ความรุนแรงของตำรวจ

แนวคิดเรื่องของการปฏิรูปตำรวจในช่วงหลังไม่ค่อยได้มีการพูดกันอย่างเป็นระบบมากนัก เมื่อเทียบกับการอภิปรายเรื่องดังกล่าวในสาธารณะในช่วงของการชุมนุมของ กปปส.เมื่อหลายปีก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของการพูดถึงการใช้ความรุนแรงของการควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ที่บ่อยครั้งมีทั้งภาพ และความกังวลใจว่า ทำไมตำรวจจึงใช้ความรุนแรงในการปราบปราบการชุมนุม หรือควบคุมสถานการณ์ถึงขนาดนั้น

ที่อภิปรายเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ตำรวจนั้นไม่สามารถที่จะใช้กำลังในการบริหารจัดการสถานการณ์เลย หรือต้องรอให้ถูกทำร้ายไปเรื่อยๆ

อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญก็คือ ตำรวจนั้นมีกฎหมายอยู่ในมือ และยังสามารถดำเนินคดีความหลังจากเหตุการณ์การชุมนุมได้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ดูค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับกันได้ในระดับหนึ่ง หากการตัดสินเรื่องราวต่างๆ จะทำในนามของกระบวนการยุติธรรม

Advertisement

แน่นอนว่าในหลายสถานการณ์การชุมนุมนั้นมีความตึงเครียดที่หน้างานอยู่ แต่ลักษณะการไล่ทุบ หรือขยายวงการควบคุมสถานการณ์หลังการยุติการชุมนุม และ การถูกลูกหลงของคนจำนวนหนึ่งนั้นทำให้เราต้องมานั่งคิดกันในหลายๆ เรื่องที่จะต้องเปิดโอกาสให้ตำรวจได้อธิบายด้วย แต่ที่สำคัญก็คือต้องเปิดโอกาสให้ตำรวจได้รับฟังมุมมองในด้านอื่นๆ ของสังคมด้วย

เพราะเรากำลังพูดถึงรัฐของประชาชน ไม่ใช่รัฐตำรวจ

และเมื่อเราพูดถึงเรื่องของรัฐประชาชน สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับตำรวจ ที่ว่าตำรวจนั้นมีกฎหมายในมือ และมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายนั้น เนื่องจากรัฐนี้ไม่ใช่รัฐของตำรวจ เราก็ต้องเข้าใจว่ากฎหมายในมือของตำรวจไม่ใช่กฎหมายของตำรวจ แต่เป็นกฎหมายของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ที่ออกกฎหมายและจะต้องถูกคุ้มครองโดยกฎหมาย

Advertisement

ความสำคัญในเรื่องที่เพิ่งกล่าวถึงนี้เป็นพื้นฐานของหลักการปกครองด้วยกฎหมาย Rule of Law ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการปกครองโดยตำรวจ ดังนั้นหลักการของการใช้กฎหมายในแบบหลักการปกครองด้วยกฎหมาย ที่มักจะชอบเรียกว่า หลักนิติรัฐ-หลักนิติธรรม จึงมีมากกว่าการกำหนดนิยาม และขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายจากฝ่ายตำรวจเท่านั้น

ประการแรก การบังคับใช้กฎหมายที่มักจะอ้างกันโดยตำรวจ และการควบคุมสถานการณ์นั้นไม่ควรเป็นเรื่องเดียวกับความเข้าใจในเรื่อง “การลงโทษ” ในหลักของกฎหมายอาญา เพราะการลงโทษนั้นย่อมจะต้องถูกตัดสินจากองค์กรตุลาการภายใต้กระบวนการที่เป็นกลาง และโปร่งใสตรวจสอบได้ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การลงโทษไม่ควรเป็นเรื่องของตำรวจ

การบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะเหมือนเป็นการลงโทษเอง โดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ นั่นคือ หัวใจสำคัญของรัฐตำรวจ

ตัวอย่างที่ผมนำเรียนนี้ก็คือ หลักการพื้นฐานว่าด้วยเรื่องการลงโทษทางอาญา ที่มีด้วยกันอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ การลงโทษเพื่อการแก้แค้น การลงโทษเพื่อเป็นการข่มขู่ การลงโทษเพื่อเป็นการปรับปรุงแก้ไข และการลงโทษเพื่อเป็นการตัดไม่ให้มีโอกาสกระทำผิดอีก ซึ่งต้องย้ำอีกทีว่า การลงโทษนั้นจะต้องกระทำผ่านการมีขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมอีกมากมาย

ไม่ใช่เกิดการลงโทษ หรือทำให้คนเข้าใจ หรือรู้สึกว่าเป็นการลงโทษ ณ จุดเกิดเหตุ

ประการที่สอง เรื่องที่ต้องคำนึงถึงในการใช้กำลังของตำรวจก็คือ หลักความได้สัดส่วน ซึ่งอาจจะมองอีกด้านว่าเป็นความยุติธรรมภาคปฏิบัติ ซึ่งจะต้องกระทำอย่างเป็นธรรม และอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย รับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน อ้างอิงจากกฎหมายเป็นหลัก ใช้ดุลพินิจเป็นข้อยกเว้น บังคับใช้อย่างเท่าเทียม

การใช้ความรุนแรงโดยตำรวจนั้น บางทีรับรู้กันในนามของ “ความโหดเหี้ยมของตำรวจ” (police brutality) ที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งคำจำกัดความง่ายๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมก็คือ การที่ตำรวจใช้กำลังในการตอบโต้กับการชุมนุม และการชุมนุมประท้วงอย่างรวดเร็ว (เกินไปกว่าวิธีการอย่างอื่น) และมักจะเกิดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตของผู้ชุมนุม มีการใช้กำลังเกินกว่ากฎหมายกำหนด และการใช้กำลังดังกล่าวนั้นอาจไม่ได้นำไปสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากการกระทำดังกล่าวของตำรวจ

กล่าวโดยสรุปความโหดเหี้ยมของตำรวจก็คือ การใช้กำลังที่ละเมิดกฎหมาย และกฎเกณฑ์อีกมากมาย รวมทั้งสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งมีตั้งแต่การกระหน่ำทุบตี การล่วงละเมิดทางด้านความแตกต่างทางสีผิว และความแตกต่างทางสังคมอื่นๆ เช่น เพศสภาวะ การฆ่าโดยผิดกฎหมาย การซ้อมทรมาน และ/หรือการควบคุมฝูงชนโดยใช้การตัดสินใจ และการกระทำตามอำเภอใจ

นักวิชาการบางท่านเห็นว่าบางทีการใช้กำลังที่เกินขอบเขตของกฎหมาย และการใช้กำลังที่โหดเหี้ยมของตำรวจอาจเกิดขึ้นได้จากการที่ตำรวจบางคน หรือในภาพรวมนั้นอาจจะค่อยๆ พัฒนาทัศนคติและความรู้สึกว่าตนนั้นเป็นผู้มีอำนาจและเป็นผู้พิทักษ์สังคม และเริ่มเชื่อว่าตนนั้นมีอำนาจเหนือสังคมและ “ใช้” กฎหมายในการผดุงความยุติธรรม โดยเป็นผู้ตัดสินใจเองในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามหนึ่งในตัวแบบของการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

การใช้กำลังอย่างโหดเหี้ยมของตำรวจนั้น ไม่เป็นไปตามหลักการสากล ซึ่งมีอยู่หลายหลักและหลายประการ แต่มักปรากฏขึ้นเสมอ โดยเฉพาะกับประชาชนที่ไม่มีอาวุธ ส่วนในหลักการของแต่ละประเทศนั้นก็มักจะมีหลักการดังกล่าวอยู่ แต่มักไม่มีการบังคับใช้และส่วนมากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงของตำรวจนั้น มักจะต้องต่อสู้โดยอ้างอิงกับหลักการสากลมากกว่าหลักการในประเทศที่ตนเองได้รับความโหดเหี้ยมรุนแรงมา

และมีการค้นพบว่า ประเทศที่มีการใช้กำลังตำรวจอย่างโหดเหี้ยมรุนแรงนั้น มักจะเป็นประเทศที่ความโหดเหี้ยมรุนแรงในการใช้กำลังของตำรวจไม่ได้เป็นเพียงปัญหาส่วนตัวของตำรวจคนนั้นๆ หรือเป็นปัญหาของระบบตำรวจเท่านั้น แต่เป็นประเทศที่ระบบตำรวจและการใช้กำลังอย่างโหดเหี้ยมของตำรวจนั้นเป็นเครื่องมือในการรักษารัฐบาล และระบอบอำนาจเอาไว้อย่างเป็นระบบเสียมากกว่า

หนึ่งในหลักการสากลในการที่ตำรวจจะทำหน้าที่ท่ามกลางการชุมนุมที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้อธิบายเอาไว้ก็คือ

1.การชุมนุมที่สันตินั้นไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นจากฝ่ายผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ตำรวจจะต้องมีบทบาทหน้าที่ในการทำให้การชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสันติ แน่นอนว่าเมื่อมีความตึงเครียดเกิดขึ้น ตำรวจจะต้องทำให้แรงตึงเครียดนั้นลดลง

2.หากมีผู้ชุมนุมบางรายเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ใช้ความรุนแรง สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นก็คือ การไม่ทำให้การชุมนุมที่สันตินั้นกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่มีความสันติอีกต่อไป ตำรวจจะต้องทำให้ผู้ที่ชุมนุมอย่างสันติสามารถชุมนุมต่อไปได้ (ไม่ใช่เกิดการยุติการชุมนุมด้วยความรุนแรง)

3.การกระทำที่ใช้ความรุนแรงของบางคนบางกลุ่มที่มีจำนวนน้อยไม่สามารถกลายเป็นเงื่อนไขในการอ้างการใช้กำลังในการปราบปรามของตำรวจอย่างอำเภอใจได้

4.หากจำต้องมีการใช้กำลังเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน (รวมทั้งผู้ชุมนุม) ตำรวจจะต้องใช้กำลังให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

5.การตัดสินใจสลายการชุมนุมจะต้องเป็นการตัดสินใจสุดท้าย เมื่อมีการใช้วิธีการอื่นๆ มาหมดแล้ว

6.การใช้แก๊สน้ำตา และน้ำในการสลายการชุมนุมจะต้องใช้เมื่อประชาชนสามารถออกจากพื้นที่นั้นได้ และต้องใช้เมื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการชุมนุมนั้นแพร่กระจาย และวิถีทางอื่นนั้นใช้ไม่ได้แล้ว (“What is Police Brutality?”. Amnesty.org.)

นอกจากนี้แล้ว การไม่มีการเอาผิดอย่างจริงจังต่อการใช้ความรุนแรง และความรุนแรงที่โหดเหี้ยมของตำรวจนั้น อาจเกิดได้ทั้งสองแบบคือ จากการที่สังคมเพิกเฉย หรืออ่อนแอ/อ่อนกำลังในการต่อสู้จนนำเอาเรื่องเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ และก็อาจจะเกิดได้ในอีกกรณีหนึ่งก็คือ ระบบการตรวจสอบเอาผิดนั้นไม่เป็นไปตามหลักการตรวจสอบที่อิสระ เป็นกลาง และเป็นธรรม กล่าวคือ สอบกันเองในหมู่ตำรวจ มากกว่าที่จะใช้องค์กรอิสระ หรือองค์กรที่มีที่มาจากประชาชนในการตรวจสอบ

เราไม่ควรมองว่า การตรวจสอบนั้นเป็นการเอาผิดกับตำรวจ แต่ควรมองว่า มันจะช่วยให้ตำรวจที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อประชาชนและสังคมนั้นมีหลักในการยึดเหนี่ยวในการทำงานในสนาม ไม่เช่นนั้นเขาอาจจะอยู่ในโครงสร้าง และเงื่อนไขมากมายที่จะมีส่วนทำให้การใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตกฎหมาย และหลักการอีกหลายประการอย่างโหดเหี้ยมนั้นเกิดขึ้นและดำเนินต่อไป

และต้องย้ำเช่นกันว่า การไม่ใช้กำลังอย่างเกินขอบเขตและโหดเหี้ยมนั้นเป็นคนละเรื่องกับการไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image