#ทัศนัยเอฟเฟ็กต์ ศึกชิงนิยาม ศิลปะ ความงาม และคำว่า ‘ชาติ’

ไม่ใช่แค่คลิปไวรัลแบบดูเอามันส์แล้วปิดจบดราม่าในเวลา 2 วันอย่างหลายเหตุการณ์ในโลกออนไลน์ ทว่า บานปลายชนิดต้องรอชมกันยาวๆ สำหรับเหตุการณ์ระทึกขวัญในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อันเป็นที่มาของแฮชแท็ก #ทัศนัยปราบมาร และ #ทีม มช. เมื่อคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ผู้ช่วยคณบดี และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเข้าเก็บรื้อถอนงานศิลปะของนักศึกษา ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ยัดใส่ถุงดำ นำไปสู่การโต้เถียงกันอย่างดุเดือด

ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี ตะโกนก้อง ‘ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่ใช่ขี้ข้าใคร’ กลายเป็นวาทะสำคัญในครึ่งแรกของปี ที่ถูกนำไปแชร์ต่ออย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ผลิตซ้ำและสร้างสรรค์ในหลากหลายรูปแบบ ขณะที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งเข้าแจ้งความที่ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ข้อหาแสบและแซ่บ ‘วิ่งราวทรัพย์’ อย่างทันควัน

ตามมาด้วยแถลงการณ์สาดใส่กันไปมาในหลายฟากฝั่ง ไม่ว่าจะเป็น สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก จี้ รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีวิจิตรศิลป์ ให้ชี้แจงประเด็นดังกล่าว และขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมา คณะวิจิตรศิลป์ ออกแถลงการณ์เคลียร์ปมดังกล่าวว่าที่ทำไปนั้นเพราะพบ ‘วัสดุหมิ่นเหม่ ต่อการผิดกฎหมาย’ โดยมีข้อความในวงเล็บด้วยว่า ‘(ธงชาติไทยที่ถูกดัดแปลงและมีข้อความที่ไม่เหมาะสม)’ ตามด้วยแถลงการณ์จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ‘เป็นการกระทำโดยชอบ’

ในช่วงเวลาเดียวกัน นักศึกษายุคนี้ไม่ศิโรราบ นั่งพับเพียบเหมือนทศวรรษก่อนๆ พากันจัดเต็มอีเวนต์หน้าป้ายคณะ นำกระดาษแปะทับตัวอักษรจาก ‘คณะวิจิตรศิลป์’ เป็น ‘ขณะวิจิตรสิ้น’ นำ ‘ขยะ’ ไปทิ้งเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทั้งยังปูเสื่อรอพบผู้บริหารมหาวิทยาลัย ป้ายผ้าต่างๆ ผุดในจุดต่างๆ ในสถาบันการศึกษาเชิงดอยสุเทพ

Advertisement

เช่นเดียวกับสังคมไทยทั้งในและนอกวงการศิลปะ ที่พากันยิงคำถามอย่างหนักหน่วงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า นี่เป็นการคุกคามเสรีภาพทางศิลปะ และนักศึกษาอย่างรุนแรงมิใช่หรือ?

1 สัปดาห์ผ่านไป เกิด ‘เอฟเฟ็กต์’ มากมาย ไม่เพียงวงการศิลปะร่วมสมัย ด้วยประเด็นเกี่ยวพันกับการเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ระบบอุปถัมภ์ และนิยามของคำว่า ‘ชาติ’

แม้แต่ ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องคนดังในฐานะเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ไม่พลาดเข้าแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษนักศึกษาโดยอ้าง ‘พระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522’ ทำนองว่าธงชาติไทยถูกนำมากระทำในลักษณะไม่สมควร

Advertisement

นี่ไม่ใช่ดราม่าแรกในวงการศิลปะร่วมสมัยในราชอาณาจักรไทย แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่สังคมไทยร่วมจับตาในหลากภาคส่วน ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ใช่เพียงเรื่อง ‘ในวงการ’ เฉพาะกลุ่มอย่างที่ผ่านมา

วิวาทะ ‘ศิลปะคืออะไร’
คำถามอมตะ กับทรรศนะ ‘ตามอำเภอใจ’

แน่นอนว่า หลังเกิดเหตุ คำถามแรกๆ ในวิวาทะก็คือ ‘ศิลปะคืออะไร?’ และไม่มีเหตุให้ต้องแปลกใจ เมื่อกลุ่มที่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ จะฟันธงตรงกันว่า ผลงานของนักศึกษาเหล่านั้น ‘ไม่ใช่ศิลปะ’

ข้อสังเกตคือ คำตัดสินที่ว่านี้ มักมีความเกี่ยวพันกับแนวคิดทางการเมืองของผู้ฟันธงเป็นการส่วนตัว แม้ยกตำรับตำราเก่า กระทั่งอ้างคำกล่าว ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เพื่อลากเข้านิยามที่ตัวเองอยากให้เป็น

ผศ.ดร.ทัศนัย เจ้าของคำกล่าวที่ถูกบันทึกไว้แล้วในหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ภาคประชาชนในวันนี้ มองว่า เป็นเรื่องที่ดี สังคมในวงกว้างพูดถึงความหมายของศิลปะกันมากขึ้น แต่จะดีมากขึ้นในทางปฏิบัติ ถ้าหลักสูตรการเรียนการสอนศิลปะในบ้านเมืองนี้ จะบรรจุวิชาปรัชญาศิลป์ ประวัติศาสตร์สุนทรียศาสตร์ สังคมวิทยา มนุษยวิทยาศิลปะ รวมถึงวิชาและประเด็นปัญหาพิเศษอื่นๆ อีกมากมายเอาไว้ และเรียนสอนกันอย่างจริงจัง

“อาจารย์ทุกคนในหลักสูตรต่างๆ ก็จำเป็นต้องเรียนรู้วิชาการเหล่านี้ โดยมีระดับความรู้พอๆ กันด้วย อย่างน้อยเวลาตรวจงานนักศึกษา จะได้มีบรรทัดฐานไปในทางเดียวกัน และรู้ว่าผลงานศิลปะที่นักศึกษาทำขึ้น ซึ่งหลากหลายมากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น เกิดขึ้นจากฐานคิดอะไร ผสมผสานกันอย่างไร หรือถ้าโชคดีมีการทะลุปล้องความคิดไปสู่อาณาบริเวณทางความคิดใหม่ที่น่าสนใจอย่างไร”

ที่มาแฮชแท็กทัศนัยปราบมาร ยังย้ำว่า ปัญหาทุกวันนี้ในสถาบันการศึกษาศิลปะแบบไทยๆ คืออาจารย์ใช้ทัศนคติของตัวเองกันอย่างตามอำเภอใจ ตามรสนิยม ตามจริตที่ตนเองนิยม

“โรงเรียนศิลปะต้องเรียนสอน ฝึกปรือให้นักศึกษาเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ความคิดเหล่านั้น แล้วนักศึกษาจะเลือกด้วยตัวเขาเองตามปูมหลัง หรือความหมกมุ่นที่พวกเขามีไม่เหมือนกัน ส่วนรสนิยมความคิดของอาจารย์ก็แยกย้ายกันเอาไปปฏิบัติให้ออกดอกออกผลที่บ้าน ที่สตูดิโอของตัวเอง ตอนที่ผมสอนบรรยายวิชาการเหล่านั้น มีประเด็น หรือความคิดทางศิลปะมากมายที่ผมไม่ชอบเลย แต่ก็ต้องบรรยายให้นักศึกษาฟังให้เข้าใจ ปัจจุบัน ผมเลิกสอนวิชาเหล่านั้นมาหลายปีแล้ว ถ้าวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์ความคิดในศิลปะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เราก็จะพบว่า ที่พูดๆ กัน หรือเถียงกันตามความเชื่อถือของตัวเองกันทุกวันนี้ เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ น้อยๆ ในแผนที่ความคิดที่อารยธรรมมนุษย์สั่งสมมา แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่นัก ที่แย่คือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเข้าใจว่าเศษเสี้ยวความเข้าใจที่ตนมีคือ ความถูกต้อง” ผศ.ดร.ทัศนัยแสดงความเห็น ดังเช่นที่เคยเป็นมาตลอดมา

เป็นหนึ่งในศิลปินที่เปิดเผยตัวตนชัดเจน ไม่ปิดบังในแนวทางหนุนประชาธิปไตย ส่ายหน้าไม่เอาเผด็จการ ร่วมม็อบใหญ่ในกรุงเทพมหานคร นั่งบนฟุตปาธฟังปราศรัย ลงชื่อในหลายแถลงการณ์ต้านอำนาจนิยม

มหา’ลัยใต้อำนาจรัฐ
‘ชาติ’ ในวัฒนธรรมศักดินา

“เดี๋ยวคุณไปหาเอาเอง ว่าคุณคุยกับใครอยู่นะคะ” คำกล่าวในท่วงท่ากอดอก ของ รศ.อัศวิณีย์ คณบดีวิจิตรศิลป์ ปรากฏในคลิปวันเกิดเหตุ ซึ่งถูกวิพากษ์อย่างกว้างขวาง

คำตอบว่า ‘ใคร’ นั้น ไม่สำคัญเท่าภาพสะท้อนของแนวคิดบางประการ

เช่นเดียวกับการเน้นย้ำของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่บอกว่า ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรหรือใครก็ไม่ว่า รับได้ แต่ถ้าไปแตะในบางประเด็น ‘ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากต้องดำเนินการ’ เพราะทำผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ และผิดจรรยาบรรณอาจารย์ เสรีภาพนั้นไม่ว่าที่ไหนในโลกต้องมีขอบเขต ใครที่ต้องการเสรีภาพที่สุดขั้ว ที่มากล้นกว่านี้ ก็ไม่ควรอยู่ในชุมชนมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีใครบังคับให้อยู่ที่นี่

“อาจารย์ส่วนใหญ่พอใจในเสรีภาพวิชาการ แต่อาจารย์ส่วนน้อยนิด ถ้าไม่เชื่อ อยากจะรุกล้ำอะไรมากกว่านี้ ก็เสียใจที่จะบอกว่า ขอให้เตรียมตัวรับผลที่จะตามมาก็แล้วกัน”

เจอแบบนี้เข้าไป รุ่นใหญ่อย่าง ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ต้องออกมาสะกิดแรงๆ ว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกล้าข่มขู่คุกคามเสรีภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างตรงไปตรงมา

“เหมือนกับว่าเป็นการพูดโดยไม่รู้เรื่อง ไม่สำนึกถึงความหมายของมหาวิทยาลัยเลย ทั้งๆ ที่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ควรจะสำนึกว่ามหาวิทยาลัยมีความหมายอย่างไรต่อสังคม เพราะเอนกก็เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ อยู่ในบรรยากาศการสร้างสรรค์สติปัญญามาเนิ่นนาน แต่กลับมากล่าวข่มขู่และคุกคามเสรีภาพ และนักวิชาการอย่างไร้สติปัญญาการพูดที่แสดงว่าเอนกไม่มีความสำนึกสำคัญเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯไปเสียเลยดีกว่า เพราะเอนกกำลังจะใช้อำนาจทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นค่ายกักกันทางปัญญา”

‘สองมาตรฐาน’ ซ้ำซาก
จากชัตดาวน์ กทม.ถึงยุคม็อบราษฎร

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม ท่ามกลางกลุ่มบุคคลที่ก่นด่าธงชาติในงานอาร์ตของนักศึกษา ว่าไม่สมควรนำมาขีดเขียนอย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น ทว่า เมื่อย้อนขุดผลงานของ ผศ.กิตติ มาลีพันธุ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ หนึ่งในทีมรื้อเก็บผลงานนักศึกษา ก็ปรากฏ ‘ธงชาติ’ ที่มีข้อความขีดเขียนหลากข้อความ หนึ่งนั้นมีคำว่า อีปู คำที่กลุ่มทางการเมืองบางกลุ่มมักใช้เรียกอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดแสดงบนผนังสีขาวบริสุทธิ์ผุดผ่องของคณะวิจิตรศิลป์

เมื่อปี 2557 โดยไม่ถูกรื้อย้าย

สะท้อนความสองมาตรฐานในการแตะเบียด หรือเปิดไฟเขียว เช่นเดียวกับกรณีก่อนหน้า เมื่อศิษย์เก่ารั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรจำนวนหนึ่งโวยวายรับไม่ได้ที่นักศึกษารุ่นใหม่จัดแฟลชม็อบที่ลานศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี และนำคำกล่าวของปูชียบุคคลท่านนี้มาดัดแปลง โดยบอกว่านั่นคือการ ‘ด้อยค่าอาจารย์ศิลป์’ ไม่ควรใช้ลานมาพัวพันการเมือง ก่อนที่สุดท้ายหงายเงิบไม่มากก็น้อย เมื่อมีผู้นำภาพกิจกรรมขายเสื้อยืดชัตดาวน์ กทม.หนุนม็อบ กปปส. มาขายอย่างคึกคักมาติดตั้งให้เป็นที่ประจักษ์ยังลานดังกล่าว พร้อมถามกลับว่า แล้วอย่างนี้ เรียกด้อยค่าอาจารย์ศิลป์หรือไม่

การเลือกวิพากษ์ เลือกปฏิบัติ เลือกขีดเส้นที่ห้ามล้ำกับบุคคลที่คิดต่างดูจะยังไม่จบสิ้นลงง่ายๆ ในสังคม

เด็ดดอกไม้ตีนดอยสุเทพ
สะเทือนถึง ‘หน้าพระลาน’

ปิดท้ายด้วยประเด็นที่ยังคงเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสำคัญในการผลิต ‘ศิลปินหน้าพระลาน’ ไปสู่ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ในนิยามคำว่า ‘ชาติ’ (ที่ไม่ชัวร์ว่าตรงกับโลกสากลหรือไม่) กระจายบุคลากรด้านศิลปะไปในหัวเมืองต่างๆ ทั่วไทย รวมถึง รศ.อัศวิณีย์ คณบดีวิจิตรศิลป์ ผู้พ่วงท้าย ‘ศิษย์เก่าดีเด่น’ ของรั้วเขียวเวอริเดียน สีประจำศิลปากร รวมถึงผู้ช่วยคณบดีเจ้าของงานอาร์ตธงชาติ ‘อีปู’ ผู้จบมหาบัณฑิตคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จากสำนักริมถนนหน้าพระลาน

จึงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เมื่อศิษย์เก่าจะร่วมส่งกำลังใจไม่ว่าในฐานะเพื่อนพี่น้องคนรู้จัก ฯลฯ รวมถึงความเห็นพ้องต้องกันในทางการเมืองหรืออื่นใด ดังนั้น พลันเมื่อมีการเผยแพร่แถลงการณ์ในนาม ‘สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร’ จี้คณบดีวิตรศิลป์ ‘ทบทวนตัวเอง’ ยืนหยัดจุดยืนสิทธิเสรีภาพ จึงเกิดการถกเถียงอย่างหนัก ระหว่างศิษย์เก่า

โดยมีทั้งผู้เห็นด้วยกับแถลงการณ์ และผู้คัดค้าน ซึ่งกลุ่มหลังตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงออกแถลงการณ์ในนามสมาคมฯ โดยไม่มีการประชุม หรือเปิดโหวต อาทิ วิไลลักษณ์ อุดมศรีอนันต์ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ รุ่น 33 และศิษย์เก่าดีเด่นปี 2558 ซึ่งโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะของสมาคมฯ นอกจากนี้ยังติดแฮชแท็ก #ศิลปินขยะหนักแผ่นดิน ป่วยการที่จะเสวนาด้วย โดยอ้างว่าเป็นข้อความจากเพื่อนคณะโบราณคดี

นับจากนั้น ยังมีการแตกประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย บ้างก็ถามถึงความชอบธรรมของนายกสมาคมฯ และกรรมการ ‘ชุดใหม่’ นำโดย ฉันทนา ดาวราย ศิลปินหญิงรุ่นอาวุโสในวัยกว่า 70 กะรัต ผู้มาจาก ‘การเลือกตั้ง’ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเพิ่งเข้าพบ ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีเพื่อแนะนำคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประจำปี 2564-2566 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม

ศึกเล็กๆ ในล้านนา ยกทัพดราม่าลงเรือหางแมงป่องล่องน้ำปิงมาขึ้นยังท่าช้าง ถนนหน้าพระลาน ริมเจ้าพระยาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังเช่นอาจารย์หนุ่มท่านหนึ่งสังกัดคณะที่เคยอยู่ใต้หลังคาตึกพรรณรายใกล้ศาลาดนตรีในรั้วศิลปากรวังท่าพระให้นิยามว่า

‘เด็ดดอกไม้ตีนดอยสุเทพสะเทือนถึงฟุตปาธถนนหน้าพระลาน’

เป็นปรากฏการณ์ที่ดูจะจบไม่ง่าย ในห้วงเวลาที่ศิลปินรุ่นใหม่เลิกสะกดคำว่า ศิโรราบต่ออำนาจเก่าในวงการ เมื่อนิยามคำว่าชาติของพวกเขา ประกอบขึ้นด้วยคำว่า ประชาชน ไม่ใช่อื่นใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image