ดอนเมือง ผุด ‘แท็กซี่ ดรอป เลน’ แก้รถติด คาดแล้วเสร็จ ธ.ค.นี้

ดอนเมือง ผุด ‘แท็กซี่ ดรอป เลน’ แก้รถติด คาดแล้วเสร็จ ธ.ค.นี้

ร.ท.สัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจ้างก่อสร้าง แท็กซี่ ดรอป เลน (TAXI Drop Lane) อาคาร 2 ท่าอากาศยาน ดอนเมือง ว่าโครงการดังกล่าวมีราคากลางอยู่ที่ 48.5 ล้านบาท ซึ่งทอท.ได้เปิดประกวดราคาไปเมื่อเดือนมกราคม 2564 เปิดให้ยื่นเสนอราคา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ และพิจารณาคัดเลือกเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่า บริษัท ศักดิ์ทองพูล จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 44 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง 4.5 ล้านบาท โดย ทอท.เตรียมลงนามในสัญญาจ้างกับบริษัท ศักดิ์ทองพูล ในเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าบริษัทจะเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างทันที ซึ่งผู้รับเหมาจะใช้เวลาในการก่อสร้างรวม 9 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2564

ร.ท.สัมพันธ์ กล่าวว่า สำหรับเนื้องานที่จะมีการดำเนินการ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มช่องจราจร จำนวน 2 เลน เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบริเวณด้านหน้าอาคาร 2 ขาออก 2.การก่อสร้างหลังคาคลุมชานชาลา สำหรับผู้โดยสารลงจากแท็กซี่ยาว ประมาณ 200 เมตร และ 3.ทางเชื่อม พร้อมระบบปรับอากาศและทางเดินเลื่อน กล้องวงจรปิด และสิ่งอำนวยความสะดวก ผู้โดยสารจากชานชาลามายังอาคาร 2 จำนวน 2 จุด(เหนือ-ใต้)

“โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหารถติดบริเวณชานชาลาขาออกชั้น 3 อาคารผู้โดยสารในประเทศได้ เพราะมีการแยกและเพิ่มเลนสำหรับแท็กซี่โดยเฉพาะ ช่วยลดความแออัด และช่องทางเข้าบริเวณชานชาลา และช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถแท็กซี่ ให้เกิดความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น” ร.ท.สัมพันธ์กล่าว

Advertisement

รายงานข่าวจาก ทอท. ระบุว่า ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการที่ ทดม. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้โดยสารภายในประเทศเฉลี่ย 6 หมื่นคน/วัน หรือประมาณ 400 เที่ยวบิน/วัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สนามบินดอนเมืองประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากแท็กซี่ที่เข้ามาส่งผู้โดยสารมีการชะลอรถเพื่อรอรับผู้โดยสารใหม่ ทำให้เกิดปัญหารถติดขัดอย่างหนักบริเวณหน้าชานชาลาขาออก ซึ่งในช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น นั้น การจรจาบริเวณชานชาลามีรถติดยาวสะสมจนถึงทางลงทางด่วนโทลล์เวย์ที่เชื่อมต่อเข้ามายังสนามบินดอนเมือง รวมทั้งบางครั้งเป็นสาเหตุทำให้ผู้โดยสารตกเครื่อง ไปเช็คอินไม่ทันเที่ยวบินอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image