คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ปืนกับประชาธิปไตย ในสงครามย้อนยุคที่เมียนมา

REUTERS/Chalinee Thirasupa

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ปืนกับประชาธิปไตย ในสงครามย้อนยุคที่เมียนมา

แม้หลายคนที่คร่ำหวอดอยู่กับการเมืองในเมียนมาจะไม่แปลกใจเท่าใดนักกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่การบุกเข้าควบคุมตัวแกนนำคนสำคัญของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) อย่าง อู วิน มิน ประธานาธิบดี และออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของกองทัพ ปลดพ้นตำแหน่งก่อนที่จะยึดอำนาจ ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างแรงกระเพื่อมสูงยิ่งสำหรับประชาคมระหว่างประเทศ

เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เมียนมายังจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติมากอย่างยิ่ง

ข้ออ้างหลักที่กองทัพเมียนมาใช้เพื่อการยึดอำนาจครั้งนี้ก็คือ เกิดปัญหาการโกงการเลือกตั้งขึ้นอย่างกว้างขวางจนก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในประเทศ

กองทัพ ซึ่งมีสถานะเป็นผู้คุ้มครองความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศจึงจำเป็นต้องยึดอำนาจ เข้าควบคุมสถานการณ์ตามความที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ตัดสินใจว่าเกิดสถานการณ์ความแตกแยกในประเทศขึ้นมากเพียงพอต่อการส่งมอบอำนาจทั้งหมดคืนให้กับกองทัพ

Advertisement

เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตราที่ 40 (ซี) ดังกล่าวนั้น ก่อนการประกาศภาวะฉุกเฉินเพียงไม่กี่นาที จึงมีการแต่งตั้งรองประธานาธิบดีมิน ส่วย อดีตนายทหารยศนายพล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี “รักษาการ” เพื่อให้มีอำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉิน

และโอนอำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศมามอบให้อยู่ในมือของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ในที่สุด

เหตุการณ์การยึดอำนาจรัฐครั้งนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “จุดแตกหัก” หลังจากเกิดความตึงเครียดระหว่างกองทัพเมียนมา กับรัฐบาลเอ็นแอลดี ที่ยิ่งนานวันยิ่งยกระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังการเลือกตั้งในพม่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเป็นต้นมา

Advertisement

การเลือกตั้งที่ผู้สมัครของพรรคเอ็นแอลดีสามารถครองชัยชนะได้มากถึง 83 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งในสภาที่เปิดให้มีการแข่งขันกันได้ ในขณะที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) พรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพเต็มตัว ได้ที่นั่งในการเลือกตั้งน้อยกว่าที่พรรคและกองทัพคาดหมายเอาไว้มาก เพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในการเลือกตั้งทั้งหมดเท่านั้นเอง

ยูเอสดีพีประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและกล่าวหารัฐบาลเอ็นแอลดีว่าสมคบกับคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (ยูอีซี) โกงการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ครองอำนาจต่อเนื่องต่อไป

ข้อกล่าวหาของยูเอสดีพีมุ่งเน้นไปที่ความผิดปกติในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของยูอีซี โดยชี้ให้เห็นว่ามีการจัดทำรายชื่อซ้ำซ้อน, มีการเปิดโอกาสให้บุคคลใช้บัตรประชาชนเดียวกันลงคะแนนเสียง, มีการเปิดให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนซ้ำ, หรือปล่อยให้ใช้สิทธิโดยไม่ตรวจสอบเอกสารประจำตัวใดๆ, และสุดท้ายก็คือ มีการจัดทำบัตรประจำตัวปลอมขึ้นเพื่อนำมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ยูเอสดีพียื่นร้องค้านผลการเลือกตั้งและร้องเรียนความผิดปกติในการเลือกตั้งถึงกว่า 1,200 คำร้องไปก่อนหน้านี้ ทั้งต่อยูอีซี และต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อปราศจากการตอบสนองอย่างจริงจังใดๆ ยูเอสดีพีออกมาเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาจัดการเรื่องนี้

กองทัพเมียนมาไม่เพียงรับลูกจากยูเอสดีพีเท่านั้น ยังขยายการสอบสวนกว้างขวางออกไปจากพื้นที่ที่มีการร้องเรียนอีกด้วย ราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าเกิดการยึดอำนาจ กองทัพก็สร้างความตกตะลึงให้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ

เมื่อพลตรี ซอ มิน ตุน โฆษกของกองทัพ ออกมากล่าวอ้างว่า พบคะแนนเสียงจากบัตรเลือกตั้ง “ผิดปกติ” ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถึง 8.6 ล้านใบ

ยูอีซีแถลงตอบโต้แทบในทันทีทันควัน เหมือนอย่างที่เคยยืนยันเรื่อยมาตลอดหลังการเลือกตั้งว่า ยูอีซีตรวจสอบแล้วไม่เคยพบว่ามีความผิดปกติในการเลือกตั้งมากมายถึงขนาดนั้น ที่สำคัญก็คือ ความผิดปกติในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ถึงอย่างไรก็ไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

คำชี้แจงของยูอีซีย้ำด้วยว่า องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง ซึ่งมีทั้งที่เป็นองค์กรท้องถิ่นและองค์กรอิสระจากต่างประเทศ ยืนยันตรงกันว่า แม้จะมีความผิดปกติอยู่บ้างในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ก็น้อยมาก โดยรวมแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “เสรีและเป็นธรรม” ได้

พลตรี ซอ มิน ตุน แถลงอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ไม่ยอมยืนยันว่า จะไม่เกิดรัฐประหารขึ้น ท่ามกลางข่าวลือสะพัดทั่วประเทศ

กองทัพกับตัวแทนของรัฐบาลเอ็นแอลดีเปิดการเจรจา “ในสถานการณ์วิกฤต” ขึ้นเมื่อ 28 มกราคม ด้วยการยืนกรานให้มีการเลื่อนการเปิดประชุมสภาชุดใหม่สมัยแรกออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเปิดให้มีการ “นับคะแนนเลือกตั้งใหม่” ขึ้นทั่วประเทศ

รัฐบาลปฏิเสธ และยังคงเดินหน้าจัดประชุมสภาต่อไป

กลายเป็นการสร้างความสะดวกให้กับกองทัพในการจัดกำลังทหารเข้าควบคุมตัว แกนนำของรัฐบาลและพรรคเอ็นแอลดีในวันนั้นนั่นเอง

สถานการณ์ในเมียนมาหลังการรัฐประหาร แทบไม่ผิดเพี้ยนกับสภาพการณ์ที่เคยเป็นเมื่อไม่นานมานี้มากนัก กองทัพเข้ามากุมอำนาจสูงสุดในประเทศ ออง ซาน ซูจี ตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของทหารอีกครั้ง และยังคงเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศอยู่ต่อไป

ดูราวกับว่า เมียนมา ถูกย้อนกาลเวลากลับคืนสู่อดีตเมื่อ 10-20 ปีก่อนหน้านี้ยังไงยังงั้น

เมื่อปี 2011 กองทัพเมียนมาภายใต้ พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) สร้างความประหลาดใจให้ทั่วโลกด้วยการเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก

หลายคนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองในเมียนมาครั้งนั้น เกิดจากแรงกดดันจากนานาประเทศที่ต้องการเห็นการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นหลังจากตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหารมาตลอดเกือบครึ่งศตวรรษ

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมากลับเห็นไปในทางตรงกันข้าม ด้วยการชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุหลัก 2 ประการเท่านั้น หนึ่งคือ กองทัพเมียนมา กำลังวิตกกับทิศทางของประเทศ ที่เหมือนเดินเข้าไปอยู่ใต้อุ้งมือของจีนมากขึ้นตามลำดับ หากต้องการเลิกพึ่งพาจีน เมียนมาจำเป็นต้องทำให้การบอยคอตจากโลกตะวันตกยุติลง

เหตุผลถัดมาก็คือ ความเชื่อมั่นที่ว่า กองทัพสามารถคงอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนต่อไปได้ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านการใคร่ครวญอย่างถี่ยิบเพื่อเปิดให้มี “ประชาธิปไตยอย่างมีวินัย” ภายใต้การ “คุ้มครอง” หรือ “กำกับดูแล” ของกองทัพเมียนมา

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมกองทัพเมียนมาจึงสงวนสิทธิในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคง อย่าง รัฐมนตรีกลาโหม, รัฐมนตรีมหาดไทย, รัฐมนตรีกระทรวงกิจการชายแดน และทำไมตำแหน่งราว 1 ใน 4 ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของพม่า จึงต้องมาจากการแต่งตั้งบุคคลที่ถือเป็นตัวแทนของกองทัพ

หลังจากนำพรรคเอ็นแอลดีขึ้นครองอำนาจทางการเมือง จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในปี 2015 ออง ซาน ซูจี กลับไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังในการพลิกฟื้นอำนาจของรัฐบาลพลเรือนให้กลับคืนมา

ทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะถูกกรอบตามรัฐธรรมนูญบีบบังคับเอาไว้ ทำให้ไม่เพียงรัฐบาลเท่านั้น แต่สถาบันประชาธิปไตยทั้งหลายยังคงอ่อนแออย่างยิ่ง

อีกทางหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดส่วนตัวที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อผู้นำสูงสุดของพรรคเอ็นแอลดีไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดก้าวหน้าอย่างที่คาดคิดกัน ไม่เพียงกุมอำนาจเบ็ดเสร็จภายในพรรค ยังเมินเฉยต่อความเห็นต่าง กุมการตัดสินใจสำคัญๆ ของรัฐบาลเอาไว้ในมือตนเอง

ความผิดพลาดที่สำคัญที่สุดของ ซูจี หนีไม่พ้นความคิดที่ว่า รัฐบาลพลเรือนของตน สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ตราบใดที่ยังไม่ “เดินหน้าชน” กับกองทัพแบบตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นที่มาของความพยายามปกป้องพฤติกรรม “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โรฮีนจาในรัฐยะไข่ ในศาลโลก

หรือการหลับตาเพิกเฉยกับความเดือดเนื้อร้อนใจของบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย จนถูกตราหน้าว่าเป็น “ผู้ทรยศ” ที่ “ไม่รักษาสัญญา” ในที่สุด

การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือข้อพิสูจน์ว่า ออง ซาน ซูจี คิดผิดอย่างยิ่งยวด

มิน อ่อง ลาย นายพลเมียนมาที่สืบทอดอำนาจสูงสุดในกองทัพต่อจาก ตาน ฉ่วย คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความผิดพลาดที่ผ่านมาของออง ซาน ซูจี จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้นี้ กำลังครบกำหนดเกษียณอายุในเดือนกรกฎาคมปีนี้ และดูเหมือนมีความหวังเต็มเปี่ยมที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” จากการเสนอชื่อของพรรคยูเอสดีพี บวกกับ ส.ส.แต่งตั้งอีกราว 1 ใน 4 ของสภา

เดวิด แมทีสัน นักวิเคราะห์การเมืองเมียนมา ให้สัมภาษณ์อีโคโนมิสต์ เอาไว้ว่า พรรคยูเอสดีพียิ่งกว่ายินดีที่จะเสนอชื่อ มิน อ่อง ลาย ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เมื่อผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างที่คาด ยูเอสดีพีได้ที่นั่งเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ความผิดหวังและการดิ้นรนเพื่อหาหนทางปฏิเสธผลการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเกิดขึ้นตามมา

นักการทูตตะวันตกผู้หนึ่งบอกว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ถูกทำลายความหวังสูงสุดส่วนตัวไปเพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ในขณะเดียวกัน นายทหารผู้นี้ยังคงรู้สึกได้ถึง “ความจำเป็น” ที่ต้องมีหลักประกันในอนาคตหลังพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นแนวนโยบายที่กำหนดไว้ เสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวทั้งของตนเองและครอบครัว รวมไปถึงหลักประกันต่อความมั่งคั่งที่สั่งสมเอาไว้ตลอดเวลา

เมื่อถูกปฏิเสธตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยผลการเลือกตั้ง มิน อ่อง ลาย ก็ไม่มีแผนสำรองอื่นใดอีก นอกจากยึดอำนาจ

แม้ว่านั่นจะหมายถึงการเริ่มต้นเปิดศึกภายในประเทศกับมวลชนชาวเมียนมา ที่ผ่านการลิ้มลองประชาธิปไตยมาแล้วและไม่ยอมสูญเสียให้กับอำนาจเบ็ดเสร็จอีกต่อไป แม้ต้องเผชิญกับศัตรูสองด้านพร้อมๆ กัน ทั้งทหารทั้งโควิด-19 ก็ตาม

เป็นสงครามภายในของเมียนมาที่นำพาประเทศย้อนกลับไปสู่ยุคเดิมๆ ที่นองเลือดอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image