐบาลเมียนมา แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่ ทหารมีบทบาทมากขึ้น ไม่รู้ว่าเกมจะออกหัวออกก้อยอย่างไร การตรึงกำลังตามแนวชายแดน การเตรียมรองรับการอพยพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาจมีการสู้รบเกิดขึ้น หรือกลุ่มนักการเมืองที่ถูกกดปราบ อยากจะลี้ภัย เราก็ต้องจับตาดู แต่ผมไม่คิดว่าน่าจะเกิดในลักษณะที่เป็นคลื่นทะลักขนานใหญ่ รัฐบาลใหม่น่าจะพยายามคุมสถานการณ์และปิดเกมได้เร็ว ต้องจับตาดูว่าบุคคลที่เขาจับกุมอยู่ทุกวันนี้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว มีแหล่งข่าวบอกมาว่าเริ่มปล่อยให้บางคนกลับบ้านได้

ชะตากรรมซูจี โดยเฉพาะในวันที่โลกไม่ได้รักเท่าเดิม ถึงขนาดเคยถูกทวงคืนรางวัล จะส่งผลในด้านใดหรือไม่

ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะซูจีเป็นหัวนำ เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตยภิวัฒน์ในเมียนมา กระแสซูจีตก เพราะ 2 เรื่อง 1.โรฮีนจา 2.สถานภาพที่ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกต่อไป มีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาล และต้องรอมชอมกับกองทัพในบางประเด็น ทำให้ชื่อเสียงภาพพจน์ได้รับแรงกดดัน แต่ตอนนี้ผมคิดว่าคะแนนสงสาร เห็นใจ ในแง่ที่ว่าไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไรก็พยายามจะดันประชาธิปไตยภิวัฒน์ให้งอกงามในเมียนมา แต่ถูกจับกุมไป ก็น่าลุ้นต่อว่าถ้าถูกปล่อยตัวออกมา จะเป็นอย่างไร จะยังใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างคล่องแคล่วหรือจะถูกจำกัดพื้นที่ แพลตฟอร์มในการใช้นวัตกรรมพวกนี้หรือไม่

คนที่ถูกจับกุมครั้งนี้ก็น่าจะถูกกักขังมิใช่น้อย แต่สำหรับซูจี น่าลุ้นว่ากักขังที่บ้านที่กรุงย่างกุ้ง หรือบ้านพักอีกแห่งหนึ่งที่กรุงเนปยีดอ ถ้าเป็นอย่างหลัง กองทัพสะดวกในการควบคุม ฝูงชนจะเข้ามาช่วยไม่ง่ายเท่าย่างกุ้ง นี่คือจุดต่าง

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีก 1 ปี แนวโน้มมีแวว “อยู่ยาว” คล้ายๆ ไทยแลนด์หรือไม่

เรื่องกรอบเวลา 1 ปีมีในรัฐธรรมนูญเมียนมา มาตรา 417 ซึ่งให้ไว้ว่าถ้าประธานาธิบดีประกาศสภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ถ่ายโอนอำนาจให้กองทัพเมียนมา สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อยู่ใต้การควบคุมของกองทัพเป็นหลัก มันจะมีระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ยังสามารถขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน แต่ถ้าจะเกินกรอบเวลาดังว่าอีก ก็จะต้องไปคุยกันสภากลาโหม ซึ่งกองทัพคุมอิทธิพลมากกว่าพลเรือนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่างไรเสีย กองทัพก็ได้เปรียบในการเล่นเกมกระตุกอำนาจให้ฝ่ายทหารมีพลังขึ้นมาห้วงสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้

ท่าทีสหรัฐที่ ไบเดนออกมาขู่คว่ำบาตร รอบ 2 คิดว่ากองทัพเมียนมาจะแคร์ไหม ทางออกเป็นอย่างไร

ด้วยหลักปฏิบัตินโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ต้องทำแบบนั้น คือกดดันให้เมียนมาเร่งเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว คืนความเป็นธรรมให้คนที่ถูกจับกุม แต่ที่ผ่านมา แม้กระทั่งแนวโน้มในปัจจุบันและอนาคต ก็น่าเชื่อว่าคนที่ก่อรัฐประหาร เขาคิดแล้วว่าต้องเจอแรงกดดัน จากมหาอำนาจตะวันตก จากสหประชาชาติ สหภาพยุโรป แน่นอนว่าเขาต้องเล็งไปหามหาอำนาจอื่นๆ ที่ไม่แคร์กิจการภายใน เรื่องระบอบการเมือง แบบไหนก็ได้ขอให้มีผลประโยชน์มาแลกเปลี่ยน รัสเซีย จีน บางประเทศในเอเชีย ในอาเซียน กลุ่มประเทศพวกนี้ก็พร้อมที่จะอุ้มชูรัฐประหาร

เมียนมาเองก็รู้ว่า สหรัฐคงไม่กล้ากดดันขนานใหญ่อย่างรุนแรงเพราะ 1.เขาประกาศเวลา 1 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2.เขาเตรียมพันธมิตรทางการเมือง ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เช่นปรับสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น ถ้าสหรัฐกดดันมาก เดี๋ยวก็สไลด์ไปหาจีน สหรัฐจะทำอย่างไร ภาวะกระอักกระอ่วนใจแบบนี้ คว่ำบาตรก็คว่ำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งสหรัฐก็เคยเจอมาแล้วในยุคตาน ฉ่วย ซึ่งโยกเข้าหาจีน แม้กระทั่งอินเดีย รัฐประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ก็ยังไม่กดดันนายพลพม่าในอดีตเลย เขามองภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญกว่า

ถ้าให้คาดการณ์ผลกระทบหรือสถานการณ์ความขัดแย้งในอนาคตแบบเลวร้ายที่สุด จะเกิดอะไรขึ้นกับเมียนมา

อาจจะเป็นการลุกฮือของประชาชน อาจมีปัญหาความไม่สงบ การประท้วง การปฏิวัติโดยกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่มันก็จะเข้าหมวดหมู่ของการประกาศภาวะฉุกเฉินอยู่ดี เดี๋ยวก็มีการขยายเวลาต่อถ้ามีเหตุจลาจล เหตุไม่ชอบมาพากล

อย่างไรก็ตาม อยากชวนทำความเข้าใจจุดเด่นของรัฐเมียนมาว่าก่อนเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย ทหารเมียนมาได้ทำสงครามแล้วประสบความสำเร็จในการสร้างเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัย ขยายแขนขาขององค์กรทหารในพื้นที่ต่างๆ อำนาจรัฐทหารเมียนมาไต่ระดับจากลุ่มอิระวดีขึ้นไปสู่ที่ราบสูงฉาน ในเขตภูเขาคะฉิ่น ขยายจำนวนกองทัพภาคทหารบกอย่างต่อเนื่องและ ณ วันนี้เมื่อเกิดรัฐประหาร เห็นได้เลยว่ามีการใช้โครงสร้างรัฐทหารบกแบบนี้ในการยึดอำนาจ ซึ่งน่าจะเป็นการยากที่จะออกมาต่อกรกับทหารในระยะยาว เพราะมีเมืองยุทธศาสตร์ทหารแพร่ไปทั่วประเทศ ผมคิดว่าพลังประท้วงของประชาชน แรกๆ อาจจะมี แต่ถ้าสู้ระยะยาวอาจถูกกองทัพล้อมปราบได้

เทียบบทเรียนรัฐประหารไทย-พม่า และทำนายอนาคต

สถานการณ์ที่น่าจะเลวร้ายในเมียนมาอีกอย่างหนึ่ง อยากเทียบสถานการณ์นั้นให้เข้าบริบทการเมืองไทย ซึ่งการย้อนไปดูรัฐประหารในบ้านเราในอดีตอาจเห็นต้นเหตุและผลกระทบที่เทียบเคียงในการทำนายอนาคตเมียนมาได้บ้าง ไม่มากก็น้อย มีรัฐประหารในไทยอย่างน้อย 2 เหตุการณ์สำคัญ คือรัฐประหารช่วงต้นปี 2491 กับรัฐประหารโดยคณะ รสช. ที่ล้มชาติชาย ชุณหะวัณ ผมคิดว่ามูลเหตุของ รสช.2534 น่าสนใจ เพราะมองว่ารัฐบาลชาติชายทุจริต คอร์รัปชั่น เป็นเผด็จการในรัฐสภา แม้ว่าจะอ้างเป็นประชาธิปไตยแต่โครงสร้างการครอบงำอำนาจในสภามีลักษณะเป็นเผด็จการ ซึ่งเปรียบเทียบกรณีของ

เมียนมา จะให้ความรู้สึก โทน เรื่องเล่าที่ดูคล้ายๆ กัน คือ มิน อ่อง ลาย ออกมาพูดถึงการทุจริตเลือกตั้ง การไม่ชอบมาพากลต่างๆ รวมถึงภาวะเผด็จการรัฐสภา ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยพหุพรรค แล้วตีประเด็นไปว่าเอ็นแอลดีครองทุกอย่างในสภา เพราะนั้นยูเอสดีพี กองทัพ หรือพรรคอื่นๆ กลายเป็นเสียงส่วนน้อย

ถามว่าจบอย่างไร กรณีไทย พอ รสช.ยึดอำนาจ ก็ตามมาด้วยพฤษภาเดือดในปีถัดมา เป็นการประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจการเข้ามาต่อท่ออำนาจของกองทัพในทางการเมือง มันอาจจะมีอะไรคล้ายๆ กันอย่างนี้ก็ได้ในเมียนมา

อีกเหตุการณ์ที่น่าเทียบเคียงคือรัฐประหาร 2491 เป็นช่วงที่ควง อภัยวงศ์ ถูกจับกุม มีกองกำลังที่เข้าไปจับกุมกลุ่มวีไอพีต่างๆ อย่างรวดเร็ว คณะก่อการโอนถ่ายอำนาจให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม

มูลเหตุ ลักษณะการทำรัฐประหาร ผลกระทบจากการทำรัฐประหาร ถ้าเอาพม่าเทียบไทย เหตุการณ์ รสช.ก็ดี เหตุการณ์ยึดอำนาจถ่ายโอนให้จอมพล ป.ก็ดี เป็นตัวแบบ เป็น “มหเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์” ที่ใช้เปรียบเทียบพลวัตประชาธิปไตยภิวัฒน์กับเผด็จการภิวัฒน์ในเมียนมาได้

ชีวิตเข้มข้นของลูกผสม ‘พหุชาติพันธุ์’

ไม่เพียงนั่งเก้าอี้นักวิชาการรุ่นใหม่ผู้ศึกษาเจาะลึกถึงประเด็นการเมืองร่วมสมัยในภูมิภาคอุษาคเนย์อย่างลึกซึ้ง ทว่า ดุลยภาค ปรีชารัชช ยังเป็นตัวอย่างอันดีของพหุชาติพันธุ์ตัวจริง เนื่องด้วยคุณปู่เป็นคนไทยเชื้อสายอินเดีย เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คุณย่าเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ส่วนคุณตาคุณยาย มีเชื้อสายลาว ญวณ มอญ

“พหุวัฒนธรรมเลยครับ” เจ้าตัวกล่าวก่อนหัวเราะเบาๆ

อดถามไม่ได้ว่า แล้วนามสกุลที่ฟังดู “ไทยๆ” อย่าง “ปรีชารัชช” มาจากไหน ?

คำตอบคือ ปรับจากสกุลเดิมว่า PILAY

เติบโตมาในบ้านเก่าแก่อายุครึ่งศตวรรษในย่านสุขุมวิท มีน้องสาว 1 คน เคยเล็งเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง อยากพัฒนาชนบท เพราะดูละครที่พระเอกเป็นปลัดอำเภอ ไปพบรักลูกสาวกำนัน แต่สุดท้ายเปลี่ยนใจ เข้าเรียนด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รั้วเกษตรศาสตร์

หลังจากนั้นได้ทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ เรียนหลักสูตรนานาชาติหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการย้ายเมืองหลวงของพม่าจากย่างกุ้งไปเนปยีดอโดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และ อาจารย์พรพิมล ตรีโชติ เป็นที่ปรึกษาหลัก

เมื่อเรียนจบ ไปสอนที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ราวปีนิดๆ แล้วมาสมัครเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จากนั้นได้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง ด้านรัฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบ แต่ไปค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา สังกัด Kahin Center ซึ่งเป็นศูนย์อุษาคเนย์ศึกษาชั้นนำระดับโลก ได้พบ ศาสตราจารย์ ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ดุลยภาค ยังเล่าถึงช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งของชีวิต ในช่วงทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก โดยขณะนั้นเพิ่งกลับจาก ม.คอร์แนล มาลงพื้นที่ภาคสนาม ชายแดนไทย-พม่า พอดีกับที่คุณแม่ล้มป่วยจากโรคมะเร็งปอด จึงตัดสินใจเช่าหอพักย่านรังสิต เพื่อดูแลระหว่างที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็เขียนวิทยานิพนธ์ข้างเตียง

“ช่วงหลังคุณแม่พูดไม่ได้ ท่านส่งเสียงมา ผมก็เข้าไปจับมือ เฝ้าแม่ไป พิมพ์วิทยานิพนธ์ไป คิดว่าถ้ามัวร้องไห้ ไม่จบ ป.เอกแน่ จึงพยายามบริการจัดการจนสำเร็จ คือเรื่อง การเมืองว่าด้วยสหพันธรัฐนิยม ในเมียนมาระยะเปลี่ยนผ่าน กำลังเตรียมพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ ส่วนหนังสือภาษาไทยที่ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2563 ใช้ข้อมูลส่วนหนึ่งจากในนั้นสกัดออกมา”

เป็นชีวิตเข้มข้นไม่แพ้ตัวอักษรในผลงานวิชาการของตัวเองซึ่งไม่เพียงโดดเด่นด้วยเนื้อหา แต่ “สำนวนภาษา” ก็มีเอกลักษณ์ ทั้งด้วยคำศัพท์บัญญัติใหม่และการพรรณนาอย่างสละสลวย เนื่องด้วยชอบฟังเพลงไทยโบราณและดูหนังย้อนยุค

“ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลงไทยโบราณ ตั้งแต่ลาวดวงเดือน ลาวคำหอม จนถึงสุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร ทุกวันนี้ยังฟังอยู่ มีภาษาของเพลงที่พัฒนาจากกาพย์กวีที่สละสลวย บางทีไปดูหนังไทยย้อนยุคบ้าง เรื่องกากี ยุคอำภา ภูษิต ทูน หิรัญทรัพย์ มีถ้อยคำรื่นหู พอเราจำได้ก็เอามาผสมกับคำวิชาการ โดยพยายามแกะความหมายจากภาษาอังกฤษ ผสมกับคำไทยในกาพย์กลอน เพลง กลายเป็นคำที่ฟังติดหู”

ไม่เพียงบทบาทนักวิชาการ ดุลยภาคยังมุ่งมั่นบริหารจัดการไร่ PILAY FARM ซึ่งตั้งตามชื่อสกุลเดิม

“คุณพ่อซื้อไร่ที่อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ ไว้หลายสิบปีแล้ว ผมก็เข้าไปทำไร่ข้าวโพด เพราะภูมิอากาศดี มีลำห้วยไหลผ่าน อยู่ในติ่งปลายสุดของมวลเขาสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยากทำน้ำข้าวโพด ปลูกเก๊กฮวย ปลูกองุ่นบ้างเล็กๆ น้อยๆ

แต่มีทุนจำกัด เลยทดลองในพื้นที่เล็กๆ ไปก่อน (ยิ้ม)”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image