‘พีระศักดิ์’นำทีม สนช.ลงพื้นที่ชุมพร ชมชาวปากน้ำออกมาใช้สิทธิประชามติอันดับ 1

‘พีระศักดิ์’ นำทีม สนช.ลงพื้นที่ชุมพร ชมชาวปากน้ำออกมาใช้สิทธิประชามติอันดับ 1 เผยจะรับฟังปัญหาของประชาชน เพื่อนำไปสู่การเเก้ไขโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดชุมพร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 พร้อมสมาชิก สนช. และนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.ชุมพร เพื่อพบปะรับฟังความเห็นตลอดจนอุปสรรคในด้านต่างๆ ของพื้นที่ จ.ชุมพร มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคเอกชนและตัวแทนภาคประชาชน กว่า 500 ร่วมประชุม โดยมีนายสมดี คชายั่งยืน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมของจังหวัด ซึ่งได้มีการหารือกับส่วนราชการและประชาชน ซึ่งประชาชนได้สะท้อนปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จเพื่อขอให้ สนช.ช่วยผลักดัน อาทิ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาเกี่ยวกับเอกสารสิทธิที่ดินทำกินของประชาชน ปัญหาการดำเนินโครงการในที่ดินของรัฐ

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ขอชื่นชมการออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติของชาวจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ย ถือว่าจังหวัดชุมพรเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งในการออกมาใช้สิทธิ การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ซึ่งทุกอย่างได้เดินไปตามโรดแมปที่ คสช.วางไว้ โดยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 60 แต่หากเกิดเหตุติดขัดหรือมีปัญหา การเลือกตั้งก็อาจจะเลื่อนไปเป็นต้นปี 61 ขณะที่ สนช.และ คสช.ก็จะพ้นไปประมาณต้นปี 61 เช่นกัน ซึ่งการทำงานของ สนช.ในต่างจังหวัดก็เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมแม่น้ำ 5 สาย ในการรับฟังปัญหาของประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขโดยเร็ว

ด้านนายคำนูณชี้แจงโรดแมปการทำงานก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งว่า ภายหลังจากประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ ขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขบทเฉพาะกาลในส่วนของคำถามพ่วงให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ 3 ประเด็นหลัก คือ ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น กลไกยับยั้งการเกิดวิกฤตประเทศ และการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และภาระงานของ สนช.ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น ในการเตรียมพิจารณากฎหมายลูกรวม 15 ฉบับ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศที่ สปท.จะส่งมาให้ สนช.พิจารณา โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.แผนการปฏิรูปประเทศ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจากนี้ไป ไม่ว่ารัฐบาลชุดใด ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ พร้อมรับฟังความเห็นประชาชนอย่างกว้างขวาง และดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ซึ่งเป็นมิติใหม่ของรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญ 19 ฉบับไม่มีมาก่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image